คอลัมน์อาศรมมิวสิก : วงออเคสตราจากเกาหลีและจีน วัฒนธรรมเดินทางข้ามโลกเร็วกว่าที่คิด : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

แม้ว่า “เบลา บาร์ท็อค” (Bela Bartok) นักแต่งเพลงผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 20 จะเคยเอ่ยวลีทองอันควรค่าแก่การเอ่ยอ้างได้อย่างคมคายว่า “ดนตรีไม่ใช่ม้า ดนตรีมิได้มีไว้สำหรับการแข่งขัน” ซึ่งการแข่งขันทางดนตรีนั้นบ่อยครั้งก็กลับกลายเป็นความทรงจำอันเลวร้ายของศิลปินดนตรีหลายต่อหลายคน (ทั้งศิลปินผู้ยิ่งใหญ่และไม่ยิ่งใหญ่) แต่อย่างไรก็ตามในการแสดงดนตรีในเทศกาลต่างๆ ที่มีการแสดงของวงดนตรีหลายๆ วง หรือโดยศิลปินดนตรีหลายๆ คน ก็มักจะเกิดปรากฏการณ์ “การประชันโดยไม่ได้ตั้งใจ” ได้เสมอๆ

ดนตรีเป็นเรื่องการสำแดงฝีมือ (หรือระดับทางความคิด) จึงถูกประเมินเปรียบเทียบจากผู้ชมได้ตลอดเวลาโดยไม่จำเป็นต้องตั้งคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิใดๆ ขึ้นมา ผู้ชม,ผู้รักดนตรีธรรมดาๆ นี่แหละจะประเมินคุณค่าศิลปินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และงานมหกรรมศิลปะการแสดงและดนตรีนานาชาติครั้งที่ 20 ประจำปี 2561 ณ หอประชุมใหญ่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ที่เพิ่งจบสิ้นลงไปนี้ จึงเกิดการประชันโดยไม่ตั้งใจโดยวงซิมโฟนีออเคสตรา 3 วง ที่น่ากล่าวถึงเป็นอย่างยิ่ง

ในบทความครั้งที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงการบรรเลงของวงซิมโฟนีออเคสตรา “Teatro di san Carlo” ภายใต้การอำนวยเพลงโดยวาทยกรระดับโลกดาวค้างฟ้า “สุบิน เมห์ทา” (Zubin Mehta) ไปแล้ว ไม่กี่วันถัดมาวงซิมโฟนีออเคสตราแห่งชาติเกาหลี (Korean Symphony Orchestra) ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “ชี-ยอง ชุง” (Chi-Yong Chung) ก็มาเปิดการแสดงในเทศกาลเดียวกันในค่ำวันจันทร์ที่ 24 กันยายน 2561

“การประชันโดยไม่จงใจ” จึงเกิดขึ้น ณ จุดนี้

Advertisement

เพียงแค่การทยอยเดินออกมาจากด้านหลังเวที ก็บ่งบอกอะไรๆ ที่น่าสังเกตได้หลายอย่าง อาทิ พวกเขาเป็นวงดนตรี “หัวดำ” ทั้งวง ไม่มีหัวหงอก, ไม่มีหัวสีทอง (ตาน้ำข้าว) เข้ามาปะปนแม้แต่คนเดียว จากการประเมินด้วยสายตาแล้ว ทั้งวงนี้อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน โดยเฉลี่ยน่าจะอายุราว 30 ต้นๆ ถึง 30 กลางๆ ราวกับเพิ่งจะถอดป้าย “วงเยาวชน” ออกมาหมาดๆ แต่ทว่าในทันทีที่เสียงเพลงซิมโฟนิคโพเอ็ม “Die Moldau” ของ สเมทานา (Bedrich Smetana) ดังขึ้นเราก็สัมผัสได้ถึงความฟิตพร้อมของนักดนตรีหนุ่ม-สาวกลุ่มนี้

