เปลี่ยนตาบอดให้มองเห็น ‘บ้านแพ้ว’ ระดมทุน สร้างโรงพยาบาลจักษุ

เชื่อไหมว่า จักษุแพทย์ไทยผ่าตัดตาต้อกระจกใช้เวลาต่อคนไม่ถึง 10 นาที!

ทั้งนี้ เพื่อให้คนไข้ที่มารอคิวรับการผ่าตัดตาเป็นจำนวนมากในแต่ละวันได้รับการรักษาโดยเร็วที่สุด

สถานการณ์ผู้ป่วยโรคตาในปัจจุบันมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ต้องทนทุกข์กับภาวะตาบอด โดยเฉพาะผู้ป่วยในเขตชนบทของไทย ตัวเลขเมื่อปีล่าสุดมีผู้ป่วยที่ต้องทนทุกข์ด้วยภาวะตาบอดหนึ่งแสนกว่าราย สาเหตุหลักมาจากต้อกระจก แต่ระยะหลังยังมีจากภาวะอื่น เช่น จากต้อหิน จากจอประสาทตา และเบาหวานขึ้นจอตา

ที่น่าวิตกคือ ผู้สูงอายุกว่าร้อยละ 70 มีภาวะสายตาเลือนราง สาเหตุหลักมาจากภาวะต้อกระจก ซึ่งเป็นโรคตาที่พบมากในผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ภาวะเบาหวานขึ้นจอตา อาการทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย รวมถึงการใช้ชีวิตในปัจจุบันที่ช่วยเร่งให้คนไทยมีปัญหาสุขภาพตาได้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่อาศัยอยู่ในเขตชนบท หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจเสี่ยงต่อภาวะตาบอดได้

Advertisement

ในปี 2553 โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จึงได้พัฒนาศักยภาพการบริการทางจักษุอย่างครบวงจรผ่านการจัดตั้งศูนย์จักษุและต้อกระจก

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษาด้านตาเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 500 คนต่อวัน

ทว่าแม้จะมีจักษุแพทย์เฉพาะทาง 14-15 คน แต่ด้วยมีห้องตรวจเพียง 7 ห้อง และห้องผ่าตัดเพียง 2 ห้อง ทำให้ต้องจัดสรรพื้นที่ในห้องผ่าตัด 1 ห้องต่อจักษุแพทย์ 2 คน กระนั้นก็ยังไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนผู้ป่วยที่รอการรักษาในแต่ละวัน

Advertisement

ด้วยปริมาณผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการจำนวนมาก รวมทั้งความซับซ้อนของโรคที่ต้องใช้เวลาในการรักษา มูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้วและภาคประชาชนจึงมีดำริในการจัดสร้าง “โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว” ตั้งแต่ปี 2558 เพื่อให้ผู้ป่วยทางตาได้มีโอกาสเข้าถึงการบริการโดยผู้เชี่ยวชาญทางจักษุโดยเฉพาะ รวมถึงมีการจัดตั้งศูนย์วิจัยเพื่อช่วยเหลือคนตาบอดได้เห็นแสงสว่างอีกครั้ง

ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติ

มุ่งมั่นทุ่มเทเพื่อช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในโลกมืด

ห้องประชุมชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 19 ตุลาคมที่ผ่านมา แปรสภาพเป็นโรงภาพยนตร์ แขกผู้มีเกียรติที่รับเชิญมาในงานจะต้องปิดตา มีผู้จูงเดินเข้าไปในโรงหนังเฉพาะกิจ รับชมหนังสั้น “ช่วยคุณหมอ” ฝีมือกำกับของ ธนญชัย ศรศรีวิชัย ภาพยนตร์ที่มีแต่จอดำและเสียงบรรยายความรู้สึกของผู้ที่อยู่ในภาวะตาบอด กระทั่งได้รับการผ่าตาแล้วเสร็จ ภาพแรกที่เห็นจึงปรากฏขึ้น…ภาพของคุณหมอ ทีมพยาบาลและผู้ช่วยที่สาละวนกับการทำงาน

“ทำอย่างไรจะให้คน ‘ไม่ชิน’ กับสิ่งที่คุณหมอทำ”

