วิทยาศาสตร์ต่างจากโหราศาสตร์อย่างไร?

ไม่นานนี้ ผมได้ชมรายการที่มี “หมอดูมาถกเถียงกับผู้ไม่เชื่อหมอดู” ดูแล้วเกิดความรู้สึกหลายอย่าง และอย่างหนึ่งคืออยากอธิบายเพิ่มเติมให้ชัดเจนไปเลยว่าวิทยาศาสตร์ต่างจากโหราศาสตร์อย่างไร?

1.หมอดูกล่าวทำนองว่า ที่ผ่านมาทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้นผิดมาหลายครั้ง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ เมื่อค้นพบอะไรใหม่ๆ ไม่ต่างจากโหราศาสตร์ที่เมื่อทำนายทายทักก็มีข้อผิดพลาดบ้าง

ตอบ : นี่เป็นการเปรียบเทียบที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง เพราะทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์นั้นเมื่อพบข้อผิดพลาดก็จะเกิดการยอมรับอย่างรวดเร็ว เพื่อมองหาทฤษฎีที่มีกรอบการใช้งานที่กว้างกว่า

ส่วนโหราศาสตร์ เมื่อผิดพลาดก็จะมีคำอธิบายแก้ต่างเสมอว่าข้อผิดพลาดเกิดจากปัจจัยอะไร พูดง่ายๆ ว่าโหราศาสตร์ไม่เคยผิดพลาดแบบเต็มๆ จังๆ ทำให้ไม่มีการมองหาทฤษฎีใหม่ๆ เลย

Advertisement

อีกประเด็นที่ไม่ถูกต้องคือ คำว่าผิดพลาดในวิทยาศาสตร์และโหราศาสตร์นั้นแตกต่างกันมาก ความข้อผิดพลาดในทฤษฎีวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้ทำให้ทฤษฎีเหล่านั้นไร้ค่าหรือผิดโดยสิ้นเชิง

ทฤษฎีวิทยาศาสตร์ทุกทฤษฎีมีกรอบการใช้งานที่เหมาะสมอยู่

ผมจะเปรียบให้เห็นภาพว่าสมัยก่อนเราอาจใช้ “ช้อนปลูก” ในการย้ายต้นกล้าเล็กๆ ได้ แต่เมื่อต้นกล้าเริ่มโตถึงระดับหนึ่งเราต้องเปลี่ยนไปใช้ “จอบ” ในการขุดย้าย และเมื่อต้นไม้โตมากขึ้น เราอาจต้องใช้รถตักดินในการย้ายต้นไม้แทน

ช้อนปลูก จอบ และรถตักดิน ก็เหมือนทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ที่นับวันจะยิ่งพัฒนาใหญ่โตและซับซ้อนให้ใช้งานได้อย่างทรงพลังมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ถึงมนุษย์เราจะประดิษฐ์รถตักดินได้ก็ไม่ได้แปลว่าเราจะเลิกใช้จอบหรือช้อนปลูก

สมัยโบราณเราเคยเชื่อว่าโลกแบนซึ่งต่อมาเรารู้ว่ามันผิด เพราะโลกเรากลม แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะโยนทฤษฎีโลกแบนทิ้งนะครับ

ทุกวันนี้เวลาเราทำรังวัดที่ดิน,นั่งรถไฟจากกรุงเทพฯไปต่างจังหวัด หรือแม้แต่เตะฟุตบอลให้เข้าโกล เราไม่จำเป็นต้องคิดคำนวณความกลมของโลกเลย ทฤษฎีโลกแบนนั้นสะดวกและเพียงพอต่อการใช้ชีวิตประจำวันของเรามากๆ

แต่เมื่อเราต้องการยิงขีปนาวุธระยะไกล,ส่งจรวดออกนอกโลก ฯลฯ เราจำเป็นต้องคำนึงถึงความโค้งของโลกและการหมุนรอบตัวเองของโลกอย่างเลี่ยงไม่ได้

แต่โหราศาสตร์นั้นไม่มีกรอบการใช้งานที่ชัดเจน (เป็นต้นว่าทำนายดวงคนได้แล้วทำนายดวงแมวที่บ้านได้หรือไม่? แล้วถ้ามนุษย์เราย้ายไปอยู่กาแล็กซีแอนโดรเมดา โหราศาสตร์ต้องปรับอะไรบ้าง?)

