McQueen อัปลักษณ์ เกรี้ยวกราด ชั้นเชิง-สมบูรณ์แบบ..อย่างร้ายกาจ : คอลัมน์ เล่าเรื่องหนัง

“ลี อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน” ดีไซเนอร์ผู้สร้างชื่อก้องโลกตั้งแต่ยังหนุ่มแน่น ตัดสินใจทำอัตวินิบาตกรรมในวัยที่เพิ่งจะแตะ 40 ปี ทั้งที่ยังเป็นช่วงขาขึ้นของชีวิตได้อีก

นี่คือเหตุการณ์สลดที่เกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ.2010 ช็อกวงการแฟชั่นระดับโลก

ผ่านมา 8 ปี “Ian Bonhote” และ “Peter Ettedgui” ร่วมมือกันสร้างภาพยนตร์สารคดีเรื่องเยี่ยม “McQueen” ฉายภาพดีไซเนอร์หนุ่ม “หัวขบถยุค 90” ผู้มีส่วนผสมความแรง พลุ่งพล่าน พร้อมทั้งงานแฟชั่นโชว์ที่มีนัยยะทางสังคม การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยีซ่อนตัวอยู่อย่างแยบคาย

จนขนานนามได้ว่าเขาคือ “ศิลปิน” ที่สร้างผลงานวิพากษ์และจ้องมองสังคมผ่านโลกแฟชั่น

Advertisement

“McQueen” แบ่งการเล่าเรื่องออกเป็น 5 ตอน ตั้งชื่อตาม “โชว์คอลเล็กชั่น” ที่โดดเด่น 5 โชว์ ไล่เรียงชีวิต ทัศนคติ และผลงานแฟชั่นโชว์ของแม็คควีนตั้งแต่ยังเป็นเด็กวัยรุ่น จากครอบครัวชนชั้นแรงงานในลอนดอน สู่การแจ้งเกิดในระยะเวลาอันรวดเร็ว

สร้างตัวตนที่ชัดเจนจนขึ้นสู่จุดสูงสุดตั้งแต่อายุ 27 ปี ในการเป็น “หัวหน้าดีไซเนอร์” ให้แบรนด์หรูระดับโลก “จีวองชี่” ที่ปารีส สร้างแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองในชื่อ “อเล็กซานเดอร์ แม็คควีน” ก่อนที่ในวัย 30 ต้นๆ จะย้ายมาจับมือทำงานกับ “กุชชี่”

หนังสารคดีเรื่องนี้ดำเนินเรื่องจากฟุตเทจเก่าที่เป็น “โฮมวิดีโอ” ส่วนตัว ตั้งแต่แม็คควีนยังเป็นหนุ่มน้อยตุ้ยนุ้ยฉายแววพรสวรรค์ด้านแฟชั่น

Advertisement

เสริมด้วยการตั้งกล้องพูดคุยกับเพื่อนและเพื่อนร่วมงานใกล้ชิด อดีตแฟนหนุ่ม

สมกับความเป็นวัยรุ่นยุค 90 “แม็คควีน” มีโฮมวิดีโอที่ถ่ายเล่นกับเพื่อนฝูงอยู่มาก และ “โฮมวิดีโอ” นี่เอง ที่ทำให้เห็นภาพชีวิต “แม็คควีน” ออกเป็นสองช่วง

British fashion designer Alexander McQueen carries a falcon as he acknowledges applause 07 July in Paris at the end of the Givenchy 1997/98 Fall/Winter high fashion collection. McQueen presented a spectacular collection, preceeded by rumors that he planned to use human teeth and bones in his work. / AFP PHOTO / PIERRE VERDY

ในยุคนิยมถ่ายโฮมวิดีโอ ชีวิตของเขาคือความสนุกสนาน อิสรภาพ แม้จะโด่งดังแล้ว เขาก็ไม่รู้สึกต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ยังคงเป็น “แม็คควีน” หนุ่มตุ้ยนุ้ย แต่งตัวติดจะปอนๆ ขึ้นโบกมือขอบคุณบนรันเวย์ในชุดเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ตัวใหญ่ ใส่รองเท้าสนีกเกอร์

เวลาผ่านไป ไม่มีชีวิตสนุกๆ ในโฮมวิดีโอ ทุกอย่างเคร่งเครียดขึ้น เส้นทางกับเพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงานถ่างออกจากกัน แม็คควีนก้าวสู่ความสำเร็จมากขึ้นเรื่อยๆ และแน่นอนว่าเขาก็รับมือกับมันได้ไม่ดี ยาเสพติดเข้ามาในชีวิต ความสัมพันธ์กับผู้คนรอบข้างอ่อนแอลง

“แม็คควีน” ในแบบฉบับหนุ่มตุ้ยนุ้ย กลายเป็น “แม็คควีน” ที่น้ำหนักหายไปจากการผ่าตัดดูดไขมันออก เข้าสู่ “ตัวตนใหม่” ที่เป็น หนุ่มหุ่นผอมในชุดสูทหรูเข้ารูปบนรันเวย์ ผลิตคอลเล็กชั่นเสื้อผ้าปีละ 10 ฤดูกาล และชีวิตที่มีแต่ปาร์ตี้ฉาบฉวย และความเป็นเซเลบริตี้เข้าแทนที่

