งามนัก ภาพจำหลักไม้ ‘วัดแก้วไพฑูรย์’ มรดกล้ำค่าแห่งรัตนโกสินทร์

ตอนสุธนุเสียม้ามณีกักขิให้ฆันตรยักษ์ จึงต้องพาพระนางจิรัปภารอนแรมในป่าเพื่อกลับเมืองพาราณสี

“ได้มีฉลองศาลานี้เป็นเดือนๆ จนชาวบ้านไม่ค่อยทำมาหากิน กระทั่งข้าวสารสำหรับหุงกินนั้น ก็ตำจำเพาะหุงกินครั้งหนึ่งๆ เท่านั้น ก็คงจะติดละคร ซึ่งละครนั้นคงจะแสดงเรื่องพระวิสัชนู (สุธนุชาดก) อันเกี่ยวกับประวัติสร้างศาลานี้ เนื่องด้วยได้มีการฉลองเป็นเวลานาน กิตติศัพท์ความงามของศาลานี้ได้แพร่ไปในที่ต่างๆ ทำให้ผู้คนมาชมและมาเป็นศิษยานุศิษย์ของหลวงปู่บุญมากขึ้น”

นี่คือถ้อยความบอกเล่าอันเปี่ยมไปด้วยสีสันจากปากคำของผู้เฒ่าผู้แก่ซึ่งถูกถ่ายทอดต่อๆ กันมาถึงบรรยากาศงานฉลองศาลาการเปรียญวัดบางประทุนในซึ่งทุกวันนี้รู้จักในชื่อ ‘วัดแก้วไพฑูรย์’ ย่านบางขุนเทียน ฝั่งธนบุรี สถาปัตยกรรมล้ำค่ายุคต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งสันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคที่ ‘หลวงปู่บุญ’ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเป็นพระอธิการระหว่างรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ลายจำหลักบนฝาปะกนทั้งหลังก่อนการอนุรักษ์ ซึ่งพลอากาศตรี อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรยกให้เป็น ‘หนึ่งเดียวในสยาม’

เมื่อคราวแรกสร้างเป็นเรือนไทยใต้ถุนสูง ขนาด 7 ห้อง ใช้การเข้าไม้แบบโบราณ หลังคาทรงจั่วลดชั้น มีชายคาปีกนก เครื่องบนประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ผนังเป็นไม้แบบฝาปะกนจำหลักลวดลายวิจิตรตระการตาจนงดงามเป็นที่โจษขาน ทั้งพันธุ์พฤกษา สัตว์วิเศษ สัตว์หิมพานต์ อีกทั้งสัญลักษณ์แฝงความหมายอันเป็นมงคลตามความเชื่อแบบจีนผสานแนวคิดอย่างไทย ดังที่ น. ณ ปากน้ำ นักปราชญ์แห่งสยามประเทศยกย่องว่าเป็น ‘เรือนไม้อันวิเศษ’ โดยมีผลงานชิ้นเอกคือภาพจำหลักไม้เล่าเรื่อง ‘สุธนุชาดก’ จากปัญญาสชาดก บริเวณมุมทั้งสองของกรอบหน้าต่าง เริ่มต้นที่มุมทิศตะวันตกเฉียงใต้ วนไปทางขวาแบบทวนเข็มนาฬิกา รวม 44 ช่อง

ประตูทางเข้ามีลายรดน้ำรูปเสี้ยวกาง ล้อมรอบด้วยภาพจำหลักลวดลายพันธุ์พฤกษาที่ได้รับอิทธิพลศิลปะจีน

