หลังกำแพง”ป้อมมหากาฬ” อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา “เราต้องการผู้นำที่มีวิสัยทัศน์”

ยืดเยื้อยาวนานอย่างไม่มีทีท่าว่าจะจบได้โดยง่าย

กรณีชุมชน “ป้อมมหากาฬ” กับแผนพัฒนาเมืองเก่าของกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่นโยบายการพัฒนาของรัฐบาลที่ค่อนข้างออกมาปุ๊บปั๊บ และไม่ค่อยเปิดเผยรายละเอียดให้ประชาชนได้รับทราบ

การพัฒนาเมืองที่ขาดมิติ “มนุษย์” เริ่มต้นนับหนึ่งด้วยการปัดกวาดให้เหี้ยนเตียน ก่อนที่จะหย่อนสิ่งที่เรียกว่า “ความเจริญหูเจริญตา” เข้าไปแทน

เมื่อไม่ได้มองว่า “คน” กับ “พื้นที่” นั้นสัมพันธ์กันปัญหาต่างๆ จึงเกิดขึ้น

Advertisement

ดังกรณีของ “ชุมชนป้อมมหากาฬ” นั้นก็เช่นกัน เมื่อภาครัฐมองว่าการพัฒนาทำได้เพียงแบบเดียวนั่นคือเอาคนออก รื้อชุมชน แล้วเปิดพื้นที่โล่ง ขณะที่คนในชุมชนมองว่า คนกับโบราณสถานสามารถอยู่ด้วยกันได้ และชุมชนก็มี “คุณค่า” มากพอที่จะอาศัยอยู่ตรงนั้น ความขัดแย้งจึงบังเกิด

อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา ผู้กำกับภาพยนตร์อิสระ ซึ่งในวันนั้นคือนักศึกษาปริญญาโท คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ลงพื้นที่ไปคลุกคลีกับชาวบ้าน เก็บข้อมูลออกมาบอกเล่าให้กับคนภายนอกได้รับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น ซึ่งในที่สุดก็กลายเป็นภาพยนตร์สารคดีที่มีชื่อว่า “Behind the wall” (ได้รับรางวัลจากมูลนิธิหนังไทย) หนึ่งในเสียงสะท้อนที่น่าฟังที่สุดเสียงหนึ่งจากคนในชุมชนหลังกำแพง “ป้อมมหากาฬ”

“ชุมชนป้อมมหากาฬ” ที่วันนี้ความขัดแย้งต่างๆ ยังไม่จบ หลังกำแพงสูงใหญ่นั้นมีอะไร “และแนวทางจะเป็นอย่างไร”

Advertisement

ขอให้เจ้าของสารคดี Behind the wall ช่วยเล่าให้ฟัง

ย้อนกลับถึงที่มาที่ไปสารคดีกรณีชุมชนป้อมมหากาฬ?

ตอนนั้นช่วงปี พ.ศ.2545 ผมเรียนปริญญาโทที่ ม.ศิลปากร ด้วยความที่เรียนด้านออกแบบผังเมือง เลยมีโอกาสไปลงพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ เดินไปเรื่อยๆ ก็ได้เจอชุมชนนี้ ตอนแรกไม่รู้ว่าเขามีปัญหาอะไร พอเข้าไปดูก็ได้เจออาจารย์-นักวิชาการที่รู้จักมาลงพื้นที่ เขาเล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า ชุมชนมีปัญหาเรื่องการไล่รื้อ ชวนมาทำกิจกรรมด้วยกัน ตอนนั้นไม่คิดว่าจะทำเป็นสื่อแบบไหน แค่รู้สึกว่าทำอย่างไรให้เรื่องนี้ถูกพูดถึงในวงกว้าง คือ นักวิชาการเรื่องชุมชนก็ทำไป คนออกแบบก็ทำไป ฯลฯ หลายๆ คนช่วยกัน เลยคิดเรื่องการสื่อสารด้วยการทำเป็นสารคดี สื่อให้เข้าใจง่ายๆ ว่าคนในชุมชนเขาต้องการอะไร

