สงคราม-เซ็นเซอร์-ศาสนา-ผี-โฆษณาชวนเชื่อ จุดร่วม ‘อุษาคเนย์’ ผ่าน ‘ภาพยนตร์’

งูเก็งกอง หนังกัมพูชา โดย Ly Bun Yim

ในการศึกษาสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ วิธีคิดหลักที่มักมีใช้ในการศึกษาคือการมองผ่านเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ หรือเหตุการณ์ทางการเมืองที่สำคัญของแต่ละประเทศในดินแดนอุษาคเนย์นี้

ความเชื่อมโยงจากกระแสสังคมโลก สร้างให้ประวัติศาสตร์แต่ละประเทศในอุษาคเนย์ปรากฏผลกระทบในทิศทางที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะช่วงสงคราม ประเทศที่อยู่ใต้ปีกอุดมการณ์ต่างค่ายก็จะมีความทรงจำที่เจ็บปวดต่างรูปแบบกัน ขึ้นอยู่กับว่าความทรงจำนั้นถูกบันทึกไว้ในฐานะอะไร

ภาพยนตร์ก็เป็นอีกหนึ่งรูปแบบความทรงจำของสังคม ขณะที่การศึกษาความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ของภาพยนตร์อุษาคเนย์ยังไม่เป็นที่กว้างขวางนัก อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักประวัติศาสตร์ ก็ได้เปิดห้องเรียนของนักศึกษาสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ ให้คนทั่วไปได้ร่วมเข้าไปฟัง

โดยในครั้งนี้ได้เชิญ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา เจ้าของนามปากกา Filmsick คอลัมนิสต์ภาพยนตร์และนักเขียน มาบรรยายในหัวข้อ “สงคราม เซ็นเซอร์ ศาสนา ผี และโฆษณาชวนเชื่อ ในภาพยนตร์อุษาคเนย์” ภายใต้การแนะนำของนนทวัฒน์ นำเบญจพล ผู้กำกับหนังไทยเรื่อง “Boundary ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง” ภาพยนตร์ที่เคยถูกแบน

Advertisement

“เกิดอะไรขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อมองโดยเอาประวัติศาสตร์ภาพยนตร์เป็นแกน และเอาประวัติศาสตร์การเมืองเป็นแกนอีกข้างหนึ่ง เวลาดูหนังแล้วไม่รู้จักสังคมช่วงนั้น การศึกษาประวัติศาสตร์จะช่วยได้” วิวัฒน์กล่าวเริ่มต้น ก่อนจะอธิบายถึงจุดร่วมของภาพยนตร์ในอุษาคเนย์เมื่อแบ่งตามหมวดหมู่

ฟ้าต่ำแผ่นดินสูง

สงคราม-โฆษณาชวนเชื่อ
เกิดขึ้นพร้อมกันอย่างแยกไม่ออก

ยุคที่การสร้างภาพยนตร์เริ่มเป็นที่นิยมในภูมิภาค ตรงกับช่วงสงครามเย็นทำให้หนังที่ถูกสร้างจำนวนมากสร้างขึ้นเพื่อตอบรับอุดมการณ์ทางการเมือง

วิวัฒน์เริ่มโดยพูดถึง ประเทศเวียดนาม โดยในเวียดนามเหนือ ในปี 1953 โฮจิมินห์ได้ก่อตั้ง Film Unit โดยมีภารกิจเพื่อสร้างสังคมนิยม และต่อสู้เพื่อให้เวียดนามใต้ได้รับการปลดปล่อย ส่วนใหญ่ได้รับการสนับสนุนโดยรัสเซีย ส่วนทางเวียดนามใต้จะเป็นหนังต่อต้านคอมมิวนิสต์ โดยได้รับการสนับสนุนจาก USIS (สำนักข่าวสารอเมริกัน)

อ.ชาญวิทย์กล่าวเสริมว่า ความขัดแย้งของเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ เป็นความขัดแย้งของลัทธิสมัยสงครามเย็น แบ่งเป็นค่ายเสรีประชาธิปไตยนำโดยสหรัฐอเมริกากับค่ายคอมมิวนิสต์นำโดยรัสเซีย-จีน

ขณะที่ไทยมีอเมริกาสนับสนุน ในยุคปี 1930 ที่ผู้นำเวียดนามให้ความสำคัญกับการสร้างภาพยนตร์ เช่นเดียวกับไทยที่มีการสร้างภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก และจอมพล ป.พิบูลสงคราม สร้างเรื่อง เลือดทหารไทยกับบ้านไร่นาเรา

