ประติมากรรมสำริดแบบ”ประโคนชัย” ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ สิ่งที่”ไม่ถูก”พูดถึงในประวัติศาสตร์”กระแสหลัก”

เป็นข่าวคราวที่หนังสือพิมพ์ “มติชน” เกาะติดมาอย่างต่อเนื่อง กรณีประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย อายุกว่า 1,300 ปี ที่ว่ากันว่าพบที่ปราสาทปลายบัด 2 อ.ประโคนชัย จ.บุรีรัมย์ กว่า 300 องค์ ซึ่งปัจจุบัน กระจัดกระจายอยู่ในยุโรป และอเมริกา

มีนักวิชาการ ชาวบ้าน ออกมาเรียกร้องทวงคืนโบราณวัตถุที่ถูกลักลอบขุดเอาไปขายนี้ เป็นข่าวครึกโครม

ด้านหนึ่ง กลุ่มนักวิชาการออกมาจัดเสวนาให้ความรู้สู่สาธารณะ เพื่อให้ทราบถึงที่ไปที่มา และความสำคัญของประติมากรรมสำริดและพื้นที่พบ ขณะที่ด้านหนึ่ง กรมศิลปากร ในฐานะหน่วยงานซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงก็ได้มีการตั้งคณะทำงาน ลงพื้นที่ และศึกษาความเป็นไปได้เรื่องของการ “ทวงคืน” กลับมาสู่ประเทศไทย ดังล่าสุด เมื่อวันที่ 6-7 เมษายน ที่ผ่านมา อนันต์ ชูโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธาน ประชุมผู้เกี่ยวข้อง มีการลงพื้นที่ศึกษาสภาพข้อเท็จจริงและหลักฐานทางโบราณคดี ในเขตพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์

พนมรุ้ง, ปราสาทหินเขาปลายบัด 1 รวมถึงปราสาทหินเขาปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์

Advertisement

อะไรคือประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย?

ต่างจากประติมากรรมที่พบในประเทศไทย รวมถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร?

และมีความสำคัญอย่างไร?

Advertisement

เหล่านี้คือคำถามที่เกิดขึ้นในห้วงความคิดครั้งแรกเมื่อได้รู้ข่าว อดรนทนไม่ไหวจนต้องหาคำตอบ และก็ได้พบกับวิทยานิพนธ์ระดับหลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ม.ศิลปากร เล่มหนึ่ง ระบุชื่อผู้ศึกษาเรื่องนี้คือ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการอิสระ อีกทั้งยังเป็นผู้จัดรายการวิทยุทัวร์อดีตกับนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ในเครือมติชน

วิทยานิพนธ์เล่มนั้นชื่อ “ประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย : หลักฐานศิลปกรรมเริ่มแรกของสมัยประวัติศาสตร์ในที่ราบสูงโคราช”

จึงต้องขอตัว ศิริพจน์ มาพูดคุยถึงเรื่องนี้

และนี่คือบทสนทนาอันเป็น “ความรู้” ตลอดจน “ความคิดเห็น” ที่นักวิชาการหนุ่มมอบให้

 ทำไมสนใจศึกษาประติมากรรมสำริดประโคนชัย?

ผมทำวิทยานิพนธ์นี้ตอนปี พ.ศ.2547 ซึ่งก่อนหน้านี้ ประติมากรรมชุดนี้ไม่เคยถูกประเมินค่าโดยนักโบราณคดีหรือนักประวัติศาสตร์ไทยเลย เนื่องจากเป็นของลักลอบขุดออกไป และก็ไม่รู้ว่าเป็นของจริงหรือเปล่า ไม่เคยมีการศึกษา มีเพียงการเอาของไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้วบอกว่าจริง จึงอยากรู้ว่าของพวกนี้น่าเชื่อถือขนาดไหน

