อาศรมมิวสิก : ดนตรีคลาสสิก กับวิถีชีวิตดนตรีแบบชุมชน : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

ผู้เขียนเคยคุยกันในหมู่เพื่อนฝูงคนรักดนตรีคลาสสิกในวัยเดียวๆ กัน ที่ได้เฝ้าเห็นพัฒนาการความ
เปลี่ยนแปลงของวงการนี้ในบ้านเรามาตลอดนับสิบๆ ปี ซึ่งพวกเราก็ได้เห็นตรงกันถึงสภาพความย้อนแย้งแห่งวงการนี้ในปัจจุบันที่ตรงกันว่า แวดวงดนตรีคลาสสิกบ้านเราพัฒนาไปไกลมากทีเดียว มีสถาบันการศึกษาดนตรีชั้นดีในระดับอุดมศึกษาเกิดขึ้นมากมาย มีนักศึกษาเอกดนตรีฝีมือดีๆ มีการก่อตั้งวงดนตรีที่มีกิจกรรมการแสดงดนตรีไม่น้อย แต่ทำไม ดนตรีคลาสสิกจึงยังไม่คึกคักเท่าที่ควร
เมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนผู้เรียนดนตรีที่มีมากกว่าแต่ก่อน (ทั้งปริมาณและคุณภาพ!) และถ้ายิ่งเปรียบเทียบกับความนิยมชมชอบในด้านกีฬาก็จะยิ่งน่าใจหาย เรามีการศึกษา, การสร้างบุคลากรทางดนตรีที่มีคุณภาพมากขึ้น แต่ผู้คนโดยทั่วไปยังไม่ค่อยสนใจฟังดนตรีคลาสสิก

อะไรคือเหตุผลแห่งสภาพการณ์อันย้อนแย้งนี้

เราอาจพบคำตอบในบางด้าน, บางมุม แต่อย่างไรก็ดี แม้จะไม่ค่อยคึกคักเมื่อมองในแง่ของจำนวนผู้ชม แต่เมื่อมองในแง่พัฒนาการแล้วก็ดูว่าวงการนี้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ด้วยตัวของมันเองอย่างไม่หยุดยั้ง โดยไม่ต้องมามัวพะวักพะวนกันให้มากมายว่าจะมีมหาชนมาสนใจมากหรือน้อยแค่ไหน

ซึ่งผู้เขียนคิดว่า แม้มันจะมองดูว่าเป็นที่สุดแห่งความย้อนแย้งอันน่าขบขันอย่างหนึ่ง หากแต่มันก็บ่งบอกถึงสัญญาณแห่งการก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้งโดยตัวของมันเอง และกิจกรรมการแสดงดนตรีในลักษณะแชมเบอร์มิวสิก (Chamber Music = ดนตรีคลาสสิกโดยวงดนตรีขนาดเล็กๆ) รายการหนึ่งที่จัดกันไปเมื่อค่ำวันจันทร์ที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2561 ที่ผ่านมา ก็ได้สะท้อนถึงปรากฏการณ์ทางดนตรีอันย้อนแย้งนี้ในบ้านเราได้เป็นอย่างดี

Advertisement

รายการแสดงดนตรีเล็กๆ ที่ว่านี้ ใช้ชื่อว่า “3rd Music Gathering” (ชื่อก็บ่งบอกว่าจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 แล้ว) แนวคิดก็คือเป็นการแสดงดนตรีของบรรดาเยาวชนไทยที่มีฝีมือดี ผ่านการศึกษาทางดนตรีมาเป็นอย่างดี หลายต่อหลายคนเป็นเยาวชนดนตรีที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันดนตรีชั้นนำในต่างประเทศ หลายคนชนะการประกวดแข่งขันทางดนตรีในต่างประเทศอย่างมาน่าชื่นชม การรวมตัวกันแสดงผลงานของเยาวชนดนตรีกลุ่มนี้ เกิดขึ้นได้โดยการทุ่มเทของผู้ชายร่างเล็กที่เปี่ยมด้วยใจรักดนตรีคนหนึ่งที่ชื่อ ธัญลักษณ์ เหลืองวิสุทธิ์ ที่ได้อยู่เบื้องหลังในการจัดแสดงดนตรีแชมเบอร์มิวสิก หลายๆ รายการที่จัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ขาดช่วงตลอดระยะเวลาหลายๆ ปีที่ผ่านมา ณ หอแสดงดนตรีสยามรัชดาออดิทอเรียม อาคารฟอร์จูนทาวน์ (ชั้นใต้ดิน) ถนนพระราม 9 กรุงเทพฯ หอแสดงดนตรีเล็กๆ สำหรับแสดงดนตรีคลาสสิกขนาดย่อม ที่เปี่ยมด้วยคุณภาพการสะท้อนเสียงภายใน (Acoustic) ที่ดีทีเดียว