เนื้อหาของชาดกเรื่องนี้เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าครั้งเสวยพระชาติเป็นพระสุธนุ ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์การยิงธนู ต้องเผชิญอกุศลกรรมจากอดีตชาติที่เคยหยอกเย้าสามเณรด้วยการกระทุ่มน้ำเป็นคลื่น ซัดเรือจนล่มประสบความทุกข์ยาก ในชาติปัจจุบันจึงต้องเสวยทุกข์โดยพลัดพรากจากพระนางจิรัปภาผู้เป็นชายากลางมหาสมุทร เพราะเรือสำเภาแตกด้วยพายุร้าย สุดท้ายได้พบกันที่ศาลาโรงธรรมซึ่งมีภาพจิตรกรรมประดับภาพชีวิตตั้งแต่แรกพบ ครองรัก จนประสบเคราะห์กรรม จบเรื่องด้วยการกลับไปครองเมืองพร้อมชายาอย่างมีทศพิธราชธรรมสืบไป

Advertisement
ไม้จำหลักที่ผุกร่อนแต่ยังมีเค้าลางความงดงามอย่างเต็มเปี่ยม

การเลือกสุธนุชาดกมาสลักเสลาบนแผ่นไม้ก่อนปรุงเรือนไทยเป็นศาลาการเปรียญนี้ วิภารัตน์ ประดิษฐอาชีพ เจ้าของงานวิจัย ‘งานจำหลักไม้ : สุธนุชาดกและลวดลายประดับฝาปะกนศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์’ สันนิษฐานว่า เป็นความตั้งใจในการเสริมสร้างคุณธรรมให้ชาวบ้านผ่านเรื่องราวแบบ ‘จักรๆ วงศ์ๆ’ ของสุธนุชาดก ที่เหมาะต่อการรับรู้ อีกทั้งเนื้อเรื่องบางตอนเกี่ยวข้องกับการสร้างศาลาโรงธรรมโรงทาน อันเกี่ยวข้องกับจุดมุ่งหมายในการสร้างศาลาการเปรียญแห่งนี้นั่นเอง

พื้นที่ด้านล่างมุมกรอบหน้าต่างจำหลักภาพชุด ‘สุธนุชาดก’ วนทวนเข็มนาฬิกา รวม 44 ช่อง

สำหรับลวดลายประดับแบบประเพณีนิยมในศาลา คาดว่าได้รับแรงบันดาลใจจากจิตรกรรมฝาผนังในห้วงเวลานั้นซึ่งนิยมลวดลายกระบวนจีนอันเป็นไปตามความเชื่อเรื่องการเสริมสิริมงคลให้สถานที่และผู้คนที่เดินทางมาทำบุญ

ย้อนเวลากลับไปในคราวที่ภาพจำหลักชิ้นแรกถูกรังสรรค์ มีคำบอกเล่าถึง ‘ค่าจ้าง’ ช่างแกะสลักฝีมือดี อีกทั้งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับงานประณีตศิลป์ กลายเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ความทรงจำของชาวบ้านที่ทรงคุณค่ายิ่ง

Advertisement
ภาพจำหลักไม้ เรื่อง สุธนุชาดก ช่องที่ 2 และช่องที่ 3 แสดงรูปแบบการอนุรักษ์ให้คงสภาพเดิมในช่องที่ 2 ซึ่งอยู่ในสภาพที่ผุกร่อน และช่องที่ 3 ที่ได้รับการบูรณะโดยจำหลักภาพตามแบบของเดิม จำหลักภาพนางเกศนีราชเทวี ขอบุตร กระทั่งประสูติพระโพธิสัตว์ และภาพพระเจ้าพรหมทัตประชุมโหร ตั้งพระนาม ‘สุธนุ’


“…ค่าแกะสลักฝานั้นกระแบะละ 12 บาท เสาศาลากล่อนจนกลมกระทั่งลงรักปิดทองเสร็จ ต้นละ 40 บาท แต่ก่อนมีเงินแผ่หุ้มรอบหัวเสาทุกๆ ต้น ค่าแรงงานนายช่างตอนนั้น 3 สลึง ลูกมือสลึงเฟื้อง ส่วนภายในศาลาการเปรียญนั้นเขียนเรื่องธรรมบทตามเพดาน และเสาก็เขียนลวดลายรดน้ำไว้อย่างงดงาม”