ของที่พบจากการลักลอบขุดนี้ไม่มีใครพูดว่าอยู่ที่ไหน จนตอนหลังก็ยอมรับทั่วไปว่าได้มาจากปราสาทปลายบัด 2 แต่เอาเข้าจริงแล้ว ทั้งหมดเป็นข้อมูลที่ระดับความน่าเชื่อถือไม่ชัวร์ว่าจะเป็นของจริงหรือไม่ เกิดจากการสันนิษฐานของหลายคน ตอนทำวิทยานิพนธ์ผมก็ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูล สอบถามชาวบ้าน พบว่าน่าจะมาจากปราสาทปลายบัด 2 จริง ซึ่งเอาเข้าจริงชาวบ้านก็รู้ด้วยว่าใครขุดและนำออกไป ในปี พ.ศ.2547 ที่ผมขึ้นไปนั้น ห่างจากตอนที่เขาลักลอบขุดมาขุดถึง 40 ปีแล้ว แต่ก็ยังพบว่ายังมีร่องรอยการขุดอยู่ชัดเจน ไม่มีการจัดการ ปรับทัศนียภาพให้เป็นโบราณสถานที่มีความสำคัญอะไรเลย

 จุดประสงค์ของการศึกษาเรื่องนี้?

ตอนแรกเกิดคำถามว่าประติมากรรมพวกนี้น่าจะเป็นของจริงหรือเปล่า และทำไมมีของหน้าตาแบบนี้ที่นี่ ผมว่าประติมากรรมชุดนี้น่าสนใจมาก เพราะว่าของที่เจอนั้นเป็นพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร กับ พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย เป็นส่วนใหญ่ ซึ่งปกติเราไม่เห็นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อย่างศรีวิชัยหรือชวาที่เป็นมหายาน จะไม่ใช่ของแบบนี้ แต่เป็นมหายานตันตระหรือหลังจากนั้น ของชุดนี้เป็นมหายานแบบที่ในอินเดียที่อยู่ในถ้ำอชันตา ถ้ำเอลโลรา

เป็นช่วงก่อนตันตระ ตอนที่มีการลักลอบขุดนั้นข่าวภายหลังว่าเจอเยอะมาก 20-300 ชิ้น ซึ่งเราไม่รู้เลยว่ากี่ชิ้นจริง พอไปถึงเมืองนอกแล้วอาจทำของปลอมให้เป็นของจริงมากขึ้นก็ได้

งานประติมากรรมกัมพูชาที่ร่วมสมัยกับประติมากรรมประโคนชัย จะไม่นุ่งผ้าแบบนี้ คือ เราจะเจอเฉพาะบนทับหลังที่เป็นภาพสลักรูปเล็กๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน นุ่งผ้าแบบเดียวกัน ถ้าคนจะปลอมจะต้องปลอมจากทับหลังเท่านั้น แต่พอเรามาดูที่บ้านฝ้าย อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ หรือบ้านโตนด อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เจอพระโพธิสัตว์สำริดที่หน้าตาเหมือนกัน แต่บ้านฝ้ายนี้ขุดเจอทีหลัง จึงเป็นไปไม่ได้ที่คนปลอมจะรู้ว่ามีของหน้าตาแบบนี้อยู่ ทำให้น่าเชื่อว่าของชุดนี้จริง

หรือหลังจากผมทำวิทยานิพนธ์เรื่องนี้แล้ว พิพิธภัณฑ์ในฮอลแลนด์ มีประติมากรรมแบบประโคนชัยอยู่ชิ้นหนึ่ง ในนั้นมีไม้ดามอยู่ข้างใน เขาทำเรดิโอคาร์บอนเพื่อหาอายุ พบว่าเก่าจริง จึงค่อนข้างน่าเชื่อว่า ของพวกนี้ไม่ปลอม แต่ไม่ยืนยันว่าทั้งหมดไม่ใช่ของปลอม เพราะผมก็เคยเห็นว่ามีของปลอมอยู่ด้วย

ประติมากรรมประโคนชัยเกี่ยวข้องกับเมืองศรีจนาศะ?