ความสดใสเปี่ยมด้วยประกายไฟแห่งความหวังทางดนตรีอันรุ่งโรจน์บรรจุอยู่เต็มเปี่ยมในน้ำเสียงดนตรีของพวกเขา ซิมโฟนิคโพเอ็มบทนี้ทำหน้าที่เสมือนบทโหมโรง (Overture) ที่เปิดตัวสร้างแรงศรัทธาให้กับผู้ชมได้ไม่น้อยทีเดียว

“จียอง มุน” (Jiyeong Mun) ศิลปินเดี่ยวเปียโนสาวเกาหลีในชุดสีแดงสด เธอมาร่วมบรรเลงเดี่ยวเปียโนคอนแชร์โตของ “เอ็ดเวิร์ด กรีก” (Edward Grieg) มันคือการสาธิตการบรรเลงโรแมนติกคอนแชร์โตที่สูงด้วยการศึกษาและรสนิยมอย่างแท้จริง เราไม่อาจชมเชยพลังทางดนตรีของเธอด้วยคำพูดง่ายๆ เพียงแค่ว่า “พลังโสม” ได้ เพราะเธอไม่ใช่พลังโสมที่ร้อนแรง (ตื้นเขิน) หากแต่เธอคือศิลปินผู้ละเมียดแบบโลกสากล เลยขั้นความคิดที่จะมาโอ้อวดพลังนิ้ว, พลังแขนใดๆ อีกแล้ว สิ่งที่ต้องสำแดงคือความคิดทางดนตรีและศิลปะ วง Korean S.O.กับวาทยกร “ชี-ยอง ชุง” บรรเลงร่วมได้อย่างแสนจะคลาสสิก การเปล่งเสียงดนตรี (Articulation) ที่เรียบร้อย, งดงาม, ใสสะอาด ศิลปินเปียโนสาวผู้นี้เธอบรรเลงมันละเมียดละไมราวกับเป็นเชมเบอร์มิวสิกแบบ “เปียโนควินเต็ท” (Piano Quintet) ที่ไม่ใช่คอนแชร์โต ไม่ตกหลุมพรางแห่งการกระแทกกระทั้นที่สกอร์ดนตรีเขียนเปิดทางไว้ให้ (และศิลปินเดี่ยวหลายคนก็อาจเลือกหนทางอันโลดโผนนั้น) หูของเธอจดจ่ออยู่กับน้ำเสียงของวงออเคสตราโดยตลอด และนิ้วมือทั้งสิบของเธอก็ปั้นน้ำเสียงเปียโนให้ละเมียด, กลมกลืนไปกับน้ำเสียงของวงออเคสตราอย่างไม่ลดละ

มันคือศิลปะการบรรเลงดนตรีร่วมกัน (แบบที่เรียกว่า “Ensemble”) แบบปรัชญาความคิดของดนตรีซิมโฟนิคที่เธอแสดงให้ประจักษ์ในครั้งนี้

ซิมโฟนีหมายเลข 1 ของบรามส์ (Johannes Brahms) ที่เลือกมาปิดท้ายรายการในคืนวันนั้น คือประสบการณ์ดนตรีซิมโฟนีครั้งสำคัญอีกครา นี่อาจไม่ใช่ซิมโฟนีหมายเลข 1 ที่ดีที่สุดในชีวิต เพราะชีวิตเรายังไม่สิ้นสุดลง หากแต่มันคือ “หนึ่งในประสบการณ์ฟังของจริงที่ดีที่สุด” (One of The Bests) อย่างแน่นอน ช่วงท่อนนำ (Introduction) ที่เปิดการบรรเลงด้วยจังหวะความเร็วปานกลาง พอเหมาะพอดี แสดงลักษณะครุ่นคิดภายใน (Introspective) ที่สัมผัสได้ชัดเจน การส่งเข้า “Exposition” (การเปิดแนวทำนองหลัก) ที่เปลี่ยนจังหวะเร็วทันทีอย่างแตกต่าง วาทยกรเลือกการบรรเลงแบบย้อนซ้ำทำนองหลัก (Exposition Repeat) ที่เราไม่ค่อยพบเห็นบ่อยนักในบทเพลงนี้

