ขุดราก “ป้อมมหากาฬ” ชุมชนเก่าที่ถูกบอกเล่าว่า “เพิ่งสร้าง”?

ย่านบันเทิงยุค ร.5 ของคนธรรมดาหลากหลายชาติพันธุ์ หน้าวิกลิเกแห่งแรกของพระยาเพชรปาณี เป็นต้นกำเนิดลิเกรำในกรุงสยามสืบถึงปัจจุบัน แสดงว่าเป็นย่านใหญ่ มีคนจำนวนมากอยู่อาศัยและไปมาหาสู่บริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร (ภาพเก่าจากโปสการ์ดของ สินชัย เลิศโกวิทย์)

21 เมษายน 2559 ถือเป็นวันสร้างกรุงเทพฯ ครบรอบ 234 ปี ทว่าอุณหภูมิในเกาะรัตนโกสินทร์ยังคงร้อนรุ่ม เมื่อกรณี “ชุมชนป้อมมหากาฬ” ที่ยืดเยื้อมาถึง 24 ปี ยังคงไม่คลี่คลาย โดย กทม.ขีดเส้นตายให้ย้ายออกภายใน 30 เมษายนนี้ เพื่อเคลียร์พื้นที่สำหรับสร้างสวนสาธารณะอันเป็นโครงการที่ผุดขึ้นเมื่อหลายสิบปีก่อน เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มหานครบางกอก ทว่าถูกคัดค้านทั้งจากชุมชนและนักวิชาการหลากสาขาที่ผนึกกำลังต่อสู้ ด้วยเหตุผลที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนประวัติศาสตร์ที่มีความเป็นมายาวนาน

กระทั่งครั้งนี้ที่มีผู้มองว่าอาจเป็นการต่อสู้ครั้งสุดท้าย เพราะนอกจากภาครัฐจะเร่งดำเนินการแบบไม่ถอย ยังมีการ “จี้จุดแข็ง” คือการเป็นชุมชนเก่าแก่ที่ใช้เป็นโล่ในการตั้งรับได้ตลอดมา โดยการระบุว่าคำกล่าวอ้างที่ว่านี้ไม่เป็นความจริง เนื่องจากไม่เคยมีชื่อชุมชนป้อมมหากาฬในประวัติศาสตร์ ต่างจากชุมชนอื่นๆ ในเกาะรัตนโกสินทร์ นอกจากนี้ชาวบ้านที่อาศัยในปัจจุบันก็เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ ไม่ได้เป็นคนเก่าแก่ดั้งเดิมแต่อย่างใด

ไม่เพียงเท่านั้นที่อ้างกันว่ามีวิถีชีวิตดั้งเดิม เช่น การทำกรงนกเขา ก็ไม่จริงเช่นกัน เพราะมีเพียงครอบครัวเดียว จึงไม่มีเอี่ยวกับมรดกทางวัฒนธรรมเลย

ประเด็นเหล่านี้ จริงเท็จแค่ไหน มาพิจารณาข้อมูลอีกฝ่ายที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

Advertisement
ชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ตั้งแต่ก่อน ร.4 มีในภาพถ่ายเก่าจากภูเขาทอง สมัยปลาย ร.4 ต้น ร.5 (ซ้าย) เห็นป้อมมหากาฬ (กลาง) สะพานไม้ คือจุดที่สร้างสะพานผ่านฟ้าลีลาศ
ชุมชนป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ตั้งแต่ก่อน ร.4 มีในภาพถ่ายเก่าจากภูเขาทอง สมัยปลาย ร.4 ต้น ร.5 (ซ้าย) เห็นป้อมมหากาฬ (กลาง) สะพานไม้ คือจุดที่สร้างสะพานผ่านฟ้าลีลาศ

“ป้อมมหากาฬ” ชื่อใหม่

เดิมคือ “บ้านสาย-ตรอกพระยาเพชร”

เริ่มที่ประเด็นชื่อชุมชนป้อมมหากาฬที่ไม่เคยพบพานในเอกสารโบราณใดๆ ต่างจากบ้านบาตร บ้านดอกไม้ บ้านพานถม ฯลฯ

