ประสานักดูนก : นกกระแตหัวเทา โดย : นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

นกอพยพระลอกแรกเดินทางมาถึงประเทศไทยแล้ว ในบรรดาทัพหน้า อาทิ นกเด้าลมหลังเทา นกกระเต็นน้อยธรรมดา นกอีเสือสีน้ำตาลแล้ว นกชายเลนซึ่งเป็นนกน้ำก็เริ่มเดินทางประจำปี เพื่อย้ายถิ่นเข้ามาในบ้านเราด้วย

“นกชายเลน” เป็นนกที่มีความหลากหลายของสกุลและชนิดมากมายหลายกลุ่ม ตั้งแต่นกสตินท์ ที่มีขนาดเล็กมาก ไปจนถึง นกอีก๋อยที่ขนาดใหญ่แถมปากยาวกว่าลำตัว

มีนกชายเลนสกุลหนึ่งที่ชื่อติดหูคนไทยมานาน คือ นกกระแตแต้แว้ด หรือ นกต้อยตีวิด ซึ่งชื่อเรียกตามเสียงร้องและอุปนิสัยที่แตกตื่นตกใจง่าย จะส่งเสียงร้องดังลั่น และบินวนเวียนไปมาเหนือคนที่เข้าใกล้รัง หรือลูกนกอย่างไม่กลัวเกรง

นกกระแตในสกุล Vanellus ที่แปลว่านกกระแตที่มีการบินเชื่องช้า ไม่ปราดเปรียวสง่างาม (เมื่อเทียบกับนกอื่นๆ) ประเทศไทย พบ 4 ชนิด โดย 2 ชนิด เป็นนกสามัญประจำทุ่ง อย่างนกกระแตแต้แว้ด และนกกระแตหาด ที่อาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำในป่า ปราศจากการรบกวนของมนุษย์ เช่น แม่น้ำสาละวิน หรืออ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน จึงพบเห็นไม่ใคร่บ่อย ส่วน อีก 2 ชนิด เป็นนกอพยพ คือ นกกระแตหงอน มีรายงานพบน้อยมากในภาคเหนือ และ นกกระแตหัวเทาพบได้ทั่วไปในทุ่งนา หรือพื้นที่ชุ่มน้ำเฉอะแฉะ มีน้ำขังตื้นๆ ในภาคเหนือ ภาคกลางและภาคอีสาน แต่พบน้อยในภาคใต้

Advertisement

“นกกระแตหัวเทา” หรือ Gray-headed Lapwing ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Vanellus cinereus มีความหมายเน้นรูปพรรณของนกว่ามีส่วนหัวสีเทา เป็นนกอพยพย้ายถิ่นจากประเทศจีน ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดานกกระแตไทย 4 ชนิด ซึ่งขนาดของนกกระแตสีเทาเมื่อเทียบกับนกกระแตประจำถิ่น สอดคล้องกับกฎ Bergmann’s rule ที่ระบุว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตหนาว (เช่น ใกล้ขั้วโลกเหนือ) จะมีขนาดใหญ่กว่าสัตว์สาแหรกหรือพันธุกรรมใกล้กัน (วงศ์ สกุล หรือชนิดเดียวกัน) ที่อาศัยในเขตอบอุ่นกว่า เช่น เขตร้อนชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร

“นกกระแตหัวเทา” จะรวมฝูงนับสิบตัว เพื่อช่วยกันสอดส่องระวังภัย ลักษณะร่วมประการหนึ่งของนกกระแตคือ ขายาว เอื้อให้นกเดินบนเลน หรือบนน้ำตื้นๆ ในทุ่งนาได้สะดวก แต่จะงอยปากสั้น ทำให้นกต้องกระดกก้นขึ้นลงบ่อยๆ เพื่อจะค้อมตัวลงจิกกินสัตว์ขนาดเล็กที่หลบซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำ ซอกเลนหรือวัชพืช

เมื่อส่องดูอย่างละเอียด ที่ใบหน้าของนกกระแตหัวเทา ม่านตาสีแดงตัดกับวงตาและโคนปากสีเหลืองสดและสีเทาอ่อนของส่วนหัว นับเป็นนกกระแตที่ชวนมองชนิดหนึ่ง นอกจากนั้น ในนกกระแต และ นกพริก จะมีเดือยแหลม ยื่นออกมาจากกระดูกที่หัวปีก อาจยาวถึง 1 ซม. มองเห็นได้ง่ายในนกกระแตหาด แต่ในนกกระแตหัวเทา และนกกระแตแต้แว้ด เดือยปีกนี้สั้นมากจนแทบมองไม่เห็น ต้องสัมผัสจึงจะทราบได้ แสดงว่าเดือยปีกในนกกระแต อาจไม่ใช่องคาพยพที่สำคัญต่อการดำรงชีวิตมากแล้ว เมื่อเทียบกับในอดีต

Advertisement

เพราะนกกระแตที่แตกสาแหรกกลายเป็นชนิดต่างๆ ก็ยังสามารถสืบพันธุ์ ถ่ายทอดสายเลือดของมันต่อไปได้ โดยไม่ต้องอาศัยเดือยปีก ดังนั้นนกกระแตบางชนิด เดือยปีกจึงลดรูปลงไปเรื่อยๆ จนมีขนาดเล็กแทบมองไม่เห็นในปัจจุบัน ตามทฤษฎีแห่งการใช้และไม่ใช้ (use-and-disuse theory) ของสิ่งมีชีวิต

ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.birdsofthailand.org/bird/grey-headed-lapwing

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image