คอลัมน์เริงโลกด้วยจิตรื่น : สู่วิถีโปร่งใจ : โดย จันทร์รอน

หากชีวิตปรารถนา “ความโปร่งใจ”

เมื่อชีวิตต้องเผชิญกับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง

ท่าทีของมนุษย์เราต่อสถานการณ์นั้นจะมี 2 แบบใหญ่คือ

หนึ่ง รับมือสถานการณ์นั้นด้วยความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง

Advertisement

สอง รับรู้ในสถานการณ์นั้นโดยยังไม่เริ่มที่จะคิดอะไร เป็นการรับรู้แบบแค่เห็นว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร แบบไหน

ในแบบที่หนึ่งนั้น ทันทีที่เผชิญกับเรื่องราวหนึ่งๆ ความคิดเกิดขึ้นก่อนแล้ว

ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นจากประสบการณ์ครั้งก่อนๆ ที่ประมวลออกมาว่าสถานการณ์แบบนี้จะต้องรับมือแบบนี้ หรือความคิดที่เกิดจากความรู้สึกชอบ ไม่ชอบ เกลียดชัง หรือรักใคร่ อิจฉา หรือชื่นชมยินดี

Advertisement

อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้เกิดขึ้นและนำให้เกิดความคิดว่าจะจัดการเรื่องราวนั้นให้เพื่อสนองอารมณ์อย่างไร

ความคิดทำให้เกิดการพูด และการลงมือจัดการให้เป็นไปอย่างที่คิด

การรับมือแบบนี้ผลที่ออกมาจะไม่คำนึงถึงว่าถูกหรือผิด เหมาะสมหรือไม่เหมาะสม แต่เป็นการตัดสินกันที่อารมณ์ความรู้สึกของตนหรือไม่ หรือหากจะถูกก็ถูกในความหมายที่ตัวเองให้ค่า เหมาะสมในทางที่ตัวเองพอใจ ไม่เกี่ยวกับความพอใจของคนอื่น หรือส่วนรวม

เป็นการจัดการไปตามความต้องการของอารมณ์ความรู้สึกที่มาครอบงำไว้แต่ต้น

ส่วนแบบที่สอง ไม่ได้เริ่มที่ความคิด แต่เริ่มที่การรับรู้ว่าเรื่องราวนั้นเป็นอย่างไร มีองค์ประกอบอย่างไร เห็นตามที่เป็นจริงก่อน

จากนั้นค่อยเริ่มที่จะใคร่ครวญว่าจะจัดการให้ผลเป็นแบบไหน และหากจะให้เป็นเช่นนั้น มีวิธีการอย่างไร จะต้องใช้อะไรบ้างในการทำให้เป็นเช่นนั้น เช่น ด้วยวิธีแบบนี้ใครถนัด และต้องมีเครื่องไม้เครื่องมืออย่างไรบ้าง

ผลที่ออกมาเป็นไปได้ทั้งประโยชน์กับตัวเอง หรือเป็นประโยชน์กับส่วนรวม

ถูกต้อง เหมาะสมตามเป้าหมายที่วางไว้ เป็นการจัดการโดยที่ไม่ให้อารมณ์ ความรู้สึกส่วนตัวมาครอบงำ

หากเห็นกระบวนการจัดการสถานการณ์ 2 แบบนี้ย่อมรู้สึกว่าการจัดการแบบที่สอง น่าจะดูรอบคอบและน่านำมาใช้มากกว่า

ทว่ากลับไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเลือกใช้การจัดการแบบที่สอง

เพราะเป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนที่จะจัดการตามความเคยชินที่สะสมมา

และคนเราส่วนใหญ่มีความเคยชินกับการถูกอารมณ์ความรู้สึกครอบงำ

ไม่สามารถเริ่มต้นด้วย “ใจโปร่ง” คือ “โล่งจากอารมณ์ความรู้สึกได้”

แม้จะตระหนักได้ว่า “การจัดการด้วยความคิดที่ถูกครอบงำด้วยความรู้สึก” นั้นทำให้ไม่เป็นอิสระ ส่งให้ผลที่เกิดขึ้นเบี่ยงเบนไปจากที่ควรจะเป็น

สนองความ “อยากให้เป็น” แทนที่จะไปในทางที่ “ควรจะเป็น”

แต่การบังคับตัวเองไม่ให้จัดการโดยถูกครอบงำนี้ เป็นเรื่องที่จะต้องฝึก
และฝึกอย่างจริงจัง จนถึงขั้นมีจิตที่พร้อมจะละทิ้งความเคยชินนั้นได้
แต่รู้ว่าควรจะเป็นอย่างไร

แค่คิดได้ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น อย่างนี้
ไม่พอ

จะต้องฝึกให้ตัวเองมีภาวะ “ใจโปร่ง”
และแน่วแน่จนสามารถเลือกได้ว่าจะใช้อะไรบ้าง จัดการกับเรื่องนั้นๆ ให้ได้ผลตามที่เห็นแล้วว่าควรจะเป็นอย่างไร ด้วยวิธีการแบบไหน

และนั่นจึงจะจัดการอย่าง “โปร่งใจ” ได้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image