ตับอะไรที่ร้อนจนแตก

ใกล้เปิดภาคเรียนใหม่เข้ามาทุกที น้องหนูเตรียมตัว “Back to School” กันได้แล้ว แต่ยังมีเวลาอีกครึ่งค่อนเดือนที่จะมีโอกาสทำนั่นทำนี่

เดือนเมษายนที่ผ่านมาถึงวันนี้ อากาศประเทศไทยในทุกภาค ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสาน ภาคกลาง ภาคตะวันออก ลงไปถึงภาคใต้ จากรายงานบ่งบอกอุณหภูมิสูง 44-45 องศาเซลเซียส ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อน โดยเฉพาะช่วงปลายเดือน

นับเป็นปีที่อากาศร้อน “สุดสุด” ไม่ทราบว่านานกี่สิบปีมาแล้ว

อากาศร้อนอย่างนี้ ทำให้รู้ถึงความหมายของคำสองคำที่เกี่ยวกับอากาศร้อน

Advertisement

คำหนึ่งเป็นอาการของคน เป็นคำอุปมาหรือเปรียบเทียบให้เห็นว่าเหนื่อย หรือร้อน คือ “ตับแลบ”

พจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547 บอกว่า เหนื่อยมากอย่างสาหัสเพราะทำอย่างรีบเร่ง เช่น วิ่งตับแลบ ส่วนพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 อธิบายว่า มีอาการเหนื่อยมาก เช่น วิ่งเสียจนตับแลบ แต่ไม่ยักกะมีคำว่า ร้อนจนตับแลบ หรือว่าความร้อนของอากาศไม่ทำให้ตับแลบ

มีอีกคำหนึ่งที่ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) คนกรุงเทพฯเข้าใจผิดมานาน คือคำว่า “ตับแตก”

Advertisement

น้องหนูทั้งที่อยู่กรุงเทพมหานครและอยู่ในจังหวัดภาคอีสาน ภาคเหนือ เคยได้ยินคำนี้ไหม แล้วรู้ความหมายไหมว่า หมายถึงอะไร

ความที่ไม่ค่อยรู้เรื่องภาษา เมื่อได้ยินว่า “ตับแตก” และ “ร้อนจนตับแตก” เข้าใจว่าอากาศร้อนจน “ตับ” ในร่างกายของเราแทบแตก

เพิ่งทราบความหมายที่แท้จริงเมื่อไม่นานวันมานี้ ขณะเดินออกกำลังกายร่วมกับบรรดา ส.ว.ทั้งหลายที่มาจากต่างแห่งหนตำบล คนหนึ่งมาจาก จ.ตาก คนหนึ่งมาจากจังหวัดในภาคกลาง อีกคนหนึ่งมาจากจังหวัดไหนจำไม่ได้

ส่วนข้าพเจ้า (ผู้เขียน) เป็นคนกรุงเทพฯทั้งแท่ง หมายถึงเกิดและเติบโตในสองจังหวัดใกล้ชิดติดกันคือ จังหวัดพระนครและจังหวัดธนบุรี ที่วันนี้รวมกันเป็นกรุงเทพมหานคร ไม่นับเป็นจังหวัด แต่นับเป็นเขตปกครองพิเศษ มีสถานะเป็นนครหลวงและศูนย์กลางของประเทศ

บรรดา ส.ว.ที่มาออกกำลังกายทุกเช้า บางคนตั้งแต่ตีห้า บางคนตีห้าครึ่ง บางคนหกโมงเช้า บางคนสายกว่านั่นนิดหน่อย

เรามีเรื่องคุยกันทุกเช้า บางเรื่องเกิดจากข่าวเมื่อคืน บางเรื่องเพิ่งทราบจากข่าวโทรทัศน์เมื่อเช้ามืดนี้เอง บางข่าวใครทราบนำมาเล่าสู่กันฟัง

ฟังแล้ววิพากษ์วิจารณ์ตามประสา “คอการเมือง” บ้าง “คอข่าว” บ้าง และเป็นผู้ติดตามสถานการณ์บ้าง ตามแต่ใครถนัดทางไหน

หลายครั้งผู้ที่อาวุโสและรอบรู้เกี่ยวกับต้นไม้ใบหญ้าว่าถึงต้นหญ้าต้นไม้ที่ขึ้นตรงนั้นตรงนี้กินได้ มีรสชาติเปรี้ยว ฝาด ต้องกินกับแกงไตปลา กินกับน้ำพริก กินกับปลาร้า

ที่สุด เช้าวันนั้นอากาศร้อนเป็นพิเศษ ใครคนหนึ่งโพล่งขึ้นมาว่า แหม ร้อนจนแทบตับแตก

เท่านั้นแหละ ผู้รู้ถามขึ้นมาว่า รู้ไหม “ตับแตก” หมายถึงอะไร

ข้าพเจ้า (ผู้เขียน) ตีหน้าเหลอ เมื่อได้รับคำอธิบายต่อจากนั้นว่า “ตับแตกหมายถึงตับจากมุงหลังคา เมื่อถูกความร้อนมากๆ จึงแตกออกจากกันเสียงดังเปรี๊ยะ” แล้วอีกคนสนับสนุนว่า “ใช่”

ความที่ชอบรู้ความหมายของคำโน้นคำนี้ และต้องการรู้ความหมายที่แท้จริงจากราชบัณฑิต สังกัดราชบัณฑิตยสถาน จึงรีบเปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ปรากฏไม่มีคำว่า “ตับแตก”

เช่นเดียวกับพจนานุกรมฉบับมติชน พ.ศ.2547

ถึงวันนี้ หากน้องหนูยังไม่ได้อ่านเรื่องนี้ จะรู้หรือไม่ว่า “ร้อนจนตับแตก” หมายถึง “ตับ” อะไร

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image