ข้อมูลใหม่เรื่อง ‘พระเจ้าตากสิน’ ว่าด้วย เมืองตาก-อนุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่-นครศรีธรรมราช

หากมีการจัดอันดับ “กษัตริย์ผู้ทรงบารมีของไทย” เชื่อว่าคงต้องมีพระนามของ พระเจ้าตากสิน (พ.ศ.2277-2325) ติดอันดับด้วยอย่างแน่นอน เพราะแม้พระองค์จะเสด็จสวรรคตไปกว่า 200 ปี หากวีรกรรมที่ทรงกู้อิสรภาพให้ประเทศยังอยู่ในใจประชาชน และมีการติตตามพระราชประวัติของพระองค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีคำตอบใหม่เกิดขึ้นในวงวิชาการ

นิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายน 2561 เองก็มี 3 ประเด็นใหม่เกี่ยวกับพระเจ้าตากสิน มาเชิญชวนให้ท่านติดตามเช่นกัน

1.เมืองตากของพระเจ้าตากคือเมืองอะไร 2.การทรงตั้งนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองประเทศราชถูกต้องหรือไม่ 3.พระบรมราชานุสาวรีย์ของพระองค์ที่วงเวียนใหญ่ ใครคือผู้ริเริ่มผลักดัน

เมืองตากของพระเจ้าตาก

เมืองตากที่พระเจ้าตากสินเคยปกครอง ความรู้เดิมเชื่อว่าอยู่ที่บ้านระแหง (จังหวัดตากในปัจจุบัน) ตามที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกเรื่องนี้ไว้ “อธิบายระยะทางล่องลำน้ำพิง” ว่า เมืองตากของพระเจ้าตากนั้นอยู่ที่บ้านระแหง ความตอนหนึ่งในหนังสือข้างต้นกล่าวว่า

Advertisement

“ด้วยปรากฏว่าจวนของพระเจ้ากรุงธนบุรี เมื่อครั้งยังเป็นพระยาตากอยู่ที่บ้านระแหง”

หากบทความชื่อ “เมืองตากของพระเจ้าตาก คือ บ้านตาก” ของ ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ เสนอว่าควรจะเป็นที่ “บ้านตาก” ซึ่งห่างจากบ้านระแหงไป 30 กิโลเมตร

หลักฐานอะไรทำให้เชื่อได้ว่าเป็นจริงดังนั้น

Advertisement
แผนที่เส้นทางเดินทัพกลับในคราวไป “ปราบเชียงใหม่” ปี ๒๓๑๗ ในพระราชพงศาวดารฉบับพันจันทนุมาศ ขายกทัพไป เนื้อความขาดไป แต่ตอนยกทัพกลับ ได้ระบุเส้นทางเดินทัพ และชื่อบ้านเมืองที่พักค้างแรม และในเอกสารฉบับนี้เองที่เรียกบ้านตากว่า “เมืองตาก” (แผนที่นี้ใช้ Google Map ค้นหา พบว่าชื่อบ้านเมืองยังคงมีร่องรอยที่ตั้งในปัจจุบัน)

อาจารย์ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ใช้เอกสารหลักฐาน โดยเป็นเอกสารในสมัยพระเจ้าตากหลายรายการ ได้แก่ พระราชพงศาวดารกรุงธนบุรี ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า ฯลฯ

ในที่นี้ขอยกบางส่วนมาเป็นตัวอย่าง

“มหาราชวงษ์พงษาวดารพม่า” กล่าวถึงการยกทัพของฝ่ายพม่าเมื่อเดินทางลงใต้เพื่อเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยา เมืองหน้าด่านเมืองแรกของอยุธยา เมื่อเดินทางลงมาจากเมืองลำปางและเมืองเถิน คือ “เมืองบ้านตาก” โดยกล่าวถึงพื้นที่และรายละเอียดในการเข้าตีเมืองตาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของเมืองบ้านตาก เมื่อพม่ายึดเมืองบ้านตากได้ทำให้เมืองระแหงยอมจำนนตาม

หรือหนังสือราชอาณาจักรสยาม ของ ลาลูแบร์ ทูตชาวฝรั่งเศส เขียนอธิบายถึงเมืองแม่ตากไว้ว่า