คือที่เขาโยงว่าสัมพันธ์กับรัฐศรีจนาศะ ไม่น่าจะพูดได้ขนาดนั้น เพราะ 1.ถ้าเจอปริมาณเยอะขนาดนี้ ฝังอยู่ใต้ดินในประสาทหลังเล็กๆ หลังหนึ่ง แสดงว่าต้องมีเหตุการณ์บางอย่างที่เอาพระโพธิสัตว์เหล่านี้มาฝังรวมกัน คือทำไมมันจึงไม่อยู่ในที่ที่ควรจะอยู่ 2.ศรีจนาศะ โบราณสถานกลางเมืองเขาเป็นศิวลึงค์ จึงไม่น่าใช่ แต่บางชิ้นอาจมาจากเมืองเสมาซึ่งเป็นศูนย์กลางของศรีจนาศะก็ได้ เพราะเมืองเสมาก็มีพระพุทธรูป แต่ไม่ได้แปลว่าทั้งหมดมาจากเมืองเสมา

ผมคิดว่ามีรัฐเล็กๆ อยู่ในดินแดนแถบนี้ ซึ่งในหนังสือเล่มหนึ่ง เดนิส ปาร์ตี้ ไลดี้ (Denise Party Leidy) เขาค้นเอกสารเก่าสมัยราชวงศ์ถัง พูดถึงบันทึกการเดินทางของภิกษุรูปหนึ่ง ชื่อ ปุญโยทยะ ซึ่งเป็นพระอินเดียที่เข้าไปอยู่ในจีน ราว พ.ศ.1180 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงเดินทางมาที่เจินละ เผยแผ่พุทธศาสนามหายาน ซึ่งเขาบันทึกว่าคนที่นี่ให้การต้อนรับดี

ปุญโยทยะกลับไปจีน แล้วอีกสิบกว่าปีเขากลับมาเจินละอีกครั้ง เขาบอกว่ามหายานที่เขาเผยแผ่ในเจินละรุ่งเรืองแล้ว คำถามคือ เจินละที่เขาพูดนั้นอยู่ที่ไหน เจินละตอนนั้นไม่มีศูนย์กลาง กระจายอยู่ในเขมรและอีสาน เจินละในกัมพูชานั้นไม่มีหลักฐานเกี่ยวข้องกับมหายานนี้เลย ที่มีหลักฐานใหญ่พอน่าเชื่อถือคือของกลุ่มประโคนชัย เรื่องปุณโยทยะนี้สำคัญที่เขานับถือศาสนาพุทธมหายานแบบที่นับถือพระโพธิสัตว์สององค์นี้เป็นสำคัญ เลยน่าเชื่อว่าน่าจะสัมพันธ์กัน แต่ต้องยอมรับว่าถ้าดูศิลปะแบบของประโคนชัยกับแบบของปุณโยทยะนั้น ปุณโยทยะราวก่อน พ.ศ.1200 จะเก่ากว่า แต่ประโคนชัยอยู่ราวหลังจาก พ.ศ.1200 ซึ่งเขาบันทึกเองจะบอกว่าสำเร็จอย่างไรก็ได้

อย่างไรก็ตาม เจินละที่ปุณโยทยะพูดถึง น่าจะหมายถึงเจินละบก คือ อีสาน ส่วนศรีจนาศะเป็นรัฐหนึ่งในกลุ่มเจินละบกเท่านั้น ถ้าของเซตนี้ได้มาจากที่เดียวกันหมด แล้วมาอยู่ที่ปลายบัด 2 ก็ไม่ได้สัมพันธ์กับศรีจนาศะตั้งแต่ต้น เพราะไม่มีของชิ้นไหนเจอที่ศรีจนาศะ และเราไม่เคยมีความเชื่อมโยงระหว่างศรีจนาศะกับเขาปลายบัดเลย

ถ้าไม่เกี่ยวกับศรีจนาศะแล้วตรงนี้น่าจะเป็นอย่างไร?