พอเข้าไปแล้ว ผมก็ได้ซึมซับว่า ชาวบ้านมีปัญหาอะไร คือผมไม่ใช่เป็นนักข่าว ไม่ได้ต้องการหาประเด็นข่าวว่าเหตุการณ์วันต่อวันเป็นอย่างไร แต่ในฐานะคนที่มีความรู้เรื่องการออกแบบด้วย ก็อยากทำอะไรที่ให้เห็นเป็นภาพกว้าง เห็นความเชื่อมโยง ทำให้เห็นว่าเรื่องนี้ภาครัฐคิดแบบหนึ่ง ชาวบ้านนักวิชาการคิดแบบหนึ่ง ซึ่งการจะพัฒนาเมืองอย่างนี้ มันควรจะมีทางเลือกมากกว่า 1 แบบไหมนี่คือสิ่งที่คิดทำ

ที่ทำให้สนใจเรื่องชุมชนป้อมมหากาฬ?

ก็เริ่มต้นที่คำถามนี้ว่า ทำไมประเทศไทยไม่มีทางเลือกในการพัฒนา เวลาเราไปที่ไหนๆ ก็ตาม ทำไมเห็นแค่รูปแบบเดียว ทำไมปลูกหญ้าก็ปลูกอย่างเดียว การประกวดแบบทำไมไม่มีหลายๆ รูปแบบ แล้วหาตัวเลือกว่าแบบไหนดีด้านไหน เอามาทำประชาพิจารณ์กัน

ชุมชนป้อมมหากาฬก็เหมือนชุมชนที่แทรกตัวอยู่กลางเมืองเก่า ซึ่งบางทีเรามองจากข้างนอกเราจะกลัว ไม่กล้าเข้าไป เป็นกำแพงใหญ่มาก คนส่วนใหญ่ทำอาชีพที่สัมพันธ์กับพื้นที่ เช่น ขายของกิน มีช่างฝีมือ ทำเครื่องปั้น รองเท้า ฯลฯ ไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต แต่เป็นสัมพันธ์กับพื้นที่ เรื่องนี้สำคัญ เวลาเราพัฒนาพื้นที่ เราคิดคนเป็นยูนิตไม่ได้ สมมุติว่าคุณเป็นโปรแกรมเมอร์ ย้ายคุณไปทำงานตรงไหนก็ได้ แต่ตรงนี้ไม่ใช่ ต้องขายของตรงนี้

ภาครัฐต้องไม่ลืมว่าถ้าย้ายเขาออกไปจากพื้น แล้วสร้างใหม่ให้ ถามว่าทำได้มั้ย ทำได้ แต่กว่าจะก่อร่างสร้างตัวกันใหม่ได้มันยาก นี่เป็นปัญหาที่ธรรมดามากว่า แล้วใครจะไป (วะ) เมื่อมันทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่แค่มีที่ซุกหัวนอนนี่ แต่มันต้องมีอาชีพ

และเกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬนั้น คนที่เรียนประวัติศาสตร์จะรู้ว่า เมืองเก่านั้นจะมีกำแพงเมือง มีชุมชนติดกำแพงเมือง แล้วค่อยเป็นคูเมือง คือเวลามีข้าศึกยกทัพมาบุกรุกโจมตี ชุมชนที่อยู่ริมกำแพงเมืองพวกนี้จะตายก่อนใครเพื่อน ลักษณะผังเมืองเป็นแบบนี้ และปัจจุบัน ในเกาะรัตนโกสินทร์ ก็เหลือแต่เพียงที่นี่เพียงแห่งเดียว

การรื้อชุมชนเปิดพื้นที่?

แนวคิดเขาจะทำเป็น “Pocket Park” หรือสวนขนาดย่อมเพื่อรองรับคนมานั่งหย่อนตูดชิล..ชิล พักผ่อนสบายๆ แต่ถามว่า ถ้าบ้านผมอยู่ลาดพร้าว ผมจะมานั่งพักผ่อนอยู่ตรงไอ้สวนขนาดย่อมนี้มั้ย ไปสวนขนาดใหญ่อย่างสวนจตุจักร หรือสวนรถไฟไม่ดีกว่าหรือ หรือละแวกใกล้ๆ กับชุมชนป้อมมหากาฬ เลยไปอีกหน่อยก็มีสวนรมณีย์นาถ ไม่ห่างกันมาก ทำไมไม่ไปหย่อนตูดเอาตรงนั้น