“เมืองแม่ตาก นั้นกล่าวกันว่า เป็นเมืองที่มีเจ้าสืบวงศ์ครอบครอง ขึ้นต่อพระเจ้ากรุงสยาม เรียกชื่อเจ้าผู้ครองว่า พญาตาก อันหมายความว่าเจ้าแห่ง (เมือง) ตาก. เมือง เทียนทอง นั้นร้างไปแล้วคงจะเนื่องจากสงครามเก่าแก่กับพะโค เมือง กำแพง นั้นเป็นที่รู้กันว่ามีเหมืองเหล็กกล้าอันเป็นเหล็กเนื้อดีวิเศษ…เมืองพิษณุโลก…เมื่อก่อนนี้ก็มีเจ้าผู้ครองสืบวงศ์เหมือนกัน เช่นเดียวกับเมืองแม่ตาก…”

อ่านจบแล้วจะกระจ่างว่าเมืองตากอยู่ที่บ้านตาก ด้วยหลักฐานทางวิชาการทั้งปวง

นครศรีธรรมราช : หัวเมืองประเทศราช

เมื่อพระเจ้าตากสินทรงปราบปรามชุมนุมต่างๆ เมื่อจับตัวผู้นำได้ไม่ว่าจะเป็น เจ้าพระฝาง, เจ้าพิมาย ก็ทรงให้ปลงพระชนม์เสียทั้งสิ้น เว้นแต่เจ้านครศรีธรรมราชที่ไม่ลงโทษประหาร โดยให้รับราชการ และทรงแต่งตั้งให้เป็นเจ้าประเทศราชกลับไปครองเมืองนครศรีธรรมราชเหมือนเดิม

เสียงร่ำลืออ้างมากมายว่านั่นเป็นการจัดการที่ “วิปลาส”

ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม 6 “เรื่องตั้งเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัท) ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช พ.ศ.2327” บันทึกเรื่องนี้ว่า

“ด้วยเสนาพฤฒามาตย์มุขลูกขุนทั้งปวง ปรึกษากราบทูลพระกรุณาว่า เมืองณคอร (ศรีธรรมราช) ขึ้นแก่กรุงศรีอยุทธยาแต่ก่อนนั้น ถ้าเสนาบดีข้าราชการผู้ใหญ่มีบำเหน็จความชอบในราชกิจ สมเด็จบรมบพิตรปลูกเลี้ยงให้ออกไปรั้งเมืองครองเมือง มีแต่ปลัดยุคบัตรกรมการรับราชการตามขนบธรรมเนียมบุราณราชประเพณี

พญาตากสินได้ว่าราชการแผ่นดินครั้งนั้น กอปรไปด้วยโมหะโลภะ มิได้ประพฤติการให้ชอบโดยขนบบุราณ ตั้งให้เป็นถึงเจ้าณคอร มีอรรคมหาเสนาจัตุสดมภ์ มหาดเล็ก ต้องชื่อข้าเฝ้าเทียมพระเจ้าอยู่หัว จะสั่งกิจราชการบัตรหมายประการใดกว่ารับสั่ง…”

“ณคอน” เมืองนครศรีธรรรมราช (ในวงกลม) จากสมุดภาพไตรภูมิฉบับหลวงสมัยกรุงธนบุรี เลขที่ ๑๐ (ภาพจากหนังสือสมุดภาพไตรภูมิฉบับกรุงศรีอยุธยา-ฉบับกรุงธนบุรี เล่ม ๒ กรมศิลปากร จัดพิมพ์ พ.ศ.๒๕๔๒)
กำแพงเมืองนครศรีธรรมราช ภาพถ่ายสมัยรัชกาลที่ ๕ (ภาพจาก สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

แต่บทความ “นครศรีธรรมราช : ก๊กเจ้านคร-หัวเมืองประเทศราชสมัยพระเจ้าตากสินกรุงธนบุรี” ของ กำพล จำปาพันธ์ มาชวนให้คิดใหม่

เหตุผลง่ายๆ อันดับแรกของผู้เขียน (กำพล จำปาพันธ์) ชวนให้เราตั้งข้อสงสัย คือ พ.ศ.2319 มี 3 เหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น 1.แต่งตั้งพระเจ้านครศรีธรรมราช (หนู) เป็นเจ้าประเทศราช 2.มีศึกอะแซหวุ่นกี้ 3.เศรษฐกิจการค้าของประเทศเริ่มฟื้นตัวนับตั้งแต่เสียกรุงศรีอยุธยา

เมื่อคิดตามกำพลคำว่า “วิปลาส” จึงต้องต่อท้ายว่า “จริงหรือ”