เรื่องนี้ต้องผายมือไปที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ ผู้มีผลงานมากมายเกี่ยวกับ “กรุงเทพฯ” ซึ่งตอบทันควัน ว่าชื่อชุมชนป้อมมหากาฬจะมีได้อย่างไร เพราะมันเป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งเรียกกันภายหลัง แต่เดิมนั้น รู้จักกันในชื่อ “ตรอกพระยาเพชร” เพราะเป็นที่ตั้งของวิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ ยุครัชกาลที่ 5 ของพระยาเพชรปาณี โดยแต่งตัวเลียนแบบละครพันทางของเจ้าคุณมหินทร์ วิกปรินซ์เธียเตอร์ ท่าเตียน แต่แหกคอก นอกกรอบละคร ชาวบ้านจึงนิยมมาก เพราะดูรู้เรื่องและสนุก

นอกจากนี้เมื่อเขยิบออกไปอีกนิด ก็มีชุมชนยุคต้นรัตนโกสินทร์ชื่อว่า “บ้านสาย” เพราะทำสายรัดประคดของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน ชาวบ้านก็เป็นพวกเดียวกันไม่อาจแยกขาดจากกันได้ แล้วจะบอกว่าป้อมมหากาฬไม่ใช่ชุมชนประวัติศาสตร์ได้อย่างไร

Advertisement
จากซ้าย สุจิตต์ วงษ์เทศ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชาตรี ประกิตนนทการ
จากซ้าย สุจิตต์ วงษ์เทศ, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชาตรี ประกิตนนทการ

 

“จะมีชื่อชุมชนป้อมมหากาฬในประวัติศาสตร์ได้ยังไง เพราะมันเป็นชื่อใหม่ที่เพิ่งเรียกกัน จะโดยสื่อมวลชนหรือใครก็แล้วแต่ เพื่อให้คนทั่วไปเข้าใจง่าย แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นชุมชนใหม่ เพราะมีหลักฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เรียกตรอกพระยาเพชร มีวิกลิเกแห่งแรกในกรุงเทพฯ ของพระยาเพชรปาณี เขยิบไปนิดเดียวเป็นบ้านสาย ชุมชนทำสายรัดประคด อยู่ติดกัน แล้วจะไปแยกกันยังไง จะบอกว่ามีบ้านสาย แต่ตรงป้อมไม่มีชุมชนมันเป็นไปไม่ได้ ตอนเข้ากรุงเทพฯมาเป็นเด็กวัดเมื่อปี 2497 คนบ้านสายที่อยู่ฝั่งตรงข้ามวัดก็มาใส่บาตรที่วัดเทพธิดารามนี่แหละ” สุจิตต์เล่าอย่างออกรส

 

บ้านสาย ชุมชนทอสายรัดประคดพื้นที่ต่อเนื่องชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งล้วนมีผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตไม่มีขาดสาย (ภาพจาก ย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม 1 โดย ปราณี กล่ำส้ม, เมืองโบราณฉบับพิเศษ พิมพ์ครั้งที่ 2, 2549)
บ้านสาย ชุมชนทอสายรัดประคดพื้นที่ต่อเนื่องชุมชนป้อมมหากาฬซึ่งล้วนมีผู้คนอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตไม่มีขาดสาย (ภาพจาก ย่านเก่าในกรุงเทพฯ เล่ม 1 โดย ปราณี กล่ำส้ม, เมืองโบราณฉบับพิเศษ พิมพ์ครั้งที่ 2, 2549)

โยกย้ายไปๆ มา วัฒนธรรม “รากหญ้า”