ไม่เพียงความงดงามเพียงเท่านั้น ที่สร้างความสำคัญให้ศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ หากแต่การมีบทบาทต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านตั้งแต่แรกสร้างอย่างไม่ขาดสาย ส่งผลให้สถาปัตยกรรมแห่งนี้ล้ำค่าด้วยความทรงจำ เป็นโบราณสถานที่ไม่เคยถูกหลงลืม แม้กาลเวลาที่ล่วงเลยทำให้ทรุดโทรมลงตามลำดับ ภาพจำหลักไม้สุธนุชาดกสูญหายไปบางส่วน เสานับสิบต้นเริ่มผุกร่อน ส่วนประกอบสถาปัตยกรรมอีกหลายจุดเสียหาย ลวดลายรดน้ำลบเลือน โครงสร้างอาคารผิดเพี้ยนไปจากรูปแบบดั้งเดิม เนื่องจากมีการเทปูนรอบพื้นที่ตั้ง ทำให้ตัวศาลาซึ่งเป็นเรือนไม้ยกพื้นสูง กลายเป็นอาคารชั้นเดียว

แผ่นโลหะฉลุสำหรับล้อมเสาอยู่ในสภาพชำรุด

ขรรค์ชัย บุนปาน ประธานกรรมการบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ได้ลงพื้นที่และรวบรวมคณะทำงาน อีกทั้งนักปราชญ์ราชบัณฑิต นักวิชาการโดยมีแผนบูรณปฏิสังขรณ์อาคารเก่าแก่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตดังเดิม ภายใต้โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ในวาระเข้าสู่ปีที่ 35 ของเครือมติชน โดยเริ่มลงพื้นที่ใน พ.ศ.2554 เริ่มการบูรณะใน พ.ศ.2555 โดยได้รับการสนับสนุนจากบุคคลต่างๆ รวมถึงหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมากมาย รวมถึงชาวบ้านซึ่งร่วมใจบริจาค โดยมีพระครูวิมลรัตนาธาร หรือหลวงพ่อจรินทร์ กระต่ายแก้ว เจ้าอาวาส ผู้แข็งขันผลักดันการชุบชีวิตศาลาการเปรียญแห่งนี้อย่างเต็มความสามารถ กระทั่งเสร็จสมบูรณ์

‘เมขลาล่อแก้ว’ บนกรอบช่องกระจก นอกจากนี้ยังมี ‘รามสูรขว้างขวาน’ และนกยูงในรูปวงกลมอันหมายถึงพระอาทิตย์ กับกระต่ายในวงกลม ซึ่งหมายถึงพระจันทร์อีกด้วย


ปฏิบัติการแห่งศรัทธาในการบูรณะศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ให้กลับมางดงามอีกครั้ง จึงไม่ใช่เพียงการปฏิสังขรณ์มรดกของชาติให้คงอยู่ หากแต่เป็นการคืนชีวิตให้โบราณสถานกลับมามีบทบาทต่อผู้คนในสังคมอย่างแท้จริง เป็นตัวอย่างของการอนุรักษ์ควบคู่กับการพัฒนา เชื่อมร้อยเส้นขนานที่ยากบรรจบมาร้อยเรียงได้อย่างสง่างาม สมบูรณ์แบบ

 

ภายในศาลาการเปรียญประดิษฐานธรรมาสน์ยุคอยุธยาที่ได้รับการปฏิสังขรณ์แล้ว


จากแรกบูรณะ สู่ความงดงามบริบูรณ์

โครงการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และธรรมาสน์ของวัดแก้วไพฑูรย์ ดำเนินการโดย มูลนิธิ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ มูลนิธิบรรจง พงศ์ศาสตร์ กรมศิลปากร ร่วมกับบริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ภายใต้โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ในวาระที่ “มติชน” เข้าสู่ปีที่ 35 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลในโอกาสอันเป็นมหามงคลสมัยและร่วมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุ 60 พรรษา 2 เมษายน 2558

ภาพถ่าย พ.ศ.2529 และสภาพหลังบูรณะ

ลำดับการดำเนินงาน ดังนี้

– 11 มิถุนายน 2554 กรมศิลปากร วัดแก้วไพฑูรย์ และ “มติชน” ร่วมสำรวจและจัดทำโครงการบูรณะ