ต่อศักดิ์ ชื่นประภา หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายสร้างสรรค์ “Wolf BKK” เล่าโจทย์สำคัญที่ผู้กำกับวางไว้ เบื้องหลังหนังที่ถ่ายทอดความมุ่งมั่นของทีมแพทย์ในการรักษาผู้ป่วยโรคตา ส่วนหนึ่งของการเปิดตัวโครงการ “ทำดีให้คนมองเห็น” เพื่อระดมทุนสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว และจัดหาเครื่องมือแพทย์สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคตา

ไม่เพียงแต่ต้อกระจก หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยต้องอยู่ในภาวะตาบอด ยังมีโรคซับซ้อนอีกมากมายที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากผู้เชี่ยวชาญอย่างเร่งด่วน เช่นกรณีของ วันศิริ สีดา แม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยว วัย 46 ปี ผู้ป่วยโรคกระจกตาติดเชื้ออะมีบา เล่าว่า เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติในเช้าวันหนึ่ง หลังจากตื่นขึ้นและพบว่าตาแดงก่ำ มองอะไรไม่เห็น ปวดเหมือนมีของแหลมทิ่มแทงดวงตาตลอดเวลา ยิ่งปวดตาก็ปวดหัว แสบตา ทำงานไม่ได้เลยเนื่องจากพอเปิดหม้อก๋วยเตี๋ยวไอน้ำจะพุ่งเข้าตายิ่งปวดมากขึ้น

(จากซ้าย) น้องเอ๋ย, นพ.พรเทพ, พญ.พรรณสมร, วันศิริ และต่อศักดิ์
นพ.พรเทพ และ วันศิริ สีดา

“ตอนนั้นทั้งหยอดตา กินยาแก้ปวดก็แล้ว คิดว่าต้องสูญเสียตาแน่ เพราะเป็นหนองแล้ว จึงตัดสินใจไปโรงพยาบาลบ้านแพ้ว” วันศิริเล่า

ทางด้าน พญ.พรรณสมร ชำนาญกิจ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระจกตา โรงพยาบาลบ้านแพ้ว อธิบายว่า อาการของผู้ป่วยค่อนข้างหนัก เพราะเป็นมา 2 สัปดาห์แล้ว กระจกตาที่เป็นสีดำกลายเป็นสีขาว และเป็นหนองเต็มไปหมด

“ที่ยากคือไม่ทราบเป็นอะไรแน่ จึงเอากระจกตาไปเพาะเชื้อและพบว่าเป็นเชื้ออะมีบา โปรโตซัวชนิดหนึ่งที่อยู่ในน้ำสกปรก คนไข้อาจจะโดนน้ำประปาหรือน้ำคลองที่สกปรก แล้วขยี้ตา ต้องใช้ยาในการรักษาถึง 4-5 ขนาน และยาบางอย่างไม่มีในไทย”

แม้ว่ารักษาอยู่ 4 เดือนอาการจะดีขึ้น แต่ยังต้องหยอดตาไปเรื่อยๆ ที่สำคัญคือ วันศิริเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว ยิ่งใช้เวลารักษานานเท่าใดนั่นหมายถึงระยะเวลาที่ครอบครัวต้องขาดรายได้ วิธีที่รวดเร็วที่สุดคือ เปลี่ยนกระจกตา

“ปกติคิวของกระจกตาจากสภากาชาดนาน 3-5 ปี แต่กรณีนี้เร่งด่วนเนื่องจากคนไข้ติดเชื้อจนมองไม่เห็น การเปลี่ยนกระจกตาก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เราไม่ทราบว่าจะได้กระจกตามาเมื่อใด และการผ่าตัดก็ต้องจองคิว 1-2 เดือนเพราะมีห้องผ่าตัดแค่ 2 ห้อง”

คุณหมอพรรณสมรบอกว่า วันที่ทราบข่าวว่าได้กระจกตา ห้องผ่าตัดมีคิวเต็มตั้งแต่ 9 โมงเช้า กว่าจะได้คิวว่างก็ 6 โมงเย็นไปแล้ว ต้องเร่งผ่าตัดด่วนเพื่อให้ได้ความสดใหม่ของกระจกตา

ยอมคว่ำหน้าตลอด 6 สัปดาห์

เพื่อมองเห็นอีกครั้ง

ใครไม่เคยเป็นจะไม่รู้ว่าการอยู่ในโลกมืดนั้นทุกข์เพียงใด โดยเฉพาะเมื่อผู้ป่วยนั้นยังเป็นเด็กอายุเพียง 11-12 ปีเท่านั้น

