ประสานักดูนก : เรื่องราวของนักล่า : เหยี่ยวตีนแดง : โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

เหยี่ยวตีนแดงเพศเมีย

“เหยี่ยวตีนแดง” เป็นนกหายากของไทยที่ประชากรทั่วโลกมีมากกว่า 1 แสนตัว อพยพจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก ไปทวีปแอฟริกา ระหว่างเหยี่ยวปีกแหลมที่น้ำหนักตัวไม่เกิน 2 ขีดชนิดนี้ต้องเดินทางเลาะเชิงเขาหิมาลัย ผ่านอนุทวีปอินเดีย เพื่อข้ามมหาสมุทรอินเดียไปขึ้นฝั่งที่ Horn of Africa แล้วเดินทางเหนือป่าสะวันนาไปอาศัยในฤดูหนาวที่ประเทศแอฟริกาใต้

นับเป็นนกนักล่าชนิดเดียว (นอกเหนือจากเหยี่ยวออสเปรในทวีปอเมริกา) ที่มีการศึกษาวิจัยด้วยสัญญาณดาวเทียม ว่าเดินทางอพยพระหว่าง 2 ทวีป คือ ทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา รวมทั้งบินข้ามมหาสมุทรไกลกว่า 1,000 กิโลเมตร โดยไม่หยุดพัก บิน non-stop รวดเดียวจากชายทะเลประเทศอินเดีย ไปขึ้นฝั่งที่ชายทะเลประเทศเอธิโอเปีย ซึ่งในช่วงฤดูอพยพต้นหนาว แมลงปอที่เป็นอาหารหลักประเภทหนึ่งของเหยี่ยวตีนแดงก็จะอพยพย้ายถิ่น ดังมีรายงานพบบนเกาะในมหาสมุทรอินเดีย เหยี่ยวตีนแดงจึงมีเหยื่อให้ล่ากินเป็นอาหารระหว่างทาง นอกเหนือจากที่เหยี่ยวต้องสะสมพลังงานในรูปไขมันในช่องท้องและใต้ผิวหนังเพื่อใช้เผาผลาญเป็นพลังงานที่คุ้มค่าต่อพื้นที่เก็บอันจำกัดในร่างกาย

เมืองไทยตั้งอยู่ที่ชายขอบเส้นทางอพยพของเหยี่ยวตีนแดง เพราะเหยี่ยวตีนแดงจำนวนมากจะเดินทางจากไซบีเรีย มองโกเลีย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศจีน ผ่านแผ่นดินมุ่งสู่ภาคใต้ของประเทศจีน ผ่านสามเหลี่ยมทองคำ เข้าประเทศเมียนมาเพื่อมุ่งหน้าไปประเทศอินเดีย หากฝูงเหยี่ยวพบพายุฝน หรือลมหนาวแรงๆ ทำให้ต้องหลุดจากเส้นทางหลักดังกล่าว ก็จะหลงเข้ามาในภาคเหนือของไทย เช่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ เหยี่ยวจะเกาะสายไฟรวมตัวกันหลายร้อยตัว รอเวลาที่สภาพอากาศเอื้อต่อการเดินทาง แล้วจึงอพยพเข้าประเทศเมียนมา

กระนั้นมีเหยี่ยวจำนวนน้อยที่หลงทิศแล้วไม่สามารถบินเข้าเส้นทางหลักนั้นได้ ก็จะบินต่อลงใต้มาเรื่อยๆ จึงพบเห็นว่าบินผ่านเขาเรดาร์ เขาดินสอ ไปจนถึงประเทศสิงคโปร์ ส่วนใหญ่เจ้าตีนแดงที่พลัดจากฝูงนี้จะเป็นเหยี่ยววัยเด็ก หรือเหยี่ยวเต็มวัยเพศเมีย แต่เมื่อปีกลาย พ.ศ.2560 กลับพบเหยี่ยวตีนแดงฝูงเล็กๆ จำนวน 3 ตัว ผ่านเขาเรดาร์ มีเหยี่ยวเพศผู้ปนอยู่ด้วย นับเป็นครั้งแรกของภาคใต้ที่มีรายงานพบเหยี่ยวตีนแดงเพศผู้

Advertisement

ปีนี้มีรายงานพบเหยี่ยวตีนแดงฝูงอพยพที่ดอยสะโง้ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย แล้วเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2561 จำนวน 28 ตัว ในอดีตจะพบเหยี่ยวตีนแดงผ่านภาคใต้ในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม เป็นต้นไป ดังนั้น ปลายฤดูเหยี่ยวอพยพเช่นนี้ นอกจากทัพใหญ่ของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำที่จะแสดงปรากฏการณ์ “สายธารเหยี่ยวอพยพ” แล้ว การดูเหยี่ยวอพยพที่เขาเรดาร์ หรือเขาดินสอ ในช่วงนี้ยังมีลุ้นเหยี่ยวและนกอินทรีเทพอีกหลายชนิด อาทิ เหยี่ยวตีนแดง เหยี่ยวนิ้วสั้น นกอินทรีแถบปีกดำ

ซึ่งตลอดฤดูกาล จะพบจำนวนน้อย เป็นพวก “หยิบมือเดียว” แต่เปี่ยมคุณภาพ เพราะพบเห็นยากครับ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image