แต่ไม่ว่าชีวิตส่วนตัวของ “แม็คควีน” จะกลับตาลปัตรเป็นเหรียญสองด้านแค่ไหน สิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนไป คือ “ผลงานแฟชั่น” ตลอดชีวิตของเขาที่ยังคง “จิตวิญญาณ” เดิม และแรงกล้าขึ้นเรื่อยๆ ชวนให้คิดตั้งคำถาม ทั้งยั่วล้อ ก่นด่า ประชดประชัน เสียดสี ยังคงมีทุกอณู

อย่างที่ “แม็คควีน” เชื่อมาตลอดว่า งานแฟชั่นโชว์ของเขาจะต้อง “สร้างอารมณ์” ไม่ว่าจะเป็นความชอบหรือเกลียดต่อการดูโชว์ของเขา “ต้องมีอารมณ์จากคนดูออกมา” นั่นจึงเรียกว่าประสบความสำเร็จ

งานแฟชั่นโชว์ที่เคยถูกวิจารณ์ให้ภาพความอัปลักษณ์อย่างโชว์ชุด “Highland Rape” ที่เขาดีไซน์เสื้อผ้าที่เกรี้ยวกราด ดุเดือด ขาดวิ่น ใช้ผ้าสีแดงดั่งเลือด ราวกับหญิงตกเป็นเหยื่อกระทำชำเรา แม็คควีนอยากจะสื่อถึงสิทธิเสรีภาพต่อสตรีผู้ถูกกระทำ

กาลเวลาผ่านไปมันคืองานคอลเล็กชั่นอมตะ ซ่อนนัยความหมายอย่างสมบูรณ์

Model Naomi Campbell, designer Alexander McQueen and model Kate Moss arrive for the ‘Black’ charity auction and fashion show in London 03 June, 2004. The show, sponsored by British designer Alexander McQueen and American Express, will include an auction of celebrity memoribila to aid Lighthouse services to aid people living with AIDS and HIV. AFP PHOTO/NICOLAS ASFOURI / AFP PHOTO / NICOLAS ASFOURI

ตลอดชีวิตการทำงาน งานแฟชั่นของเขามักถูกตั้งคำถาม อาทิ การออกแบบกางเกงเอวต่ำระดับเห็นร่องก้น ส่วนด้านหน้าขอบกางเกงก็ปริ่มล่างจนชวนกระอักกระอ่วน เขาให้เหตุผลว่าเป็นการออกแบบแนวทดลองเพื่อเปลี่ยนสัดส่วนร่างกาย และต้องการโชว์การตัดเย็บบริเวณขอบกางเกง

ขณะที่งานแมสที่คนไทยคุ้นกันดี คือ งานดีไซน์คอลเล็กชั่นจากลายหัวกะโหลกนั่นเอง

ส่วนผลงานที่ถือได้ว่าเป็นตัวแทนความรู้สึก “แม็คควีน” อย่างสุดซึ้ง คืองานแฟชั่นโชว์คอลเล็กชั่นที่ชื่อ “VOSS” คอลเล็กชั่นสปริง/ซัมเมอร์ เมื่อปี 2001 ที่เป็นงานระดับประติมากรรม นัยหนึ่งคือเพื่อเรียกร้องและปฏิวัติวงการแฟชั่นที่ฉาบฉวย และมันก็อาจเป็นตัวเขาเองด้วยเช่นกัน

ในคอลเล็กชั่นนี้ ดาวเด่นคือ “กล่องกระจกสี่เหลี่ยม” ขนาดใหญ่ ที่ผู้มาร่วมงานแฟชั่นโชว์มองเข้าไปจะเห็นแต่ภาพสะท้อนหน้าตัวเอง

กระทั่งเมื่อเข้าสู่ช่วงฟินาเล่ กล่องจะเปิดออกทั้งสี่ด้าน ภายในคือนางแบบหุ่นเจ้าเนื้ออวบอ้วนระดับบิ๊กไซซ์ ครอบศรีษะเหมือนหัวสัตว์ทรงประหลาด เปลือยกายนอนเอน ใส่หน้ากากกันแก๊สพิษ มีแมลงไต่บินตามเนื้อตัว

นี่คือภาพ “ความอัปลักษณ์” ของผู้คนและวงการแฟชั่นที่ “แม็คควีน” อยากจะระบายความนัยออกมาต่อหน้าฝูงชนเซเลบริตี้ และสื่อ ซึ่งเขาทำมันได้อย่างมีชั้นเชิง “สมบูรณ์แบบอย่างร้ายกาจ”

เป็นดั่งเช่นที่เขามักจะพูดเสมอว่า “ถ้าคุณอยากจะรู้จักผม ก็ดูที่งานผมนั่นล่ะ”

และอาจเป็นเช่นนั้น จากเนื้องานตลอดชีวิตของเขาจวบจนลมหายใจสุดท้าย ที่ตอกย้ำว่า “ไม่มีใครค้นพบอเล็กซานเดอร์ แม็คควีน แต่แม็คควีนต่างหากที่ค้นพบตัวเอง”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image