แต่ “ชุมชน” ไม่เคยร้าง

มาถึงประเด็นของผู้คนที่มีผู้มองว่าเป็นคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ ไม่ใช่ชาวบ้านดั้งเดิม สุจิตต์บอกว่า ตามหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีชุมชนเก่าในป้อมมหากาฬตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั้น ความจริงน่าจะมีชุมชนมาแล้วอย่างน้อยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยเป็นที่ตั้งบ้านเรือนของชาวบ้าน ข้าพระ เลกวัด โยมสงฆ์ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “รากหญ้า” นับแต่นั้นมาก็มีคนโยกย้ายเข้าไปอยู่สืบเนื่องยาวนานไม่ขาดสายจนปัจจุบัน

จะมีคนใหม่ย้ายเข้า คนเก่าย้ายออก ก็ไม่เห็นเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งสำคัญคือเป็นชุมชนที่ไม่เคยร้างต่างหาก

“ย่านนั้นมีชุมชนอยู่มาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้าที่ไปๆ มาๆ มันเป็นธรรมชาติของชุมชนในลักษณะนี้ จะไปเทียบกับผู้ดีในย่านไฮโซที่สร้างบ้านใหญ่โตไม่ได้ ชุมชนแบบนี้ เก่าไปใหม่มา แต่ตัวชุมชนไม่เคยร้าง มีคนอยู่อาศัยตลอด ความไม่เข้าใจ ไม่มีจิตสำนึกเรื่องชุมชน ต้องโทษการศึกษาไทย ที่ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม” สุจิตต์กล่าว พร้อมเสนอทางออกว่า กทม.ไม่ควรไล่รื้อชุมชน แต่ควรก่อตั้งมิวเซียมลิเก บอกเล่าเรื่องของวิกพระยาเพชรปาณี สร้างวิกกลางแจ้งให้นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติได้ชม และให้คนชุมชนป้อมมหากาฬเป็นส่วนหนึ่งของมิวเซียมลิเกอีกด้วย

กรุงเทพฯมุมสูง มองเห็นเสาชิงช้า วัดสุทัศน์ ถัดมาด้านหน้าเป็นวัดราชนัดดา วัดเทพธิดาราม และแนวใบเสมากำแพงเมืองที่ทอดยาวต่อเนื่องถึงป้อมมหากาฬ อันเป็นที่ตั้งของชุมชนชานกำแพงพระนคร (ภาพโปสการ์ดสมัย ร.6 พ.ศ.2462 ของสินชัย เลิศโกวิทย์)
กรุงเทพฯมุมสูง มองเห็นเสาชิงช้า วัดสุทัศน์ ถัดมาด้านหน้าเป็นวัดราชนัดดา วัดเทพธิดาราม และแนวใบเสมากำแพงเมืองที่ทอดยาวต่อเนื่องถึงป้อมมหากาฬ อันเป็นที่ตั้งของชุมชนชานกำแพงพระนคร (ภาพโปสการ์ดสมัย ร.6 พ.ศ.2462 ของสินชัย เลิศโกวิทย์)

ป้อมมหากาฬ มีชุมชนอยู่มาตั้งแต่โบราณแล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นคนรากหญ้าที่ไปๆ มาๆ มันเป็นธรรมชาติของชุมชนในลักษณะนี้ จะไปเทียบกับผู้ดีในย่านไฮโซที่สร้างบ้านใหญ่โตไม่ได้ ชุมชนแบบนี้ เก่าไปใหม่มา แต่ตัวชุมชนไม่เคยร้าง มีคนอยู่อาศัยตลอด ความไม่เข้าใจ ไม่มีจิตสำนึกเรื่องชุมชน ต้องโทษการศึกษาไทย ที่ไม่มีประวัติศาสตร์สังคม

 

ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ (ซ้าย) ภูเขาทอง (ขวา) เห็นคลองมหานาค เชื่อมคลองโอ่งอ่างและสะพานผ่านฟ้า  [ภาพถ่ายทางเครื่องบิน โดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันต์ (Peter Williams Hunt) นักบินฝ่ายพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489]
ป้อมมหากาฬ ชานกำแพงพระนคร ริมคลองโอ่งอ่าง กรุงเทพฯ (ซ้าย) ภูเขาทอง (ขวา) เห็นคลองมหานาค เชื่อมคลองโอ่งอ่างและสะพานผ่านฟ้า [ภาพถ่ายทางเครื่องบิน โดย ปีเตอร์ วิลเลี่ยมส์ ฮันต์ (Peter Williams Hunt) นักบินฝ่ายพันธมิตร ถ่ายเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1946 หรือ พ.ศ. 2489]

