‘สตาร์ตอัพ’มาแล้ว

แจ๊ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา

ยุคนี้ ใครๆ ก็อยากเป็นผู้ประกอบการ “สตาร์ตอัพ” แม้อาจจะไม่ได้คิดฝันถึงความสำเร็จแบบเดียวกับ “มาร์ค ซักเคอร์เบิร์ก” เจ้าพ่อ “เฟซบุ๊ก” เพราะจากสถิติก็ชัดเจนว่าในบรรดาแอพพลิเคชั่นทั้งหลายที่พัฒนากันออกมาเป็นร้อยพันหมื่นแสนในปัจจุบันนั้น มีจำนวนน้อยยิ่งกว่าน้อยที่ประสบความสำเร็จในแง่รายได้

แต่ใครๆ ก็ยังอยากเป็นเจ้านายตัวเองดูสักตั้ง คงเพราะการเริ่มต้นไม่ได้ยากเย็นอะไรนัก ถ้ามี “ไอเดียดีๆ” มีทีมที่พร้อมพัฒนาไอเดียให้เป็นบริการที่จับต้องได้จริง ก็มีโอกาสเสนอตัวหาเงินหาผู้ร่วมลงทุนด้วยได้

ไม่เฉพาะกองทุนทั้งไทยและต่างประเทศเท่านั้นที่กำลังให้ความสนใจ ภาครัฐเองก็ชัดเจนว่ามีนโยบายในการส่งเสริมสนับสนุน และผลักดันให้เกิดสตาร์ตอัพหน้าใหม่ๆ อย่างเป็นจริงเป็นจังผ่านกองทุนที่กำลังจะจัดตั้งขึ้นใหม่ 2 กองทุน นำโดยกระทรวงการคลัง และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ที่กำลังจะเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในปลายปีนี้

จังหวะนี้จึงนับเป็นปีทองของผู้ประกอบการ “สตาร์ตอัพ” อย่างแท้จริง

Advertisement

“สตาร์ตอัพ” เป็นธุรกิจที่เน้นเรื่องไอเดีย และเริ่มต้นได้จากคนเพียงไม่กี่คน ด้วยต้นทุนที่ไม่สูงนัก แต่สามารถสร้างการเติบโตได้รวดเร็วภายในระยะเวลาไม่นาน????????

สตาร์ตอัพเป็น “เอสเอ็มอี” ได้ แต่ไม่ใช่ว่าเอสเอ็มอีทุกรายจะเป็น “สตาร์ตอัพ” ได้ เรืองโรจน์ พูนผล ผู้เชี่ยวชาญด้านการบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ตอัพให้คำนิยามว่า “สตาร์ตอัพ” คือเอสเอ็มอีที่สร้างการเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เป็นสิบเป็นร้อยเท่า

สิ่งที่สตาร์ตอัพแตกต่างจากเอสเอ็มอี คือ 10X thinking คือต้องคิดมากกว่าสิบเท่า โตเร็วกว่าสิบเท่า และแก้ปัญหาด้วยวิธีที่ดีกว่าเดิมสิบเท่า

Advertisement

“สตาร์ตอัพสำหรับผมเป็นเรื่องของ mindset โดยมีเทคโนโลยีเป็นแค่ส่วนหนึ่ง”

ผู้ประกอบการในสตาร์ตอัพ ควรมี “ดีเอ็นเอ” ที่สำคัญ 3 อย่างด้วยกัน?1.ทำตัวเป็นน้ำครึ่งแก้วที่พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แต่รู้ลึกรู้จริงในด้านใดด้านหนึ่ง 2.ชอบตั้งคำถาม และ 3.มีความปรารถนาอย่างแรงกล้า

“สตาร์ตอัพมีวิธีสร้างการเติบโตที่ต่างออกไป ซึ่งเอสเอ็มอีไม่มีวิธีคิดแบบนี้ และใช้เงินลงทุนค่อนข้างเยอะ ขณะที่สตาร์ตอัพใช้เงินน้อยกว่าเพราะเรียนรู้ที่จะใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี” เรืองโรจน์ย้ำ

สตาร์ตอัพด้านนวัตกรรมที่มีการพูดถึงกันมากในบ้านเรา ขณะนี้ คือ “ฟินเทค” (FinTech = Finance+Technology) ดังจะเห็นได้จากการที่แบงก์ใหญ่ๆ ในบ้านเราหลายรายประกาศแผนการลงทุนในฟินเทคอย่างเป็นจริงเป็นจังมากขึ้น

