เขมรเลือกตั้งจบ ชายแดนก็เลิกขัดแย้ง : คอลัมน์ เดือนหงายที่ชายโขง

ในระยะปีที่ผ่านมาเป็นช่วงที่การเมืองของกัมพูชาอยู่ในระยะเข้มข้น ภายหลังจากการยุบพรรคสงเคราะห์ชาติของสมรังสี และจับกุมคุมขังนักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมาก ก่อนจะมีการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 29 กรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากการกดดัน จับกุม และใช้กำลังต่อนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามแล้ว รัฐบาลฮุนเซนยังเปิดประเด็นพิพาทเรื่องพื้นที่ชายแดนกับ สปป.ลาว ในระหว่างวันที่ 12-13 สิงหาคม 2017 เพื่อปลุกกระแสชาตินิยมเหมือนที่เคยเป็นมาหลายครั้ง และยังมีการคงกำลังไว้ที่ชายแดน ทำให้ทางการลาวต้องประท้วงอย่างต่อเนื่องให้กัมพูชาถอนทหารออกไปตามที่ได้ตกลงกัน

แต่เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง พรรคชาติประชาชนของ สมเด็จอัคคมหาเสนาบดีเตโชฮุนเซ็น เอาชนะการเลือกตั้ง ได้ที่นั่งในสภาไปทุกที่นั่ง ความขัดแย้งที่เคยฮึ่มแฮ่กันระหว่างชายแดนกัมพูชาและลาวก็ถึงคราวคลี่คลาย โดยวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีลาว ทองลุน สีสุลิด ได้พบปะกับสมเด็จฮุนเซนที่กรุงฮานอยของเวียดนาม เพื่อเจรจาและลงนามแถลงยืนยันการถอนกำลังทหารออกจากพื้นที่พิพาทอย่างสิ้นเชิง และไม่อนุญาตให้ประชาชนทั้งสองประเทศพักอาศัยหรือทำกิจกรรมใดๆ ให้ถือว่าเป็นพื้นที่ร่วมลาดตระเวนของทั้งสองประเทศเพื่อสร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกัน การร่วมลาดตระเวนนี้หมายรวมทั้งการลาดตระเวนทางบก และการสำรวจทางอากาศด้วยเครื่องบินหรือโดรน โดยมีผู้แทนของเวียดนามร่วมเป็นสักขีพยาน

พื้นที่พิพาทดังกล่าวครอบคลุมอาณาเขต 550 ตารางกิโลเมตร ในบริเวณแก่งตอมอดอยและห้วยตะเงา อยู่ระหว่างเขตเมืองสะหนามไซย แขวงอัดตะปือและเมืองแสนปาง จังหวัดสะตึงเตรง ซึ่งเพิ่งประสบภัยเขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อยแตกและน้ำท่วมใหญ่ที่ผ่านมา หลังการพิพาทในปี 2017 ทั้งสองฝ่ายได้มีการเจรจาหลายรอบแต่ก็ยังตกลงกันเรื่องการปักปันเขตแดนไม่ได้ทั้งหมด โดยปัจจุบันทำการปักปันพื้นที่ชายแดนไปได้แล้ว 465 กิโลเมตรจาก 535 กิโลเมตร ถือเป็น 87% ของพื้นที่รอยต่อ นับว่าเป็นเรื่องดีที่พื้นที่พิพาทดังกล่าว ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติมีค่า หรือแหล่งโบราณคดีที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์นำมาใช้ปลุกปั่นอ้างสิทธิครอบครอง ทั้งยังเป็นพื้นที่รับภัยพิบัติน้ำท่วมอีกด้วย ข้อพิพาทจึงไม่สมเหตุสมผลและไม่คุ้มค่าพอที่จะแย่งชิงกันในระยะยาว

การเจรจาที่ไม่ลงตัวในอดีตเกิดขึ้นจากการอ้างแผนที่คนละฉบับที่ใช้มาตราส่วนต่างกัน คล้ายคลึงกับกรณีเขาพระวิหารที่กัมพูชาพิพาทกับไทย แต่ในบันทึกความเข้าใจร่วมระหว่างลาวและกัมพูชาเมื่อปี 1995 ได้ข้อยุติว่าให้ยึดถือตามแผนที่ 1:100000 ของอินโดจีนฝรั่งเศสในปี 1933

Advertisement

ในการนี้นายกรัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายจึงเห็นพ้องต้องกันที่จะขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลฝรั่งเศส เพื่อให้ส่งรูปถ่าย แผนที่ เอกสารที่เกี่ยวข้องและผู้เชี่ยวชาญมาช่วยเหลือในการเจรจาแบ่งเขตแดนนับแต่นี้เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องซึ่งเกิดซ้ำแล้วหลายครั้ง ทั้งข้อพิพาทชายแดนด้านไทย ลาว เวียดนาม ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงใกล้เลือกตั้งของกัมพูชา ทำให้การตกลงเจรจาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อาจไม่เป็นที่ยุติโดยง่ายหากสภาพทางการเมืองของกัมพูชาเปลี่ยนแปลงไปอีก และมีผู้ต้องการปลุกกระแสชาตินิยมมาใช้ประโยชน์ทางการเมือง

การเจรจาปักปันพื้นที่ชายแดนกับกัมพูชาจึงต้องดำเนินไปอย่างรอบคอบ รัดกุม และใช้นโยบายความมั่นคงไปพร้อมกับการเจรจาประสานประโยชน์ มิใช่เพียงการร่วมใช้ประโยชน์ทางวัฒนธรรมโดยอ่อนข้อให้กับการคืบคลานเข้าอ้างสิทธิ หรือใช้ท่าทีแข็งกร้าวจนเกิดการปะทะเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

Advertisement

การรับมือของทางการลาวในวิกฤตพิพาทที่ผ่านมาถือเป็นท่าทีที่ถูกต้องและได้ผลที่พึงประสงค์จนสภาพการเลือกตั้งของกัมพูชาจบลงในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image