ถ้าเราจะมองยุคที่ร่วมสมัยกับประติมากรรมชุดนี้เลย ช่วงนั้น ทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นรัฐเล็กๆ ทั้งหมด แม้ในกัมพูชามีเมืองใหญ่ แต่ก็ไม่มีอำนาจรวมศูนย์ ของพวกนี้น่าจะกระจายอยู่ตามเมืองเล็กๆ ที่ว่ามา อยู่ในที่ราบสูงโคราช คือ อีสานใต้ เดาว่าประติมากรรมถูกนำมารวมที่นี่ จากเมืองเล็กๆ เหล่านี้ เพราะมีจำนวนมาก ที่มีขนาดใหญ่สูงหนึ่งเมตร มีอยู่กว่า 20 องค์ ซึ่งสูงหนึ่งเมตรกว่าก็ใหญ่มากแล้วสำหรับการทำจากสำริด

คือไม่ได้บอกว่าศักยภาพแถบนี้ รัฐเดียวไม่อาจมีประติมากรรมเยอะขนาดนี้ อาจจะมีก็ได้ แต่กรณีนี้พูดยาก เนื่องจากเป็นของที่ถูกฝังรวมกันที่เดียว จึงเป็นไปได้ว่าทั้งหมดอาจจะเอามาจากเมืองเดียวหรือมาจากหลายที่ สรุปไม่ได้เลยว่ามาจากที่ไหน ตอนนี้ปัญหาคือ ทุกคนจะพูดว่ามาจากที่เดียวกัน โดยลืมนึกว่าอาจกระจายอยู่หรือเปล่า ซึ่งมีความเป็นไปได้ ถ้าเราดูจารึกเขมรจะพบว่ามีการย้ายประติมากรรมสำริดชิ้นต่างๆ ไปมา

และการที่เจอในกรุเดียวกันมากอย่างนี้ ก็เดาได้ว่า อาจเป็นเรื่องทางพิธีกรรมบางอย่างหรือเปล่า การขุดเจอกองรวมกันแปลได้ด้วยว่า เขาไม่เอาศาสนาพุทธแบบนี้แล้วหรือเปล่า

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

คติการสร้างโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรและศรีอาริยเมตไตรย?

อวโลกิเตศวรเป็นพระโพธิสัตว์ที่สำคัญที่สุดในศาสนาพุทธมหายานมาตั้งแต่ต้น จุดเด่นกลุ่มประติมากรรมสำริดประโคนชัยอยู่ที่พระศรีอาริยเมตไตรยมากกว่า คือก่อนหน้านี้ศรีอาริยเมตไตรยก็สำคัญแต่ไม่มาก มีช่วงที่ศรีอาริยเมตไตรยมาเป็นพระโพธิสัตว์องค์สำคัญคือก่อนตันตระ จะมีศาสนาพุทธนิกายโยคาจารย์ที่พัฒนาเป็นตันตระ

นิกายโยคาจารย์นี้มีคนที่เผยแผ่สำคัญชื่อวสุพันธุกับอสังคะ บอกว่าได้ขึ้นไปบนสวรรค์ชั้นดุสิต ได้สนทนาธรรมกับศรีอาริยเมตไตรย ลงมาก็เผยแผ่ศาสนาพุทธที่ต่อมากลายเป็นตันตระ ศาสนาพุทธนิกายนี้เมื่อสร้างประติมากรรมจะทำรูปพระศรีอริยเมตไตรยเยอะมาก และทำรูปโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรเยอะมากเหมือนกัน เช่นที่อยู่ในวัดถ้ำต่างๆ อย่างถ้ำอชันตา ถ้ำเอลโลราที่อินเดีย เราไม่ค่อยมีตัวอย่างประติมากรรมในศาสนาพุทธนิกายนี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย ส่วนใหญ่อยู่ที่อินเดีย ศาสนาพุทธนิกายนี้รุ่งเรืองราว พ.ศ.1000-1100

 ศาสนาพุทธเถรวาทมีพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรหรือศรีอาริยเมตไตรย?

ในเถรวาท พระโพธิสัตว์จะคนละเรื่องกับมหายาน เพราะเถรวาทเวลาพูดถึงพระโพธิสัตว์จะหมายถึงคนที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า เช่น เจ้าชายสิทธัตถะ เถรวาทตอนนี้มีพระโพธิสัตว์องค์เดียว คือ พระศรีอาริยเมตไตรย เพราะจะมาเกิดเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