ว่ากันว่า ธุรกิจการเงินเป็น (อีก) ธุรกิจที่กำลังเผชิญความท้าทายครั้งสำคัญ

“ฟินเทคในบ้านเรามาแรง เพราะองค์ประกอบหลายอย่างเริ่มลงตัว ไม่ว่าจะเป็นจำนวนผู้ใช้มือถือในประเทศไทย การที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มมีกฎหมายสนับสนุนคลาวด์ฟันดิ้ง ในขณะที่แบงก์ต่างๆ หันมาลงทุนในฟินเทคมากขึ้น อาจเพราะเริ่มเห็นตัวอย่างในต่างประเทศแล้วว่าโปรดักส์แต่ละอย่างเริ่มโดนปฏิวัติ โดยสตาร์ตอัพที่ทำแอพพลิเคชั่นได้ดีกว่า เช่น แอพพลิเคชั่นที่ให้คนใช้กู้ยืมเงินระหว่างกันได้ เป็นต้น”

ในต่างประเทศมีการคาดการณ์กันว่าใน 5 ปีข้างหน้า 30% ของผลกำไรทั้งหมดของแบงก์จะไปตกอยู่กับ “ฟินเทคสตาร์ตอัพ” และ 50% ของพนักงานแบงก์มีโอกาสตกงาน

เริ่มเกิดขึ้นแล้วในยุโรป สหรัฐอเมริกา และจีน

“อาลีบาบา ผู้ประกอบการอีคอมเมิร์ซของจีนก็ดึงกำไรจากแบงก์มาได้แล้วถึง 6% เพราะปล่อยกู้ให้เอสเอ็มอีโดยตรง เพราะอาลีบาบารู้ข้อมูลเอสเอ็มอีทั้งหมดจากคนที่มาขายของบนเว็บไซต์”

ธุรกิจธนาคารกำลังเดินมาสู่จุดที่เรียกว่า “อูเบอร์โมเมนต์” อารมณ์เดียวกับที่แอพพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ที่กำลังได้รับความนิยมทั่วโลก รวมถึงในบ้านเราอย่าง “อูเบอร์” เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลง และผลกระทบให้ธุรกิจแท็กซี่นั่นล่ะ

เทคโนโลยี “ดิจิตอล” กำลังเข้ามาทลายกำแพง (หลาย) ธุรกิจ ไม่เฉพาะแค่ในธุรกิจด้านการเงิน

“สมัยก่อนอินเตอร์เน็ตกับดิจิตอลเป็นอุตสาหกรรมในตัวมันเอง ไม่เกี่ยวกับใคร แต่ตอนนี้เข้าไปเกี่ยวในทุกอุตสาหกรรม เรียกว่า กำลังปฏิวัติทุกอุตสาหกรรม ทั้งแบงกิ้ง, การคมนาคมขนส่ง, อีคอมเมิร์ซ, ท่องเที่ยวโรงแรม ด้วยบริการอย่างอูเบอร์, แอร์เอบีเอ็น, อาลีบาบา และอื่นๆ อีกมากมายที่กำลังทยอยออกสู่ตลาด”

“ซีอีโอ” ของแบงก์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกเขียนในสารถึงผู้ถือหุ้นว่า เขาไม่เคยกลัวแบงก์คู่แข่งเลย แต่กลัว “ซิลิคอน วัลเลย์” โดยใช้คำว่า “silicon valley is coming”

ประโยคข้างต้นน่าจะตั้งใจล้อคำพูดของตัวละครในซีรีส์ดัง Game of Thrones ที่มักพูดว่า “Winter is coming”

“Winter is coming” ใน Game of Thrones เป็นคำพูดเพื่อเตือนถึงภยันตรายที่กำลังจะมาถึงในช่วงฤดูหนาวอันแสนยาวนานเพื่อให้ทุกคนไม่ประมาท และเตรียมใจเตรียมตัวให้พร้อมรับมือกับสิ่งที่ต้องเผชิญ

การเกิดขึ้นของเทคสตาร์ตอัพจึงเป็นได้ทั้งโอกาสและวิกฤตที่ส่งผลสะท้านสะเทือนธุรกิจดั้งเดิมด้วยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ที่สำคัญยังเกิดขึ้นในอัตราเร่งที่รวดเร็วมาก

วันนี้ ธุรกิจไทย คนไทย เตรียมรับมือกับสิ่งเหล่านี้แล้วหรือยัง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image