เพราะการ ‘เติบโต-อยู่รอด’ เป็นโจทย์ใหญ่ ‘ชมภูนุช ปฐมพร’ ขับเคลื่อนเอสเอ็มอีแบบเข้มข้น

วันนี้โลกธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว โฉมหน้าผู้ขับเคลื่อนกิจการกลับกลายเป็นผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือธุรกิจเอสเอ็มอี มิใช่ผู้ประกอบการรายใหญ่เหมือนในอดีต

แน่นอนว่า การเติบโตและความอยู่รอดของ “คนตัวเล็ก” เหล่านี้ มีปัจจัยสำคัญจากการมีสถาบันการเงินคอยช่วยเหลือ ให้คำปรึกษา

“ทีเอ็มบี” หรือ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) มีแผนกหนึ่งซึ่งให้บริการคำแนะนำแก่ลูกค้าเอสเอ็มอีโดยเฉพาะ

กว่า 10 ปีในการทำงานของ ชมภูนุช ปฐมพร กับทีเอ็มบี ได้สร้างผลงานและความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน โดยสร้างความเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลบริหารอาคาร จัดซื้อจัดจ้าง และงานบริการองค์กร พร้อมใช้ประสบการณ์พลิกโฉมงานด้านทรัพยากรบุคคลผ่านโครงการ “HR Transformation” ก่อนความสำเร็จทั้งหมดนี้ทำให้เธอได้รับความไว้วางใจให้ดูแลธุรกิจ “สาขา” ในเวลาต่อมา

ADVERTISMENT

ชมภูนุชสร้างผลงานอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด เมื่อเดือนสิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ได้รับการแต่งตั้งเป็น “ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี” ช่วยต่อยอดความสำเร็จสู่ผู้ประกอบการขนาดย่อม

ในวัย 55 ปี ชมภูนุชคว้าปริญญาได้ 2 ใบ ระดับปริญญาตรีจากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโทจากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

ADVERTISMENT

ชื่นชอบการดูหนัง ฟังเพลง จนสามารถผนวกความบันเทิงเข้ากับชีวิตการทำงาน โดยเฉพาะการปรับใช้ในยามมีปัญหาได้อย่างลงตัว

“เคยดูหนังเรื่อง Life of Pie ไหม เคยมีครั้งหนึ่งที่รู้สึกว่าตัวเองแย่แล้ว รู้สึกเหมือเราเป็นพาย แล้วอยู่กับริชาร์ด ปาร์กเกอร์ (ชื่อเสือเบงกอลในภาพยนตร์) ขณะอยู่ในเรือ แต่คราวนั้นมีริชาร์ด ปาร์กเกอร์ หลายตัวมาก รู้สึกว่าตอนนี้เรากำลังเจอกับริชาร์ด ปาร์กเกอร์ ต้องใจดีสู้เสือ แต่เมื่อผ่านครั้งนั้นมาได้ รู้สึกสนุกมากว่าเราเป็นพระเอก เป็นพาย”

และชมภูนุชคนเดียวกันนี่เองที่เป็นมาแล้วทั้งนักดนตรีสมัครเล่น นักร้องนำสังกัดค่ายดัง ร่วมงานกับธนาคารต่างประเทศ และล่าสุดกับตำแหน่งบริหาร เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำแก่ลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย

“เอสเอ็มอีเป็นหัวใจของประเทศชาติ วันนี้เรามี 3 ล้านบริษัทที่เป็นเอสเอ็มอี มีพนักงาน 21 ล้านคน หรือเกือบครึ่งประเทศที่อยู่กับเอสเอ็มอี ถ้าเราช่วยเขาดำเนินธุรกิจไปได้ ก็จะทำให้เราเติบโตไปด้วยเหมือนกัน ขณะเดียวกัน แบงก์เองก็อยากเป็นเพื่อนลูกค้า อยากปล่อยสินเชื่อให้ แต่เมื่อให้ยืมแล้วก็อยากได้คืน แต่อยากได้คืนเพราะลูกค้าทำธุรกิจแล้วเติบโต เมื่อเขาเติบโต เราสามารถสนับสนุนในช่วงที่เขายังไม่แข็งแรง ต้องการเงินทุน กระทั่งเขาสามารถมีเงินของตัวเอง ดำเนินธุรกิจไปได้”

เหตุใดคนคนหนึ่งถึงอยากช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดนี้ เปิดใจ และเข้าใจโลกธุรกิจไปพร้อมๆ กัน

พอเข้ามาทำงานจริงๆ ทิ้งพาร์ตที่เป็นความสนุกหรือความสุขไปเลยไหม ต้องปรับประสานอย่างไร?