ประธานชุมชนยัน อยู่มานาน 111 ปี เคยมี “ตลาดนกเขา”

สำหรับประเด็นมรดกทางวัฒนธรรมอย่างการทำกรงนกเขา ซึ่งถูกกล่าวอ้างว่ามีเพียงครัวเรือนเดียวเท่านั้น

ธวัชชัย วรมหาคุณ ประธานชุมชนป้อมมหากาฬ ยืนยันว่าบ้านที่ทำกรงนกเขาเดิมมีหลายครัวเรือน ทั้งยังเป็นที่ตั้งของ “ตลาดนกเขา” ในพื้นที่ 1 ไร่ 2 งาน โดยมีครอบครัวที่ทำกรงนกเขามากมาย ซึ่งสืบต่อมา 3 ชั่วอายุคน การที่เหลือบ้านทำกรงนกเพียง 1 หลังนั้น เพราะเมื่อ พ.ศ.2546 ทาง กทม.เองได้เป็นผู้ทำลายวัฒนธรรมดังกล่าวลงด้วยการรื้อชุมชนทำเป็นสวนอย่างที่เห็นในปัจจุบัน แล้วเหตุใดในวันนี้กลับนำประเด็นดังกล่าวมาใช้ในเหตุผลที่ว่า มีบ้านทำกรงนกเพียงหลังเดียว จะนับเป็นวิถีวัฒนธรรมได้อย่างไร

“ทำไม กทม.ลืมว่า เมื่อ พ.ศ.2546 ตนเองเป็นผู้ทำลายวัฒนธรรมดังกล่าวลงด้วยการรื้อชุมชนที่ทำบ้านนกเขา แล้วทำเป็นสวน ชาวบ้านที่ทำกรงนกมากมายต้องย้ายออกไป เมื่อปี 2546 จากเดิมเป็นตลาดนกเขา มีร้านขายกรงนก ต้องเหลือแค่บ้านเดียว ก็เพราะถูกสั่งให้ย้ายออกไป โชคดีที่เขาตั้งใจจะอนุรักษ์ภูมิปัญญาไม่ให้สูญหายไปจากการกระทำของ กทม.ในคราวนั้น”

กรงนกเขาแบบต่างๆ ซึ่งชาวชุมชนยืนยันว่าเดิมทำกันหลายครัวเรือน สืบทอด 3 ชั่วอายุคน แต่ถูก กทม.ให้ย้ายออกเมื่อ พ.ศ.2546
กรงนกเขาแบบต่างๆ ซึ่งชาวชุมชนยืนยันว่าเดิมทำกันหลายครัวเรือน สืบทอด 3 ชั่วอายุคน แต่ถูก กทม.ให้ย้ายออกเมื่อ พ.ศ.2546

แก้กฎหมาย ปรับเรือนไม้เป็นมิวเซียม

มาถึงมุมมองของสถาปนิกผู้ศึกษาชุมชนแห่งนี้อย่างจริงจัง อันนำมาซึ่งข้อเสนอที่อาจเป็น “ทางออก” ของข้อพิพาทระดับตำนานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

รศ.ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่า เหตุผลที่ กทม.จะนำพื้นที่ดังกล่าวมาปรับปรุงเป็นสวนสาธารณะนั้น เป็นแนวคิดเมื่อ 40-50 ปีก่อน ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเกาะรัตนโกสินทร์ เช่นเดียวกับการสร้างสวนสันติชัยปราการ ซึ่งในฐานะนักวิชาการไม่เห็นด้วย เพราะป้อมมหากาฬไม่เหมาะสมที่จะเป็นสวนสาธารณะ เนื่องจากมีทางเข้า-ออกเพียงด้านเดียว คือ ส่วนที่ติดถนนตรงข้ามวัดเทพธิดาราม นอกนั้นติดคลอง และตัวป้อมไม่สามารถเข้าออกได้ หากสร้างสวนอาจก่อให้เกิดอันตราย หรือกลายเป็นแหล่งก่ออาชญากรรมได้ง่าย แต่หากจะไม่ดำเนินการก็อาจติดปัญหาที่ข้อกฎหมาย

