เดินไปในเงาฝัน : ความหวังบนความฝัน : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

จริงๆ แล้วเรื่องปัญหาภูเขาหัวโล้นบริเวณจังหวัดน่านน่าจะเป็นปัญหาระดับประเทศไปแล้ว แม้จะมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคีเครือข่ายต่างมาช่วยกันรณรงค์ไม่ให้เกษตรกรในชุมชนต่างๆ ที่อยู่บริเวณแถบภูเขาสูงหยุดปลูกพืชเชิงเดี่ยว
ยิ่งเฉพาะการบุกรุกถางป่าเพื่อปลูกข้าวโพด

แต่ดูเหมือนเสียงดังกล่าวจะดังไม่เท่าที่ควร

เพราะปัจจุบันยังมีการบุกรุกถางป่ากันอยู่ แม้จะน้อยกว่าแต่ก่อนมาก แต่เอาเข้าจริงผมมองว่าแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าวอาจมองจากข้างบนเกินไป

ไม่ลองฟังเสียงชาวบ้านว่า…ทำไมเขาถึงต้องทำอย่างนี้ ?

Advertisement

ซึ่งไม่นานผ่านมาผมมีโอกาสไปเจอเกษตรกรคนหนึ่งชื่อ วริศรา จันธี เธอมีชื่อเล่นว่า “กานต์” อายุเพียง 29 ปี หลังจากเธอเรียนจบ ปวส.จึงเดินทางเข้ามหานครกรุงเทพเพื่อมาทำงาน แต่เมื่อ “พ่อ” ของเธอเสียชีวิต

เธอจึงตัดสินใจกลับบ้านที่หมู่บ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน

พร้อมๆ กับทราบว่า “แม่” มีหนี้สินจากการปลูกข้าวโพดอยู่ประมาณหลายแสนบาท เธอตัดสินใจเปิดร้านขายของชำเล็กๆ น้อยๆ เพื่อเลี้ยงครอบครัว ขณะเดียวกัน ก็ช่วยแม่ปลูกข้าวโพดอีกทางหนึ่ง เพื่อหวังว่าจะช่วยปลดหนี้ให้แม่ได้

Advertisement

แต่จนแล้วจนรอดหนี้สินกลับไม่ลดลงเลย

แม้ตอนนั้นเธอจะเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านอีกทางหนึ่ง เพราะผู้ใหญ่บ้านคงเห็นว่าเธอมีความรู้ จบการศึกษาในระดับ ปวส.คงน่าจะนำความรู้มาช่วยชาวบ้านได้
แต่เธอกลับทำอะไรได้ไม่มาก

เพราะชีวิตยังวนเวียนอยู่กับขายของชำ และปลูกข้าวโพดอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

ผมถามเธอว่า…ทำไมถึงไม่ปลูกพืชอย่างอื่น ?

เธอบอกว่าแถบหมู่บ้านห้วยเลาขาดแคลนแหล่งน้ำ ต้องอาศัยน้ำจากฟ้าเท่านั้น หากปลูกพืชชนิดอื่นก็ไม่มีทางรอด มีแต่ปลูกข้าวโพดเท่านั้น เพราะปีหนึ่งปลูกครั้งเดียว และก็ขายผลผลิตกันปีต่อปี

ส่วนน้ำกินน้ำใช้ก็อาศัยประปาจากภูเขา แทบไม่มีทางเลือกอื่นเลย ผมจึงถามต่อว่า…แล้วรู้ไหมการปลูกข้าวโพดทำให้เกิดภูเขาหัวโล้น เพราะพวกคุณต้องบุกรุกทำลายป่าไปเรื่อยๆ

ทราบดี…เธอตอบ พร้อมกับบอกต่อว่า…แล้วจะให้ทำอย่างไร ก็ในเมื่อท้องมันหิว มันก็ต้องหาอาหารใส่ท้อง และที่นี่ไม่สามารถทำอะไรได้เลยนอกจากปลูกข้าวโพด

ผมฟังปุ๊บเข้าใจทันที

และเข้าใจหัวอกคนรณรงค์ไม่ให้ชาวบ้านปลูกข้าวโพดด้วย แต่คนรณรงค์ลืมไปอย่างหนึ่งว่าท้องของคุณกับท้องของเขาแตกต่างกัน พวกคุณหิวก็หาอะไรใส่ท้องได้ เพราะคุณมารณรงค์แล้วก็กลับไป

แต่พวกเขาต้องอยู่ในพื้นที่จริงทุกวัน

เขาหิวก็ต้องหาอะไรใส่ท้องเช่นกัน

แต่อะไรล่ะ ?

