คอลัมน์ อาศรมมิวสิก : เครื่องดนตรีของโรงเรียนรัฐ คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ : โดย สุกรี เจริญสุข

เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2561 ผู้เขียนได้รับเชิญให้ไปพูดกับครูสอนดนตรีในพื้นที่ภาคเหนือที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยพายัพ เชียงใหม่ จัดโดยโรงเรียนดนตรีสยามกลการ เชียงใหม่ ซึ่งมีเวลาพูดกับครูที่สอนดนตรีราว 3 ชั่วโมง มีครูดนตรีเข้าร่วมประมาณ 120 คน ครูดนตรีส่วนใหญ่เป็นครูดนตรีในโรงเรียนประถมศึกษา ครูในโรงเรียนมัธยมศึกษา และครูสอนดนตรีในสถาบันอุดมศึกษา

ในชั่วโมงแรก ได้ขออนุญาตคุยเรื่องวิชาการก่อนว่า จะพัฒนาศักยภาพของครูดนตรีให้ทันกับโลกสมัยใหม่ได้อย่างไร ส่วนชั่วโมงที่ 2-3 ได้เปิดโอกาสให้ครูดนตรีซักถามปัญหา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ทั้งนี้ ได้สะท้อนปัญหาความเป็นจริงและสภาพของครูดนตรีในพื้นที่ภาคเหนือ

ครูดนตรีส่วนใหญ่บ่นและรำพึงรำพันถึงปัญหาของการเรียนการสอนที่พบในชีวิตประจำวันในโรงเรียน โดยเฉพาะครูดนตรีที่เป็นพนักงานและเป็นข้าราชการของรัฐ ปัญหาเรื่องหลักสูตรดนตรี ไม่มีชั่วโมงดนตรี ปัญหาของผู้บริหารที่ไม่เข้าใจธรรมชาติในการสอนวิชาดนตรี ปัญหาของห้องเรียนดนตรีที่ไม่เก็บเสียง ปัญหาเรื่องเครื่องดนตรีและการซื้อเครื่องดนตรีที่มีคุณภาพต่ำ เป็นต้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้มีมานานแล้ว เมื่อ 30 ปีก่อนมีปัญหาอย่างไร ปัจจุบันก็ยังมีปัญหาอย่างนั้นอยู่ แม้วันเวลาเปลี่ยนไปแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่ได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนาแต่อย่างใด ดนตรีเป็นวิชาที่ได้รับการพัฒนาช้ามาก หากเปรียบเทียบกับวิชาอื่นในเวลาเดียวกัน และถ้าจะเปรียบเทียบกับการศึกษาดนตรีในโรงเรียนสิงคโปร์แล้ว การศึกษาดนตรีในโรงเรียนไทย ยังห่างไกลกับสิงคโปร์อยู่ร่วม 50 ปี ซึ่งห่างกันมาก

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

Advertisement

ปัญหาที่ครูรำพึงรำพันมากที่สุดก็คือ การซื้อเครื่องดนตรีคุณภาพต่ำ แม้จะมีงบประมาณในการซื้อเครื่องดนตรีก็ตาม แต่ก็ได้เครื่องดนตรีที่มีคุณภาพต่ำมาใช้สอนเด็ก เครื่องดนตรีในโรงเรียนมีไม่พอที่จะใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งมีข้อสังเกตว่า ปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาเรื้อรังในโรงเรียนของรัฐ ส่วนในโรงเรียนเอกชนนั้น ไม่มีปัญหาเรื่องเครื่องดนตรีหรือการซื้อเครื่องดนตรีแต่อย่างใด แต่โรงเรียนเอกชนจะมีปัญหาเมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารของโรงเรียน ซึ่งความแตกต่างอยู่ที่ผู้บริหารคือ ผู้บริหารที่ชอบดนตรี กับผู้บริหารที่ไม่ชอบดนตรี

เมื่อโรงเรียนเอกชนขึ้นอยู่กับผู้บริหาร กิจกรรมดนตรีก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหาร งบประมาณก็อยู่ที่ผู้บริหาร ดนตรีซึ่งเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร ก็ทำให้ดนตรีไปขึ้นอยู่กับความชอบและความไม่ชอบของผู้บริหารที่จะให้การสนับสนุนกิจกรรมดนตรีหรือไม่ หากท่านผู้บริหารชอบดนตรีก็สามารถดำเนินกิจกรรมดนตรีไปได้อย่างรุ่งเรือง แต่ถ้าหากท่านผู้บริหารไม่ชอบวิชาดนตรี การสอนดนตรีและวงดนตรีในโรงเรียนก็พลอยดับไปด้วย