สถานที่แห่งนี้จึงเปรียบเสมือน “อาศรมทางดนตรี” ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของวงการในบ้านเรา

คําว่า “อาศรม” ทางดนตรี ในที่นี้จึงอาจมีความหมายถึงพื้นที่ในการให้โอกาสในการแสดงดนตรีของพวกเขา ซึ่งมีบทบาทสำคัญไม่น้อยในการบ่มเพาะศิลปินดนตรีรุ่นใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นวงจร ก่อนที่พวกเขาจะไปขึ้นเวทีใหญ่ๆ ระดับชาติ อย่าง ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย, มหิดลสิทธาคาร หรือโรงละครแห่งชาติ เขาต้องมีเวทีเล็กๆ ในการสั่งสมประสบการณ์ขึ้นไปเป็นลำดับก่อนขึ้นเวทีใหญ่ แน่นอนที่สุด เวทีเล็กๆ แบบ สยามรัชดาออดิทอเรียม จึงอาจมิได้นำเสนอการแสดงของบรรดาศิลปินใหญ่ๆ ระดับนานาชาติได้ทุกครั้งไป แต่เวทีเล็กๆ แบบนี้เองที่ได้ทำหน้าที่ในการสร้างเสริม “วิถีชีวิตทางดนตรี” ให้เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ วิถีชีวิตทางดนตรีก็คือดนตรีที่เป็นส่วนหนึ่ง (และส่วนสำคัญ) ในชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม (ที่เจริญแล้ว) ในอันที่มนุษย์มีความจำเป็นจะต้องมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่เป็นกิจกรรม, หรือสิ่งเติมเต็มที่จะใช้เป็นที่ยึดเหนี่ยวชีวิต หรือสร้างความหมายให้กับชีวิตที่เกิดมา (เฉกเช่นเดียวกันกับการมีศาสนาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ)

ในประเด็นนี้ ดนตรี (หรือศิลปะ) จะอยู่ในระดับที่จำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ (ถ้าเราเชื่อว่าดนตรีและศิลปะจะทำให้คนกลายเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์) เสมือนการบริโภคอาหาร, หรือการอ่านหนังสือหาความรู้ใหม่ๆ หรือเสมือนการไปปฏิบัติศาสนกิจ ไปปฏิบัติธรรมเพื่อความก้าวหน้าทางจิตในวัด (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นนักบวช, นักพรตเต็มตัว) และถ้าดนตรีในวิถีชีวิตนั้นจำเป็นในระดับการบริโภคอาหาร ก็มีความชัดเจนว่าเราไม่จำเป็นต้องบริโภคอาหารในระดับภัตตาคาร 5 ดาว, ระดับดาว
มิชลิน (Michelin) หรือระดับชวนชิมใดๆ ทุกมื้อ อาหารธรรมดาๆ ทั่วไปก็จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของเรา (การบริโภคอาหารพิเศษมีขึ้นเฉพาะโอกาสพิเศษในบางครั้ง) ซึ่งถ้าเรารักการฟังดนตรีจากการบรรเลงสดๆ ที่เปี่ยมด้วยความมีชีวิตชีวา, เสียงดนตรีและคลื่นเสียงดนตรีอันมาจากธรรมชาติของการบรรเลงดนตรีจริงๆ มุมมองในวิถีชีวิตดนตรีก็จะเป็นในแบบที่เป็น “ผู้ฟังดนตรีขาประจำ” (แบบที่ฝรั่งเรียกกันว่า Concert-goer)

และ ณ จุดนี้เอง อาศรมดนตรีเล็กๆ ที่จัดการแสดงดนตรีอันอบอุ่นเป็นกันเองแบบแชมเบอร์มิวสิกนี้แหละ ที่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างขาดเสียมิได้ ทั้งสำหรับคนธรรมดาๆ ที่อยู่ในวิถีชีวิตดนตรี และบรรดานักดนตรีที่จะต้องบรรเลงดนตรีอยู่เป็นประจำเช่นเดียวกัน