จริงๆ ทิ้งค่ะ พอจบชีวิตนักศึกษาที่เป็นคนใช้ชีวิตสนุกมาก ค่อนข้างสุดโต่ง และแม้ว่าจะสอบได้ดี แต่การที่สอบได้ดีเป็นเพราะว่าเราชอบแข่ง ชอบเอาชนะ พอเข้ามาทำงานก็อยากเอาชนะ ดังนั้น การที่เราชอบเอาชนะคน ทำให้ไม่สามารถเข้ากับคนได้สักเท่าไหร่ คิดว่าตัวเองเป็นจุดศูนย์กลางมาก และพยายามทำงานให้ดี ซึ่งก็ทำได้ดีนะ แต่สิ่งที่ยากมากก็คือเราไม่มีเพื่อน เพราะบางทีเราเหยียบเขาขึ้นมาด้วยซ้ำ เพราะงั้นการทำงานในช่วงแรกๆ ไม่รู้เลยว่าแบบไหนถึงเรียกว่าการใช้ชีวิต คิดแต่ว่าฉันต้องโต ต้องขึ้นอันดับ ทำอะไรก็ได้ที่ทำให้ตัวเองดีที่สุด เก่งที่สุด และสิ่งเหล่านี้ทำให้เราเครียดมาก

โชคดีที่มีพี่ชายคือ ปฐมพร ปฐมพร เป็นสายสุดโต่งเหมือนกัน และเป็นคนเครียดมาก แต่เขาก็ห่วง กลัวเราจะเครียดเกินไป มีช่วงหนึ่งเขาไปไหนมาก็ไม่รู้ แล้วกลับมาบอกว่า เขาไปเจอสิ่งที่วิเศษมากในชีวิต อยากให้เราไป คือไปนั่งวิปัสสนามา ซึ่งดีมากๆ ทำให้ชีวิตดีขึ้น เราคิดว่าเขาโดนหลอก เพราะไปนาน 10 วัน ปรากฏว่าเดือนต่อมาเขาไปอีก กลับมาชวนเราเหมือนเดิม

จนเขาไปเป็นครั้งที่ 3 กลับมาคราวนี้พูดดีขึ้น พูดเบาลง ชวนให้ไปเหมือนเดิม ก็บอกเขาไปว่าลางาน 10 วันไม่ได้หรอก พี่ชายก็บอกว่า ลางานไม่ได้ก็ลาออกเลย (หัวเราะ) สุดท้ายก็ไปขอลา 10 วันกับเจ้านายฝรั่ง เขาคิดว่าเราอกหัก (หัวเราะ) คืออยากลองดูว่าถ้าไปแล้วจะเป็นอย่างไร

ในที่สุดก็พบจริงๆ ว่า กว่าจะนั่งสมาธิได้ เขาต้องให้เรารักษาศีล พอมีศีลถึงจะมีสมาธิ พอมีสมาธิได้ สุดท้ายคือต้องมีปัญญา คำว่าปัญญาคือไปนั่งวิปัสสนา จะได้รู้ว่าตัวของเราเองเป็นยังไง พอไปก็เห็นจริงๆ ว่าที่เป็นทุกข์อยู่ทุกวันเป็นเรื่องตัวตน เราอยากเด่น อยากดี อยากดัง เราพยายามสู้กับเรื่องพวกนี้ จนทำให้เครียด พอกลับมาทำงานแล้วชีวิตเปลี่ยนมาก เราฟังคนอื่นมากขึ้น ดังนั้น จุดเปลี่ยนจากบันเทิงมาธุรกิจก็คือมาธรรมะค่ะ สามารถบิดเรื่องพวกนี้มาอยู่รวมกันได้ นี่คือศิลปะการใช้ชีวิตร่วมกับการทำงานอย่างที่ใช้อยู่ (ยิ้ม)