แต่คติมหายาน เขาจะถือว่าพระโพธิสัตว์คือคนที่จะตรัสรู้เป็นพระพทุธเจ้าได้ จะข้ามสู่นิพพานได้แล้ว แต่ยังไม่ไป ต้องการช่วยเหลือสัตว์โลกทั้งหลายให้ข้ามไปถึงนิพพานก่อน ของมหายานเขาจึงจะถือว่าพระโพธิสัตว์มีเต็มเลย เพราะมีคนที่พร้อมช่วยเหลือคนอยู่มาก อวโลกิเตศวรและศรีอริยเมตไตรยก็เช่นกัน ทั้งสององค์นี้พบมากในอินเดียช่วงหลังคุปตะ สมัย พ.ศ.1100 ส่วนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เจอและมีเป็นกลุ่มที่ใหญ่และมีความสำคัญมากก็คือที่ประโคนชัย เพราะที่ชวาอินโดนีเซีย, ศรีวิชัยนั้นหลังจากนี้ และชุดความเชื่อเรื่องพระโพธิสัตว์ของศรีวิชัยกับชวา เขาจะเชื่อเรื่องอสัตตะมหาโพธิสัตว์ คือ พระโพธิสัตว์ที่มาจากผู้ยิ่งใหญ่ 8 พระองค์ ความสำคัญของพระศรีอาริยเมตไตรยจะเท่ากับพระโพธิสัตว์องค์อื่นๆ

ประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัยจึงไม่มีทางรับมาจากศรีวิชัย ประโคนชัยเก่ากว่าด้วยซ้ำ ถ้านับเฉพาะไอเดียการสร้าง ไอเดียทางศาสนา โดยไม่ได้พูดถึงรูปแบบทางศิลปะ คนละชุดความคิด ไม่เกี่ยวกับศรีวิชัยแน่นอน

แล้วทำไมมาโผล่ตรงนี้?

ที่พูดถึงพระภิกษุปุณโยทยะ ว่ามาเผยแผ่ศาสนานิกายนี้ ปุณโยทยะสำคัญมาก แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเพราะพระภิกษุรูปนี้อย่างเดียว เขาอาจเขียนแล้วเคลมเองก็ได้ แต่ข้อสำคัญคือ เขียนว่าหลังจากที่เผยแผ่แล้วกลับไปจีน ก่อนจะกลับมาในอีกสิบปี พุทธศาสนาแบบที่เขานับถือนั้นรุ่งเรืองในเจินละแล้ว อย่างไรก็ตามอาจจะเกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับปุณโยทยะก็ได้ แต่แน่นอนว่ามาจากอินเดีย เพราะแบบนี้ป็นคติที่อินโดนีเซียไม่ทำ

พุทธศาสนานิกายนี้ ไม่ร่วมสมัยกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตอนที่รับศาสนาพุทธเข้ามา คือ เวลาเราพูดว่ารับศาสนาพุทธ เราไม่ได้พูดด้วยว่าเป็นพุทธแบบไหน แต่จริงๆ ในมหายานจะมีกลุ่มแยกย่อยอีกเยอะ

อย่างแม้แต่พระแก้วมรกตเอง เป็นพระที่ อ.ศักดิ์ชัย สายสิงห์ บอกว่า เป็นพระสกุลช่างพะเยา พอบอกว่าเป็นพระพะเยา เรานึกออกไหมว่าคือสมัยไหน เพราะไม่ได้ถูกจัดอยู่ในล้านนา เชียงแสน คือชื่อศิลปะมีปัญหา ทำให้ความหลากหลายหายไป ศิลปะแบบพะเยาก็ยังเจออีกหลายองค์ แต่ความสำคัญของพระแก้วมรกตนอกจากเป็นพระพุทธรูปสำคัญแล้วก็คือ หินที่ใช้เป็นหินประเภทหยก โดยปกติพระพะเยาจะเป็นพระหินธรรมดา คือในประวัติศาสตร์กระแสหลัก เวลาพูดถึงล้านนา เราจะนึกถึงภาพพระพุทธรูปแบบที่เจอที่เชียงใหม่ ไม่ได้นึกถึงพระพุทธรูปแบบที่เจอที่พะเยา

ประติมากรรมแบบประโคนชัยนี้ก็เป็นหนึ่งในประติมากรรมหลายๆ แบบที่คนไทยไม่รู้จัก เพราะไม่ถูกบรรจุอยู่ในประวัติศาสตร์แห่งชาติ ที่เล่าเป็นยุคก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดี ศรีวิชัย ลพบุรี (เขมร) สุโขทัย อู่ทอง อยุธยา ไม่มีพื้นที่ให้แบบอื่น