ส่วนพัฒนาทำนองหลัก (Development) ที่เน้นความเชื่อว่าบรามส์เป็นคนคิดใหญ่โตทางดนตรี เป็นการบรรเลงที่ไม่ทำให้ดนตรีของบรามส์สะอาดเกินไป หรือคลาสสิกเกินเหตุ ในท่อนช้า (Andante) นั้น ปี่โอโบ (Oboe) บรรเลงด้วยน้ำเสียงที่งดงาม, ใหญ่ก้องกังวานราวกับเป็นการบรรเลงเดี่ยวเพลงคอนแชร์โต บุคลิกภาพทางดนตรีที่ล่องลอยโดดเด่น แบบที่เรามักรู้ๆ กันดีว่าปี่โอโบคือหนึ่งในเครื่องดนตรีที่มีผลอย่างสูงต่อทิศทางการบรรเลงของวงออเคสตรา และก็ยิ่งน่าประหลาดใจขึ้นอีกเพราะนี่เป็นน้ำเสียงจากนักเป่าโอโบสาวเพศหญิง เสียงเดี่ยวไวโอลินโดยหัวหน้าวง (Leader) ในตอนท้ายไม่มีอะไรที่น่าจะพูดถึงในทางลบ

เขาคือผู้เหมาะสมคู่ควรกับตำแหน่งนี้โดยสมบูรณ์เสียงเดี่ยวไวโอลินที่ทั้งทรงพลัง, โดดเด่น ชี้นำทิศทางดนตรีที่ชัดเจนมันคือวิญญาณสำคัญของตำแหน่งหัวหน้าวงอย่างแท้จริง

ในภาพรวมแล้วมันเป็นการบรรเลงดนตรีของบรามส์ที่เต็มไปด้วยพลัง, ความงดงาม, สมดุลและความกลมกลืน ด้วยความเชื่อของพวกเขาที่ว่าบรามส์มิใช่ต้องการแสดงออกเพียงแค่คำว่า รสนิยมอันดี,แบบแผนอันเคร่งครัดแบบคลาสสิก (ที่เรามักได้ยินได้ฟังกันมามาก) หากแต่บรามส์ก็ยังเป็นศิลปินที่มีเลือดเนื้อ, อารมณ์, ความรู้สึก เฉกเช่นมนุษย์และศิลปินทั้งหลายที่เต็มไปด้วยความปรารถนาอันแรงกล้า (Passion) ในหัวใจ พลังดนตรีและพลังชีวิตที่เขาต้องการจะมอบให้พวกเราด้วยเช่นกัน

“หางโจวฟิลฮาร์โมนิก” (Hangzhou Philharmonic Orchestra) อาคันตุกะ ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในห้าพยัคฆ์ดุริยางค์ที่ดีที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีนในปัจจุบัน พวกเขามาเปิดการแสดงในวันจันทร์ที่ 1 ตุลาคม 2561 ภายใต้การอำนวยเพลงโดย “หยาง หยาง” (Yang Yang) ภาพของบรรดานักดนตรีหนุ่ม-สาวที่เดินออกจากด้านหลังเวที ยังคงบ่งบอกนัยหลายประการ พวกเขาอยู่ในวัยราว 30-50 ปี ไม่มีคนแก่, ไม่มีฝรั่งผมทอง-ตาน้ำข้าวเข้ามาปะปนแม้แต่คนเดียว (เช่นเดียวกับวง Korean S.O.) บทเพลงโหมโรงจากอุปรากรเรื่อง “Rienzi” ของวากเนอร์ (Richard Wagner) เริ่มบ่งบอกถึงความเนี้ยบและสวยงามในลีลา เปี่ยมด้วยระเบียบวินัยที่สูง แต่ไม่แข็งกระด้าง กลุ่มเครื่องสายที่นำเสนอแนวทำนองใจความสำคัญนั้น แทบจะไม่เกินเลยที่จะกล่าวว่าราวกับลอยมาจากสรวงสวรรค์

พวกเขามีน้ำเสียงวงออเคสตราที่เป็นแบบ “สากล” ที่มิได้บ่งบอกถึงภูมิภาค, เขตแดนที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น