ความแข็งแรงของโรงเรียนเอกชนนั้น มีการเรียนการสอนดนตรีที่เข้มแข็งกว่าโรงเรียนของรัฐ ยกเว้นในโรงเรียนของรัฐที่มีครูดนตรี “รุ่นเก๋า” และสามารถที่จะปรับตัวอยู่ในระบบของรัฐได้ โรงเรียนของรัฐก็จะมีครูเก๋าที่ช่วยพัฒนาการศึกษาดนตรีในโรงเรียนอยู่ได้ระยะหนึ่ง เพราะผู้บริหารโรงเรียนเกรงใจครูดนตรีรุ่นเก๋า เมื่อมีครูดนตรีเอาจริงเอาจัง กิจกรรมการศึกษาดนตรีก็ยังพอดำเนินต่อไปได้

Advertisement

การพัฒนาศักยภาพครูดนตรีนั้นเป็นเรื่องที่น่าเศร้ามาก เพราะครูดนตรีของรัฐส่วนใหญ่กลายเป็นครูที่หมดไฟแล้ว สำหรับครูที่หมดไฟนั้น มีลักษณะเป็นครูหมดแรง หมดความรู้สึกที่ดี หมดความปรารถนาดี มองโลกในแง่ร้าย หมดการค้นคว้าหาความรู้ หมดความคิดสร้างสรรค์ ได้แต่อยู่ไปวันๆ รอวันเกษียณจากราชการ ครูดนตรีที่หมดไฟมีชีวิตที่ไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว (ตายไปจากปัจจุบัน) ไม่มีอนาคต ในระหว่างที่รอเวลาเกษียณก็จะกลายเป็นครูที่มีปัญหา คอยสร้างปัญหาให้กับองค์กร และไม่สามารถพัฒนาการศึกษาดนตรีได้

สำหรับครูดนตรีที่มีปัญหา ก็จะมีวิถีชีวิตอยู่กับปัญหา นอนฝันเห็นปัญหา อาศัยอยู่กับปัญหา คิดถึงแต่ปัญหา ให้อาหารให้น้ำปัญหา ใส่ปุ๋ยให้ปัญหา ซึ่งปัญหาก็เจริญเติบโตมากขึ้น เพราะมีครูดนตรีคอยให้การสนับสนุนปัญหาอย่างจริงจัง เด็กนักเรียนก็พลอยหมดโอกาสที่จะเรียนดนตรีในโรงเรียน

ครูดนตรีจะพกพาปัญหาติดตัวไปทุกๆ ที่ หากมีการประชุมสัมมนาดนตรีที่ไหนก็จะมีครูหมดไฟที่นั่น

คุณสมบัติของครูหมดไฟ เป็นครูที่คิดการใหญ่ แต่ก็ทำอะไรไม่สำเร็จ ครูหมดไฟจะโทษคนอื่นเสมอคิดได้แล้วคาดหวังให้คนอื่นทำให้ ครูหมดไฟเป็นคนที่ดีแต่พูด บ่นและรำพึงรำพัน ทำงานไม่สำเร็จ ร่วมงานกับใครก็ไม่ได้ ครูหมดไฟจะเอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่น ครูหมดไฟนั้นมีความสามารถในการปั้นน้ำเป็นตัว ใส่ร้ายป้ายสี ขี้โม้ ครูหมดไฟตกในสภาพอยู่ตามยถากรรม

โดยธรรมชาตินั้น ครูหมดไฟเป็นครูดนตรีที่เคยเก่งและเคยมีความสามารถมาก่อน เมื่อผิดหวังมากขึ้น ทำอะไรไม่ได้ดั่งใจ ก็จะเริ่มทะเลาะกับผู้บริหาร เพราะเชื่อว่าตัวเก่งที่สุด บ่อยครั้งครูดนตรีที่หมดไฟได้เปลี่ยนความสามารถกลายเป็นผู้ต่อต้าน เปลี่ยนการใช้ปัญญาเป็นผู้สร้างปัญหา เมื่อพอมีไฟอยู่บ้างก็เอาไฟเผาตัวเองและเผาคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัว ครูหมดไฟจึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาวิชาดนตรีในโรงเรียน

สำหรับข้อมูลในการซื้อขายเครื่องดนตรีในประเทศไทยนั้น รวมๆ กันแล้ว มีการซื้อขายเครื่องดนตรีประมาณปีละ 5 พันล้านบาท ซึ่งเป็นธุรกิจใหญ่โตพอสมควร หากจะคำนวณว่าในระยะ 10 ปีที่ผ่านมานั้น ประเทศไทยใช้งบประมาณซื้อเครื่องดนตรีไปแล้วถึง 5 หมื่นล้านบาท แค่ดูจากงบเงินซื้อเครื่องดนตรีก็เชื่อว่าการศึกษาดนตรีในประเทศไทยน่าจะเจริญมากทีเดียว ซึ่งแค่ดูจากงบประมาณ (ตัวเลข) ก็น่าตกใจแล้ว แต่ที่น่าตกใจมากกว่านั้นก็คือ การศึกษาดนตรีของเด็กไทยยังคงล้าหลัง อยู่ในกลุ่มประเทศด้อยพัฒนา

