เยือนบ้านอาจารย์ฝรั่ง “ศิลป์ พีระศรี” ยลงานศิลป์ระดับโลก ยินดนตรีในสวน ดื่มด่ำงานอาร์ตตลอดเหมันตฤดู

หลังจากกลุ่มลูกศิษย์อาจารย์ฝรั่ง “ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี” ค้นพบบ้านหลังแรกในไทยของอาจารย์ ก่อนช่วยกันรีโนเวตเป็นพิพิธภัณฑ์บอกเล่าชีวประวัติอาจารย์ศิลป์ที่ตั้งอยู่บนชั้น 2 ด้านล่างเปิดเป็นร้านกาแฟ “Craftsman” แลนด์มาร์กกลางเมืองแห่งใหม่ที่จะกลายเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของไทยในอนาคต

ตัวบ้านเป็นสไตล์วิคตอเรียนเรอเนซองส์ ฉาบด้วยสีเหลืองสวยเด่นเป็นสง่า ตั้งอยู่ในรั้วสำนักงานตรวจสอบภายในทหารบก ใกล้กับสะพานซังฮี้ ถนนราชวิถี

วงดนตรีจากโรงเรียนมัธยมสังคีตและมหาวิทยาลัยศิลปากรร่วมบรรเลงในงานนิทรรศการ “ลูกศิษย์คิดถึงอาจารย์” เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา

เปิดให้คนภายนอกเข้าชมแล้วนานนับปี พร้อมจัดกิจกรรมดีๆ โชว์ผลงานศิลปะอย่างต่อเนื่อง

ไม่นานมานี้ บ้านอาจารย์ฝรั่งเปิดพื้นที่ต้อนรับผู้ชื่นชอบงานศิลป์และสื่อมวลชน จัดงานแถลงข่าว นิทรรศการศิลปกรรมสีน้ำร่วมสมัยระดับโลก “Prototype” และ ศิลปะและดนตรีในสวน (Feroci Arte Musica) บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น

Advertisement

มากกว่า 100,000 คน คือยอดผู้เข้าชมงาน “นิทรรศการสีน้ำโลก” ตลอด 2 เดือน ซึ่งจัดโดยกระทรวงวัฒนธรรม เมื่อปี พ.ศ.2557

ตัวเลขกว่าหกหลักประจักษ์ชัดว่า ศิลปะสีน้ำอยู่ในจุดที่ศิลปะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้อย่างกว้างขวาง

การกลับมาของนิทรรศการสีน้ำโลกเป็นครั้งที่ 2 จึงใช้ชื่อว่า “Prototype” World Watercolor Art Exhibition 2018 in Bangkok โดยความร่วมมือระหว่างภัณฑารักษ์ระดับโลกและ

Advertisement

ภัณฑารักษ์ของประเทศไทย เฟ้นหาผลงานสีน้ำของศิลปินระดับโลกจากนานาประเทศกว่า 30 ชีวิต จัดแสดงที่บ้านอาจารย์ฝรั่ง ระหว่างวันที่ 3-30 พฤศจิกายนนี้

ศรัทธา หอมสวัสดิ์ หรือ LaFe ศิลปินสีน้ำชื่อดังระดับโลก มาพร้อม “ดอกกุหลาบ” ผลงานอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

“ศิลปะร่วมสมัยในยุโรปหรืออเมริกาเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1970 โดยยุคนั้นศิลปะมาถึงทางตัน สกุล ลัทธิ หรือปรัชญาทางความคิดต่างๆ มาถึงจุดที่ศิลปินสามารถครีเอตงานได้เอง สร้างสกุล ลัทธิ หรือสร้างนิยามทางสุนทรียศาสตร์ขึ้นเองได้ ดังนั้น ความหลากหลายตรงนี้ทำให้มีมากมายจนเรียกไม่ถูก จึงเรียกกันว่าศิลปะร่วมสมัย ใครทำงานศิลปะอะไรก็บอกว่าเป็นศิลปะร่วมสมัยหมด” 

คำอธิบาย “ศิลปะร่วมสมัย” จาก ศรัทธา หอมสวัสดิ์ หรือ ลาเฟ (LaFe) ศิลปินสีน้ำชื่อดังระดับโลก หนึ่งในศิลปินที่ร่วมจัดแสดงผลงาน

สำหรับ “สีน้ำ” แล้ว แม้ผิวเผินจะถูกมองเป็นแค่เทคนิคพื้นฐาน แต่ลาเฟย้ำว่า “เทคนิคพื้นฐานเป็นเรื่องสำคัญมาก” ศิลปินระดับโลก ทั้ง ปิกัสโซ แวนโก๊ะ รวมถึงโมเนต์ต่างดรออิงค์และเพนต์ได้แม่นยำมาก การครีเอตผลงานที่ประสบความสำเร็จตอนปลายล้วนมาจากพื้นฐานที่แข็งแกร่งตรงนี้ นี่เองเป็นสิ่งที่ลาเฟบอกว่า ศิลปินมักมองข้าม กลับมองเห็นโปรเซสที่ประสบความสำเร็จแล้วลอกเลียนแบบในลัทธิหรือวิธีการต่างๆ ไปจนหมด

ภาพวาดธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ ศิลปินใช้วิธีการวาดอย่างรวดเร็ว ผลงานของ Abe Toshiyukiz ชาวญี่ปุ่น
ร้าน Craftsman

“หากไปศึกษางานศิลปินที่มีชื่อเสียงในยุโรป คุณจะเห็นว่า เขาสร้างสรรค์งานจากแรงบันดาลใจที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว แต่ศิลปะบ้านเรามองแต่โปรเซสที่เสร็จแล้ว ศึกษา และมาทำต่อ ซึ่งฝรั่งใช้คำว่า ‘การทำเทียม’ ไม่ได้มาจากธรรมชาติจริงๆ

“ถ้าคุณจะเป็นมาสเตอร์ (Master) ของอาร์ติสต์ คุณต้องมาจากธรรมชาติจริงๆ” ลาเฟกล่าวย้ำ

ทำให้นิทรรศการสีน้ำโลกครั้งนี้มีชื่อว่า “โปรโตไทป์” อันมีรากฐานจากการศึกษาธรรมชาติ โดยลาเฟระบุว่า ทางแกลเลอรี่ 2 แห่งในฝั่งยุโรปบอกกับตนว่า อย่าใช้คำว่ามาสเตอร์เลย เพราะโปรโตไทป์กับมาสเตอร์คือคำเดียวกัน นั่นคือ เป็นงานต้นแบบให้ทุกคนศึกษา ซึ่งคำว่าต้นแบบให้ทุกคนศึกษานั้น ตามความหมายคือ อยากให้ทุกคนเห็นและตระหนักถึงต้นแบบของการทำงานศิลปะที่มาจากการศึกษาธรรมชาติ ไม่ใช่กระบวนการเรียนรู้ใดๆ ทั้งสิ้น

ตัวอย่างผลงานของ Stanislaw Zoladz

“ส่วนคำว่ามาสเตอร์ตอนนี้เกร่อมาก ใครทำงานศิลปะก็จะเป็นมาสเตอร์อย่างเดียว โดยไม่รู้ว่าความจริงคืออะไร จึงอยากให้คำว่าไฮโปรโตไทป์ (High Prototype) เป็นคำใหม่ เพื่อให้ทุกคนเห็นว่ามาสเตอร์คืออะไรกันแน่”

ด้านศิลปินที่ร่วมแสดงผลงาน อาทิ Ali abbae syed จากปากีสถาน, Abe Toshiyukiz จากญี่ปุ่น, Angus McEwan จากสกอตแลนด์, David Poxon จากอังกฤษ, Emilio Cardenas จากสเปน, Igor Sava จากอิตาลี, Jansen Chow จากมาเลเซีย, Liu yi จากจีน, Konstantin Sterkhov จากรัสเซีย, Milan Tucovic จากเซอร์เบีย, Nicolas Lopez จากเปรู, Ong Kim Seng จากสิงคโปร์, Richard Thorn จากสหราชอาณาจักร, ศรัทธา หอมสวัสดิ์ หรือ LaFe จากไทย

วันนั้น ลาเฟหยิบงานศิลปะสีน้ำมาทั้งหมด 3 ชิ้นเพื่อเป็นน้ำจิ้ม และ “กุหลาบสีแดงดอกใหญ่” คือผลงานของเขา

แน่นอน นั่นไม่ใช่ชื่อผลงาน แต่เป็นความสะดุดตาที่ผู้ชมสามารถรับรู้ได้ ที่สำคัญคือ ดอกกุหลาบดังกล่าวเสมือนส่งกลิ่นหอมฟุ้งทะลุกรอบรูป จุดสัมผัสโดดเด่นที่แฝงอยู่ในผลงานลาเฟ

ภาพหญิงชาวอินเดีย ผลงานจากศิลปินชาติเดียวกัน “Rajkumar Sthabathy”

ถัดมาเป็นภาพหญิงชราชาวอินเดีย ผลงานจากศิลปินชาติเดียวกัน “Rajkumar Sthabathy” ผู้มีแรงบันดาลใจจากวิถีชีวิตคนอินเดียทั้งบนท้องถนนหรือในสิ่งแวดล้อมอื่นๆ อีกภาพเป็นของ “Abe Toshiyukiz” ศิลปินชาวญี่ปุ่น ผู้ถ่ายทอดธรรมชาติผ่านแสง เงา สีได้อย่างแม่นยำ ซึ่งลาเฟตั้งข้อสังเกตว่า อาเบะน่าจะวาดด้วยความรวดเร็ว เต็มไปด้วยประสบการณ์และแรงบันดาลใจดูแล้วไม่ขัดเขิน

“มีหนึ่งชิ้นที่อยากโชว์มาก ของศิลปินชาวสวีเดนชื่อ Stanislaw Zoladz กำลังโด่งดังมากในจีน ภัณฑารักษ์ซื้อไปสะสมเยอะมาก เขาเคยนำผลงานมาโชว์ที่ไทยและขายในราคาไม่สูง ศิลปินคนนี้ถือเป็นไฮไลต์ของงาน ใครเห็นงานของเขาคงทึ่งว่าเขียนหิน เขียนน้ำได้เป็นธรรมชาติมากๆ แน่นอนว่างานชิ้นนี้จะมาโชว์วันงานทีเดียว” ลาเฟทิ้งท้าย