ความผิดพลาดของโหราศาสตร์จึงเป็นความผิดพลาดที่ไม่นำไปสู่การขยับขยายกรอบการใช้งานเลย โหราศาสตร์จึงมีหน้าตาไม่ต่างจากเมื่อสมัยโบราณนานมาแล้วมากนัก

2.หมอดูกล่าวถึงหลักความไม่แน่นอนในกลศาสตร์ควอนตัม แล้วพูดทำนองว่าทุกสิ่งมีความไม่แน่นอน การทำนายทายทักทางโหราศาสตร์ก็ย่อมมีความไม่แน่นอนบ้าง

ตอบ : ถ้าผมอยู่ในรายการผมจะรบกวนให้ท่านหมอดูช่วยอธิบายหลักความไม่แน่นอนให้ฟังคร่าวๆ สักหน่อย เผื่อผู้ชมทางบ้านจะได้เข้าใจไปพร้อมๆ กัน

ผมเชื่อว่าหลักความไม่แน่นอนในกลศาสตร์ควอนตัมเป็นหนึ่งในหัวข้อทางฟิสิกส์ที่อธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ยากที่สุด

ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับหลักการนี้ก็คือ การขยายหลักการมากเกินไปจนไปสู่ข้อสรุปที่ว่า “ทุกสิ่งมีความไม่แน่นอน”

ในความจริงหลักความไม่แน่นอนนั้นปรากฏขึ้นจนมีความสำคัญก็ต่อเมื่อคุณกำลังสนใจปรากฏการณ์ในระดับเล็กอย่างอะตอมเท่านั้น ปรากฏการณ์ธรรมชาติในระดับชีวิตประจำวันไม่สามารถตรวจพบผลจากหลักการนี้ได้โดยง่ายเลย

พูดง่ายๆ คือ หลักฟิสิกส์ในชีวิตประจำวันไม่ต้องคำนึงถึงความไม่แน่นอนเลย ปริมาณทุกอย่างมีความแม่นยำในระดับที่สามารถทำการทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยผลที่ออกมาเหมือนเดิมทุกประการ (เมื่อเรากำจัดปัจจัยที่ส่งผลให้ผลการทดลองผิดพลาดออกหมดแล้ว)

คำว่าความไม่แน่นอน ก็ต้องตีความให้ชัดเจน เพราะในทางฟิสิกส์ความไม่แน่นอนเกี่ยวข้องกับหลักการเชิงสถิติที่มีความชัดเจน ดังนั้น หากเรากล่าวว่าอนุภาคบางอย่างมีความไม่แน่นอนของตำแหน่ง ไม่ได้แปลว่าเราไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับตำแหน่งของอนุภาคนั้น สิ่งที่นักฟิสิกส์รู้คือโอกาสในการพบเจอ

เช่น หากนักฟิสิกส์คำนวณได้ว่ามีโอกาสพบอนุภาค A อยู่ในตำแหน่ง M 70% ก็หมายความว่าเมื่อทำการวัดตำแหน่งของระบบที่มีอนุภาค A ที่ตำแหน่ง M ในลักษณะนี้ไปเรื่อยๆ เรามีโอกาสเจอมันอยู่บริเวณตำแหน่ง M มากถึง 70%

แต่เมื่อเราวัดตำแหน่งของมันไปแล้ว มันจะสูญเสียความไม่แน่นอนไป กลายเป็นว่ามันจะอยู่บริเวณ M อย่างแน่นอน

ยากใช่ไหมครับ ยังๆ ยังไม่จบเพราะนอกจากนี้ปริมาณทางฟิสิกส์ที่มีความไม่แน่นอนยังอยู่เป็นคู่ๆ ซึ่งผมจะไม่อธิบายแล้วเพราะมันจะซับซ้อนและส่งผลถึงกันและกันด้วย

เอาเป็นว่าการขยายความว่าทุกอย่างไม่แน่นอน แล้วใช้ความคลุมเครือทางภาษาตีความคำว่า “ไม่แน่นอน” ตามพื้นเพความเข้าใจตนเองนั้นผิดแน่นอน

ใครมีข้อสงสัยอยากคุยเรื่องฟิสิกส์หรือวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม เชิญมาที่เฟซบุ๊กผมได้เลยนะครับ www.facebook.com/ardwarong/

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image