สุจิตต์ วงษ์เทศ : เวียงพางคำ (แม่สาย เชียงราย) เมืองของพระเจ้าพรหม (โยนก-ล้านนา) บรรพชนพระเจ้าอู่ทอง (อยุธยา-สุพรรณบุรี)

คุณขรรค์ชัย บุนปาน ชวนไปทอดน่องท่องเที่ยว เล่าเรื่องความเป็นมาของล้านนาและเมืองเชียงใหม่ แล้วกำชับให้ผมขึ้นไปเมืองเชียงแสนกับเมืองเชียงราย สืบค้นต้นทางประวัติศาสตร์ไทย รวมทั้งบรรพชนพญามังราย ผู้สถาปนาเมืองเชียงใหม่ ซึ่งล้วนมีต้นตอสำคัญแห่งหนึ่งอยู่ย่านทิวเขาขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย

ทิวเขาขุนน้ำนางนอน มี 3 ดอยสำคัญ ได้แก่ (1.) ดอยตุง เป็นยอดสูงสุดที่สิงสู่ของผีบรรพชน เรียก ปู่เจ้าลาวจก ผู้นำมีเทคโนโลยีก้าวหน้าทำเหล็กเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ (2.) ดอยผู้เฒ่า เป็นดอยย่าเจ้าลาวจก (เมียปู่เจ้าลาวจก) (3.) ดอยจ้อง เป็นดอยลูกของปู่เจ้ากับย่าเจ้าลาวจก (ถ้ำหลวงกรณีทีมหมูป่าอยู่บริเวณนี้)

ทั้งหมดนี้เป็นแหล่งทรัพยากรอุดมสมบูรณ์อย่างยิ่ง และสำคัญที่สุดคือ น้ำ ซึ่งแผ่กระจายขยายลงที่ราบในหุบเขาเป็น แม่น้ำรวก ไหลลงแม่น้ำโขง (บริเวณสบรวก สามเหลี่ยมทองคำ)

นอกจากนั้นซึมซับรวมเป็นห้วยและลำน้ำอื่นๆ อีกมากบริเวณ อ.เชียงแสน กับ อ.แม่จัน ซึ่งเป็นพื้นที่หัวใจของความเป็นเมืองเชียงแสน เมืองใหญ่สุดควบคุมเส้นทางคมนาคมการค้าสองฝั่งแม่น้ำโขง

Advertisement

เวียงพางคำ (อ.แม่สาย จ.เชียงราย) เชื่อกันว่าเป็นเมืองของพระเจ้าพรหม (บรรพชนพระเจ้าอู่ทอง ผู้สถาปนาอยุธยา) มีคูน้ำคันดินครอบคลุมพื้นที่ตัว อ.แม่สาย หรือพูดอีกอย่างก็ได้ว่าตัว อ.แม่สายกับด่านศุลกากรตรวจคนเข้าเมือง อยู่ในเวียงพางคำ

[แม้มีแนวคิดต่างว่าเวียงพางคำ อาจอยู่บริเวณอื่นถัดไปทางทิศตะวันออก ใกล้แม่น้ำโขง แต่ตรงนี้ก็มีความสำคัญในตัวเอง]

เคยเห็นซากคูน้ำคันดินเมื่อหลายสิบปีมาแล้ว จากนั้นไม่เคยขึ้นไปอีก แต่สอบถามล่าสุดจากคนท้องถิ่นและผู้เกี่ยวข้องก็ล้วนได้คำตอบตรงกันว่า ถูกรื้อทำลายหมดแล้ว ไม่เหลือซาก

Advertisement

ผมอยากเห็นกับตาว่าสภาพที่เหลือซากเป็นอย่างไร? ได้รับความอนุเคราะห์จากสำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ที่เชียงใหม่ (ซึ่งดูแลถึงเชียงราย) ส่งนักโบราณคดี 2 คน (นายสายกลาง จินดาสุ และนายยอดดนัย สุขเกษม) นำทางและชี้แนวเขตคูน้ำคันดิน

จึงได้เห็นกับตาว่า คูน้ำคันดินเวียงพางคำยังมีเหลือไม่น้อย ทั้งอยู่ในสวนสาธารณะกลางเมือง ริมถนนพหลโยธินในตัวอำเภอ และทั้งที่อยู่ลึกขึ้นบนเนินเขาหลังตลาด

เวียงพางคำ เป็นหลักฐานประวัติศาสตร์สำคัญแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นอำนาจของภาษาและวัฒนธรรมไต-ไทขยายตามเส้นทางการค้าเชื่อมโยงโยนก-ล้านนาถึงบ้านเมืองลุ่มน้ำเจ้าพระยา ภาคกลาง เกี่ยวข้องพระเจ้าพรหมกับพระเจ้าอู่ทอง และพระร่วง ขณะเดียวกันก็เป็นทรัพยากรท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมมีศักยภาพสูง

ตำนานและนิทาน เป็นความทรงจำสืบเนื่องยาวนานมาก ที่แสดงความสัมพันธ์ของคนกลุ่มต่างๆ ในประวัติศาสตร์ทางสังคมและวัฒนธรรม

แม้ไม่เป็นหลักฐานทางตรง แต่เป็นร่องรอยบอกได้ทางอ้อมถึงความเป็นมาของท้องถิ่น ซึ่งมี “สตอรี่” ที่แสดงเรื่องราวเติมเต็มสิ่งขาดหายไป และหาไม่ได้จากที่อื่น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image