ดิ้นทองบนใบไม้แห้ง เจ้านิดถาคง สมสนิท ศิลปินฝรั่งเศสในบ้านเกิด ‘หลวงพระบาง’

จากชีวิตวัยเด็กในพระราชวังหลวงพระบาง ในฐานะสมาชิกราชวงศ์ลาว ได้ซึมซับความประณีตของศิลปะแขนงต่างๆ จนเกิดการปฏิวัติ และย้ายไปฝรั่งเศสหลังเรียนจบ

ใช้ชีวิตในต่างประเทศกว่า 20 ปี จนมีโอกาสได้กลับมาทำงานที่หลวงพระบางในฐานะศิลปินฝรั่งเศส เขาจึงตัดสินใจลงหลักปักฐานอีกครั้งที่บ้านเกิด

ดร.เจ้านิดถาคง สมสนิท (Tiao David Somsanith)

ศึกษาแพทย์ ด้านกุมารเวชศาสตร์ ที่เวียงจันทน์ ก่อนจะไปฝรั่งเศส เรียนต่อปริญญาโทจากสถาบันทัศนศิลป์ มหาวิทยาลัย Orleans และปริญญาเอกจิตวิทยาคลินิก มหาวิทยาลัยปารีส 1

Advertisement

เจ้านิดถาคงเล่าว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดขึ้นตอนเขาเรียนจบมัธยม ช่วงนั้นมหาวิทยาลัยในลาวยังมีสาขาให้เลือกเรียนไม่มาก เขาจึงเรียนต่อแพทย์ เพราะรู้ว่าช่วงเวลา 7 ปีที่เรียนจะไม่ถูกส่งตัวไปไหน ทั้งที่ใจจริงชอบด้านศิลปะมากกว่า

หลังเรียนจบเขาทำงานจิตแพทย์ จนถึงปัจจุบันก็ยังรับเป็นที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์นักศึกษา โดยทำงานศิลปะควบคู่มาเรื่อย โดยถือว่าใช้ศิลปะรักษาสมดุลในจิตใจกับงานจิตแพทย์

“ตอนเด็กเรียนอยู่เวียงจันทน์ พักร้อนก็ขึ้นไปหลวงพระบาง แล้วไม่มีโรงหนัง ทีวี ไฟฟ้า เหงามาก มีแต่วัดวา ตอนเด็กซนมาก คุณย่าก็ให้ปักผ้าเผื่อจะระงับความซนได้ แล้วยังให้จัดดอกไม้ ทำอาหาร เล่นดนตรี แต่จะมีการปักผ้าที่อยู่กับเรานาน”

Advertisement

ที่ผ่านมาเขาจัดแสดงผลงานศิลปะในหลายประเทศทั่วโลก งานที่โดดเด่นคือการปักดิ้นทอง ที่หยิบเอาการปักผ้าที่เห็นในวัยเด็กมาสร้างงานศิลปะ

ปี 2547 เขากลับมาหลวงพระบาง เพื่อทำงานร่วมกับโครงการ The Quiet in The Land ที่เชิญศิลปินผู้ลี้ภัยชาติต่างๆ มาทำงานศิลปะร่วมกับท้องถิ่นเป็นระยะเวลา 4 ปี เมื่อจบโครงการแล้วมีศิลปิน 2 คนที่ตัดสินใจอยู่หลวงพระบางต่อ หนึ่งในนั้นคือเจ้านิดถาคง

ในวัย 60 เจ้านิดถาคงอยู่ที่หลวงพระบาง นอกจากงานศิลปะส่วนตัวแล้ว เขาเป็นที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมให้ยูเนสโก และที่ปรึกษาด้านการท่องเที่ยวแบบลักซูรี่

อยู่บ้านเกิดในฐานะคนต่างชาติกว่าสิบปี ทำงานด้านวัฒนธรรมเท่าที่พอทำได้ ด้วยหวังจะรักษาเสน่ห์หลวงพระบางให้สมดุลกับความเปลี่ยนแปลง

ทำไมถึงมาจับงานปักผ้าดิ้นทอง?