เชื่อว่าสายธุรกิจเป็นเรื่องการแข่งขัน ถูกสอนให้ต้องชนะเพื่อให้ธุรกิจเติบโต แต่นี่เป็นมุมมองการทำธุรกิจสมัยก่อน สมัยนี้หากเขาทำอะไรแล้วได้ดีก็จะแชร์ เมื่อเขายิ่งสอน ยิ่งแชร์ เขายิ่งได้มากขึ้น เหมือนธุรกิจของแบงก์เราที่ยิ่งให้ลูกค้ามากเท่าไหร่ ถ้าลูกค้าได้มากๆ แบงก์ก็ได้อยู่ดี เมื่อ 10 ปีที่แล้วที่เราทำ No Fee-All Fee กดเงินฟรีทุกตู้ ทุกที่ ไม่มีค่าธรรมเนียม ไม่จำกัดจำนวนครั้ง ตอนนั้นแบงก์ได้กำไรจากการเก็บค่าธรรมเนียมเยอะมาก มาคิดกันว่าทำไมลูกค้าต้องเสียให้เราเยอะขนาดนี้ ทำไมเราไม่ให้ลูกค้าใช้บริการของแบงก์ได้สะดวกสบายล่ะ

สอดคล้องกับปรัชญาของทีเอ็มบีเรื่อง Make The Difference พยายามแตกต่างจากคู่แข่ง สิ่งที่เกิดขึ้นในทุกวันนี้คือ คู่แข่งตามเรามาแล้ว (ยิ้ม) ถามว่าดีไหม ดีนะ ดีกับอุตสาหกรรมของเรา ดีกับผู้บริโภคมาก เมื่อก่อนเสียงเราเบา ทำเรื่องฟรีค่าธรรมเนียมแล้วคนใช้น้อย หลังๆ แบงก์อื่นเริ่มทำเหมือนกันหมด ปรากฏว่าลูกค้าใช้เยอะขึ้น เมื่อมาเปรียบเทียบกันกลายเป็นว่าของเราดีกว่า และเราได้โฆษณาของที่อื่นด้วย ยิ่งตอกย้ำว่า “ยิ่งให้ก็ยิ่งได้”

จากเดิมที่บอกว่า ความท้าทายคือการเอาชนะและการแข่งขัน ปัจจุบันสิ่งใดคือความท้าทายในการทำงาน?

ก็ยังเป็นการเอาชนะอยู่ (หัวเราะ) แต่จะทำอย่างไรให้ชนะไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกองค์กร

บางทีคุยกับเพื่อนๆ แบงก์อื่น เวลาลูกค้ามาเจอเราพร้อมกัน ถามว่าใช้บริการที่ไหนดี เราพูดเหมือนกันเลยว่า “ที่ไหนก็ได้ เอาให้เหมาะกับลูกค้า” นี่คือสิ่งที่คนหลังๆ จะรู้สึกเลยว่า เราไม่ได้แข่งกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อจะชนะ แต่เราแข่งกันเพื่อให้ลูกค้าได้ดีที่สุด แต่ถ้าให้ดีที่สุดก็เลือกเรานะ (หัวเราะ)

ก่อนมาดูแลลูกค้าเอสเอ็มอี มีโอกาสเกี่ยวข้องกับลูกค้ากลุ่มนี้?

เกี่ยวข้องผ่านทางลูกค้าค้าปลีก (Retail) บางทีแบงก์เป็นพวกคิดเอาเอง แบ่งว่าอันนี้คือลูกค้ารายย่อย นี่เอสเอ็มอี แต่จริงๆ ลูกค้าเป็นทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอี

อย่างลูกค้ารายย่อยเราดูลูกค้าฐานะมั่งคั่ง ส่วนใหญ่ทำธุรกิจเอง แต่เขามี 2 กระเป๋า เป็นกระเป๋าธุรกิจกับกระเป๋าส่วนตัว เมื่อดีลงานกันก็รู้ว่าเขาทำธุรกิจอะไรอย่างไร มีแผลทางธุรกิจ (Pain) ตรงไหน คือช่วงรีเทลอาจเห็นแผลทางธุรกิจไม่ชัด เพราะปัญหาของลูกค้ารวยคือ จะเอาเงินไปทำอะไรดี

