งานศิลปะล้ำค่า บนห้องอาหารเบญจรงค์ มาสเตอร์พีซ ‘ท่านกูฏ’ ประวัติศาสตร์อีกหน้า ‘ดุสิตธานี’

อีกไม่ถึง 3 เดือน โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ จะปิดตัวลงอย่างเป็นทางการ เพื่อเริ่มโครงการก่อสร้างใหม่ก่อนจะเปิดตัวอีกครั้ง 3 ปีข้างหน้า

ดุสิตธานี ถือเป็นตำนานโรงแรมหรูระดับ 5 ดาวของเมืองไทย ไม่เพียงเรื่องราวของหญิงเหล็ก ท่านผู้หญิงชนัตถ์ ปิยะอุย ผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและโรงแรมที่โดดเด่นที่สุดของไทยเมื่อกว่า 50 ปีก่อน ความเป็นดุสิตธานียังอยู่คู่ประวัติศาสตร์เมืองไทยในทุกๆ ด้าน ทั้งสังคม เศรษฐกิจ การเมือง

ในแง่ของด้านสถาปัตยกรรม อาคารโรงแรมดุสิตธานีเป็นแลนด์มาร์กของเมืองไทยด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมทันสมัยแปลกตา สูง 23 ชั้น ปลายเรียวแหลมคล้ายยอดเจดีย์ ได้แรงบันดาลใจมาจากยอดพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม กับการบริการที่เนี๊ยบทุกกระเบียดนิ้วสมกับเป็นโรงแรมระดับ 5 ดาว ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ห้องอาหารเบญจรงค์ เป็นอีกสิ่งที่เป็นความประทับใจของผู้ที่แวะเวียนเข้ามาใช้บริการที่นี่ นอกจากรสชาติและความประณีตบรรจงของอาหารไทยตำรับชาววังที่เน้นความร่วมสมัยมากขึ้น ที่ห้องอาหารแห่งนี้ยังซ่อนงานศิลปะล้ำค่าไว้ งานจิตรกรรมบนเสาใหญ่ 2 ต้นกลางห้องและบนผนังบริเวณช่องทางเดิน ฝีมือระดับปรมาจารณ์เมืองไทย “ท่านกูฏ” หรือ ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ จิตรกรหัวก้าวหน้าเมื่อ 50 ปีก่อน ศิษย์รุ่นแรกของอาจารย์ศิลป พีระศรี ผู้บุกเบิกการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังขนาดใหญ่บนอาคารสถานที่ต่างๆ ที่ไม่เพียงแค่ในโบสถ์วิหารของวัด

Advertisement

เสาเบญจรงค์ เวทีสำแดงงานชั้นครู

นาคนิมิตร สุวรรณกูฏ ทายาทศิลปินชั้นครู เล่าถึงที่มาของผลงานภาพเขียนลายไทยของบิดาบนห้องอาหารเบญจรงค์ โรงแรมดุสิตธานี ว่าเมื่อ 50 ปีก่อน คุณพ่อได้มีโอกาสฝากผลงานภาพเขียนลายไทย เพื่อตกแต่งเสาขนาดใหญ่ทั้ง 2 ต้นของห้องอาหารเบญจรงค์

ลวดลายบนผนังทางเดินยาวกว่า 4 เมตร

“ความพิเศษของลวดลายจิตรกรรมไทยบนเสาทั้งสองต้นนี้ คุณพ่อใช้เวลาถึง 3 ปี ในการไปค้นคว้าหาข้อมูลที่วัดโพธิ์ เพื่อเรียนรู้เรื่องสี และลวดลายต่างๆ และได้ใช้เวทีนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะไทยร่วมสมัย โดยนำสีสันใหม่ๆ มาใส่ในงานจิตรกรรมไทย ซึ่งตรงกับแนวคิดของดุสิตธานี ที่ต้องการสะท้อนความเป็นไทยแบบร่วมสมัย”

นับเป็นผลงานภาพจิตรกรรมไทยร่วมสมัยอันทรงคุณค่า เป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของวงการศิลปะไทย ทั้งในเรื่องของแนวความคิด และการสร้างสรรค์ผลงาน ที่หลายๆ คนโดยเฉพาะเด็กรุ่นใหม่อาจจะไม่ทราบด้วยซ้ำว่า มีผลงานของท่านอยู่ในโรงแรมแห่งนี้

Advertisement

ด้วยเหตุนี้เมื่อถึงวาระที่อาคารแห่งนี้จะต้องทุบรื้อเพื่อย้ายไปอยู่ในพื้นที่ใหม่ ทางคณะผู้บริหารของ ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนล จึงมีความเห็นต้องกันว่าให้จำลองความเป็นห้องอาหารเบญจรงค์ไปอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ด้วย นั่นรวมถึงงานจิตรกรรมบนเสาใหญ่ 2 ต้นกลางห้องและบนผนังกำแพงที่มีพื้นที่ยาวกว่า 4 เมตร ของท่านกูฏ