ด้าน นิวัติ มหาบุณย์ ผู้จัดการโครงการศิลปะบ้านอาจารย์ฝรั่ง และประธานกลุ่มศิลปาศรี กล่าวว่า จากที่คุยกับศรัทธามาหลายเดือน เพื่อตกผลึกให้ได้ว่าจะนำเสนออะไรสู่ประเทศไทย สุดท้ายจบที่คำว่าสแตนดาร์ด เราอยากเริ่มมาตรฐานใหม่ภายใต้ร่มเงาของอาจารย์ศิลป์ หากเราขึ้นทางด่วนด้วยรถม้าคงทำไม่ได้ ต้องเป็นรถเหมือนกับเขา และถ้าเป็นสปอร์ตคาร์คงวิ่งได้เร็วกว่า

“แต่บนทางด่วนของโลก บนทางด่วนของธุรกิจศิลปะ เราต้องมีมาตรฐานเหมือนเขา ถ้าเรามีมาตรฐานแล้วงานก็ไปถึงระดับโลกได้ รู้ว่างานตรงไหนควรเก็บ ศิลปินคนไหนมีแนวโน้มที่ดี จึงช่วยกันทำขึ้นมา เราพยายามเสาะหาศิลปินและฝากผลงานไว้กับประเทศไทย”

และอีกหนึ่งงานซึ่งจัดในเวลาคาบเกี่ยวกับนิทรรศการสีน้ำโลกนั่นคือ “งานศิลปะและดนตรีในสวน (Feroci Arte Musica)” งานที่จะชวนผู้ชมร่วมดื่มด่ำงานอาร์ตครบทุกมิติ

ศุภกิจ สุทธิพิทักษ์

ศุภกิจ สุทธิพิทักษ์ ผู้ดูแลโครงการศิลปะและดนตรีในสวนกล่าวว่า หลังจากบ้านอาจารย์ฝรั่งเปิดพื้นที่จัดงานต่อเนื่อง เราควรปล่อยให้ผ่อนคลายและจัดงานที่เปิดกว้างขึ้น นั่นคือ งานป๊อปอาร์ต มากขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงจังหวะที่สภาพอากาศบ้านเราเริ่มเย็นสบาย เราคิดถึงการแสดง หรือการทำให้คนที่มาบ้านนี้มีปฏิสัมพันธ์กัน พูดจากันได้แม้ไม่รู้จักกันมาก่อน เชื่อว่าคนที่มีจิตใจ มีความชอบเหมือนกันจะสื่อถึงกันได้ง่ายและเร็ว ขณะเดียวกันคอนเซ็ปต์ของบ้านต้องยังอยู่

“จุดเริ่มต้นจึงเริ่มจากการชวนเพื่อนมาดื่มที่บ้าน เริ่มจากการไม่หวังกำไรหรือค่าตอบแทนใดๆ พร้อมกับการที่บ้านต้องอยู่ได้ เลี้ยงตัวเองได้ และไม่เดือดร้อน แต่การขอสปอนเซอร์เพื่องานสังสรรค์ เรามองว่าไม่เหมาะ ยิ่งเป็นบ้านอาจารย์ยิ่งไม่เหมาะ จึงคิดหาทางให้ผู้ร่วมงานกับเราไม่เดือดร้อน ยังยิ้มได้ แม้จะมีกำไรไม่มากนัก”

เมื่อทุกอย่างลงตัว งานศิลปะและดนตรีในสวนจึงพร้อมจัดแล้วในวันเสาร์ที่ 17 พฤศจิกายน 2561 ถึงวันเสาร์ที่ 12 มกราคม 2562 ทำการแสดงเฉพาะวันเสาร์ ไม่เว้นว่างหรือกระโดดข้ามอาทิตย์ใดอาทิตย์หนึ่ง ที่สำคัญคือจำกัดผู้ชม 100 ท่านต่อ 1 การแสดงเท่านั้น

ค่าเข้าชม 1,000 บาทต่อ 1 ท่าน มาพร้อมของที่ระลึกและเครื่องดื่ม 2 ดริงก์ สำหรับผู้ที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์สามารถเก็บคูปองแลกเครื่องดื่มในร้าน Craftsman ได้เช่นกัน

วง The Isn’t หนึ่งในศิลปินที่จะร่วมแสดงงานศิลปะและดนตรีในสวน

ศิลปินที่ร่วมแสดง อาทิ วง Cha-Bah, วง Captain Loma, วง The Isn’t, วง The Old School, วง Tee-Off

ผู้สนใจสามารถซื้อบัตรได้ที่ 09-5969-6519, 09-0972-6098 และ 08-3433-3303 หรือไลน์ไอดี 08-5055-8511 สำรองบัตรได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

พร้อมดื่มด่ำงานอาร์ตท่ามกลางฤดูหนาว ณ บ้านอาจารย์ฝรั่ง แล้วหรือยัง?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image