จนเมื่อ บัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน จ.น่านเริ่มเข้ามาพูดคุยกับชาวบ้านเพื่อต้องการให้ชาวบ้านเปลี่ยนวิธีจากการบุกรุกป่ามาเป็นผู้พิทักษ์ป่า พร้อมๆ กับนำศาสตร์พระราชามาทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เขาจึงถูกชาวบ้านก่นด่า ไล่ตะเพิด และปิดประตูบ้านใส่

“บัณฑิต” มาทั้งหมด 3 ครั้ง โดนอย่างนี้ทุกครั้ง จนครั้งที่ 4 “กานต์” และชาวบ้านอีกหลายคนจึงยอมเปิดใจคุย แต่เขาก็ไม่เห็นทางรอดอยู่ดี จนวันหนึ่ง “บัณฑิต” ชวน “กานต์” ไปดูความสำเร็จของการนำศาสตร์พระราชามาใช้ที่หมู่บ้านน้ำมีด ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านห้วยเลานัก

“กานต์” ยอมรับในความสำเร็จของพวกเขา แต่สภาพพื้นที่หมู่บ้านของเขากับของเราแตกต่างกัน เพราะหมู่บ้านห้วยเลาอยู่ท่ามกลางขุนเขาบนที่สูง

ไม่มีทางทำอย่างเขาได้

“บัณฑิต” จึงชักชวน “กานต์” ให้ไปอบรมศาสตร์พระราชาที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นน้ำน่าน(ชตน.)4-5 วัน ปรากฏว่าเธอไปสะดุดกับพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสผ่านวิดีโอที่เขาเปิดให้ดูว่า…การทำการเกษตรต้องไม่ทำเพราะเป็นทางเลือก แต่ต้องทำให้เป็นทางหลัก และทางรอดถึงจะอยู่ได้อย่างยั่งยืน

“กานต์” ตั้งคำถามว่า…อะไรคือทางรอด ? ทางรอดคืออะไร ? แล้วเราจะมีทางรอดไหม ?

ปรากฏว่าคำถามเช่นนี้วนเวียนอยู่ในหัวของเธอ ที่สุดเธอจึงขอที่ดินจากแม่ 1 ไร่ จากทั้งหมด 6 ไร่ 2 งานเพื่อทดลองทำการเกษตรตามรอยศาสตร์พระราชา

ปรากฏว่าแม่ไม่อนุญาต

“กานต์” จึงไปอบรมเพิ่มที่ศูนย์อีกครั้ง คราวนี้เธอกลับมาทำแชมพู ยาสระผมให้แม่ทดลองใช้ คราวนี้แม่ของเธอเริ่มมองเห็นความพยายามในตัวของลูกสาว จึงตัดสินใจยกที่ดิน 1 ไร่ให้ทดลองทำ

“กานต์” บอกว่าสิ่งที่เรียนกับสิ่งที่ทำคนละเรื่องเลย แม้จะมีเจ้าหน้าที่อุทยานกว่า 10 คนมาช่วยเธอ แต่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล จนกระทั่งวันหนึ่งเมื่อ ไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติมาเห็นสิ่งที่เธอทำ จึงบอกว่าผิดหมดเลย

“ไตรภพ” จึงออกแบบพื้นที่ให้ใหม่ตามหลักภูมิสถาปัตย์ พร้อมกับกำหนดพื้นที่เพาะปลูกให้เป็นไปตามรอยศาสตร์พระราชาคือปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ขณะเดียวกัน ก็ให้เธอชักชวนชาวบ้านที่มีความคิดเดียวกันมาช่วยเอามื้อ (ลงแขก) เพื่อขุดคลองไส้ไก่ ทำฝายเพื่อกักเก็บน้ำ

พร้อมกับออกแบบหัวคันนาทองคำเพื่อสร้างระบบนิเวศให้เป็นแหล่งอาหารบนคันนา ขณะเดียวกัน ก็สอนให้เธอหยอดเมล็ดพันธุ์พืชบำรุงดิน เช่น ข้าวเปลือก,ถั่วเขียว,พริก,มะเขือ,และฟักทอง

ส่วนอีกทางหนึ่งก็สอนให้ทำน้ำหมักจุลินทรีย์ชีวภาพ,ทำคอกหมักปุ๋ยจากเปลือกข้าวโพดที่มีอยู่อย่างมากมายไปพร้อมๆ กับโปรยดอกดาวกระจาย และดอกบานชื่นเพื่อล่อแมลงมาช่วยผสมเกสรดอกไม้

จนที่สุดจึงเป็นไปตามอย่างที่เธอคาดหวัง

“กานต์” บอกว่าแม้การเริ่มต้นครั้งนี้จะผ่านมาเพียง 10 เดือนเท่านั้นเอง แต่เป็น 10 เดือนที่เธอมีความหวังว่าภายใน 5 ปีเธอจะปลอดหนี้ และเธอจะสร้างไร่ที่มีอยู่เพียง 6 ไร่ 2 งานให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชาวบ้านที่อยากจะตามรอยศาสตร์พระราชาต่อไป

เธอมีความหวังเพียงเท่านี้จริงๆ ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image