เมื่อมาดูเอสเอ็มอีจริงๆ มีตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เขามีเงิน แต่อาจเก็บมาตลอดชีวิต และอยากสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองสักอย่างหนึ่ง บางทีอยากสร้างแต่เงินไม่พอก็มาคุยเรื่องสินเชื่อกับเรา ดังนั้น เป็นคนละบทบาทกัน แต่เราพยายามเข้าใจว่าเขาอยากได้อะไร

ส่วนตัวมีเพื่อนทำเอสเอ็มอีเยอะ เขาบ่นประจำว่าแบงก์ไม่ช่วยเลย ทำไมกู้ยากนัก สมมุติมีเพื่อน 10 คนมาขอยืมเงินพร้อมกันหมด จะให้ยืมทั้งหมดไหม ใครจะให้หมดล่ะ (หัวเราะ) ต้องดูก่อนว่าใครดีหรือไม่ดี แบงก์ก็เหมือนกัน เราอยากเป็นเพื่อน แต่เมื่อให้ยืมแล้วก็อยากได้คืน แต่อยากได้คืนเพราะลูกค้าทำธุรกิจแล้วเติบโต เมื่อเขาเติบโต เราสามารถสนับสนุนในช่วงที่เขายังไม่แข็งแรง ต้องการเงินทุน กระทั่งสามารถมีเงินของตัวเอง ดำเนินธุรกิจไปได้ แต่ถ้าอยากเดินต่อหรือได้เงินเพิ่ม เราก็สนับสนุนต่อได้อีก

“…เอสเอ็มอีเป็นหัวใจของประเทศชาติ
วันนี้เรามี 3 ล้านบริษัทที่เป็นเอสเอ็มอี
มีพนักงานเกือบครึ่งประเทศที่อยู่กับเขา
เราอยากสร้างเครื่องไม้เครื่องมือให้ลูกค้า เช่น บัญชีธุรกิจสำหรับนักธุรกิจ
ถ้าเขามีวินัยในการรู้เรื่องพวกนี้ก็สามารถวางแผนธุรกิจได้
เราจะเป็นที่ปรึกษาให้ สิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เราจะสนับสนุน…”

บทบาทหน้าที่ในปัจจุบันส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอีอย่างไร?

เอสเอ็มอีเป็น “หัวใจ” ของประเทศชาติ วันนี้เรามี 3 ล้านบริษัทที่เป็นเอสเอ็มอี มีพนักงาน 21 ล้านคน หรือเกือบครึ่งประเทศที่อยู่กับเอสเอ็มอี ถ้าเราช่วยเขาดำเนินธุรกิจไปได้ ก็จะทำให้เราเติบโตไปด้วยเหมือนกัน

อยากสร้างเครื่องไม้เครื่องมือให้ลูกค้า เช่น บัญชีธุรกิจสำหรับนักธุรกิจ อยากให้เขาใช้เดินบัญชี รู้เวลาเงินเข้า-ออก ดอกเบี้ย รวมถึงเงินกู้ต่างๆ ถ้าเขามีวินัยในการรู้เรื่องพวกนี้ก็สามารถวางแผนธุรกิจได้ ซึ่งเราจะเป็นที่ปรึกษาให้ คิดว่าสิ่งนี้เป็นหัวใจสำคัญที่เราจะสนับสนุนเอสเอ็มอี

ดังนั้น ในหลายๆ เรื่องถ้าเรารู้จักเขา เราจะแนะนำเขาได้ เพราะถ้าแนะนำได้ เรื่องค่าใช้จ่ายจะน้อย กำไรเยอะ และเขาจะเติบโต เมื่อเขาเติบโต คิดว่าเขามีกำลังในการแข่งขัน และการแข่งขันตอนนี้ไม่ได้มีแค่ในประเทศเท่านั้น ยังมีประเทศอื่นๆ อีกมาก

หากเอสเอ็มอีไทยได้แข่งขันในระดับสากล ประเทศเราจะเจริญ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ยากมาก เชื่อว่าทุกคนซึ่งไม่ใช่แค่สถาบันการเงิน แต่สถาบันรัฐ รัฐวิสาหกิจต่างๆ ก็พร้อมช่วย

อะไรคือจุดแข็งที่ทำให้ได้รับตำแหน่งนี้?