– 9 มกราคม 2555 ในวาระที่ “มติชน” เข้าสู่ปีที่ 35 ได้เริ่มรณรงค์โครงการ “แบ่งปันความรู้ เชิดชูศาสนา พัฒนาแหล่งน้ำลำคลอง” เพื่อระดมการบริจาคเงิน พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ออกแบบการบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญและธรรมาสน์ทั้ง 2 หลัง เสร็จเรียบร้อย

– 9 พฤษภาคม 2555 จัดพิธีบวงสรวง เริ่มบูรณะโดยมีแผนการรื้อศาลาการเปรียญรวมถึงอาคารฝั่งขวาออกทั้งหมด เพื่อขยับศาลาสำหรับต่อเติมระเบียงสำหรับเดินชมภาพจำหลักได้โดยรอบ ส่วนบันไดถูกสร้างขึ้นบริเวณด้านข้างตามแบบดั้งเดิม นอกจากนี้ มีการยกพื้นสูง เพื่อแก้ปัญหาความชื้น ไม้ที่ผุพัง ใช้ของใหม่แทนที่เพื่อเสริมความมั่นคง เสาไม้นับสิบต้น ยังคงใช้ของเดิม โดยซ่อมแซมบางส่วนที่ผุพัง ลวดลายรดน้ำที่ลบเลือน ถูกวาดขึ้นใหม่ตามอย่างเก่า

– 21 ตุลาคม 2555 “มติชน” ทอดผ้าป่าสามัคคีร่วมกับผู้มีจิตศรัทธาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาลและชาวชุมชนวัดแก้วไพฑูรย์

– 9 มกราคม 2556 ในวาระที่ “มติชน” เข้าสู่ปีที่ 36 ได้สานต่อโครงการโดยเปิดรับบริจาค

– 9 มกราคม 2557 ในวาระที่ “มติชน” เข้าสู่ปีที่ 37 ยังคงดำเนินการบูรณะอย่างต่อเนื่อง

นาย​ขรรค์​ชัย บุ​น​ปาน ประธาน​กรรมการ บมจ.​มติ​ชน พร้อม​นาย​ดำ​รงค์ พิ​เดช อธิบดี​กรม​อุทยาน​แห่งชาติ สัตว์​ป่า​และ​พันธุ์​พืช และ​คณะ​ผู้​บริหาร​ใน​เครือ​มติ​ชน ร่วม​สำรวจ​ศาลา​การเปรียญ​ไม้​เก่า​แก่​อายุ​กว่า 190 ปี ที่​วัด​แก้ว​ไพฑูรย์ (วัด​บาง​ประทุน​ใน) เขต​จอมทอง กรุงเทพฯ ตาม​โครงการ​การ​บูรณะ​ศาลา​การเปรียญ​ไม้​หลัง​ดัง​กล่าว เมื่อ​วัน​ที่ 9 พฤษภาคม 2555


ทั้งนี้ ระหว่างที่การปฏิสังขรณ์ยังไม่แล้วเสร็จ พล.อ.ต.อาวุธ เงินชูกลิ่น ผู้ออกแบบ และ รศ.สมใจ นิ่มเล็ก สถาปนิก ได้ถึงแก่อนิจกรรมในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับทั้งสอง นายขรรค์ชัย บุนปาน ซึ่งดูแลเรื่องนี้มาตั้งแต่ต้น จึงได้ดำเนินการต่อจนการบูรณปฏิสังขรณ์เสร็จสมบูรณ์ในปี 2558 อันเป็นปีมหามงคลที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ 2 เมษายน 2558

ในการนี้ ขอเชิญรับเสด็จสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงยกช่อฟ้าศาลาการเปรียญวัดแก้วไพฑูรย์ ถนนเอกชัย ซอยเอกชัย 14 แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง ในวันอาทิตย์ที่ 23 กันยายน 2561 เวลา 17.30 น.

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image