นี่คือวิถีชีวิตดนตรีแชมเบอร์มิวสิก ที่ไม่ง้อ, ไม่แคร์กับผู้ชมในระดับ “มหภาค” (Macro) มันคือวิถีชีวิตชุมชนเล็กๆ อันแสนจะอบอุ่นสงบสุขเต็มอิ่มในตัวเอง โดยไม่ต้องไปฝันถึงชีวิตในชุมชนใหญ่ๆ ที่ซับซ้อน, มั่งคั่ง (และวุ่นวายสับสน) ทางเศรษฐกิจ

ผู้เขียนร่ายยาวเรื่องนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของสถานที่บ่มเพาะทางดนตรี และวิถีชีวิตดนตรีที่สร้าง
ความหมายในการเกิดมาเป็นมนุษย์ของเราทุกคน ขอย้อน
กลับไปกล่าวถึงบรรยากาศในการแสดงดนตรีในภาพรวมทั่วๆ ไปของบรรดาเยาวชนดนตรีชาวไทยในค่ำคืนเล็กๆ ในวันนั้น หลายคนมีฝีมือในระดับที่ผู้เขียนรู้สึกทึ่งทีเดียว โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนนักเปียโนตัวเล็กๆ ที่บรรเลงบทเพลงยากๆ ได้อย่างคล่องแคล่ว ความฝันที่จะเห็นอะไรดีๆ ในอนาคตอันยาวไกล มาถึงเร็วกว่าที่คาดคิด นี่คือฝีมือเปียโนเด็กไทยในปีนี้หรือ?

สิ่งที่เห็นว่ายังอาจจะขาดไปบ้างและยังน่าห่วงไม่ใช่เรื่องความสามารถเฉพาะตัว หากแต่เป็นเรื่องทักษะการใช้หูในการเล่นดนตรี สังเกตได้ว่า เมื่อถึงคิวของการบรรเลงในลักษณะสองชิ้นขึ้นไป เด็กๆ ยังถูกฝึก “การฟังซึ่งกันและกัน” น้อยไป (Listen to Each Other คำที่ปรมาจารย์ดนตรีทั้งหลายพูดกันติดปากเสมอๆ) นี่คือพื้นฐานสำคัญของการเล่นดนตรีวงใหญ่แบบซิมโฟนี ออเคสตราอย่างจำเป็นยิ่ง การบรรเลงเป็นวงอย่างกลมกลืน เสมือนการเล่นฟุตบอลเป็นทีม เสมือนการประสานงานภายในองค์กร นี่ยังเป็นเสมือนเส้นผมบังภูเขาที่เราคงต้องเติมให้เด็กเยาวชนดนตรีชาวไทยมากยิ่งขึ้น มันคือทัศนคติที่ว่าการเล่นดนตรีที่ดีจะใช้แต่มือเพียงอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใช้หู (การฟัง) ให้มากยิ่งขึ้น

และเมื่อกล่าวมาถึงประเด็นนี้ ความหวังก็โชติช่วงขึ้นมาอีก เพราะในคืนวันนั้นมีวงดนตรีเปียโนทริโอ (Piano Trio) วงหนึ่งที่ใช้ชื่อว่า “MELODIO” (เมโลดิโอ) สองเยาวชนชายที่เล่นเปียโนและไวโอลิน โดยมีสาวสวยหนึ่งเดียวบรรเลงเชลโล พวกเขาสามคนเลือกบทเพลง “ฤดูหนาว” (Invierno Porteno) ของ “อาสตอร์ เพียซอลลา” (Astor Piazzolla) มาบรรเลง มันไม่ใช่บทเพลงในแนวอวดฝีมือหรือเทคนิคยากแบบขั้นเทพใดๆ ในทางตรงกันข้ามมันเป็นบทเพลงที่ฟังสบายๆ

หากแต่สิ่งที่จัดได้ว่า “เป็นพิเศษ” ที่ หนุ่ม-สาวทั้ง 3 คนนี้นำเสนอก็คือ ศิลปะแห่งการบรรเลงดนตรีร่วมกัน (Ensemble) ที่โดดเด่นกว่าใครๆ มันคือเรื่องราวทั้งหมดที่ผู้เขียนได้กล่าวไปในด้านบนบทความนี้เอง

