จับหัวใจ’สังคมสูงวัย’ ‘เนิร์สซิ่งโฮม’ต้องเป็นให้ได้ ‘บ้าน’อีกหลังของทุกคน

การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมทำให้การอยู่อาศัยคนเดียวของผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นเกือบร้อยละ 10 ของผู้สูงอายุทั้งหมด ความจำเป็นนี้ทำให้มุมมองต่อการอยู่อาศัยในเนิร์สซิ่งโฮมเปลี่ยนไป เป็นที่ยอมรับกันมากขึ้น จึงมีธุรกิจในรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของสังคมและผู้ใช้บริการมากขึ้น

ไม่ใช่แค่ความหมายของบ้านพักคนชราเช่นในอดีต แต่ต้องเป็นทั้งสถานดูแลคนสูงวัยชั่วคราว ที่ลูกหลานสามารถพาญาติผู้ใหญ่มาฝากดูแลชั่วคราว รวมทั้งที่อยู่ในระยะพักฟื้น

ศิรสิทธิ์ ตั้งจิตกมล

เช่นที่ เพชรเกษมเนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุและผู้ป่วยพักฟื้น ที่ ศิรสิทธิ์ ตั้งจิตกมล เล่าว่า เริ่มสนใจธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮมจากประสบการณ์ตรงที่พบปัญหาค่อนข้างมาก เมื่อผู้ดูแลไม่เอาใจใส่ มีกิริยาวาจาไม่เหมาะสมแม้จะอยู่ต่อหน้าญาติ แม้จะเปลี่ยนรูปแบบเป็นโฮมแคร์ (จ้างคนมาดูแลผู้สูงอายุมาที่บ้าน) ก็ตาม จึงคิดทำธุรกิจเนิร์สซิ่งโฮมในรูปแบบที่เน้นคุณภาพของการดูแลด้วยใจ จังหวะที่คุณยายเสียชีวิต ตนเองเรียนจบและทำงานอยู่อเมริกา จึงคิดว่าน่าจะกลับมาทำงานบริหารจัดการด้วยตนเอง โดยได้รับการสนับสนุนจากคุณพ่อและคุณแม่ที่เป็นแพทย์แบบองค์รวม

ศิรสิทธิ์บอกว่า จากการศึกษาถึงสภาพแวดล้อมที่เหมาะกับผู้สูงอายุ และมีการดูงานเนิร์สซิ่งโฮมหลายๆ แห่งทั้งในและต่างประเทศ พบว่าเนิร์สซิ่งโฮมส่วนมากในประเทศไทยจะเป็นการต่อเติมจากบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ ทำให้ผังที่พักอาศัยไม่เหมาะสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งในเรื่องของความปลอดภัย หรือระบบปฏิบัติการในกรณีฉุกเฉิน เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว จึงให้แพทย์และสถาปนิกทำงานร่วมกันในการออกแบบอาคาร เน้นที่ความปลอดภัย ความโปร่ง โล่ง สะอาดและอากาศบริสุทธ์ มีสวนและศาลาพักผ่อน

Advertisement

“คำว่า “บ้านพักผู้สูงอายุและบ้านพักฟื้นสมัยใหม่” ผมมองว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวเดินเหินได้ หรือติดเตียง ต้องได้รับการดูแลทั้งสิ้นแต่ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ส่วนมากเกือบห้าสิบเปอร์เซ็นต์คือ ผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในระยะพักฟื้นที่เพิ่งพาเขาออกจากโรงพยาบาล และเลือกเนิร์สซิ่งโฮม เพราะญาติไม่สะดวกที่จะดูแล ไม่มีเวลาหรือไม่สามารถดูแลได้อย่างมั่นใจ เราจึงเตรียมความพร้อมการบริการทางการแพทย์ โดยมีแพทย์มาดูแลสุขภาพทุกวันหรือเกือบทุกวัน และพร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำภายใน 5 นาที” ศิรสิทธิ์บอก และว่า

ในส่วนของเจ้าหน้าที่การพยาบาลจะเป็นผู้มีความชำนาญมีประสบการณ์ในวิชาชีพกว่า 20-30 ปี มีการอบรมและการพัฒนาศักยภาพผู้ดูแลผู้ป่วย มีพยาบาลเป็นพี่เลี้ยง ทั้งหมดอยู่บนหลักการเดียวกันคือ การดูแลใส่ใจผู้พักอาศัยเหมือนญาติผู้ใหญ่มากกว่าการเป็นลูกค้า

Advertisement

“ผมถือว่าทุกคนที่มาทำงานต้องมีใจให้กันเหมือนครอบครัวเดียวกัน มีการส่งเวร การประชุมสม่ำเสมอเพื่อรายงานสุขภาพผู้สูงอายุทั้งกายใจและอารมณ์ รวมทั้งปัญหาอุปสรรคในการบริบาล”

นอกจากการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างเหมาะสม ยังมีการจัดกลุ่มกิจกรรมทางสังคมผู้สูงอายุ โดยมีการประเมินความสามารถในการเคลื่อนไหว สังเกตพฤติกรรม อารมณ์และจิตใจ ตรวจวัดความดันโลหิต จังหวะการเต้นของหัวใจ มีนักกายภาพดูแลฟื้นฟูสมรรถภาพทางกาย

การดูแลผู้สูงอายุของเพชรเกษมเนอร์สซิ่งโฮมจะแยกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1.ผู้ที่ช่วยตนเองได้แต่ต้องการเพื่อนผู้ดูแล ญาติผู้ป่วยสามารถรับไปทำธุระข้างนอกได้ โดยแจ้งผู้ดูแลให้ทราบล่วงหน้า 2.ผู้ที่ต้องได้รับการช่วยเหลือบ้าง อาจจะเป็นโรคอัมพาตหรือเดินไม่สะดวก ซึ่งมีราว 50 เปอร์เซ็นต์ และ 3.ผู้ติดเตียง ผู้สูงอายุกลุ่มนี้จึงต้องได้รับการดูแลเต็มรูปแบบ

เพื่อให้เนิร์สซิ่งโฮมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้สูงวัยในยุคปัจจุบัน โดยผู้อยู่ต้องได้รับความสะดวกทางกาย และมีความสุขสบายทางใจเหมือนอยู่อีกบ้านอีกหลังของตนเอง และอุ่นใจที่มีผู้ดูแลที่แม้ไม่ใช่ลูกแต่ก็เป็นเหมือนลูกหลานที่เฝ้าดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image