(นิ่งคิด) ผลงานของทีมค่ะ เนื่องจากเราเป็นแบงก์เล็ก เป้าหมายในแต่ละปีเราค่อนข้างเยอะ และฐานยังไม่สูงมาก พอพูดถึงการเติบโตแต่ละปี เช่น ขึ้นมา 20-30 เปอร์เซ็นต์ จึงเป็นเรื่องท้าทาย

ตอนที่อยู่รีเทล กองทุนเป็นตัวหนึ่งที่ยากลำบากมาก เพราะแรกๆ เรามีกองทุนกองเดียว ตอนที่แบงก์จะทำ “TMB Open Architecture” ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ดีมาก ตอนนั้นทุกคนมองภาพไม่ออกว่าจะขายไหวหรือ แต่สุดท้ายก็เป็นตัวเลือกที่ดีของลูกค้า กระทั่งมันทำให้ทางเลือกลูกค้ามีมาก เด็กของเรามีความรู้เพิ่มขึ้น จากที่เราเคยขายได้เดือนละ 1-2 พันล้าน เราขายได้เป็นหมื่นล้าน เทียบเท่ากับแบงก์ใหญ่ นั่นทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วเริ่มต้นจากการสร้างรากฐานมาดี มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ดี มีสิ่งที่ดีสำหรับลูกค้า ดังนั้น พอเขา (หมายถึงทีม) รู้ว่าเขามีประโยชน์ มีมูลค่าใดกับลูกค้า เขาอยากทำ พอทำแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นก็เป็นผลงานของธนาคาร

ถ้าถามว่า ทำไมถึงได้รับการพิจารณาให้มาอยู่จุดนี้ จึงคิดว่าเพราะผลงานของทีมที่ทำให้เห็นว่า เราสามารถตอบโจทย์ได้ทั้งแง่ของลูกค้าและพนักงาน (ยิ้ม)

เป้าหมายที่วางไว้?

อย่างที่บอกว่า ถ้าทำให้เอสเอ็มอีเติบโตได้ เราก็เติบโตได้ (ยิ้ม)

เรามีฐานลูกค้าไม่มาก อยากสร้างฐานลูกค้าให้มากขึ้น เพราะจะเป็นส่วนสนับสนุนเขาได้ อยากได้ลูกค้าที่มีคุณภาพไปกับเรา มีสินเชื่อกับเรา มีความสามารถในการชำระหนี้ได้ และเขามีการเติบโต

ความท้าทายของเอสเอ็มอีและแบงก์ในปีหน้า?

เรื่องความรวดเร็วของดิจิทัล โลกเปลี่ยนไปมากๆ ลูกค้าเปลี่ยนไป ดีมานด์เยอะขึ้น ต้องการความแตกต่างมากขึ้น ดังนั้น ความสะดวกสบายที่เขาต้องการก็มีมากขึ้นด้วย

สมมุติว่าเราขายของได้เยอะ ต้องผลิตเยอะ ต้นทุนถึงจะต่ำ แต่วันนี้จะทำอย่างไรถึงผลิตของได้น้อยและต้นทุนต่ำ เพราะลูกค้าอยากได้แบบนี้ พรุ่งนี้ไม่ได้อยากได้แบบนี้แล้ว ของที่อยู่ในสต๊อกที่ผลิตมาเยอะๆ เพราะต้นทุนต่ำ จะกลายเป็นต้นทุนสูงขึ้นมาทันที เมื่อก่อนไม่ใช่นะ และสิ่งนี้คือความท้าทายมาก

และความต้องการที่แตกต่างของลูกค้าไม่ใช่เฉพาะในเอสเอ็มอี ในบริษัทใหญ่ๆ เช่น ไนกี้ อาดิดาส เขาไม่ทำรองเท้าเยอะแล้ว เขาเริ่มเป็นเมดทูออเดอร์ คุณอยากได้แบบไหนก็มาดีไซน์ แล้วผลิตให้ 1-2 คู่เท่านั้น ดังนั้น เอสเอ็มอีต้องหาวิธีคิดที่แตกต่างจริงๆ ไม่อย่างนั้นอยู่ไม่ไหว ต้องฉีกหลายๆ ทฤษฎีทิ้งไปบ้าง เพราะอย่างธุรกิจที่เคยมี วันนี้ก็ไม่มีแล้ว

มองธุรกิจในยุค 4.0 อย่างไร?