เรื่องของการบรรเลงดนตรีที่ดีที่จะใช้แต่มือไม่ได้ แต่ต้องใช้หูประกอบด้วยอย่างสำคัญ ภาษากายที่ทั้งสามคนแสดงออกในขณะบรรเลงด้วยการโอนเอียงร่างกายเข้าหากันเล็กน้อย การใช้สายตาชำเลืองจ้องมองซึ่งกันและกันด้วยสมาธิอย่างเหนียวแน่น ราวกับการส่งกระแสจิตพุ่งเข้าหากัน ณ จุดกึ่งกลางเวที กระแสเสียงที่เกิดขึ้นจึงมีการหลอมรวมอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน ไม่มีใครเด่นเกินใคร ความกลมกลืนในการประสานเสียง (Harmony) แสดงตัวออกมาอย่างงดงามเป็นธรรมชาติ อย่างเต็มไปด้วยสีสันทางดนตรี

ผู้เขียนสะดุดหู, สะดุดความรู้สึกอย่างมากที่สุดกับศิลปะ “Ensemble” ของหนุ่ม-สาว 3 คนนี้ และเมื่อพลิกดูสูจิบัตรก็ “ถึงบางอ้อ” พวกเขาเพิ่งจะคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดในศิลปะการบรรเลงรวมวง (International Ensemble Competition) ประจำปีนี้ จากสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมพวกเขาจึงมีความสามารถทางโสตประสาทอันเป็นเลิศและแสดงมันออกมาได้อย่างโดดเด่น (ที่นอกเหนือไปจาก “ฝีมือ”)

มันคือบทพิสูจน์ถึงรางวัลชนะเลิศในสาขานี้ที่พวกเขาคู่ควร

วันก่อนผู้เขียนได้มีโอกาสชมคลิปในเพจที่ “ดาเนียล บาเรนบอย์ม” (Daniel Barenboim) ศิลปินเปียโนและวาทยกร ที่ผู้เขียนขอเรียกว่าเขาเป็นศิลปินทั้งในระดับโลกและระดับเกียรติยศ ได้ตอบคำถามที่แฟนๆ ไปตั้งคำถามและแสดงความเห็นทางเพจของเขา แฟนเพลงคนหนึ่งเป็นหนุ่มวัย 26 ปี บอกกับเขาว่ามีอาชีพเป็นวิศวกร, มีความรู้ทางดนตรีพอสมควร, เล่นเปียโนได้บ้าง เขารักเสียงดนตรี, เฝ้าคิดคำนึงถึงแต่เสียงดนตรีอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน มันพอจะเป็นไปได้ไหม? ที่คนในวัย 26 ปีอย่างเขา จะเป็นนักประพันธ์ดนตรี หรือหันมาเริ่มอาชีพทางดนตรีในวัยนี้

ศิลปินดนตรีที่สูงด้วยประสบการณ์, เปี่ยมด้วยความคิดดุจนักปรัชญา และมีเมตตาสูงในจิตใจราวกับหลวงพ่อ ตอบคำถามนี้อย่างแสนน่าประทับใจว่า “ประเด็นสำคัญไม่ใช่เรื่องที่คุณจะหันมาประกอบอาชีพทางดนตรีหรือไม่?” (เป็นวิศวกรก็มีชีวิตที่ดีและมั่นคงอยู่แล้ว อย่าหาเรื่องเดือดร้อนเลย, นี่ผู้เขียนขอเติมเอง หรือบาเรนบอย์มก็แอบคิดอยู่ในใจ?)…. “แต่มันอยู่ที่ความสำคัญของดนตรีที่มันมีความหมายต่อชีวิตคุณแค่ไหน…. ดนตรีไม่ใช่ ‘อาชีพ’ แม้ว่ามันจะต้องการการอุทิศตนแบบมืออาชีพก็ตาม.. แต่ดนตรีคือวิถีในชีวิตเรา (Music is The Way of Life)…..ฯลฯ”