เราทำให้เห็นว่าการปักผ้ายังเป็นวัฒนธรรมหนึ่ง วิธีปักก็มีประเพณี ส่วนตัวใช้การปักผ้าเป็นวิปัสสนากรรมฐาน เราเป็นศิลปิน ไม่ได้ทำแบบธุรกิจ ตั้งแต่เล็กจนโตก็มีสิ่งนี้ที่เรียนมาจากราชสำนัก แต่ก่อนช่างตีเงินตีทองที่ชำนาญมากก็เป็นช่างหลวงขึ้นกับราชสำนัก เป็นการอนุรักษ์หัตถกรรมต่างๆ

งานส่วนใหญ่ปักดิ้นทองบนใบไม้ มีความหมายอย่างไร?

ได้รู้จักคนมีฐานะเยอะ แต่ถ้าเขาไม่มีธรรมะ ก็อยู่ยาก เขาเห็นเราทำงานแล้วบอกว่าอิจฉาชีวิตเรา เราใช้ใบไม้แห้งในแนวคิดของ อสุภะอสุภัง เป็นระดับวิปัสสนาหนึ่งของพุทธศาสนา เกี่ยวกับร่างกายที่โรยไปแล้ว เหมือนพระกรรมฐานที่ป่าช้าหรือเอาผ้าห่อคนตายมาห่มเพื่อบอกว่าร่างกายเราไม่มีอะไร จะพาคนต่างชาติไปดูป่าช้าคงไม่ไหว จึงทำงานนี้เป็นใบไม้ธรรมดาที่กำลังขาด กำลังเสื่อม มองแล้วทำสมาธิ

เป็นการปักผ้าแบบ 3 มิติบนใบไม้ เอาใบไม้มาอัดให้แห้ง เคลือบน้ำรักแล้วค่อยๆ ปัก เหมือนตอนเย็บแผลที่เล็กต้องใช้สมาธิมาก พยายามเลิกคิดเรื่องอีโก้เรื่องกิเลส ใบไม้นี้เราไม่ใช่เจ้าของ แมลงมันกัดกิน วันหนึ่งมันจะร่วงอยู่แล้ว เราเพียงแต่หยุดขั้นตอนของมัน ชีวิตแต่ละโมเมนต์สำคัญมาก ทำให้แต่ละนาทีมีคุณค่า

คนที่เขาซื้องานไปบอกว่า เวลาทำงานหนักจะเปิดกล่องดูแล้วนั่งหายใจเข้าออก 5 นาทีก็พอแล้ว การปักผ้าไม่ใช่มีเฉพาะงานเครื่องนุ่งทรง แต่เป็นคอนเทมโพรารีอาร์ตได้ เราจะรู้ว่าทำแล้วได้อะไร ถ้านั่งคิดว่าทำแล้วจะขายเท่าไหร่ก็ไม่ต้องทำแล้ว

ดิ้นทองต้องใช้ของฝรั่งเศส?

ถ้าฝึกกับเด็กก็ใช้ดิ้นจากพาหุรัดบ้าง ดิ้นอินเดียบ้าง น้ำทองไม่เยอะ ราคาไม่สูง แต่เวลาทำงานศิลปะเรามีกฎ ต้องใช้ดิ้นที่มีทองเกิน 1 เปอร์เซ็นต์ มีบริษัทเดียวของฝรั่งเศสที่ทำ แต่ก่อนก็ใช้ของฝรั่งเศสเพราะเราเป็นอาณานิคมฝรั่ง ก็เอามาเป็นบรรณาการให้แก่วัง วังจะเอาไปขายก็ไม่ได้ และต้องเป็นคนฝีมือนุ่มนวลจึงจะทำได้ ศิลปะปักดิ้นไม่ได้อยู่เฉพาะในราชสำนัก แต่อยู่ในวัดวาอาราม ผ้าพระบฏ ตาลปัตร หมอน และเครื่องโขน ไม่ใช่ของสูงหรือของวัง แต่ว่ามันแพง ใครจะทำเขาไม่ห้าม แต่ตอนนั้นใครจะทำได้

ใช้เทคนิคเก่ามาทำเป็นงานร่วมสมัย?

