ผู้สูงอายุแห่งชาติ

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีงานที่ต้องดูแลงานหนึ่งคือผู้สูงอายุ แต่ละปีจะประกาศผู้สูงอายุแห่งชาติ เพื่อยกย่องและเป็นแบบอย่างของผู้สูงอายุ

ปีนี้ประกาศไปแล้ว ผู้ที่ได้รับการยกย่องเป็นผู้สูงอายุแห่งชาติคือ

“เสนาะ อูนากูล”

ท่านผู้นี้มีตำแหน่งในอดีตอันเป็นที่รู้จักดี คือ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ที่คนในแวดวงการเงินการธนาคารรู้จักดี ทั้งเป็นผู้ที่ร่วมฟันฝ่าเศรษฐกิจฟองสบู่ ปี 2518-2522 มาแล้ว

Advertisement

ครั้งหนึ่งท่านผู้นี้ต้อง “หยุดทำงาน” เนื่องจากเส้นโลหิตในสมองตีบเฉียบพลัน ทำให้ร่างกายซีกขวาเคลื่อนไหวไม่ได้ โชคดีที่มีครอบครัวน่ารัก ทั้งภรรยาและลูกเป็นกำลังใจ ช่วยดูแลให้ร่างกายค่อยฟื้นฟูขึ้นอย่างช้าๆ ทั้งยังเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เริ่มยอมรับในสิ่งที่เกิดขึ้น ทำให้จิตใจสงบ ไม่ว่าความทุกข์ร้อน ความเศร้าโศกที่เคยเกิดขึ้น ที่เคยคิดว่าทำไมต้องเกิดกับเรา พอยอมรับตรงนี้ได้ สุขภาพจิตเริ่มดีขึ้น เช่นเดียวกับร่างกาย สุดท้ายกลับมาทำงานได้อีกครั้งหนึ่งในฐานะผู้สูงอายุ

ที่ศรีภริยา คุณหญิงนงนุช อูนากูล คอยดูแลไม่ห่าง

หลังจากเจ็บป่วย และเมื่อกลับมาทำงานได้ ต้องทยอยลาออกจากหน้าที่การงานหลายองค์กร ยังเหลืออยู่สองสามแห่ง คือประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กรรมการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประธานกรรมการ บริษัท สยาม

Advertisement

ไบโอไซเอนซ์ จำกัด บริษัทในเครือสำนักงานทรัพย์สินฯ ที่ผลิตยาคุณภาพดีในราคาที่คนไทยเข้าถึงได้

“ที่ยังไม่ลาออกจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เพราะผมอยากทำงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” เป็นเหตุผลที่นายเสนาะ อูนากูล ให้ไว้กับมติชนเมื่อวันก่อน

นอกจากนั้น นายเสนาะยังให้ความเห็นเกี่ยวกับ

ผู้สูงอายุด้วยว่า “ต่อไปผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น มากกว่าเด็กเกิดใหม่ และคนทำงาน หากเรายังพึ่งพิงลูกหลาน คงทำให้เขาลำบาก และมองเราอย่างเป็นภาระ ฉะนั้น ผู้สูงอายุต้องพึ่งตนเอง”

“ผมแนะนำเรื่องการออมเงิน รัฐควรส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการออมเงินระยะยาว เพื่อมีรายได้มากพอจะดำรงชีวิตช่วงสูงวัย ผู้สูงวัยควรหาช่องทางทำคุณประโยชน์ให้สังคมตามอัตภาพ อาจเป็นงานอาสาสมัครตามพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด หรือสอนหนังสือ นอกจากจะเพิ่มคุณค่าให้ชีวิตแล้วยังสร้างสัมพันธ์ระหว่างวัยให้ดีขึ้นด้วย” นายเสนาะว่าอย่างนั้น

พร้อมบอกด้วยว่า ตนเพิ่มเติมความรู้ตลอดเวลา

ยังชอบอ่านหนังสือ อ่านทุกอย่างที่ขวางหน้า ตามเทคโนโลยี เรื่องเศรษฐกิจและสังคมเป็นกิจกรรมที่ชอบและสนุก ถ้าผู้สูงวัยเป็นอย่างนี้จะไม่ถูกมองว่าเป็นภาระ

นายเสนาะในฐานะที่เคยเป็นเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจฯ ยังบอกด้วยว่า แม้การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยไปเร็วมาก แต่ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ได้วาง

ยุทธศาสตร์รองรับไว้หมดแล้ว เหลือเพียงว่าจะแปรแผนมาสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างไรเท่านั้น

วันนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตามความหมายเรียบร้อย การจะรองรับผู้สูงอายุอันดับแรกคือที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่ยังมีลูกหลานคอยดูแล สถาบันเวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อ

ผู้สูงอายุ และหน่วยปฏิบัติการวิจัยสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุและคนพิการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อเสนอแนะการออกแบบสภาพแวดล้อมและที่อยู่อาศัย พอสังเขป ดังนี้

บ้านควรชั้นเดียว ทางเดินมีราวจับ พื้นบ้านมีระดับเดียวกัน ห้องโล่ง ห้องนอนควรตั้งเตียงอย่าห่างห้องน้ำเกิน 9 ฟุต ห้องนอนควรมีแสงสว่างเพียงพอ ห้องใช้สีสว่าง ห้องน้ำมีพื้นเรียบ ไม่ลื่น ควรมีเก้าอี้นั่งอาบน้ำ สบู่ควรผูกติดกับเชือก กันลื่นหลุดมือ จะได้ไม่ต้องก้มเก็บ โถส้วมควรเป็นแบบนั่งราบ ฯลฯ

รายละเอียดจะนำเสนอต่อไปในโอกาสอันควร

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image