“น้องเอ๋ย” หรือ จิรารัตน์ ใจเพียน อายุ 15 ปี ถือเป็นเคสตัวอย่างของผู้ป่วยที่ต้องสูญเสียดวงตาทั้งสองข้างตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เนื่องจากจอประสาทตาหลุดลอก เมื่อครั้งที่เข้ามาตรวจตาที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว เธอต้องให้แม่จูงมา

“น้องเอ๋ย” จิรารัตน์ ใจเพียน

น้องเอ๋ยเล่าถึงอาการเมื่อเริ่มเป็นว่า เริ่มจากมองภาพสีดำเป็นน้ำตาล เห็นฟ้าแลบในตาตลอด และมีจุดดำลอยไปมา เพียงแค่วันเดียวก็สูญเสียการมองเห็นโดยสิ้นเชิง

นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผู้อำนวยการและจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจอประสาทตา โรงพยาบาลบ้านแพ้ว อธิบายถึงโรคนี้ว่า เป็นอาการจอประสาทตาฉีกขาดและหลุดลอก ประสาทตาจะทำงานไม่ได้ ทำให้มองไม่เห็น เข้าสู่ภาวะตาบอดและบอดสนิท

น้องเอ๋ยเป็นคนไข้เด็กที่ทุกคนจะถามถึงเพราะระหว่างที่ผมตรวจคนไข้คนอื่น น้องเอ๋ยจะมารอที่หน้าห้องตรวจในท่าคว่ำหน้าตลอดเวลา

ผอ.รพ.บ้านแพ้วเล่าว่า ได้พบกับน้องเอ๋ยเมื่อ 3-4 ปีก่อน โดยก่อนหน้านี้น้องเอ๋ยได้รับการผ่าตัดตาทั้งสองข้างที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในภาคอีสาน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ ตอนที่มาหาจอประสาทตาหลุดลอกทั้งสองข้างแล้ว

หลังการตรวจพบว่า ตาข้างซ้ายบอดสนิทแน่นอน ขณะที่ข้างขวายังพอมีโอกาสอยู่บ้างแม้จะไม่มากนัก แต่ตัดสินใจว่าต้องลองเสี่ยงผ่าตัด เพราะไม่อยากปล่อยให้เด็กคนหนึ่งซึ่งตอนนั้นอายุเพียง 11-12 ปี ต้องตาบอดไปตลอดชีวิต

“หลักการของการผ่าตัดคือ เราต้องเอาจอประสาทตาที่หลุดลอกปะติดเข้าไปใหม่ ต้องดมยาก่อนผ่า แต่วิธีการผ่าตัดเราจะฉีดแก๊สเข้าไปแล้วให้คว่ำหน้า ฉะนั้น คนที่ผ่านไปผ่านมาจะเห็นภาพของเด็กคนหนึ่งมานั่งรออยู่หน้าห้องในท่าคว่ำหน้า…คว่ำนานแค่ไหน วันหนึ่ง 24 ชั่วโมงเป็นเวลา 6 สัปดาห์ ฉะนั้น คนที่เห็นจึงตกใจว่าทำไมต้องอยู่ในท่านั้น”

แต่แล้ว ผลการผ่าตัดครั้งแรกไม่ประสบความสำเร็จ

“ผมเริ่มใจเสีย รู้สึกว่าอย่างน้อยถ้ายังมีตาเหลืออยู่สักข้างก็ยังดี” คุณหมอบอก แต่ก็ยังไม่ละความพยายาม เริ่มกระบวนการผ่าตัดอีกครั้ง แต่ก็ล้มเหลวเหมือนเดิม

“ครั้งที่ 2 ที่แจ้งผลกับน้องเอ๋ยว่าล้มเหลว น้องเอ๋ยร้องไห้อยู่ในห้องตรวจของผม ผมไม่อยากเห็นคนไข้ผมต้องตาบอด แม้จะมีโอกาส 1-2 เปอร์เซ็นต์ก็ต้องลองสู้อีกสักหน”

หลังผ่าตัดครั้งที่ 3 คืนนั้นผมนอนไม่ค่อยหลับ เพราะถ้าไม่รอดก็หมดสิทธิ น้องเอ๋ยต้องกลับไปใช้ชีวิตในโลกมืดตลอดชีวิต พอเปิดตาปรากฏว่าจอประสาทตาติด เป็นความดีใจอย่างมากจริงๆ เราพยายามสู้แบบนี้เพื่อให้คนไข้ของเราได้มีโอกาสมองเห็น