กรณีที่เกิดขึ้น เป็นการปะทะกันด้านแนวคิดในการพัฒนา คือทางหนึ่งมองว่าต้องเคลียร์ก่อนแล้วค่อยมาเริ่มต้นกันใหม่ ขณะที่อีกแบบมองว่ามันมีทางเลือกอีกมากมายที่จะให้คนอยู่ร่วมกับชุมชนได้ ซึ่งแนวคิดแรกนั้นมันล้าสมัยไปแล้ว ทั่วโลกเขาไม่ทำกันแล้ว แต่บ้านเรายังตกค้างอยู่มาจนกระทั่งทุกวันนี้ เรื่องป้อมมหากาฬตอนปี 2545-2546 ตอนที่ผมลงพื้นที่ทำสารคดีเคยเป็นปัญหาอย่างไร มาถึงวันนี้ ผ่านมา 10 ปีแล้ว ก็ยังเป็นปัญหาเหมือนเดิม ที่ผ่านมาเหมือนเป็นการฆ่าเวลา

แนวคิดเรื่องพัฒนานี้มีมานานแล้ว?

ตั้งแต่ พ.ศ.2500 ต้นๆ จากนั้นเริ่มชัดขึ้นตอนปี พ.ศ.2525 ในวาระสมโภช 200 ปี รัตนโกสินทร์ ตอนนั้นมีการจัดอีเวนต์อะไรต่างๆ มากมาย และการประกวดแบบผังเมืองรัตนโกสินทร์ก็เป็นหนึ่งในโครงการนั้น ยุคนั้นเทคโนแครตคนสำคัญคือ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นคณะกรรมการ ก็จะมีการประกวด แล้วก็มีแบบที่ชนะการประกวด ซึ่งผมคิดว่าได้กลายเป็น “Master Plane” (มาสเตอร์ แพลน) ในการพัฒนา เพียงแต่ยังไม่ได้ลงถึงขั้นเอาปฏิบัติจริงได้ ซึ่งมาสเตอร์ แพลนนี้มีอิทธิพลต่อหน่วยงานราชการมาอย่างยาวนานจนปัจจุบัน อย่างการจะเปิดพื้นที่ริมน้ำ ท่าเตียน ท่าช้าง ก็เป็นแนวทางแบบนี้

ปัญหาของแนวคิดนี้คือไม่ได้เอามิติชุมชน ไม่ได้เอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเข้ามาเกี่ยวข้อง พูดง่ายๆ คือเป็นแบบที่ทำตามแล้วจะถ่ายรูปออกมาสวย ลองคิดเหมือนเฟรมถ่ายรูป ตรงไหนรก สกปรก ไม่น่าดูก็เอาออก วิธีคิดแบบนี้สะท้อนตรงริมถนนราชดำเนินกลาง บริเวณด้านหน้าโลหะปราสาท ซึ่งแต่เดิมคือที่ตั้งของโรงหนังเฉลิมไทย ซึ่งไม่ได้พัง ไม่ได้ทรุดโทรมอะไรเลยแต่ก็โดนรื้อออก ด้วยเหตุผลว่า โลหะปราสาทเป็นโบราณสถานสำคัญของรัตนโกสินทร์ ต้องเปิดให้ตรงนี้เป็นกุญแจเมือง ซึ่ง อ.ชาตรี ประกิตนนทการ มีวิธีคิดอีกแบบหนึ่งว่า สถาปัตยกรรมนั้นมียุคสมัยของมัน ไม่อาจเอามาเทียบได้ว่าอันไหนสำคัญกว่ากัน ตึกริมถนนราชดำเนินก็เป็นสถาปัตยกรรมของคณะราษฎร หากแต่สุดท้าย คณะราษฎรก็แพ้ รวมถึงกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรด้วย ในที่สุดก็โดนรื้อ

อภิวัฒน์ ป้อมมหากาฬ

มุมมองที่ควรมีต่อเรื่องนี้?