Adapt กับ Adopt คือต้องปรับตัวแล้วดึงมาเป็นของเรา เช่นจะฟ้อนรำไหว้ครูให้แขกเห็นว่าไหว้กันยังไง แต่ไม่ต้องยาวเกินไป ดูว่าปรับตัวได้ขนาดไหน ปรับตัวแต่ต้องมีเอกลักษณ์ ไม่ใช่ว่าท่องเที่ยวจะบังคับให้เราทำอะไร การ Adapt และ Adopt ต้องมีทุกครั้ง โดยมีประวัติศาสตร์เป็นฐานในสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ว่าอนุรักษ์เอาเมล็ดพืชไปใส่ไว้ในมิวเซียมแล้วบอกว่าเป็นหมากงา ถ้าไม่ปลูกจะรู้ไหมต้นเป็นยังไง ก็กลายเป็นของเก่าไป

ทำงานแนวร่วมสมัยคนเข้าถึงง่ายกว่า?

ตอบโจทย์ว่าเราอยู่ในปัจจุบัน ไม่ได้อยู่ในอดีตหรืออนาคต เอาปัจจุบันดีกว่า เราไม่ได้ทิ้งการปักดิ้นแบบแต่ก่อน แต่ปัจจุบันก็มีเทคนิคใหม่มาช่วย ซึ่งยังทำด้วยมือไม่ได้ใช้จักร

แต่เล็กเราไปอ่านหนังสือที่ป่า อ่านแล้วเอาใบไม้เหน็บ เราอ่านในสิ่งที่เราชอบ ค้นตำราในสิ่งที่อยากได้ เป็นความทรงจำของเรา ผ่านไปแล้วก็กลับมาคิดว่าเขาเขียนยังไง เอาใบไม้มาปักว่าเราอ่านอะไรไปบ้าง เด็กๆ ก็ทำกันทั้งนั้น เอาใบไม้เสียบหนังสือแล้วทิ้งไป หรือดอกไม้ที่คู่รักให้กันแรกๆ เหี่ยวแล้วก็ทิ้งกันไป

เห็นเพื่อนที่เป็นดาราฮอลลีวู้ดเขาทุกข์แล้วไม่มีธรรมะช่วย บางคนก็อาศัยยา กว่าจะรู้ตัวก็ไม่ทันแล้ว การอยู่ในธรรมะทำให้ไม่ต้องคิดเยอะ เดินจงกรมอยู่บ้านก็ทำได้ ไม่ต้องไปวัด อยากกรรมฐานเปิดงานผมดูแล้วคิดว่าชีวิตมีเท่านี้เอง เราไม่ซับซ้อน

ทำไมถึงตัดสินใจกลับมาอยู่หลวงพระบาง?

เพราะว่าบ้านเมืองเปิด อาจารย์เราบอกว่าบ้านเมืองคุณเปิดแล้ว ถ้าหน้าต่างเปิดลมเข้ามา ยุงก็เข้ามาด้วย อะไรที่ช่วยได้ก็ช่วยไป แต่เราก็ต้องทำใจ ตัดกิเลส ถ่อมตัว อะไรปล่อยได้ก็ปล่อยวาง

ตอนนั้นหลวงพระบางกำลังเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวเพราะยูเนสโกเข้ามา แล้วทรัพยากรมนุษย์ไม่มี ลงทุนสร้างโรงแรมแต่ไม่มีโรงเรียนสอนการรับแขก ดนตรีเดิมก็ไม่มี อาหารเก่าก็ไม่ได้เขียน งานใบตองก็ไม่มี โรงแรมก็ตกเป็นแถวเพราะรับแขกไม่เป็น เราจึงคิดว่าจะอยู่สอนคน

แล้วโรงแรมในเครือ Aman มาเจอเราที่สิงคโปร์ บอกว่าเขาชอบบ้านเรามาก อยากไปตั้งโรงแรม 6 ดาว เราถามว่าใครจะทำงานให้ เขาบอกไม่เป็นไรฝึกกันเอง เราจึงเป็นที่ปรึกษาให้ Aman และเป็นสถานที่ฝึกคน
เป็นสิ่งที่เรียนรู้มาตั้งแต่เด็ก?

ใช่ มาสัมผัสของจริงบ้าง ไม่ใช่ทำเพื่อการท่องเที่ยว ถ้าเล่นดนตรีสนุกแขกก็จะสนุก บางคนฟ้อนยกแขนยกขาไม่มีการไหว้ครู เราก็เป็นสะพานให้เด็กกับผู้เฒ่า สอนเรื่องตกแต่งอาหาร เรื่องมารยาท

ความรู้ต่างๆ ในราชสำนักมีตำราเขียนไหม?