เวลาพูดว่าศิลปะลพบุรี ไม่ได้มีพื้นที่เผื่อแผ่ให้คนคิดถึงกลุ่มนี้แน่นอน

 

แบ่งปันความรู้ (ที่มี) เชิดชูประติมากรรม แบบ “ประโคนชัย”

เห็นข่าวคราวเรื่องประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัยที่ถูกลักลอบขุดไปอยู่ต่างแดนแล้ว

ในฐานะที่ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ศึกษาเรื่องราวของงานประติมากรรมกลุ่มนี้ อดไม่ได้ที่จะถามเขาว่า “ประติมากรรมแบบประโคนชัยที่สูญเสียไปนั้น ชิ้นไหนที่มีความสำคัญที่สุด?”

นักวิชาการหนุ่มส่ายหน้าแล้วยิ้มน้อยๆ ก่อนจะตอบว่า พูดว่าสำคัญไม่ได้เลยเพราะเป็นการถูกลักลอบขุดออกไป หรือแม้แต่ตอนนี้แม้สามารถพูดได้ก็แค่ว่าน่าเชื่อว่าของจริง แต่ไม่รู้ว่าจริงทั้งหมดหรือเปล่า ความสำคัญของชุดนี้หรือแบบนี้ คือ ของที่เจอที่บ้านฝ้าย และบ้านโตนด ที่เรามีอยู่ เพราะเป็นรูปแบบเดียวกัน ร่วมสมัยกันอย่างแน่นอน

และก็สอดคล้องกับที่ศิริพจน์บอกว่า ประติมากรรมที่ประโคนชัยอาจมาจากหลายที่ เพราะก็มีเหลือที่บ้านโตนด บ้านฝ้าย หน้าตาแบบเดียวกัน ลักษณะศิลปะแบบเดียวกันด้วย

“ของที่ดีที่สุด สำคัญที่สุดที่เรามีอยู่ มี 4 ชิ้นนี้คือจากบ้านฝ้าย 3 ชิ้น บ้านโตนด 1 ชิ้น เป็นชิ้นใหญ่ทุกชิ้น เราควรจะชูความสำคัญขึ้นมา นอกเหนือจากการจะพูดถึงกลุ่มที่ถูกขโมยไป เราควรพูดถึงความสำคัญของ 4 ชิ้นนี้ด้วย ซึ่งปกติไม่มีใครสนใจอยู่แล้ว

“ควรให้ความรู้เรื่องเหล่านี้ พลิกตรงนี้ให้เป็นโอกาสในการเผยแพร่ด้วยว่า จริงๆ แล้วอีสานของไทยมีความเจริญอยู่ เอา 4 ชิ้นนี่แหละมาพูดถึงและอธิบายก่อน เพราะสิ่งเดียวที่จะยืนยันได้ในทางประวัติศาสตร์ศิลปะว่า ของชุดประโคนชัยจริง ก็คือ 4 ชิ้นนี้แหละ ความสำคัญอีกอย่างคือ ประติมากรรมแบบนี้ทำจากสำริด สวยมาก แบบประโคนชัยเท่าที่ดูจากในภาพเนื้อดีมาก เทียบเคียงบ้านโตนด บ้านฝ้าย เนื้อละเอียด อธิบายเรื่องนี้ แสดงให้เห็นถึงความเจริญของภาคอีสานใต้ที่เก่งเรื่องโลหะกรรม” ศิริพจน์กล่าว

ก่อนจะปิดท้ายเป็นความรู้ที่ใช่ใส่บ่าแบกหามว่า…

“คำว่า “ประติมากรรมสำริดแบบประโคนชัย” เป็นคำของคนเล่นของเก่า นักค้าของเก่าเขาเข้าใจกันด้วยคำนี้ หากในทางประวัติศาสตร์ศิลปะจะใช้คำว่า “แบบไพรกเมง-กำพงพระ” เพราะร่วมยุคสมัยเดียวกัน”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image