ผมคิดว่าเราน่าจะมองมุมใหม่ได้แล้ว ปัญหาที่เกิดตอนปี พ.ศ.2545-2546 มาถึงวันนี้ก็ยังเป็นเหมือนเดิม ไม่มีอะไรใหม่ ภาครัฐก็ยังคิดที่จะทำแบบเดิม ไม่ได้สรุปแบบเรียนอะไรเลย อย่างเรื่องการพัฒนานี้ เท่าที่ผมรู้ตอนลงพื้นที่ทำสารคดีเห็นว่ามีอย่างต่ำถึง 3 แผนที่ซ้อนกันอยู่ นั่นคืออย่างต่ำนะที่จะกระทบกับชุมชนป้อมมหากาฬ

หนึ่ง คือเรื่องสวนของ กทม. เรื่องที่ สอง คือในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรีก็มีเรื่องแผนพัฒนาแม่บทริมถนนราชดำเนินและพื้นที่ต่อเนื่อง ที่เรียกว่าชองเอลิเซ่ ซึ่งชุมชนป้อมมหากาฬก็เป็นซับเซตหนึ่ง และ สาม โครงการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแกนหลักแล้วขยายออก

ต่อ ให้ไม่ใช่ กทม. คิดว่าอย่างไรชุมชนป้อมมหากาฬก็จะมีปัญหา เพราะดันอยู่ใจกลางพื้นที่ของการพัฒนา จะโดนต่างวาระกันไปแน่ๆ หากผู้นำไม่มีวิสัยทัศน์ในเรื่องนี้

ที่ผ่านมาเดี๋ยวก็เกิดเรื่องแล้วเงียบไป แล้วก็เกิดใหม่อีก?

นี่ ไงที่ว่าไม่มีวิสัยทัศน์ คือภาครัฐไม่ละเอียดถี่ถ้วน ไม่วางแผนอย่างเป็นระบบ คือชอบใช้คำว่าบูรณาการแต่ว่าไม่เอาตัวอย่างที่ผ่านมามาศึกษา กรณีอย่างนี้ กทม.ชนกับชาวบ้านแต่ไหนแต่ไรมา กี่ปีแล้วตั้งแต่คุณสมัคร สุนทรเวช คุณอภิรักษ์ โกษะโยธิน ถึงปัจจุบัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เปลี่ยนมาตั้งกี่ยุคกี่สมัยแล้ว ทำไมไม่คุยกันเรื่องนี้ให้จบ

ถ้าจะให้ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เราต้องมองให้ไกลกว่าป้อมมหากาฬ แผนทุกอย่างต้องแบให้ประชาชนเห็นว่ากำลังจะทำอะไร แผน กทม.ภาพใหญ่คืออะไร และไม่เฉพาะ กทม.เท่านั้น แผนรัฐบาลภาพใหญ่คืออะไร กางออกมาให้เห็นเลยว่าเกาะรัตนโกสินทร์ที่จะพัฒนาจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ชุมชนไหนจะโดนอะไร แผนเป็นอย่างนี้นะ หากตรงนี้ไม่เอาเลี่ยงได้มั้ย เป็นอย่างอื่นได้มั้ย หรือไอ้สวนสาธารณะที่บอกว่าจะเปิดพื้นที่นี้ คนต้องการจริงมั้ย

ต้องบินให้สูงขึ้นมาจะเห็น แผนไหนมีปัญหา อย่างกรณีป้อมมหากาฬ คุณก็แค่บอกว่าจะเปิดพื้นที่ เห็นแต่ป้อมมหากาฬ คนที่ไม่มีข้อมูลหรือพื้นหลังเรื่องพื้นที่ก็จะเห็นว่า เออ…ดีนี่หว่า สนับสนุนให้รื้อ แต่คุณไม่ได้บอกว่าเปิดพื้นที่แล้วไปไหน เปิดตรงนี้ก็ไปชนกับตึกขายไม้ที่อยู่ติดกัน คือจะต้องชนกับอะไรแบบนี้อีกมากแค่ไหน จะทำอย่างนี้ไปอีกเยอะมั้ย

ถึง บอกว่าต้องกางแผนให้เห็น ใครจะได้ ใครจะโดน เรื่องทางจักรยานริมแม่น้ำ 14 กิโลเมตร อะไรนี่ก็กางมาเลย ไม่ใช่จู่ๆ ก็โผล่ขึ้น ทุกวันนี้คนไม่รู้ข้อมูลจะมองเรื่องการพัฒนาเป็นเรื่องที่ดีอย่างเดียว คุณต้องมองภาพรวม พัฒนาตรงนี้แล้วอย่างไรต่อ ไปอย่างไรอีก มองให้เห็นความเชื่อมโยง

ปัญหาใหญ่สุดของการพัฒนาเมืองเก่า?