“ภาพยนตร์กับโฆษณาชวนเชื่อเป็นสิ่งที่มาด้วยกันอย่างแยกไม่ออก อยู่ที่ว่าใครจะทำได้เนียนหรือไม่” อ.ชาญวิทย์กล่าว

วิวัฒน์ กล่าวถึง อินโดนีเซีย ในปี 1954 มีภาพยนตร์ที่โด่งดังคือเรื่อง After the Curfew พูดถึงอินโดนีเซียหลังการประกาศอิสรภาพจากดัตช์ ขณะที่ญี่ปุ่นเมื่อเข้ามาในอุษาคเนย์ก็ได้ทำหนังโฆษณาชวนเชื่อโดยมีฐานอยู่ ในอินโดนีเซีย หนังเรื่องหนึ่ง คือ Calling Australia เล่าชีวิตในค่ายกักกันว่าช่างมีความสุข ทำเพื่อเรียกออสเตรเลียให้ออกมาร่วมรบ

วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา
วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา

ส่วน พม่า วงการหนังพม่าเคยยิ่งใหญ่มาก่อน แต่ประวัติศาสตร์การเมืองก็ทำให้หนังส่วนใหญ่หายไป U Nu ผู้กำกับดังของพม่าเคยทำเรื่อง Our Peacock Flag (1936) ที่ถูกแบนโดยอังกฤษ เพราะพูดถึงนักศึกษาพม่าที่ถูกอังกฤษฆ่า และหนังเรื่อง Boycott ในปี 1937 โดยมีนายพลออง ซาน พ่อของออง ซาน ซูจี แสดงนำ นอกจากนี้เรื่องที่ถูกแบนยังมี Aung Thabyay (1937) โดย U Tin Maung เป็นผู้ที่ทำให้เกิดกระแสชาตินิยมในโรงหนัง

กัมพูชา กษัตริย์ที่ทำหนังคนหนึ่ง คือ พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทำไว้มากกว่า 50 เรื่อง ทำทุกปี โดยใช้เชื้อพระวงศ์มาเล่น หนังที่ดังที่สุดชื่อ Apsara (1966) ส่วนเรื่อง Shadow over Angkor (1968) ทรงแสดงด้วยพระองค์เอง โดยเล่าเรื่องการรัฐประหารตัวเขาที่ทำไม่สำเร็จ ต่อมายุคเขมรแดง โดยมากเป็นสารคดีข่าวเป็นชิ้นๆ เล่าเรื่องการสร้างถนน ต่อเรือ ทำนา ท่านผู้นำเดินทางไปที่ต่างๆ ความสนุกอย่างเดียวคือการร้องรำต้อนรับผู้นำ ฟิล์มหนังยุครุ่งเรืองส่วนใหญ่ถูกทำลายหมดในยุคเขมรแดง

“ส่วนไทยทำ อะไรระหว่างที่เพื่อนบ้านรบกัน USIS ของอเมริกาให้ทุนไทยทำหนังเช่นกัน มีเรื่อง ‘ไฟเย็น’ เล่าเรื่องความไม่ดีของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือเรื่อง ‘3 นัด’ พ่อที่ยิงลูกด้วยอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ช่วงหลังปี 1970 มีการทำหนังที่สมจริงมากขึ้น อย่างเรื่อง ทองปาน-เทวดาเดินดิน-ไอ้ 8 นิ้ว กระทั่งหนังของดอกดิน กัญญามาลย์ แม้คนมองว่าเป็นหนังเมนสตรีม แต่ก็มีการสร้างตัวร้ายเป็นเวียดกง ลาว หรือกัมพูชา แฝงเอาไว้รับกับอุดมการณ์แบบหนึ่ง” วิวัฒน์กล่าว

Shadow over Angkor หนังที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงกำกับและแสดงเอง
Shadow over Angkor หนังที่พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงกำกับและแสดงเอง

ขณะ ที่ อ.ชาญวิทย์ให้ความเห็นถึงสถานะของไทยขณะนั้นว่า ยุคปี 1980 เป็นช่วงที่เรารู้สึกว่าประสบความสำเร็จที่สุดในดินแดนแถบนี้ เป็นนัมเบอร์วันในอุษาคเนย์ เมื่อเศรษฐกิจไทยทำท่าจะเป็นมิตรกับสิงคโปร์ ไต้หวัน ฮ่องกง เกาหลี ซึ่งเป็นความฝันสูงสุดของเรา

 

ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ

“นักประวัติศาสตร์ชาวอังกฤษ อีริค ฮอบสบอว์ม เขียนเรื่อง The Age of Extremes ยุคสมัยแห่งความสุดขั้ว พูดถึงศตวรรษที่ 20 ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ของศตวรรษที่แล้วมีสูงมาก มีทั้งสงครามโลกครั้งที่ 1, ครั้งที่ 2 ตามด้วยสงครามเย็น ถล่มกันแหลกลาญ สนามบินที่ไปถล่มเวียดนามเหนือก็ตั้งฐานทัพที่เมืองไทย เป็นฐานทัพอเมริกัน แต่คนไทยไม่ค่อยจะรู้ ไม่ค่อยสนใจ เป็นยุคที่มีความสุดขั้ว และหลายประเทศผ่านความสุดขั้วไปแล้วอย่างอินโดนีเซีย จากยุคทหารเผด็จการสู่ทหารประชาธิปไตยแล้วตอนนี้เป็นยุคของรัฐบาลพลเมือง นัมเบอร์วันประชาธิปไตยในอดีตเป็นของไทย แต่ปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย ขณะที่เรากำลังไปตามหลังพม่าอยู่” อ.ชาญวิทย์กล่าว

 

ผี-ศาสนา วัฒนธรรมร่วมเหนียวแน่น

วิวัฒน์ กล่าวว่า เรื่องผีและศาสนาเป็นจุดร่วมที่เชื่อมสังคมอุษาคเนย์ไว้เป็นอย่างดี เมื่อมองที่ พม่า ซึ่งเป็นสังคมพุทธที่เข้มแข็งมาก แต่ความเป็นชาตินิยมก็ถูกคลุมไว้ด้วยพุทธเถรวาท ด้วยถ่ายทอดออกมาทางภาพยนตร์ ส่วน อินโดนีเซีย มีหนังเรื่อง Ayatayat Cinta (2008) หนังเรื่องนี้โด่งดังมากในอินโดนีเซีย อาจเพราะเป็นการเกิดขึ้นของหนังอิสลามที่ต่างจากหนังของคนไม่มีศาสนา หรือหนังฮอลลีวู้ด ทำให้ได้รับความนิยมในกลุ่มมุสลิม มีการกล้าพูดถึงความหลากหลายของผู้หญิงที่มาอธิบายความเป็นมุสลิมที่ดี เกิดการใช้หนังเรื่องนี้ในการสร้างตัวตนของวัยรุ่น

“ส่วนเขมรนั้นผม คิดว่าเราเอาเรื่องพุทธๆ ผีๆ จักรๆ วงศ์ๆ มาจากเขมรในยุคทองที่มีการทำภาพยนตร์กันมาก ผู้กำกับดังของเขมรคือ Ly Bun Yim ที่สร้างเรื่อง งูเก็งกอง และ 12 Sisters หรือนางสิบสอง ส่วนหนังไทยถ้าดูหนังผีก่อนการเกิดขึ้นของหนังเรื่อง ชัตเตอร์ กดติดวิญญาณ เดิมก็จะเป็นหนังผีแบบพุทธ ที่การคลี่คลายเรื่องไม่จำเป็นต้องมาแก้ปมให้ผี แค่เอาพระมาปราบผีก็พอ เป็นการให้ทางออกแบบศาสนา

“ส่วนผีที่มีร่วม สายพันธุ์ในอุษาคเนย์อย่างผีกระสือ จะมีทั้งในไทย อินโดนีเซีย ลาว เขมร ส่วนผีผู้หญิงตายทั้งกลมอย่างที่ของเรามีแม่นาค ในมาเลเซียก็มีเหมือนกัน จะพบว่าผีพื้นบ้านของอุษาคเนย์จะคล้ายๆ กันในแต่ละประเทศ” วิวัฒน์กล่าว

“เซ็นเซอร์” เรื่องราวที่ให้เผยแพร่ไม่ได้

ส่วนวัฒนธรรมการเซ็นเซอร์ภาพยนตร์ในอุษาคเนย์ วิวัฒน์บอกว่า หนังที่ถูกแบนในไทยมีตั้งแต่เรื่อง แสงศตวรรษ, คนกราบหมา, Insect in the Backyard และฟ้าต่ำแผ่นดินสูง โดยส่วนใหญ่จะทำเรื่องตำรวจหรือพระที่ไม่ดีไม่ได้