ทางด้าน ปฐวี ฉันทารุมัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายอาหารและเครื่องดื่มของดุสิตธานี บอกเล่าถึงเรื่องราวของห้องอาหารเบญจรงค์ว่า “ดุสิตธานี กรุงเทพฯ เป็นโรงแรมแรกๆ ที่เปิดให้บริการห้องอาหารไทย ภายในห้องอาหารตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามตามแบบศิลปะไทย ทั้งลายแกะฉลุไม้ งานตกแต่งผนังด้วยไม้สัก และลายไทยที่บรรจงวาดตกแต่งรอบเสาและฝาผนัง

“คณะผู้บริหารนำโดยคุณชนินทธ์ โทณวณิก รองประธานกรรมการ และประธานคณะกรรมการบริหาร ดุสิต อินเตอร์เนชั่นแนลจึงมีแนวทางที่จะตกแต่งห้องอาหารไทยในโรงแรมโฉมใหม่ให้อยู่ในรูปแบบเดิม โดยได้รับเกียรติจากมหาวิทยาลัยศิลปากรมาเป็นผู้ศึกษาและค้นคว้ากรรมวิธีการอนุรักษ์ผลงานอันทรงคุณค่า เพื่อรักษาไว้เป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยจากรุ่นสู่รุ่น และยังมอบคุณค่าทางจิตใจแก่ลูกค้าที่รักและผูกพันกับเบญจรงค์ตลอดเวลาที่ผ่านมา”

ปรากฏการณ์ใหม่ ความร่วมสมัยบนขนบไทย

อำมฤทธิ์ ชูสุวรรณ อดีตคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับงานชุดสำคัญของอาจารย์ไพบูลย์ สุวรรณกูฏ หนึ่งในเอกลักษณ์ของห้องอาหารเบญจรงค์ ที่อยู่คู่กับดุสิตธานี กรุงเทพฯ มาเกือบครึ่งศตวรรษว่า เดิมทีศิลปะกับโรงแรมไม่เคยไปด้วยกัน โรงแรมอาจจะมีรูปเขียนแต่ก็เป็นการจ้างเขียนมาประดับให้สวยงามเท่านั้นเอง

อำมฤทธิ์ ชูสวุวรรณ

แต่เมื่อ 50 ปีผ่านมาโรงแรมดุสิตธานี ได้จ้างอาจารย์ไพบูลย์ หรือท่านกูฏ เข้ามาเขียนลายเสาที่ห้องอาหารเบญจรงค์ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์อันหนึ่งที่โรงแรมที่มีคนไทยเป็นเจ้าของและจ้างศิลปินที่เป็นผู้ใหญ่มีชื่อเสียง

“ผลงานนี้เป็นมาสเตอร์พีซหนึ่งของท่าน เพราะลวดลายบนเสาไม่ได้เป็นลายตามแบบขนบไทย แต่เป็นลายที่ถูกออกแบบเส้นสีเป็นชุดสีใหม่ ผมคุยกับลูกชายท่านกูฏ บอกว่า ท่านไปศึกษางานชุดนี้ที่เป็นไทยโทนและรูปแบบของชุดสีนี้ที่วัดโพธิ์อยู่หลายปี และเมื่อได้มาทำงานตรงนี้จึงเอาความรู้ที่ท่านได้จากการไปศึกษาตามวัดต่างๆ มาทำงาน เป็นเส้นทางที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ใช้งานจิตรกรรมแบบประณีตแบบนี้มาตกแต่งโรงแรม ฉะนั้น ความสำคัญของงานท่านกูฏที่เสา 2 เสา และที่ผนังก็จะเริ่มตั้งแต่ตรงนั้นว่าความเป็นท่านเองกับสกุลช่างของท่านและลูกศิษย์ที่ปรากฏอยู่”

อดีตคณบดีคณะจิตรกรรม ประติมากรรม และภาพพิมพ์ ม.ศิลปากร บอกว่า แม้ว่าการเขียนงานจิตรกรรมไทยร่วมสมัยประดับอาคารเอกชนเช่นนี้ที่เชื่อว่าไม่ได้มีแค่ท่านกูฏคนเดียว แต่ด้วยความที่ตัวผลงานปรากฏโดดเด่นและน่าสนใจ ฉะนั้น ผลงานของท่านจึงควรค่าแก่การเก็บรักษา

