เดินไปในเงาฝัน : คารวาลัย‘อาจินต์ ปัญจพรรค์’ โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

ผมชอบประโยคหนึ่งที่ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ พูดถึง อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในรายการสยามศิลปินนานมาแล้วว่า…อาจินต์ศรัทธาในความเป็นคนสูง ศรัทธาในความยุติธรรม และศรัทธาในการต่อสู้ เพราะฉะนั้น ตัวละครทุกตัวในเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่จะมีสิ่งเหล่านี้ซ่อนอยู่เสมอ ไม่เชื่อคุณลองอ่านตัวละครของอาจินต์ดูสิ

ซึ่งก็เป็นจริง

ทั้งนั้นเพราะตลอดชีวิตผ่านมา “ลุงอาจินต์” ผ่านเรื่องราวมากมายทั้งทุกข์ และสุข สมหวัง และผิดหวัง แต่กระนั้นเขาก็ไม่ได้มองเรื่องราวผ่านมาเป็นเคราะห์กรรม

ตรงข้าม “ลุงอาจินต์” กลับนำเรื่องราว และประสบการณ์เหล่านั้นมาสร้างเป็นงานประพันธ์,
บทละคร,บทโทรทัศน์,เพลง,คำโฆษณา และอื่นๆ อีกมากมาย

Advertisement

แม้กระทั่งการสร้างความเชื่อใหม่ในขณะนั้นว่า…5 บาทที่ท่านจะกินโอเลี้ยง 5 แก้ว ขอให้ข้าพเจ้าเถิด แล้วเอาหนังสือที่ใช้เนื้อหนังเป็นกระดาษ เอาโลหิตเป็นหมึกเล่มนี้ไปอ่าน ได้ความขม ความหวาน และเก็บไว้ได้ยั่งยืนกว่าโอเลี้ยงมากนัก

อันเป็นคำกล่าวของ “ลุงอาจินต์” ขณะทำสำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้ว ที่หาญกล้าพิมพ์คำโปรยปกบอกผู้อ่านว่า…เขียนเอง พิมพ์เอง ขายเอง

จนทำให้สำนักพิมพ์โอเลี้ยง 5 แก้วพัฒนามาเป็นพ็อคเก็ตบุ๊กที่มีนักเขียนนามอุโฆษใต้ฟ้าเมืองไทยมาร่วมกันเขียนเรื่องสั้นอย่างมากมาย ก่อนที่จะต่อยอดมาเป็นนิตยสารฟ้าเมืองไทย,
ฟ้าเมืองทอง,ฟ้านารี และฟ้าอาชีพในที่สุด

Advertisement

ยิ่งเฉพาะ “ฟ้าเมืองไทย” ที่ต้องยอมรับว่าคอลัมน์ “เขาเริ่มต้นที่นี่” นับเป็นคอลัมน์หนึ่งที่สร้างนักเขียนใหม่ประดับวงการวรรณกรรมในขณะนั้นเป็นจำนวนมาก

แม้หลายคนจะจากลาโลกนี้ไปแล้วก็ตาม

แต่คำว่า “ตะกร้าสร้างนักเขียน” ก็เป็นปรากฏการณ์หนึ่ง ที่ทำให้นักเขียนสมัยนั้นอยากผ่านด่านบรรณาธิการนาม อาจินต์ ปัญจพรรค์เพราะเขาไม่เพียงดำรงตนเสมือนพี่ เพื่อน น้อง หากบางครั้งมีเวลา ยังทำหน้าที่ “ครู” แห่งวงการวรรณกรรมด้วย

ไม่ว่าจะเป็นการเขียนแนะนำ

เขียนไปรษณียบัตรไปชมเชย

หรือช่วยตรวจทานต้นฉบับให้บางส่วน

สิ่งต่างๆ เหล่านี้ แม้ผมจะไม่ทันยุคของ “ลุงอาจินต์” เพราะยังเด็กเกินไป แต่กระนั้น เมื่อโลกของการอ่าน และการทำงานพานพบให้ผมมาเจอ “ลุงอาจินต์” บ้างเป็นบางครั้ง

จึงทำให้ผมรู้สึกเกร็งอยู่เสมอ

ทั้งๆ ที่ “ลุงอาจินต์” ดำรงตนอย่างปกติ แต่เรากลับรู้สึกไปเอง อยากถามก็ไม่กล้า อยากถ่ายรูปด้วยก็ไม่กล้า อยากขอลายเซ็นก็ไม่กล้า