ไม่ใช่แค่ 4.0 แต่ที่ผ่านมาเป็นเรื่องยากมาก ต้องมีความตั้งใจจริงๆ ยิ่ง 4.0 มีการแข่งขันเยอะมาก เร็วมาก คุณต้องพร้อมในการเปลี่ยนแปลง ต้องให้ตัวเองมีความรู้มากๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เป็นธุรกิจของตัวเองและธุรกิจข้างเคียงในการแข่งขัน

ที่ผ่านมามีวิธีคิดหรือตกผลึกจากตัวเอง คิดว่าวิธีคิดเหล่านี้สามารถปรับเปลี่ยนเอสเอ็มอีให้คิดและประสบความสำเร็จได้ไหม มีอะไรอยากแชร์กับเอสเอ็มอีหรือไม่?

มีค่ะ เรามีส่วนที่ให้ความรู้กับลูกค้าหลายรูปแบบ และเชื่อว่าอุตสาหกรรมไทยอาจไม่คิดเรื่องลีน (Lean) เท่าไหร่ แต่ลีนเป็นเรื่องง่ายมาก คือทำอย่างไรให้การประกอบกิจการไม่มีขยะ ฉะนั้น ต้องไปดูแต่ละกระบวนการ ซึ่งเราไม่ได้ดูแค่กระบวนการของเอสเอ็มอีอย่างเดียว เราดูที่ห่วงโซ่อุปทานแบบลีน (Lean Supply Chain) ดูตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และเอสเอ็มอีส่วนใหญ่อยู่ปลายน้ำแล้ว ส่วนต้นน้ำเป็นบริษัทขนาดใหญ่ จากนั้นจะมีบริษัทที่เป็นคู่ค้า อาจเป็นระดับกลางหรือเล็ก หากเป็นเอสเอ็มอีก็เป็นขนาดย่อม จุดนี้เอง หากเขาสามารถเข้าใจกันได้ สุดท้ายแล้วจะทำให้ธุรกิจง่ายและประหยัดมากขึ้น

เราทราบว่าเอสเอ็มอีมีเวลาน้อย ปัจจุบันเราแบ่งคอร์สให้ความรู้ออกเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรกใช้เวลา 2 วัน ช่วงต่อมาใช้เวลา 8-10 วัน และช่วงสุดท้ายใช้เวลา 4 เดือน ดังนั้น เราจึงมีลีนควิกวิน (Lean Quick Win) ใช้เวลาเวิร์กช็อปแบบเข้มข้นในเวลา 3 วันเท่านั้น

เป็นการจุดประกายให้รู้ว่า เรามีองค์ความรู้แบบนี้ หลังจากนั้นเขานำไปทำประโยชน์ต่อได้ คิดว่าช่วยเขาได้เยอะมาก

ถ้าเทียบกับภาพยนตร์ บทบาทที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่สวมอยู่จะเหมือนกับเรื่องอะไร เป็นภาพยนตร์สไตล์ไหน?

(หัวเราะ) คิดว่าเป็นซีรีส์เลย เอสเอ็มอีเหมือนซีรีส์ เพราะมีวาไรตี้ที่ไม่เหมือนกัน มีทั้งภาพที่สวยงามมากๆ และโหดร้ายมากๆ เพราะแค่ฟังการสำรวจมา รู้ว่ามีกลุ่มบริษัทเกิดขึ้นใหม่ 70,000 ราย แต่หายไป 35,000 หรือครึ่งหนึ่ง มันเศร้านะ เขาไปตกระกำลำบากอะไร ส่วนใหญ่เราได้ยินแต่คนที่ประสบความสำเร็จ แต่กว่าจะผ่านขั้นตอนมาสำเร็จได้ ไม่ค่อยมีคนฟลุค ส่วนใหญ่ล้มลุกคลุกคลานมาทั้งนั้น แต่เวลาเล่าก็บอกแต่ที่ประสบความสำเร็จแล้ว เชื่อว่าไส้ในทุกคนต้องผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมาก

ถ้าจะเทียบกับหนัง อาจจะเป็นเรื่องแบทแมน บีกินส์ ตอนแบทแมนสมัยเด็กตกไปในถ้ำ ล้มลงไปฟุบ มีเสียงพ่อถามมาว่า Why do we fall? ทำไมคนถึงล้ม แล้วคำตอบก็บอกว่า เขาล้มเพราะเขาต้องการลุกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง (ยิ้ม)


สู่ศิลปินค่ายดัง และผู้บริหารแห่งสถาบันการเงิน


“ความท้าทาย”
คือคำพูดของ ชมภูนุช ปฐมพร ที่ได้ยินบ่อยครั้งสุดระหว่างการสนทนา

วันนั้น เธอเล่าความทรงจำวัยเด็กเมื่อครั้งอยู่ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี และความรู้สึกที่มีต่อการดูหนัง ฟังเพลง ลามไปถึงข้อถกเถียงเล็กๆ ภายในห้องเรียนภาษาอังกฤษแห่งหนึ่ง

ชมภูนุชบอกว่า เธอชื่นชอบภาพยนตร์ต่างประเทศ แต่จะดูแบบพากย์ไทยก่อน จากนั้นถึงดูแบบซาวด์แทรกซ้ำสอง

ความท้าทายแรกเริ่มขึ้นในห้องเรียนวิชาภาษาอังกฤษ เมื่อครูสอนว่า หากประธานเป็น I, You, We ส่วนขยายต้องเป็น Do ถ้าเป็น He, She, It ต้องเป็น Doesn’t จากนั้นครูบอกว่า เราต้องพูด He doesn’t something ใช่หรือไม่ ชมภูนุชค้านว่า “ไม่ใช่” เพราะ Bon Jovi บอกเธอว่า He don’t love you

นั่นเองที่ทำให้เธอรู้ว่า การท้าทายภูมิรู้ครั้งนี้เป็นผลจากการที่ตัวเองชอบเรียนจากข้างนอกมากกว่าเรียนในโรงเรียน ซึ่งมีทั้งถูกบ้างผิดบ้าง แต่เป็นสิ่งทีได้ทำนอกกรอบเดิมๆ

เมื่อย่างเข้าสู่วัยเอ็นทรานซ์ ชมภูนุชได้เข้าเรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลูกพี่ลูกน้องชวนเธอไปทำงานฆ่าเวลาว่าง ด้วยการเล่นดนตรี และพยายามสอนเธอเล่นกีตาร์

ชมภูนุชพบว่า เธอไม่ถนัดในการเล่นกีตาร์ แต่มาสายนี้เพื่อ “ร้องเพลง”

ปรากฏว่า เธอทำได้ดี จนมีแมวมองจากวงดนตรีหญิงล้วนวงหนึ่งจีบเธอเข้าวง ก่อนโชคชะตาจะพลิกผันอีกครั้ง เมื่อมีคนชวนชมภูนุชและเพื่อนๆ ไปออดิชั่น เพื่อ “ออกเทป”

ทุกคนปรากฏตัวขึ้นอีกครั้งในนามศิลปินวง “มายา” สังกัดค่ายอาร์เอส มีชมภูนุชรั้งตำแหน่ง “นักร้องนำ” โดยผลงานชุดนั้นขายได้ราว 30,000 ตลับ

ชมภูนุชยิ้มพอใจ ก่อนจะเล่าว่า สุดท้ายแล้วหลังจากเรียบจบมหาวิทยาลัย ต่างคนต่างแยกย้ายไปทำงานต่อ แต่กลับมารวมตัวกันบ้าง เป็นการเฉพาะกิจ เล่นในงานการกุศล ส่วนตัวเธอเองเริ่มอาชีพด้านธนาคาร จนล่าสุดนั่งอยู่ในตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน)

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image