ประสานักดูนก : เรื่องราวของนักล่า : เหยี่ยวทุ่ง โดย : นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก วัยเด็ก

เหยี่ยวอพยพที่กำลังเดินทางผ่านภาคใต้ มี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นกลุ่มหลัก มีจำนวนมากเกิน 1,000 ตัวขึ้นไป บางชนิดอาจหลายหมื่นถึงเกินแสนตัว เช่น เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ ในกลุ่มเหยี่ยวอพยพ 6 ชนิดหลัก อีกกลุ่มมีจำนวนน้อยแค่ “หยิบมือเดียว” ตลอดฤดูกาลอพยพต้นหนาว อาจนับได้เรือนสิบเรือนร้อยตัว รวมไปถึงเหยี่ยวเทพ หายาก อาทิ เหยี่ยวตีนแดง เหยี่ยวนิ้วสั้น ในกลุ่มหยิบมือเดียวนี้ จำนวนนับบ่งบอกว่าประชากรในถิ่นผสมพันธุ์ที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออก มีขนาดเล็กมาก หรือเส้นทางอพยพผ่านอาเซียน ไม่ใช่เส้นทางหลักของเหยี่ยวหยิบมือเดียวชนิดนั้นๆ

“เหยี่ยวทุ่ง” เป็นเหยี่ยวปีกแตก ขนาดกลาง ที่มีขนาดระหว่างเหยี่ยวนกเขาและเหยี่ยวผึ้ง พินิจจากชื่อที่บ่งบอกถิ่นอาศัยของเหยี่ยวสกุลนี้ คือ ทุ่งโล่ง ทุ่งนา พื้นที่ชุ่มน้ำ ในประเทศไทย พบเหยี่ยวทุ่ง 5 ชนิด ทุกชนิดเป็นเหยี่ยวอพยพในฤดูหนาว 2 ชนิดพบเห็นสม่ำเสมอทุกปี ทั่วประเทศ ได้แก่ เหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออก และเหยี่ยวด่างดำขาว ส่วนอีก 3 ชนิด จัดเป็นนกหายาก ได้แก่ เหยี่ยวทุ่งพันธุ์ยูเรเซีย เหยี่ยวทุ่งแถบเหนือ และเหยี่ยวทุ่งสีจาง เหยี่ยวทุ่งหายาก 2 ชนิดแรก มีรายงานเป็นประจำ ครั้งละ 1-2 ตัว ที่เวียงหนองหล่ม จ.เชียงราย ส่วนเหยี่ยวทุ่งสีจาง เคยพบครั้งเดียวในภาคใต้ จึงจัดเป็นนกพลัดหลง ไม่ใช่นกอพยพที่ย้ายถิ่นมาเป็นประจำเช่น เหยี่ยวทุ่งอีก 4 ชนิดข้างต้น

ในภาคใต้ ณ จุดชมเหยี่ยวอพยพ จะพบเหยี่ยวทุ่งพันธุ์เอเชียตะวันออกและเหยี่ยวด่างดำขาว บินผ่านเป็นรายตัว ด้วยรูปแบบการบินกระพือปีกต่อเนื่องคล้ายเหยี่ยวปีกแหลม เช่น เหยี่ยวเพเรกริน แต่ยามเหยี่ยวเจอลมร้อนก็จะบินไปร่อนพักปีกได้ไม่ต่างจากเหยี่ยวผึ้ง หรือเหยี่ยวปีกแตกชนิดอื่นๆ

เมื่อเทียบกับเหยี่ยวอพยพชนิดอื่นๆ เหยี่ยวทุ่งมีพื้นที่ผิวของปีกต่อน้ำหนักตัวมาก หรือตัวเบาแต่ปีกยาว ชดเชยส่วนที่แคบเรียว เอื้อต่อการร่อนลมร้อนและบินต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้ เหยี่ยวทุ่งจึงไม่จำเป็นต้องรอสภาพอากาศที่เอื้อต่อการร่อนลมในเวลากลางวัน เพราะมันบินต่อเนื่องได้ จึงมักจะเป็นเหยี่ยวปิดท้ายของวันนับเหยี่ยว ในช่วงเวลาเย็นๆ ที่เหยี่ยวอพยพหลักชนิดอื่น หยุดการเดินทาง ลงเกาะหาที่พักนอนเวลากลางคืน ตั้งแต่ 17.00 น.เป็นต้นไป แต่เหยี่ยวทุ่งยังคงบินมุ่งหน้าลงใต้ไปเรื่อยๆ

Advertisement

แต่ในยามล่าเหยื่อ ซึ่งประกอบด้วย หนูนา นกขนาดเล็ก กบเขียด เหยี่ยวทุ่งกลับดูนุ่มนวล ไม่ดุดันเหมือนกับนกนักล่าชนิดอื่นๆ เพราะเหยี่ยวทุ่งจะใช้ประโยชน์จากลมชายทุ่งที่พัดเอื่อยๆ บวกกับพื้นที่ผิวของปีกอันกว้างขวางสวนทางกับน้ำหนักตัวเบา ร่อนไปเรื่อยในระดับต่ำเหนือยอดหญ้า ยอดข้าว สูงไม่เกินยอดตาล เงี่ยหูฟังเสียงเคลื่อนไหว หรือเสียงร้องของเหยื่อ แล้วใช้ท่อนขายาวๆ พุ่งลงไปจับอย่างแม่นยำโดยที่เหยี่ยวมองไม่เห็นเหยื่อตัวนั้นแต่แรกเพราะหลบอยู่ในพงวัชพืชรกทึบก็ตาม

ซึ่งวิธีการล่าลักษณะนี้คล้ายการล่าของนกเค้าแมว ที่ใช้เสียงของเหยื่อกำหนดตำแหน่งเป็นหลักแทนที่จะใช้สายตา เพราะว่ารูปทรงของกะโหลกของเหยี่ยวทุ่งต่างจากนกนักล่ากลางวันสกุลอื่นๆ ที่ส่วนหน้าของกะโหลกแบนและแผ่กว้างไปทางด้านข้าง คล้ายจานรับคลื่นเสียง ยิ่งมีขนเส้นเล็กๆ กระจายอยู่รอบใบหน้าที่เรียกว่า facial disc ช่วยตะล่อมเสียงสะท้อนของเหยื่อเข้าสู่รูหูมากขึ้น ความแม่นยำในการกำหนดตำแหน่งของเหยื่อจากเสียงจึงมากกว่าเหยี่ยวกลุ่มอื่นๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image