ใช้การถ่ายทอดปากเปล่าเป็นหลัก เพราะกว่าจะเป็นศิษย์ต้องไหว้ครู มีความเคารพครู การถ่ายทอดปากเปล่าจะมีประกาศิตกว่า เพราะรับจากขวัญสู่ขวัญ ถ้าไม่มีขวัญก็ทำอะไรไม่ได้หรอก มันเป็นจิตวิญญาณ ไหว้ครูก็ทำพิธีให้เขาเห็นไม่ใช่ไปไหว้หลังบ้าน หรือสวมชฎา จะทำอะไรก็ต้องปลดออกก่อน ไม่ใช่ใส่อยู่แล้วไปไหว้แขก เพราะคุณเป็นเทพ รู้จักเคารพอุปกรณ์ในการทำงาน

งานหลักตอนนี้เป็นที่ปรึกษาด้านวัฒนธรรมด้วย?

ก็มีเยอะ อย่างงานซ่อมแซมวัด เจอฝาผนังประตูที่พัง ถ้าทำเองไม่ได้ก็เก็บบันทึกไว้ กว่าจะรู้สึกกันก็พังหมดแล้ว เราไปเก็บข้อมูลแล้วอะไรซ่อมได้ก็ให้วัดซ่อม โดยช่วยอุดหนุนเขา ที่ทำไม่ได้ก็เก็บข้อมูลแล้วถ้าเขาจะซ่อมเราก็มีข้อมูลให้ เป็นหน้าที่ที่เราทำกันเอง

เราเห็นกับตาว่าปลวกกินประตูแล้ว น่าจะฝึกเณรให้ดูแลวัดที่ตัวเองอยู่ เมื่อก่อนเป็นหน้าที่เณร ไม่ใช่ว่าบวชเพื่อเรียนแล้วสึกไปเสิร์ฟอาหาร เดี๋ยวนี้เศรษฐีที่มีศรัทธาเขาเอาเงินมาประเคนมาปลูกกุฏิให้ วัดก็อยากได้กุฏิที่เป็นรีสอร์ต แล้วปัจจุบันวัดก็เป็นที่ถ่ายพรีเวดดิ้ง มันไม่ใช่หน้าที่ของวัด อยากให้วัดดูแลว่าประตูพังแล้ว มีเงินก็มาทำแบบเก่า อะไรที่เราทำได้ก็ทำไป แล้วส่งต่อให้เด็กๆ ว่าเขาจะรับแค่ไหน

วัฒนธรรมหลวงพระบางต่างไปจากเดิมไหม?

เขายังไม่เข้าใจวัฒนธรรม การเอาวัฒนธรรมไปอยู่ในการท่องเที่ยว วัฒนธรรมก็แหลก เหมือนเอาศิลปะไปอยู่กับการเมือง ศิลปะแหลก ปัจจุบันการท่องเที่ยวอยู่สูงกว่าวัฒนธรรม นักท่องเที่ยวอยากได้สีดำก็เอาสีดำใส่ให้เขา ปัจจุบันจะเห็นโครงการ Economic Corridor แล้ว Culture Corridor อยู่ที่ไหน แถบนี้ก็มีศิลปินเยอะ น้ำโขงรวมกันได้ไหม ไม่ต้องแบ่งว่าเป็นลาว ไทย เขมร พอแล้ว เจ็บกันมามากแล้ว

หลวงพระบางตอนเด็กที่จำได้ต่างจากตอนนี้ไหม?

ไม่ต่างหรอก เพราะเราเป็นเมืองกระทบอยู่แล้ว เมืองที่ปรับตัวทุกวัน อยู่ในสี่แยก ถ้ารถสัญจรไม่ดี มีอุบัติเหตุเราก็เป็นคนรับ กระบือชนกันหญ้าแพรกก็ตาย เมืองกระทบอยู่ได้ด้วยความสมดุล ต้องปรับตัวได้ นั่นนี่เข้ามาแล้วสมดุลกันได้ หลวงพระบางเป็นโคโลเนียล สไตล์จีน สไตล์สุโขทัย แต่เข้ากันได้ ดีที่เอกลักษณ์เราคือสิ่งนี้ ไม่ใช่เป็นชาตินิยม ไอ้นั่นไอ้นี่เป็นของเรา ไม่ได้

คนห่วงเรื่องความเปลี่ยนแปลงในหลวงพระบาง?