รพ.บ้านแพ้ว

โรงพยาบาลของประชาชน

เคยรู้จักไหม โรงพยาบาลที่พ่อค้าแม่ขาย ตลอดจนชาวไร่ชาวสวนเรียกอย่างภาคภูมิใจว่า “โรงพยาบาลของป้า”, “โรงพยาบาลของเรา”

โรงพยาบาลบ้านแพ้ว คือโรงพยาบาลนั้น!

ความที่ก่อสร้างขึ้นด้วยการรวมพลังรวมทุนรอนโดยภาคประชาชนเป็นสำคัญ เริ่มจากการที่ชาวบ้านจังหวัดสมุทรสาคร รวมตัวกันบริจาคที่ดิน 9 ไร่ 1 งาน 80 ตารางวา เมื่อ พ.ศ.2508 พร้อมทั้งสนับสนุนกำลังทรัพย์ กำลังกาย และกำลังใจในการก่อสร้างเพื่อเป็นโรงพยาบาลของชุมชน

เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวที่เป็นองค์การมหาชน บริหารงานโดยไม่พึ่งพาเงินงบประมาณจากภาครัฐ โดยงบประมาณที่ใช้ในการดำเนินงานมาจากโครงการที่ทำร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) การเข้าไปดูแลผู้ป่วยของกรมบัญชีกลาง คือกลุ่มราชการ และการรับบริจาคจากภาคประชาชน

เมื่อมูลนิธิโรงพยาบาลบ้านแพ้วและภาคประชาชน มีดำริที่จะร่วมกันจัดสร้าง “โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว” จึงต้องอาศัยการระดมทุน โดยต้องใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งหมด 400 ล้านบาท ขณะนี้ได้รับเงินสนับสนุนการก่อสร้างอาคารจากประชาชนแล้วจำนวนหนึ่งซึ่งยังไม่เพียงพอ โรงพยาบาลจึงต้องขอรับการสนับสนุนจากประชาชนคนไทยทั่วประเทศ รวมถึงองค์กรต่างๆ เพื่อให้โรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้วสามารถเปิดให้บริการได้ภายในปี 2562

นพ.พรเทพผู้อำนวยการโรงพยาบาล อธิบายถึงการระดมทุนสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว ในโครงการ “ทำดีให้คนมองเห็น” ว่า

“ต้องบอกว่าอาคารนี้เกิดขึ้นแล้ว เป็นอาคาร 9 ชั้น มูลค่าทั้งหมด 400 ล้านบาท ไม่รวมเครื่องมือแพทย์ แต่ปัจจุบันมีแต่โครง จำเป็นต้องขอรับการสนับสนุนอีกประมาณ 200 ล้านบาท เป็นเหตุผลที่เราต้องระดมทุนเพื่อให้สามารถสร้างต่อได้ รวมทั้งจัดซื้อในส่วนของเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัยและครบวงจร โดยจะมีห้องตรวจถึง 23 ห้อง ห้องผ่าตัด 9 ห้องเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาเร็วขึ้น ไม่ต้องรอคิวผ่าตัดนานเป็นปี

“เพราะการรอคอยทุกครั้งทำให้ระยะของโรคเปลี่ยน ความรุนแรงของโรคก็เปลี่ยนไปด้วย”


ช่องทางบริจาคสมทบทุนสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว

ผู้สนใจสามารถสมทบทุนเพื่อสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแผ้ว ผ่านโครงการ “ทำดีให้คนมองเห็น” 2 ช่องทาง โดย บริจาคครั้งละ 100 บาท ผ่านมือถือทุกเครือข่าย พิมพ์ *948*888*100# กดโทรออก วิธีนี้ไม่สามารถออกใบเสร็จได้

หรือบริจาคผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบ้านแพ้ว ชื่อบัญชีโรงพยาบาลบ้านแพ้ว กองทุนเพื่อสร้างโรงพยาบาลจักษุบ้านแพ้ว เลขที่บัญชี 745-0-33317-1 ใบเสร็จสามารถลดหย่อนภาษีสองเท่า
//////////////////////////

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image