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยก็ไม่สามารถที่จะผลิตเครื่องดนตรีอะไรได้เลย โดยเฉพาะเครื่องดนตรีสากล ต้องซื้อและนำเข้าเครื่องดนตรีจากต่างประเทศทั้งสิ้น ถ้าได้เห็นเครื่องที่ได้ลงทุนซื้อไปแล้วในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้เห็นซากเครื่องดนตรีแล้วก็จะช็อก สังเวชและสมเพชการศึกษาดนตรีของโรงเรียนไทย ทำไมเป็นไปได้ถึงเพียงนี้

ครูดนตรีที่หมดไฟกลายเป็นโรคร้ายที่เกาะกินครูดนตรี เกาะกินการศึกษาไทย เป็นความสูญเปล่าทางการศึกษา เป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า เครื่องดนตรีที่ไม่มีคุณภาพก็เสื่อมราคา ซึ่งทั้งหมดเป็นความสูญเปล่าของการศึกษาไทยทั้งสิ้น ไม่รู้ว่าจะไปโทษใคร นอกจากจะโทษคนไทยทั้งประเทศ ที่ปล่อยให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นในโรงเรียนและระบบการศึกษาของไทย

“สังคมเป็นอย่างไรก็เพราะการศึกษาในสังคมเป็นอย่างนั้น คนในสังคมเป็นอย่างไรก็เพราะสังคมให้การศึกษาเป็นอย่างนั้นด้วย”

ท่ามกลางความแตกต่างและหลากหลาย สังคมที่มีคุณภาพต่ำก็ดำเนินกิจกรรมแบบต่ำๆ กันต่อไป คนส่วนใหญ่ที่ต้องพึ่งการศึกษาที่จัดขึ้นโดยรัฐ ก็ไม่มีทางเลือก ถือเป็นความโชคร้ายของคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีโอกาสลืมตาอ้าปากได้ แม้จะผ่านการศึกษาก็ตาม ซึ่งเป็นระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้โดยคนไม่มีทางเลือก

แต่เมื่อมีความมืด ก็พอมีช่องทางที่สว่าง พอมองเห็นอนาคตอยู่บ้าง การเริ่มต้นทำงานในพื้นที่ที่เป็นปัญหา ก็มีโอกาสที่จะมองเห็นช่องทางผ่านปัญญา โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพ การพัฒนาศักยภาพความเป็นเลิศของ
มนุุษย์ผ่านการศึกษาดนตรี แม้จะยังทำไม่ได้เต็มกำลัง แต่ก็มองเห็นความเป็นไปได้ผ่านตัวอย่างที่ดีที่มีอยู่ในสังคมไทย เห็นโครงการที่ดีแม้จะไม่ต่อเนื่องเพราะอยู่ได้แค่ชั่วชีวิตคนคนหนึ่ง

การที่จะล้มระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทยก็คงยาก ชาวตะวันตกที่เข้ามาตั้งแต่สมัยอยุธยาและเข้ามาต้นรัตนโกสินทร์ ได้บันทึกเอาไว้ชัดเจนว่า อันชนชาวสยามนั้น มีอุปนิสัยขี้เกียจ ฉ้อฉล และคดโกง อุปนิสัยไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาได้ภายในชั่วอายุคน ต้องค่อยๆ เปลี่ยน โดยผ่านคนรุ่นต่อๆ ไป

แต่ปรากฏการณ์ของเพลงแร็พ “ประเทศกูมี” จัดทำขึ้นโดยคนรุ่นใหม่ ออกมาในสื่อเสนอต่อสังคมเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม เพียงระยะเวลาแค่ 10 วัน มีคนเข้าดูใน YouTube กว่า 21 ล้านครั้งเข้าไปแล้ว ซึ่งรวมทั้งคนที่ชอบและคนที่ชังด้วย แต่เป็นเพลงที่สะท้อนวิถีชีวิตไทยใหม่กับโลกเก่าในสังคมอุปถัมภ์ สังคมอำนาจ ความรู้สึกนึกคิดได้ปะทะกันอย่างแรง จากคนรุ่นใหม่ที่มีชีวิตแตกต่างออกไป ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงและได้เกิดขึ้นในสังคมไทยแล้วอย่างน่าสนใจยิ่ง บอกถึงความแตกต่างระหว่างคนต่างรุ่น คนรุ่นใหม่ที่มีความคิดถึงสังคมในส่วนรวม คนรุ่นใหม่มีศักยภาพความเป็นเลิศ ส่วนคนรุ่นเก่ามีอำนาจ มีขนบ และมีพรรคพวก

คนเขียนเพลง “ประเทศกูมี” น่าจะบรรจุเรื่องการซื้อเครื่องดนตรีเข้าไปด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image