ที่ไหนก็เปลี่ยนแปลง แต่ว่า “ขวัญ” ยังไม่เปลี่ยนแปลง คนหลวงพระบางสบายๆ เรียบง่ายไม่เอิกเกริก ร้านก๋วยเตี๋ยวที่อร่อยที่สุด ขายแค่ 20 ถ้วยแล้วปิด ไม่ทำเพิ่ม พรุ่งนี้มาต่อ แต่คนที่ไม่พอเป็นเศรษฐีใหม่ เจเนอเรชั่นของหลุยส์ วิตตอง เวอร์ซาเช่ ปลูกเรือนใหญ่ๆ แข่งกัน แต่ไม่ได้อยู่ ไม่มีความสุข

เหมือนเมืองอื่นที่เจริญขึ้นแล้วคนออกไปอยู่นอกเมือง?

ไม่มีคนอยู่แล้ว หลวงพระบางเป็นเมืองเก่า ต่างชาติก็อยากซื้อ คนที่มาอยู่ก็เป็นรุ่นใหม่ ตั้งแต่สมัยปฏิวัติ หลวงพระบางเป็นเมืองเจ้าเมืองนาย ลูกหลานเขาเผ่น คนที่มาอยู่ใหม่ก็เป็นชาวต่างชาติ ส่วนใหญ่ตอนนี้เป็นธุรกิจ โรงแรม

หลังได้ยูเนสโกก็ดันหลวงพระบางให้มีหน้ามีตาขึ้น ดีที่มีศาสนา พิธีกรรมต่างๆ จึงยังมีอยู่ พระยังสวดมนต์จริงๆ บิณฑบาตจริงๆ ถึงนักท่องเที่ยวจะเยอะ คนถ่ายรูปกัน ก็พยายามช่วยกันเขียนบอกตามโรงแรมว่าพิธีกรรมเหล่านี้เป็นพิธีกรรมจริง นั่งลงบ้าง ไม่เปิดแฟลชนะ เตือนประชาชนให้เป็นหูเป็นตาช่วยกัน

“…เราไม่ใช่แก่นของโลก เกิดในโคโลเนียล ได้รู้จักปรัชญา เกิดในช่วงที่มีสงคราม รู้จักว่าอะไรก็ไม่ยั่งยืนเที่ยงแท้ รู้จักการเป็นคนอพยพ พรากบ้าน พรากเมือง พรากคนที่เรารัก…”

ในฐานะที่เป็นศิลปิน การทำงานในยุโรปกับลาวต่างกันไหม?

เราต้องการทำงานในบ้าน สัมผัสสิ่งที่เรารัก การทำงานศิลปะสิ่งนี้จะเป็นแรงบันดาลใจ อยู่ยุโรปก็ทำงานได้แต่ไม่เต็มร้อยเหมือนอยู่บ้าน อาศัยบ้านเป็นสถานที่สร้างสรรค์ แต่ก็ไปโชว์ที่อื่นได้

อย่างผ้าพระบฏเราก็เอามาถวายเป็นพุทธบูชาที่วัดท่าล้อ จ.น่าน เพราะคิดว่าน่านมีเสน่ห์ ยังมีขวัญอยู่เมื่อเทียบกับเมืองอื่น เมืองน่านเหมือนหลวงพระบางและติดกับลาว ที่มีศรัทธาวัดนี้เพราะรู้ว่าเจ้าอาวาสองค์ก่อนๆ ร่วมอยู่ในกระบวนการเจรจากับฝรั่งเศส คืนไชยบุรีไปฝั่งลาวโดยไม่มีการนองเลือด และพระเจ้าฟ้างุ้ม กษัตริย์องค์แรกของล้านช้างก็มาสวรรคตที่นี่แต่ไม่รู้ตรงไหน

เห็นความเชื่อมโยงระหว่างน่านและหลวงพระบาง?