“การแบนก็ไม่ได้ มีแต่ในไทย เพราะในพม่ายุคนายพลเนวิน การทำหนังแต่ละเรื่องต้องส่งบทไปก่อน เมื่อบทผ่านเซ็นเซอร์แล้วจึงจะอนุมัติให้ซื้อฟิล์มได้ ทำเสร็จแล้วก็ต้องส่งเซ็นเซอร์อีกรอบหนึ่ง ฉายไปแล้วมีปัญหาก็สามารถสั่งถอดออกจากโรงได้ ตัวอย่างฉากที่จะโดนแบนคือ ท้องก่อนแต่ง กินเหล้าสูบบุหรี่พร้อมกัน, ผู้หญิงแต่งตัวใส่กางเกงแบบตะวันตก, เคี้ยวหมาก ผลที่เกิดขึ้นคือคนหลีกเลี่ยงไม่ทำหนังการเมือง แต่ไปทำหนังรักเมโลดราม่า รักสามเส้า แต่หนังส่วนมากทุกทางออกจะอยู่ที่ศาสนาพุทธ ตัวละครจะเปลี่ยนไป มีทางออกเมื่อเจอพระหรือพระพุทธรูป”

แสงศตวรรษ โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถูกสั่งให้ตัดฉากสำคัญหลายฉากโดยชี้ว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์
แสงศตวรรษ โดย อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่ถูกสั่งให้ตัดฉากสำคัญหลายฉากโดยชี้ว่ามีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรศาสนาและองค์กรทางการแพทย์

ส่วนเวียดนามหลังการรวมชาติ เกิดการแบนหนังเวียดนามใต้ในยุคอเมริกา เก็บไว้เพื่อการศึกษาเท่านั้น

“ขณะที่มาเลเซียหลังปลดปล่อยจากอังกฤษไม่มีหนังชาตินิยมเลย เพราะช่วงหนึ่งโปรดิวเซอร์หนังเป็นคนจีนจากสิงคโปร์ โดยมีวิธีคิดแบบจีน ไม่มีแนวคิดชาตินิยมแบบมาเลเซีย ต่อมาการทำหนังบูมมาก มี 2 สตูดิโอที่ทำแข่งกัน คือ ชอว์บราเดอร์กับคาเธ่ย์ โดยคาเธ่ย์ทำหนังที่มีความเป็นมลายูมากขึ้น 2 สตูดิโอนี้ทั้งสร้างหนัง ฉายหนัง และขายหนัง ทำให้เกิดการผูกขาดภาพยนตร์คล้ายสภาพของไทยในตอนนี้ จนรัฐออกนโยบายการทำหนังเพื่อสู้กับชอว์บราเดอร์ว่า ในการสร้าง-ฉาย-ขายภาพยนตร์นั้น สตูดิโอจะเลือกทำได้เพียง 2 ใน 3 อย่าง คือ สร้างหนัง-ฉายหนังได้ หรือฉายหนัง-ขายหนังได้ เพื่อกีดกันไม่ให้สตูดิโอเอาพื้นที่ในโรงหนังฉายหนังตัวเองอย่างเดียว ขณะเดียวกันรัฐมีนโยบายคืนภาษี 25% ที่เก็บจากคนทำหนังต่างชาติให้แก่คนทำหนังเอาไปเป็นทุนทำหนังเพิ่ม แต่มีข้อแม้ว่า 70% ในหนังต้องเป็นภาษามลายู เป็นการกีดกันคนจีน”

วิวัฒน์ เล่าต่อถึง ฟิลิปปินส์ หลังปี 1972 เฟอร์ดินานด์ มาร์คอส ประกาศกฎอัยการศึก หนังทุกเรื่องต้องส่งเซ็นเซอร์พร้อมสคริปต์ให้มีอุดมคติตามแบบมาร์คอส วิธีแก้คือ คนหันไปทำหนังโป๊กัน แต่ขณะเดียวกันในหนังโป๊นั้นก็มีการสะท้อนสภาพสังคม ฉายภาพชีวิตที่ไม่น่าเจริญหูเจริญตาในแฟลตจนๆ เก่าๆ ความปรารถนาของคนหนุ่มสาวที่ต้องถูกปิดกั้น

เหล่านี้คือประเด็นที่ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา วิเคราะห์ผ่านภาพยนตร์ให้เห็นจุดร่วมในสังคมอุษาคเนย์ที่ต่อเนื่องลากยาวมา ตั้งแต่ยุคที่การทำภาพยนตร์เริ่มเป็นที่นิยม

แม้ในขณะนี้เองก็จะเห็นได้ว่า จุดร่วมหลายอย่างนั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image