การบาลานซ์ ให้สมดุลระหว่างคนที่อยู่เก่ากับสิ่งใหม่ๆ ที่จะเข้ามาผสมกัน คุณต้องการพัฒนา แต่จะทำอย่างไรให้คนอยู่เก่าตั้งตัวได้ อยู่ต่อไปได้ด้วย ซึ่งวิธีปัจจุบันที่ผมเห็นตลอดมาคือขึ้นค่าเช่าบีบเขา ให้เขาอยู่ไม่ได้ ทำให้เอกลักษณ์ของเขาหายไป เช่น เราเคยไปกินอาหารอร่อยๆ เจ้าหนึ่ง แต่วันหนึ่งโดนขึ้นค่าเช่า อยู่ไม่ได้ สุดท้ายกลายเป็นโมเดิร์น เทรด หมดเลย

คือคุณต้องทำให้คนเก่าอยู่ได้แบบดีขึ้น สะอาดขึ้นด้วยการออกแบบ เช่น แต่ก่อนตรงนี้จอดรถเละเทะ ก็ต้องมาจัดการใหม่ สายไฟเอาลงดินซะ จัดการเรื่องการท่องเที่ยวให้ชาวบ้านอยู่ได้

จริงอยู่ว่าคนที่เห็น แก่ตัวก็มี เช่าที่ราคาถูกเก็บของอย่างเดียว ไม่เปิดเป็นน่าร้านก็มี อย่างนี้ก็ต้องเข้าไปจัดการ หรือจะทำอย่างไรที่จะทำให้ตรงนั้นมันเกิดประโยชน์ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการไล่ รื้อให้ออกไปทั้งหมด อย่างร้านมนต์นมสด เขาปรับตัวได้ กลายเป็นแบรนด์ของเขา นี่คือศักยภาพการทำธุรกิจ มันไม่จำเป็นต้องเป็นร้านแมคโดนัลด์ ไม่จำเป็นต้องโมเดิร์น เทรด อย่างเดียว ไม่ใช่บีบให้ย้ายที่ มันควรมีคณะกรรมการนั่งดูเลยว่าควรจะอนุรักษ์อะไร ย่านนี้ โซนนี้มีอะไร

ประเทศไทยมีปัญหาอะไรกับการพัฒนา?

ไม่ เคยชัดเจน มันมีเจ้าภาพหลายเจ้าภาพมาก ทำให้เราไม่เห็นภาพรวมชัดๆ ว่า เฟสหนึ่งทำอย่างไร เฟสสองอย่างไร หรือ เฟสสามทำอย่างไร คือมันไม่ใช่มาสเตอร์แพลนจริงๆ ไม่ใช่สิ่งที่เชื่อมโยงเห็นกันชัดจริงๆ แต่นี่เหมือนกว้างๆ แผนหนึ่งมีอยู่แล้ว และจู่ๆ ก็โผล่มาอีกหนึ่งแผน ก็โผล่มาอีกหนึ่งแผน ซึ่งบางทีก็คล้ายๆ กัน แต่ไม่มีความเชื่อมโยงกันเลย

แผนมันต้องชัดเจน เฟสแรกนี่กี่ปีบอกมาชัดๆ ทำอะไรบ้าง เฟสสองมีอะไร ทำไร ต้องเห็นภาพรวมทั้งหมดว่าตรงนี้จะเกิดอะไรขึ้น โซนนี้จะเป็นอย่างไรเพื่อให้ประชาชนทุกคนได้เห็นภาพร่วมกัน

แต่ตอนนี้ไม่ใช่ เหมือนมีหลายเจ้าภาพ เจ้าภาพไหนคิดอะไร ฝันอะไรได้ก็ทำ ไม่ลงรายละเอียด ไม่เห็นวิธีการทำงาน นี่คือปัญหา

โครงการพัฒนาเมืองโครงการไหน ที่คิดว่าจะมีผลกระทบมาก?