“ชิ้นใหญ่สุดก่อนท่านจะเสียชีวิตอยู่ที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น ถนนราชดำริ ถ้ามองที่เพดานล็อบบี้ตรงนั้นคืองานของท่านทั้งหมด โรงแรมมณเฑียรท่านก็เคยเขียน แต่ไม่ทราบว่ายังอยู่หรือเปล่า และยังมีอีกโรงแรมแถวราชดำริ” และว่า

ในความเป็นจริงการเขียนงานบนผนังมีอยู่ตลอด แต่เป็นการเขียนชั่วคราว หมายความว่าพอผ่านไประยะหนึ่งทางโรงแรมก็ลบเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ซึ่งมีเป็นจำนวนมาก มีงานดีๆ อีกหลายชิ้นที่อยู่ในพื้นที่แบบนี้ไม่เพียงงานจิตรกรรมฝาผนัง อย่างประติมากรรมแบบบาสรีลีฟตามโรงหนัง ก็มีศิลปินผู้ใหญ่จำนวนมากที่ทำ แต่พอโรงหนังหมดยุคหายไป งานเหล่านี้ก็หายไปด้วย คนที่ไปเจองานตามตลาดของเก่าถือว่าโชคดี

งานหินสุดๆ รื้อยกเสาขนาด 5 ตัน

การอนุรักษ์งานจิตรกรรมบนผนังอายุกึ่งศตวรรษซึ่งเป็นผลงานระดับบรมครูว่ายากแล้ว ที่ยากยิ่งกว่าคือมีโจทย์ของการขนย้ายไปยังสถานที่แห่งใหม่

โดยเฉพาะงานศิลปะอันล้ำค่านั้นอยู่บนเสาขนาดใหญ่ที่เป็นฐานรองรับน้ำหนักอาคารที่มีความสูงถึง 23 ชั้น!

การทำงานครั้งนี้จึงต้องระดมผู้เชี่ยวชาญจากทุกสาขามาร่วมกันวางแผนอย่างรัดกุม เพื่อให้การเคลื่อนย้ายงานศิลปะชุดนี้เป็นไปอย่างละมุนละม่อมที่สุด

“ต้องทำงานร่วมกันหลายฝ่าย” อาจารย์อำมฤทธิ์บอกและว่า “ตอนนี้เรารวมกันหมด ฝ่ายอนุรักษ์ สถาปนิก รวมทั้งวิศวกร ทั้งทีมของโรงแรมด้วยมาช่วยกันคิด เพราะมันเกี่ยวกับการรื้อโรงแรม เริ่มต้นจากการห่องานก่อน เพราะมันต้องรื้อจากชั้นบนลงมา จนถึงที่ห้องเบญจรงค์จึงจะตัดเสา 2 เสาออกได้ เนื่องจากเป็นเสาที่รับน้ำหนักตัวโรงแรม จะรื้อออกก่อนไม่ได้ ก็ต้องรอ”

นั่นหมายความว่าจะต้องรอการทุบรื้อชั้นอื่นๆ ที่อยู่เหนือขึ้นไปแล้วเสร็จลงเสียก่อน จนมาถึงชั้นซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องเบญจรงค์ กระบวนการจัดการจึงเริ่มต้นขึ้น

“ขณะรื้ออาจจะมีการกระทบกระเทือนก็ต้องทำตัวล็อกกันไว้ และเมื่อถึงเวลาค่อยตัดออก ซึ่งคำนวณน้ำหนักแล้วแต่ละเสาน้ำหนักจะอยู่ที่ 5 ตัน เราก็ต้องมีวิธีที่แนบเนียนหน่อย เอาไปเก็บรักษาพอถึงเวลาค่อยนำมาติดตั้งที่ห้องใหม่”

สำหรับสภาพของงาน ณ ปัจจุบัน อาจารย์อำมฤทธิ์บอกว่า เสียหายเพียงบางส่วนเพราะความชื้นจากพื้น มีการซ่อมและเปลี่ยนไปแล้วไม่มาก

ทีมทำงานต้องทำหลายอย่าง เมื่อโรงแรมปิดแล้ว ต้องก๊อบปี้ลายทั้งหมด ถ่ายรูปเพื่อเก็บสีที่ถูกต้องไว้เป็นต้นแบบ เผื่อสำหรับต้องซ่อมเมื่อชำรุด ก่อนที่จะห่อผิวหน้า โดยใช้กระดาษ กาวที่ใช้ในการอนุรักษ์ หุ้มรักษาผิวหน้าไม่ให้กระเทาะออก และห่อวัสดุ ขณะเดียวกันก็ต้องควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ชื้นเกินหรือแห้งเกิน

จนกว่าจะกลับมาอีกครั้งในโฉมใหม่พร้อมกับการเปิดตัวของห้องอาหารเบญจรงค์ในปี 2564

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image