บทเพลงไวโอลินคอนแชร์โตหมายเลข 1 ผลงานของ “จีปิง เชา” (Jiping Zhao) นักประพันธ์ดนตรีร่วมสมัยชาวจีน ที่ทางวง HPO เลือกมา มีแนวทำนองที่ชัดเจน (Tuneful), โครงสร้าง-ฉันทลักษณ์ในลักษณะโซนาตา (Sonata Form) ที่พอจับต้องสัมผัสได้แม้จะได้ฟังเพียงครั้งแรก การเขียนแนวทำนองที่เหมาะกับแนวทางการแสดงออกโดยธรรมชาติของไวโอลิน (แบบที่เรียกกันว่า “Violinistic”) เรียกได้ว่าเป็นบทเพลงคลาสสิกร่วมสมัยที่มีความงดงามกอปรด้วยตรรกะในเชิงโครงสร้างเหตุผล, มีสมดุลทางศิลปะดนตรี จัดเป็นผลงานที่เกิดความประทับใจและตราตรึงอยู่ในความทรงจำได้อย่างไม่ยากเย็นแม้จะได้ฟังเพียงครั้งแรก

นี่แหละคือโจทย์หลักของการประพันธ์ดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยชิ้นใหม่ๆ ขึ้นมา (ผลงานที่ต้องพยายาม “แจ้งเกิด” ให้ได้ในทันทีแม้จะได้ฟังเพียงครั้งแรก!)

“หนิง เฟง” (Ning Feng) ศิลปินเดี่ยวไวโอลิน สวมชุดสีดำกึ่งลำลอง เขามีบุคลิกภาพที่ดูคล้ายปรมาจารย์กังฟู-มวยจีน หรือนักต่อสู้กำลังภายในบางอย่าง เสียงไวโอลินของเขาเป็นเสียงที่หวาน แต่เหนียวเข้ม (ไม่ใช่ “อ่อนหวาน”) มือขวาที่จับคันชักคล่องตัวราวกับนักเล่นซอเอ้อหู (Erhu) ที่สามารถใช้คันชักได้อย่างคล่องแคล่วคล้ายกับมันคืออวัยวะที่งอกออกมาจากร่างกาย เขามี “กำลังภายในทางดนตรี” ที่ล้นเหลือ ถ่ายทอดพลังดนตรีในตัวผลงานประพันธ์ออกมาสู่เราได้อย่างหมดจดเต็มอิ่ม เขาตบท้ายมอบเพลงแถมด้วยบทเพลง “Caprice No.24” ของ Niccolo Paganini ตอกย้ำรางวัลที่ 1 จากการแข่งขัน Paganini Competition ที่เขาเคยได้รับมา และยังแสดงให้เห็นชัดเจนว่าผู้ที่จะเล่นบทเพลงของปากานินีนั้น จะสมบูรณ์เพียง 100% ไม่ได้ คุณต้องมีความพร้อมราว150-200%

นั่นคือ คุณต้องมีพลังสำรอง หรือกำลังภายในนั่นเอง และ “หนิง เฟง” ก็ได้สำแดงให้เห็นถึงกำลังภายในของเขา มันคือกำลังภายในที่ได้รับการจัดสรรและนำออกมาใช้ได้อย่างมีทิศทางและเป็นระบบระเบียบ

ซิมโฟนีหมายเลข 5 ของ “กุสตาฟ มาห์เลอร์” (Gustav Mahler) ที่ทางวง HPO เลือกมาบรรเลงปิดท้ายในครั้งนี้นั้น มีมาตรฐานที่สูงแบบที่เรียกว่า “กินขาด” การแสดงของวงอิสราเอลฟิลฮาร์โมนิก (Israel Philharmonic Orchestra) ในเพลงเดียวกันนี้ ภายใต้การอำนวยเพลง โดยสุบิน เมห์ทา ณ สถานที่เดียวกันนี้เมื่อไม่กี่ปีก่อนทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นประจุพลังทางดนตรีอันร้อนแรงที่มาจากความจริงใจของศิลปินที่จะถ่ายทอดมาสู่ผู้ชม หรือการตีความที่มีทิศทางที่แน่นอนอีกทั้งสมาธิความเข้มข้นที่พวกเขาตั้งใจบรรเลงกันโดยตลอดทุกๆ พยางค์ตัวโน้ต วาทยกร หยาง หยาง ไม่ทำให้แนวทำนองหลักในท่อนแรกเป็นลักษณะเพลงแห่ศพ (Funeral March) แต่เขาปรับลักษณะการแสดงออกให้เป็นไปในเชิงสุขุมและคิดใคร่ครวญ นับเป็นแง่มุมการตีความที่แตกต่างและแสดงออกได้ชัดเจน