ใช่แล้ว นี่แหละคือคำตอบของความจำเป็นของดนตรี (และศิลปะ) ในวิถีชีวิตมนุษย์ เบื้องต้นมันอาจมีความหมายเป็นเพียงมหรสพเพื่อความบันเทิงใจ แต่เมื่อวุฒิภาวะสูงขึ้นตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไป ความหมายของดนตรีก็เริ่มเปลี่ยนไปตามพัฒนาการแห่งชีวิต เมื่อดนตรี (ดีๆ) เป็นสิ่งจำเป็นต่อชีวิต มันก็มิใช่เป็นเพียงรสนิยมโก้หรูที่จะใช้สำหรับยกตนข่มท่านกับใครๆ ต่อไปอีก เราฟังดนตรีด้วยจิตใจอ่อนน้อม, ถ่อมตน ไม่จำกัดด้วยทัศนคติที่ว่า ถ้าไม่ใช่ระดับโลกฉันไม่ฟัง, ฉันไม่สน ซึ่งนั่นดนตรีคงไม่ได้เป็น “วิถีแห่งชีวิต” ของคุณแล้ว แต่มันเป็นเพียงของเล่นฟุ่มเฟือยราคาแพง ที่คุณมีปัญญาซื้อหามาครอบครองโดยที่คุณเองก็อาจมิได้รู้คุณค่าที่แท้จริงของมัน

เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ จากการแสดงดนตรีแชมเบอร์มิวสิกที่ผู้เขียนเล่ามานี้ มันเริ่มย้อนรอย, สะท้อนให้เห็นถึงเมื่อครั้งที่ดนตรีคลาสสิกเริ่มเดินออกจากการครอบครองของเจ้านาย, ชนชั้นสูงในรั้วในวัง ของยุโรปในสมัยศตวรรษที่ 18 และเริ่มกลายมาเป็นสมบัติทางปัญญาของมหาชนมากยิ่งขึ้น ในสมัยนั้น ดนตรีเกิดขึ้นและดำรงอยู่ได้ด้วยกลุ่มคนรักดนตรี (สามัญชน) โดยเฉพาะที่เรียกกันว่า “Connoisseur” ซึ่งหมายถึงกลุ่มผู้รัก, เชี่ยวชาญ หรือชำนาญในเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งภาษาไทยเรียกว่า “นักเลง” เช่น นักเลงพระเครื่อง, นักเลงปลากัด, นักเลงถ้วยชามโบราณ
ใช่แล้ว มันรวมไปถึงนักเลงดนตรีด้วย

ผู้รักดนตรีอย่างจริงใจ อาจเล่นดนตรีไม่เก่งแบบมืออาชีพแต่ก็รักและทุ่มเทเรียนรู้ศึกษาเพิ่มเติมด้วยตัวเองอย่าง
สนุกสนาน กลุ่มคนพวกนี้แหละที่ดำรงศิลปวัตถุ, การละเล่นต่างๆ รวมไปถึงดนตรีให้ดำรงอยู่และสืบทอดกันได้ต่อไป และเมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะไปห่วงอะไรให้มากมาย “ในเชิงปริมาณ” เดี๋ยวนี้มีเพจ, พื้นที่สื่อสาธารณะสำหรับกลุ่มผู้รักดนตรีคลาสสิกเกิดขึ้นมากมายนับไม่ถ้วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศให้พวก “Connoisseur” ร่วมสมัยแห่งศตวรรษที่ 21 ได้ใช้ติดต่อ, ประชาสัมพันธ์ สื่อสารถึงกันโดยสะดวก ใครรักทางไหนเป็นพิเศษก็เข้าร่วมกลุ่มนั้น

ปรากฏการณ์ดนตรีคลาสสิกในเมืองไทยที่มองดูเสมือนว่าตลาดคนดูไม่เพิ่มขึ้นตามพัฒนาการของการสร้างบุคลากรทางดนตรี แท้จริงมันจึงอาจเสมือนการเกิดใหม่ (Renaissance) ของ แนวคิด “Connoisseur” ในยุโรป แห่งศตวรรษที่ 18

กล่าวให้ตรงประเด็นยิ่งขึ้นก็คือ กลุ่มผู้บรรเลงและกลุ่มผู้ฟังก็คือกลุ่มคนเดียวกัน และถ้าเป็นเช่นนี้ เราก็คงเริ่มเห็นภาพชัดขึ้นแล้วว่า ตลาดผู้ฟังแบบมหภาคก็มิใช่ทางรอดเพียงทางเดียวของดนตรีคลาสสิกในบ้านเรา

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image