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานทางเอกสารที่กำพลค้นคว้ากว่า 40 รายการ ที่ทำให้รู้ว่านครศรีธรรมราชเป็น 1 ใน 16 ประเทศราชที่ขึ้นกับอยุธยาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) นอกจากนี้กษัตริย์อยุธยาในราชวงศ์ละโว้-อโยธยา และราชวงศ์สุพรรณภูมิยังถือคติการเป็นพญาจักรพรรดิราชจากการมีพระสนมเอก 4 นาง จาก 4 เมืองสำคัญ คือ ลพบุรี, สุพรรณบุรี, สุโขทัย-พิษณุโลก และนครศรีธรรมราช

พระบรมราชานุสาวรีย์ที่วงเวียนใหญ่

ใครๆ ต่างรู้จักพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินที่วงเวียนใหญ่ หากค้นคว้าในวิกิพีเดียก็จะรู้ลึกลงไปอีกว่า ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้ออกแบบ และมีพระราชพิธีเปิดและถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2497 ฯลฯ

แต่กว่าที่พระบรมราชานุสาวรีย์แห่งนี้จะแล้วเสร็จ มีบุคคลที่ริเริ่ม ผลักดัน เกาะติดอย่างต่อเนื่องจนก่อสร้างแล้วเสร็จ คงต้องยกเครดิตนี้ให้ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ กับเวลา 32 ปี (พ.ศ.2465-97) ในการทำงานนี้

เริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2465 นายทองอยู่เป็นครูที่โรงเรียนฝึกหัดครูวัดบวรนิเวศ เสนอความคิดเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์กับเพื่อนครู แต่ถูกมองเป็นเรื่องขบขันที่เป็นไปไม่ได้ ถ้าใครขืนอุตริกระทำขึ้นก็อาจนำภัยเข้ามาสู่ตัวเอง

นายทองอยู่ พุฒพัฒน์ เจ้าของฉายา “โต้โผไฮด์ปาร์ค” ถูกจับกุมกรณีกบฏอดข้าว ในภาพตำรวจประคองปีกซ้าย-ขวานำตัวมาศาล

แต่เขาไม่เคยละทิ้งความตั้งใจ เมื่อได้เป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดธนบุรีใน พ.ศ.2477 จึงเชิญประชุมผู้แทนตำบลของจังหวัดธนบุรีทั้งหมด เพื่อหารือเรื่องพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินอีก

เมื่อรัฐบาลเห็นชอบในหลักการ แต่กลับไม่คืบหน้า นายทองอยู่ก็ทำหนังสือถึง พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น รวมถึงจัดตั้งคณะกรรมการและพากันเข้าเฝ้าพระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา ประธานคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อขอความร่วมพระทัยในการสร้าง

นายทองอยู่ยังติดตามเรื่องการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินอย่างต่อเนื่อง เข้าพบนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นๆ อีกหลายรัฐบาล จนเริ่มมีการออกแบบ การก่อสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์แล้วเสร็จ และมีการฉลองสมโภชในเดือนเมษายน พ.ศ.2497

นอกจากเรื่องของพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากแล้ว นายทองอยู่ยังเป็นสมาชิกนักการเมืองรุ่นบุกเบิกของประเทศ เป็นบุคคลแรกที่ขึ้นกล่าวโจมตีนโยบายรัฐบาลในที่ชุมชนสาธารณะจนได้ฉายา “โต้โผไฮด์ปาร์ค” และเป็นคนเรียกร้องให้ยกเลิกสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภท 2 (ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรง) จนถึงขั้นอดข้าวประท้วง ฯลฯ แต่บั้นปลายชีวิตกลับหันหลังให้กับเรื่องราวทางโลกทั้งหมดแล้วออกบวชจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

เรียกได้ว่านายทองอยู่เป็น “คนจริง” คนหนึ่ง

ซึ่ง นริศ จรัสจรรยาวงศ์ รวบรวมประวัติของเขาไว้ในบทความชื่อว่า “ชีวิตอุทิศแด่ ‘พระเจ้าตาก ประชาธิปไตย และ พระนิพพาน’ ส.ส.พรหมจรรย์ ทองอยู่ พุฒพัฒน์ (พ.ศ.2442-2514)”

ทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบทความเต็ม ขอท่านได้โปรดอ่านเอาเรื่องเอารสจากนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนกันยายนนี้ เพราะประวัติศาสตร์ในรัชกาลพระเจ้าตากสินที่ผ่านมา 200 กว่าปี ยังมีนักวิชาการสืบค้นข้อมูลใหม่มาตอบคำถามเก่าให้เกิดความกระจ่างอยู่เสมอ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image