ในท่อนที่สองเป็นท่อนที่วาทยกรยอมให้เกิดการบรรเลงในลักษณะตะลุมบอนเกิดขึ้น (ตะลุมบอนในที่นี้มิได้แปลว่า “มั่ว”) ในท่อนที่ 3 นั้นเป็นท่อนที่ขอมอบดอกกุหลาบจากดวงใจให้กับความเป็นเลิศของวง HPO อย่างแท้จริงหัวหน้ากลุ่มฮอร์น (Horn) อวดฝีมือที่มีความเป็นเลิศในระดับที่เรียกว่าไปนั่งเล่นในวงชั้นนำของตะวันตกได้อย่างสบายๆ นับได้ว่า HPO เป็นวงที่มีฝีมือในระดับนานาชาติทีเดียว

และด้วยมาตรฐานที่พวกเขาได้แสดงให้เราประจักษ์ในครั้งนี้ เชื่อแน่ว่านี่จะเป็นวงที่สามารถไปร่วมบรรเลงในเวทีของโลกตะวันตกในฐานะทูตวัฒนธรรมได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

มหกรรมการแสดงดนตรีจบสิ้นลงแล้ว การประชันดนตรีแบบไม่จงใจจบสิ้นลงไปด้วย ผู้เขียนแอบสมมุติเหตุการณ์เล่นๆ ขึ้นมาในความคิดว่า ถ้าหากนักดนตรีหนุ่มๆ สาวๆ ในวงแห่งชาติเกาหลีและวง HPO ในครั้งนี้ได้รับทุนไปอบรมหรือศึกษาต่อในทางดนตรีที่อิตาลี และพวกเขาต้องไปเรียนกับครู-อาจารย์ที่เป็นนักดนตรีในวง Teatro di San Carlo ในชุดนี้เข้าล่ะ จะเกิดอะไรขึ้น? (ถ้าคิดด้วยความน่าจะเป็นที่ว่าคนหนุ่ม-สาวจากโลกตะวันออกต้องไปศึกษาดนตรีคลาสสิก
ตะวันตกในยุโรปหรืออเมริกา) คิดแล้วก็ต้องหยุด เพราะภาพในจินตนาการต่อจากนี้ไปคงมีแต่เรื่องราวความขัดแย้งเกิดขึ้นแน่ๆ

มาตรฐานการแสดงของวงออเคสตราจากยุโรปและเอเชียในงานมหกรรมครั้งนี้บ่งบอกอะไรบางอย่าง (แม้ไม่อาจใช้เป็นข้อสรุปได้) ภาพของนักดนตรีจากจีน, เกาหลี, ญี่ปุ่น ที่ไปนั่งอยู่ในวงระดับโลกทั้งในยุโรปและอเมริกาที่มีมากขึ้นๆ ภาพของวงออเคสตราจากเกาหลี, จีน (หรืออาจจะแม้แต่ญี่ปุ่น) ที่ใช้นักดนตรีหนุ่มๆ สาวๆ ในประเทศของตัวเองทั้งหมดโดยไม่ต้องพึ่งพาบรรดา “ฝรั่ง” เข้ามาปะปนอีกต่อไป และสามารถสร้างมาตรฐานการบรรเลงที่หากใช้แต่หูฟังล้วนๆ ก็ไม่อาจบ่งบอกถึงเชื้อชาติของผู้บรรเลงได้เลย

บทสรุปจึงน่าจะมาถึงจุดที่ว่า ดนตรีคลาสสิกเดินทางข้ามโลกเร็วกว่าที่คิดจริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image