ร้านขายยา ที่พึ่งสุขภาพคนบ้านนอก : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

ประเด็นการแก้ไขพระราชบัญญัติยา ที่อนุญาตให้วิชาชีพอื่นนอกจากเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาได้ สร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์เชิงต่อต้าน โดยฝ่ายสนับสนุนก็มองว่าจะเป็นการแบ่งเบาภาระของเภสัชกร โดยยาอันตราย จำกัดการใช้ ก็ยังต้องให้เภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาเช่นเดิม แต่ขยายโอกาสให้วิชาชีพสุขภาพอื่นจ่ายยาพื้นฐานชนิดอื่นที่ไม่ต้องควบคุมได้

ร้านขายยานั้นเป็นกิจการที่เกี่ยวพันกับสุขภาพของประชาชนในระดับพื้นฐาน มีความสำคัญและจำเป็นต่อสุขภาพของคนในสังคม โดยเฉพาะสังคมชนบทที่โรงพยาบาลอยู่ห่างไกล และสังคมเมืองที่มีคนจำนวนมาก โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยเล็กน้อยได้หมดเป็นอย่างยิ่ง

ร้านขายยาที่มีเภสัชกรสามารถจ่ายยาที่เหมาะสมกับอาการและโรค รับใบสั่งยาจากแพทย์แล้วทบทวนความจำเป็นและชนิดของยาเพื่อจ่ายยาให้เหมาะกับผู้ป่วย รวมถึงแนะนำการใช้ยาที่ถูกต้อง

สมัยก่อนการรักษาพยาบาลเป็นเรื่องเข้าถึงยาก ร้านขายยาก็มีน้อย จึงมีขบวนหนังเร่ขายยาออกไปตามชนบทโดยฉายหนังให้ดูก่อน แล้วจึงโฆษณาขายยาในช่วงพักครึ่งของหนัง แต่ยาที่ขบวนหนังเร่ขายยานำไปนั้นเป็นยาที่ไม่ได้รับการรชี้แจงและตรวจสอบ ไม่มีเภสัชกร

Advertisement

เช่นเดียวกับในเมืองที่มีร้านขายยาซึ่งใช้ใบอนุญาตของเภสัชกรแปะไว้ตามกฎหมาย แต่ไม่มีเภสัชกรประจำ ให้เจ้าของร้านที่มักมีเชื้อจีนเป็นคนขายยาเอง จึงเรียกกันว่าหมอตี๋ 

เมื่อพ.ร.บ.ยาฉบับปัจจุบันที่เข้มงวดในการทำงานประจำของเภสัชกรในร้านขายยาบังคับใช้ หนังขายยาก็หายไปจากสังคมไทยพร้อมกับร้านขายยาหมอตี๋ที่ไม่ถูกกฎหมาย

การเข้าถึงยาของชาวบ้านในชนบทจึงยากขึ้น แต่ก็มีคุณภาพมากขึ้น สภาพการเจ็บป่วยเนื่องจากการใช้ยาผิดก็ลดลง พร้อมไปกับนโยบายประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง 30 บาทรักษาทุกโรค ช่วยให้การรักษาพยาบาลเข้าถึงได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ต้องพึ่งพายาหมอตี๋หรือยาเร่หนังขายยาเมื่อเจ็บป่วย

Advertisement

แม้จะมีความเข้าใจผิดด้านสุขภาพอยู่บ้างจากข่าวปลอมและสื่อที่รับโฆษณาขายยาอาหารเสริม

จากสถิติของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประเทศไทยมีร้านขายยา ประเภท ขย.1 (ขายยาแผนปัจจุบัน) รวม 17,156 ร้าน ได้รับใบอนุญาต (นับวันที่ 28 ก.พ. 2561) อยู่ในกรุงเทพ 4,895 ร้าน คิดเป็น 28.5% อัตราร้านขายยาต่อประชากร 1 ร้านขายยา ต่อ 1,691 คน

ส่วนต่างจังหวัดที่เหลือ เฉลี่ยมีร้านขายยา 1 ร้านต่อ 5,262 คน เขตที่มีร้านขายยามากที่สุดคือ เขตบางกะปิ 286 ร้าน น้อยที่สุดคือบางกอกใหญ่ 32 ร้าน ต่างจังหวัดที่มีร้านขายยามากที่สุดคือ ชลบุรี 1,016 ร้าน น้อยที่สุดคือแม่ฮ่องสอน 15 ร้าน

แนวโน้มจำนวนร้านขายยา ก็เช่นเดียวกับร้านค้าและวิชาชีพการแพทย์อื่นๆ คือ กระจุกตัวอยู่ในเมืองใหญ่เขตที่มีประชากรมาก คุ้มค่าต่อการเปิดขายยา

ดังนั้น ต่อให้เปิดให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่เภสัชกรจ่ายยาได้ ก็ไม่ได้ทำให้ความขาดแคลนร้านขายยาในชนบทดีขึ้นแต่อย่างใด เพราะจำนวนร้านขายยาก็จะอยู่ในพื้นที่ที่คุ้มค่าต่อการลงทุนขายยาเช่นเดิม โดยเฉพาะเมื่อร้านขายยาสมัยใหม่จำเป็นต้องใช้ทุนจำนวนมากในการสั่งและเก็บยาแต่ละครั้งหากประชากรน้อยก็ไม่คุ้มค่า 

การแก้ไขปัญหาเข้าถึงบริการด้านสุขภาพในชนบท จึงอยู่ที่การสร้างแรงจูงใจเชิงบวกในการเปิดร้านขายยา รวมถึงการพัฒนาถนน เส้นทางคมนาคมในชนบทให้ดี สามารถพาผู้ป่วยหรือผู้ต้องการเข้าถึงบริการมายังพื้นที่เมืองที่มีคลินิก โรงพยาบาล รองรับการรักษาได้ หรือใช้เทคโนโลยีเช่น การตรวจและจ่ายยาผ่านระบบวิดีโอคอลล์

เภสัชกรสามารถขายยาที่ได้รับอนุญาตทางอินเตอร์เน็ต ก็จะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างถูกทิศทางโดยมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชนน้อยกว่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image