ที่สุดวันเวลาก็ผ่านเลยไป

กระทั่งวันหนึ่ง เมื่อผมมีโอกาสเขียนคอลัมน์เรื่องเล่าจากโครงกระดูก ในจุดประกายวรรณกรรม หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจเมื่อหลายสิบปีผ่านมา

โดยใช้นามปากกา “ต้นสกุล สุ่ย” เพื่อเขียนบอกเล่าเรื่องราวของเพื่อน พี่ น้องในวงการนักประพันธ์สมัยอดีตที่ต่างเขียนคำไว้อาลัยให้กับนักประพันธ์ที่เขาชื่นชอบ รู้จัก และเคยมีประสบการณ์ร่วมกันสมัยที่ยังมีชีวิตอยู่ลงในหนังสืออนุสรณ์งานศพ

เพราะส่วนตัวผมสะสมหนังสืองานศพไว้เยอะ ยิ่งเฉพาะหนังสืองานศพของเหล่าบรรดานักประพันธ์ชั้นครู ผมจึงนำมาแยกแยะ เพื่อแบ่งแยกว่าในกลุ่มก้อนของนักประพันธ์แต่ละคนใครคือเพื่อนเขาบ้าง

ใครคือมิตรแท้

และใครคือเพื่อน พี่ น้องที่ช่วยเหลือกันมาทั้งในยามทุกข์ และยามสุข

จากงานเขียนในคอลัมน์ ต่อมาสำนักพิมพ์แห่งหนึ่งติดต่อเพื่อตีพิมพ์เป็นพ็อคเก็ตบุ๊กในชื่อเรื่องว่า…หนังสือเล่มสุดท้าย

ผมจึงหอบสำเนาต้นฉบับเข้าไปหา “ลุงอาจินต์” ที่บ้านสุทธิสาร เพื่อขอให้ช่วยเขียนคำนิยมให้ “ลุงอาจินต์” ไม่ปฏิเสธ ทั้งยินดีที่จะเขียนให้ เพราะเขาเองเคยอ่านคอลัมน์นี้มาก่อน

ในคำนิยมมีความท่อนหนึ่งที่ “ลุงอาจินต์” เขียนบอกว่า…ที่ท่านถืออยู่ในมือนี้เป็นหนังสือซ้อนหนังสือ เขียนโดย “ต้นสกุล สุ่ย” นักเขียนหนุ่มผู้มีฝีมือ กล่าวถึงบรรดานักเขียนผู้รุ่งโรจน์ในอดีต ซึ่งหมู่พวกเพื่อนเกลอของแต่ละคน เขียนคำนิยมบูชาไว้ในหนังสืออนุสรณ์ผู้จากไป

แต่ละเล่ม หลายเล่ม

ผู้เขียนแต่ละคนล้วนมีฝีมือฉกาจฉกรรจ์ได้เพ่งเจตสิกเขียนถึงปิยมิตรผู้ได้ล่วงลับไป,มันเป็นอักษรไทยที่ใช้แทนธูปหอม และพวงมาลัยประดับอนุสาวรีย์เพื่อนนักเขียนสุดรักของตน

ผมนะอ่านซีร็อกซ์ที่เขานำมาให้ผมอ่านแล้ว แต่ผมก็จะอ่านตัวพิมพ์ในหนังสือเข้าเล่ม,ตัดริม,เย็บปกให้เป็นหนังสือมาตรฐาน,เล่มนี้-อีกครั้ง,และอินฟินิตี้

เบื้องต้นคือความบางส่วนที่ “ลุงอาจินต์” เขียนคำนิยมให้ผม อันบ่งบอกถึงความเป็น “ลุงอาจินต์” ที่เป็นคนให้เกียรติคน แม้คนคนนั้นจะเป็นเด็กน้อยที่พลัดหลงเข้ามาเขียนหนังสือก็ตาม

แต่ “ลุงอาจินต์” ก็ยินดีเขียนคำนิยมให้

ทั้งยังบอกให้ผมทำงานเขียนอย่างต่อเนื่อง อย่าได้ทิ้งเป็นอันขาด ซึ่งผมก็นำคำพูดของ “ลุงอาจินต์” มาทำงานเขียนอย่างต่อเนื่องจนทุกวันนี้

ทุกวันที่แม้จะไม่มีคุรุแห่งวงการประพันธ์อีกแล้วก็ตาม
แต่ผมก็ยังรำลึกถึง “ลุงอาจินต์” อยู่เสมอ

แม้กระทั่งปัจจุบันนี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image