โครงการ พัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยา คือเรื่องเลนจักรยาน 14 กิโลเมตร นี่เป็นเพียงซับเซตหนึ่งของโครงการนี้นะ ผมเคยเห็นแผนว่าลามไปถึงฝั่งธนบุรีด้วย เรื่องนี้มีมาสเตอร์แพลนจากไอเดียของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา นานแล้ว มันเคยมีเป็นเล่มออกมา มันทำให้เราคิดว่า แค่ชองเอลิเซ่ หรือพัฒนาถนนราชดำเนินขยายไป 2 ฝั่งนี้ว่าหนักแล้ว พอมาเกิดเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาขยายไป 2 ฝั่งนี่หนักยิ่งขึ้นอีก คือ ชุมชนเต็มไปหมดเลย ถ้าใช้วิธีการพัฒนาแบบเดิมๆ คือ เอาคน เอาชุมชนออกก่อน เป็นมหากาพย์ไล่รื้อแน่

นี่เป็นเรื่องใหญ่ พื้นที่ริมแม่น้ำถ้าทำถูก พัฒนาดีๆ จะมีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก ทำให้เมืองสวยงาม ชาวบ้านอยู่ด้วยก็มีชีวิต

แต่ถ้าทำผิด เละแน่

 

“ผมจะใช้รถไฟความเร็วสูง ขนผักจริงๆ นะ”

ก่อนหน้าที่หลีกหนีความวุ่นวายของเมืองใหญ่ ไปๆ กลับๆ ระหว่าง จ.สระบุรี กับ กรุงเทพมหานคร

อภิวัฒน์ แสงพัทธสีมา คือหนึ่งในนักกิจกรรม ผู้ตามเก็บภาพเคลื่อนไหวห้วงเวลาความวุ่นวายทางการเมืองของประเทศไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา

จุดเปลี่ยนของเขาวันนี้อาจอยู่ที่ “ตลาดกวางทอง” อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ริมถนนมิตรภาพ

ที่ดินของครอบครัวซึ่งกำลังได้รับการพัฒนา ทำให้อภิวัฒน์ต้องเดินทางกลับไปเยือนบ้านและเริ่มลงมือทำอะไรหลายอย่าง

เห็นและเข้าใจชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชนชาวแก่งคอยมากขึ้น

แรกที่นัดพูดคุยกับเขา…

เรานัดกันที่ “โรงแรมเกียวอัน” ใจกลางเมืองสระบุรี

อาหาร อร่อยสูตรต้นตำรับมาเสิร์ฟ นั่งฟังผู้กำกับหนังอิสระ มหาบัณฑิตสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ศิลปากร ผู้นี้พูดถึงเรื่องการมาใช้ชีวิตระยะหนึ่งใน จ.สระบุรี ทำโน่น ทำนี่มากมายอยู่ต่างจังหวัดแล้วอยากไปเห็นสถานที่จริง

ขณะขับรถมุ่ง หน้า อ.แก่งคอย เขาบอกว่า “เบื่อ กรุงเทพฯรถติด…จากสระบุรีไปแก่งคอย 10 กว่ากิโล ขับรถแป๊บเดียว แต่ถ้าเป็นในกรุงเทพฯ โห”

เขาเล่าดวงตาเป็นประกาย ก่อนจะเอ่ยชักชวนว่า “มาซื้อที่อยู่แถวนี้มั้ย”

คุยกันเรื่องการทำตลาด ขยับมาสู่เรื่องการปลูกผักไฮโดรโปรนิก อภิวัฒน์มีความคิดที่จะทำฟาร์มเล็กๆ ปลูกผักง่ายๆ ส่งเข้าไปขายโดยตรงในกรุงเทพฯ แบบชนิดที่ว่าถึงมือผู้บริโภค

“ถ้ามีรถไฟความเร็วสูงก็ดี…จะบอกว่าสร้างมาขนผักเหรอ เออ ผมขนจริงๆ นะ และในบางประเทศที่เขาเจริญแล้วก็ใช้ขนผักจริงๆ เช่าทั้งโบกี้เลย เป็นห้องเย็นขนผัก อย่างจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯไม่กี่ชั่วโมง ขนได้เลย ทั้งโบกี้ เยอะแยะเลย แทนที่จะใช้รถขนกันเป็นวัน

“ถ้ารถไฟความเร็วสูงมาลงสถานีสระบุรี ใช้เวลาเดินทางเข้ากรุงเทพฯครึ่งชั่วโมง ผมขนผักขึ้นรถไฟความเร็วสูงจริงๆ นะ”

ว่าพลางหัวเราะ ไม่ใช่พูดเล่นๆ ตลกๆ หากแต่เป็นเรื่องจริง

ขณะเดียวกันก็ยังย้ำชักชวนมาปลูกผัก ทำสวนอยู่ด้วยกันชานเมืองนี้เพื่อหนีปัญหาวุ่นวายในกรุงเทพฯ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image