ชาตรีจึงเสนอทางออกให้ปรับแก้พระราชกฤษฎีกา ซึ่งเขามองว่าทำได้ไม่ยากเลย จากนั้นจึงปรับปรุงเรือนไม้เก่าเป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง ซึ่งทำการศึกษาไว้อย่างละเอียดผ่าน โครงการวิจัยเพื่อจัดทำแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนา ชุมชนบ้านไม้โบราณ “ป้อมมหากาฬ”

“ผมเสนอทางออกคือ ให้ปรับแก้ไขพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้ โดยคณะรัฐมนตรีสามารถดำเนินการได้ หลังจากนั้นควรปรับปรุงพื้นที่เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้ง เนื่องจากในชุมชนมีเรือนไม้เก่าจำนวนมาก โดยให้ชาวบ้านเป็นลูกจ้างของรัฐดูแลพื้นที่ สามารถอยู่อาศัยได้ แต่ไม่มีกรรมสิทธิ์ และในกรณีที่ชาวบ้านซึ่งมีบ้านหลังอื่นนอกเหนือจากในชุมชน ให้ย้ายออกทันทีหากทำได้จะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับการดำเนินการกับชุมชนอื่นๆ ที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน เพราะการแก้ปัญหาโดยการไล่รื้ออย่างเดียวไม่ใช่สิ่งที่ควรกระทำ”

หนึ่งในเรือนไม้หลายหลังในชุมชนป้อมมหากาฬที่นักวิชาการเสนอให้ปรับเป็นมิวเซียม
หนึ่งในเรือนไม้หลายหลังในชุมชนป้อมมหากาฬที่นักวิชาการเสนอให้ปรับเป็นมิวเซียม

สังคมได้อะไร เมื่อไล่ “ป้อมมหากาฬ”

ปิดท้ายด้วยข้อสงสัยจาก ศาสตราจารย์ ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ที่บอกว่า ตนมองไม่เห็นว่าหาก กทม.ไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬออกนอกพื้นที่แล้วสังคมจะได้ประโยชน์อะไร ส่วนตัวมองว่า กทม.ไม่มีสิทธิธรรม เหตุผลต่างๆ ในการไล่รื้อไม่สามารถนำมาอ้างได้ ส่วนชาวบ้านหากผนึกกำลังกัน เชื่อว่าสู้กับภาครัฐได้

“ชาวบ้านก็ต้องสู้ เมื่อสามารถผนึกกำลังกันจริงๆ เชื่อว่าสู้กับภาครัฐได้ ถ้าสู้ก็ชนะ กทม.ไม่มีสิทธิธรรม เหตุผลของเขาอ้างไม่ได้”

นี่คือส่วนหนึ่งของเรื่องราวจากชุมชนป้อมมหากาฬ ที่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง !

 

ภาพในล้อมกรอบ23 เมษายนนี้ มีงาน “สมาพ่อปู่ป้อมมหากาฬ” ซึ่งชุมชนจัดเป็นประจำทุกปี

ปีนี้พิเศษกว่าปีอื่นๆ เพราะใกล้กับเส้นตาย 30 เมษายน ที่ กทม.แจ้งให้ย้ายออก

ถือเป็นการรวมพลคนป้อมมหากาฬ มีกิจกรรมรดน้ำดำหัว พบปะพูดคุยกัน เชิญชวนให้คนที่สนใจในประเด็นป้อมมหากาฬมาร่วมสัมผัสความเป็นตัวตนของชุมชน เข้ามาเรียนรู้ และเปิดใจ

 

 

 

ป้อมมหากาฬ

เกาะรัตนโกสินทร์

 

ชุมชนป้อมมหากาฬ

 

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image