เราเห็นว่าน่านจะเชื่อมต่อกับหลวงพระบางได้ ต่อไปด่านห้วยโก๋นเปิด คนผ่านน่านเขาก็จะเห็น เลยปักผ้าพระบฏมาบูชาที่นี่ ไม่ต้องพูดว่าเราเป็นไทยหรือลาวพอแล้ว ช่วยกันไป

น่านในอนาคตต่อไปจะอยู่ในเส้นทางมรดกโลกระหว่างหลวงพระบางกับสุโขทัย น่านอยู่ตรงกลาง แต่เห็นสุโขทัยแล้วอยากให้ระวังหน่อย เพราะเปิดให้ท่องเที่ยวเยอะเกินไป เจอศิลปินคนหนึ่งทำพระพุทธรูป เหรียญเล็กๆ รถท่องเที่ยวมาลงสองคัน คุณจะไหวเหรอ ต้องให้ศิลปินทำงานของเขาแล้วจัดการให้เขา ไม่ใช่ให้เขาจัดการเอง หน้าที่ของคิวเรเตอร์คือรักษาศิลปิน บ้านเรายังมีคิวเรเตอร์ไม่พอ

ชีวิตนี้มีอะไรที่อยากทำอีกไหม?

อยากทำหอศิลป์หรือสถานที่เก็บสิ่งที่เราทำเป็นมรดกให้คนรุ่นใหม่ ทำที่ไหนก็ได้ที่มีคนสืบต่อ ไม่จำเป็นต้องอยู่หลวงพระบาง เพราะเราเป็นคนนานาชาติอยู่แล้ว

สิ่งที่พ่อแม่ให้เราคือโอกาส จึงอยากให้ทุกคนมีโอกาส แม้เด็กไม่ได้เรียนหนังสือแต่เขาสามารถก๊อบปี้ได้ เมื่อมีต้นแบบที่ดีที่สุด จะมีตัวก๊อบปี้ที่ดีที่สุด เราไม่สนว่าคุณเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีที่สุด ชะตาเรากำหนดไม่ได้ แต่ทำดินให้ดีได้ เป็นปรัชญาที่เราคิดทุกวัน

คนถามว่าเป็นเมืองขึ้นฝรั่งได้อะไร…ก็ไม่ได้อะไร ได้ภาษา ได้รู้ว่าเราไม่ใช่แก่นของโลก เกิดในโคโลเนียล ภาษาที่เรียนคือฝรั่งเศส ได้รู้จักปรัชญา และเกิดในจังหวัดที่มีความศักดิ์สิทธิ์ มีบาปมีบุญเพราะยังมีศาสนา เราเกิดในช่วงที่มีสงคราม รู้จักว่าอะไรก็ไม่ยั่งยืนเที่ยงแท้ รู้จักการเป็นคนอพยพ พรากบ้านพรากเมือง พรากคนที่เรารัก นี่เป็นบทเรียนชีวิตที่คนธรรมดาไม่เห็น เราภูมิใจเพราะผ่านตรงนี้แต่ยังไม่ตาย

มองชีวิตที่ผ่านมาเป็นความทุกข์ไหม?

เป็นบทเรียน โชคดีที่เราเป็นศิลปิน อยู่ในความทุกข์ก็ยังมีความสุขอยู่ ศิลปินจะเป็นอาการของสังคม ถ้าสังคมป่วยศิลปินจะเป็นตุ่มฝี ถ้าสังคมเปิดศิลปินก็ทำงานออกมาเปิด ถ้าสังคมเอ็นจอยศิลปินก็ทำงานที่เอ็นจอย ประเทศต้องมีศิลปิน หน้าที่ศิลปินคือเป็นอาการของสังคม ทำที่นี่ไม่ได้ก็ไปทำที่อื่น ไม่ใช่ว่าเขาห้ามแล้วไม่ทำ

การไปอยู่ต่างประเทศก็เป็นโอกาสหนึ่ง?

ก็เป็นโอกาส ได้รู้จักว่าการเสียในสิ่งที่รักเป็นยังไง สงครามไม่ได้ฆ่าเราตาย เราไปเป็นที่ปรึกษาให้ศิลปินเขมร บอกว่าอย่าไปโฟกัสเฉพาะเขมรแดงเยอะเกินไป ผ่านเถอะ จะเอามาเป็นแต่ความทุกข์ไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าให้ลืม จารึกอยู่ แต่ต้องผ่าน ไม่อย่างนั้นก็ไม่รอด

ถ้าไม่ผ่านความทุกข์ตัวเองก็นอนอยู่อย่างนั้น ผ่านไปเถอะ รู้อยู่ว่าทุกข์ แต่ถ้าเราไม่พาสังคมไปก็จะอยู่กันอย่างนั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image