มูลนิธิถันยรักษ์ฯ ขับเคลื่อนต้านภัยมะเร็งเต้านม สืบสานพระราชปณิธาน’สมเด็จย่า’

ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.คุณหญิงสำอางค์ คุรุรัตนพันธ์ นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ และ ศิริวรรณ วิลาสศักดานนท์

ปัจจุบันผู้หญิงไทยยังคงเสียชีวิตด้วยมะเร็งเต้านมมากเป็นอันดับ 1 ทำให้ มูลนิธิถันยรักษ์ ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ต้องเร่งขับเคลื่อนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม ทั้งในรูปแบบการป้องกัน เดินสายให้ความรู้สอนตรวจเต้านมด้วยตนเอง ซึ่งที่ผ่านมาลงพื้นที่มากว่า 70 จังหวัดทั่วประเทศ

แนวทางการทำงานดังกล่าว นับว่าเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2537 ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทรงมีพระราชดำริช่วยเหลือหญิงไทยให้พ้นภัยจากมะเร็งเต้านม พระราชทานเงินส่วนพระองค์ จำนวน 12 ล้านบาท เป็นทุนเริ่มแรก พระราชทานชื่อมูลนิธิ “ถันยรักษ์” พร้อมกับทรงรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ ทรงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ และทรงแต่งตั้งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และเป็นประธานกิตติมศักดิ์ ต่อมาสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงดำรงตำแหน่งประธานกิตติมศักดิ์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 ถึงปัจจุบันนี้

ขณะที่ ศูนย์ถันยรักษ์ ก่อตั้งขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราชเมื่อปี 2538 ภายใต้มูลนิธิถันยรักษ์ฯ เพื่อตรวจวินิจฉัยและคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม

ศ.คลินิกเกียรติคุณ พญ.คุณหญิงสำอางค์ คุรุรัตนพันธ์ รองประธานศูนย์ถันยรักษ์ กล่าวถึงพันธกิจหลักของศูนย์ถันยรักษ์ว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ศูนย์ถันยรักษ์ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ตั้งแต่การวินิจฉัยและการดูแลรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งประกอบด้วยแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญหลายแขนง ผู้ป่วยจึงได้รับการดูแลอย่างดี เป็นการรักษาในแบบองค์รวม มีความถูกต้องได้มาตรฐานตามหลักสากล อีกทั้งมีความถูกต้องแม่นยำ และเป็นไปอย่างรวดเร็ว

Advertisement

นพ.ธรรมนิตย์ อังศุสิงห์ เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ กล่าวว่า “สมเด็จย่าทรงเคยตรัสไว้ว่า ‘ให้เอาเครื่องมือที่ทันสมัยที่สุดมาใช้ ให้ดูแลคนจนและคนรวยให้ทัดเทียมกัน’ พระราชดำรัสสองข้อนี้ถือเป็นนโยบายที่สำคัญของมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ใช้ดูแลคนจนทั่วประเทศ เราต้องหาทางและช่วยผู้หญิงไทยที่ด้อยโอกาสในชนบท เพื่อให้สัมฤทธิผลตามพระราชประสงค์ โดยมีอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ช่วยสอนวิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และติดตามผลการลงบันทึกในสมุดบันทึกการตรวจเต้านมด้วยตนเองที่ทางมูลนิธิถันยรักษ์ฯ ได้จัดทำขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ”

เลขาธิการมูลนิธิถันยรักษ์ฯ บอกอีกว่า ปัจจุบันยังไม่สามารถค้นหาสาเหตุของการเกิดมะเร็งเต้านมได้ ฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยให้สตรีป้องกันตนเองจากมะเร็งเต้านมก็คือ การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้องและสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้ค้นพบก้อนที่น่าสงสัยตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น

นอกจากนี้ ยังร่วมกับภาคีเครือข่ายในหลายภาคส่วน ตัวอย่างเช่น การร่วมมือกับ บริษัท วีน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นใน “เวียนนา” จัดทำโครงการเผยแพร่ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านม และการป้องกัน ให้แก่ผู้หญิงไทยทั่วประเทศ

Advertisement

ทางด้าน ศิริวรรณ วิลาสศักดานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วีน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บอกว่า บริษัท วีน ได้ร่วมโครงการสืบสานพระราชปณิธานของสมเด็จย่ามากว่า 17 ปี แล้ว โดยจัดทำ “โครงการเวียนนาอาสา” แบบทวิภาคี เดินหน้าขับเคลื่อนกิจกรรมต้านภัยมะเร็งเต้านม เน้นการป้องกัน เผยแพร่ให้ความรู้การตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อให้ผู้หญิงไทยตระหนักถึงภัยร้ายจากมะเร็งเต้านม รู้ก่อน รักษาเร็ว มีโอกาสรอดชีวิต

“เราทำธุรกิจด้านชุดชั้นในผู้หญิงมากว่า 30 ปี อยากให้ผู้หญิงไทยมีสุขภาพทรวงอกที่ดี และห่างไกลจากมะเร็งเต้านม ซึ่งวิธีการตรวจเต้านมอย่างง่ายและมีประสิทธิภาพที่สุดคือ การใช้ 3 นิ้วสัมผัส เรียกว่า ‘ทริปเปิล ทัช โปรแกรม’ (Triple Touch Program) โดยลงพื้นที่สอนการตรวจเต้านมให้กับผู้หญิงไทยทั่วประเทศ ทั้งในรูปแบบกิจกรรมรณรงค์ และการจัดอาสาสมัครผ่านโครงการเวียนนาอาสาไปให้ความรู้ด้านการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธี พร้อมกับการจัดทำคู่มือและซีดี แผ่นพับสอนการตรวจเต้านมด้วย”

ตัวอย่างเช่น โครงการอบรมหลักสูตรการตรวจเต้านมด้วยตนเองตามหลักวิธี 3 นิ้วสัมผัส ที่โรงพยาบาลศิริราช เปิดโอกาสให้จิตอาสาตามองค์กรต่างๆ และประชาชนทั่วไป ได้เข้ามาฝึกอบรมและเรียนรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติเข้มข้น ใช้เวลาการจัดอบรมทั้งสิ้น 2 วัน

ผู้เข้าอบรมที่ผ่านหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรรับรองจากมูลนิธิถันยรักษ์ฯ และพร้อมนำองค์ความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ให้คนในครอบครัว เพื่อน ญาติพี่น้อง และคนใกล้ชิด ได้เรียนรู้วิธีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกต้อง อันเป็นวิธีหนึ่งที่จะส่งผลให้ผู้หญิงไทย พ้นภัยห่างไกลจากมะเร็งเต้านม

นอกจากนี้ ยังมีการจัดกิจกรรมเย็บเต้านมเทียมเพื่อนำไปบริจาคผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ยากไร้ตามโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งล่าสุดเมื่อปีที่แล้วมีจิตอาสา กสท.เข้าร่วมกิจกรรมเย็บเต้านมเทียม มอบให้โรงพยาบาลยะลา และโรงพยาบาลศิริราช จำนวน 600 เต้า ซึ่งเกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่ตัดเต้านมแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image