กลอนเพลง ในแร็พประเทศกูมี โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ

“ประเทศกูมี” เนื้อเพลงเป็นวรรณกรรมการเมืองในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยสำคัญมาก แม้ทำนองเป็นฝรั่ง แต่ฉันทลักษณ์ใกล้กลุ่มเพลงกลอนหัวเดียว

อย่างนี้เคยมีในเพลงยาวพยากรณ์กรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นวรรณกรรมการเมืองแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ เชื่อกันว่าเป็นงานการเมืองของกลุ่มพระเพทราชา เพื่อสร้างพลังต่อต้านกลุ่มถืออำนาจขณะนั้น

วรรณกรรมการเมืองเรื่องเพลงยาวฯ แต่งเป็นกลอน เรียก กลอนเพลง มีขนาดยาว จึงเรียก เพลงยาว หมายถึง กลอนเพลงบันทึกเรื่องราวต่างๆ ตามต้องการเหมือนจดหมายเหตุด้วยความยาวไม่กำหนด

[กลอนเพลงยาว ใช้แต่งนิราศก็ได้ เรียก เพลงยาวนิราศ (เช่น เพลงยาวนิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง พระราชนิพนธ์ ร.1) แม้สุนทรภู่ก็แต่งนิราศด้วยกลอนเพลงยาว (แต่ไม่เรียกเพลงยาวนิราศ) จึงได้รับยกย่องว่าเป็น “อาลักษณ์นักเลงทำเพลงยาว” เลยพากันเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าสุนทรภู่รับจ้างแต่งเพลงยาวเกี้ยวผู้หญิง ซึ่งไม่ใช่ เพราะหนุ่มสาวทั่วไปสมัยนั้นเขียนไม่ได้ อ่านไม่ออก]

Advertisement

กลอนเพลง มีรากเหง้าจากกลอนชาวบ้านเล่นเพลงโต้ตอบแก้กัน บางทีเรียก “กลอนหัวเดียว” หมายถึง ส่งรับสัมผัสเสียงเดียวกันตลอดเพลงตั้งแต่ต้นจนจบ เช่น เพลงฉ่อย, เพลงเทพทอง, เพลงปรบไก่, เพลงอีแซว ฯลฯ

[เพลงยาวพยากรณ์ฯ ผมเคยให้ขับเสภาส่งปี่พาทย์ตามประเพณีแล้วฟังอร่อยนัก ยิ่งได้ช่างขับเสภาเสียงห้าวเหมือนครูสมชาย ทับพร กับครูมืด ประสาท ทองอร่าม ยิ่งวิเศษ]

“ประเทศกูมี” เพลงแร็พเท่าที่ผมได้ยินผิวเผินจากไกลๆ ฟังส่งสัมผัสท้ายวรรคหลายครั้งกระเดียดไปทางกลอนหัวเดียว

Advertisement

แร็พ ใช้ฉันทลักษณ์ชาวบ้านได้เกือบหมด ไม่ว่ากลอนหัวเดียว จนถึงเซิ้ง (บั้งไฟ) ซึ่งเป็นร่าย หรืออื่นๆ อีกไม่อั้น

“ประเทศ” ในชื่อแร็พเพลงประเทศกูมี เป็นคำสัญลักษณ์ที่น่าจะหมายถึงโครงสร้างอำนาจการเมืองไม่เป็นธรรม ส่งผลกระทบถึงชนชั้นล่างๆ คนเล็กๆ ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคมและสรรพสิ่ง ซึ่งรวมทั้งสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ จึงไม่มีความหมายตรงๆ ถึงพื้นที่หรือดินแดนในรัฐชาติปัจจุบันของใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image