ไฮไลต์เด่น กิจกรรมเด็ด 7 ปี ‘งานวันยางพาราบึงกาฬ’

นิพนธ์ คนขยัน, นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร,กมลดิษฐ สมุทรโคจร,เฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ร่วมแถลงจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ

ย้อนกลับเมื่อ 7 ปีก่อน มหกรรมยางพาราครั้งสำคัญของประเทศไทยถูกจัดขึ้นครั้งแรกที่ “จังหวัดบึงกาฬ”

เวลานั้น “บึงกาฬ” เป็นที่รู้จักในฐานะจังหวัดน้องใหม่ลำดับที่ 77 ของประเทศ แต่ด้วยศักยภาพและขีดความสามารถในการพัฒนาในเวลาไม่นานก็สามารถก้าวขึ้นเป็น ศูนย์กลางยางพาราภาคอีสาน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการจัด “งานวันยางพาราบึงกาฬ” ได้สร้างปรากฏการณ์สำคัญ ในการรวบรวมสุดยอดนวัตกรรมและองค์ความรู้ด้านยางพาราทุกมิติมาไว้ในงานเดียว เพื่อเป็นการส่งเสริมพัฒนาและยกระดับศักยภาพของเกษตรกรชาวสวนยาง

ขณะเดียวกันยังเป็นมหกรรมที่สานสัมพันธ์และกระชับความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษาและภาคประชาชน ทั้งในไทยและต่างประเทศเข้าด้วยกัน

Advertisement

สอดคล้องกับเป้าหมายในการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ ในมุมมองของ พินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และประธานสภาวัฒนธรรมไทย-จีนและส่งเสริมความสัมพันธ์

พินิจ จารุสมบัติ

“การจัดงานมีจุดมุ่งหมายเดียวคืออุดมการณ์ที่อยากให้คนไทยยืนอยู่บนลำแข้งของตัวเอง โดยมีนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีที่พัฒนาเกษตรกรไทยเป็นผู้ประกอบการ นี่คือจุดมุ่งหมายแรกของการจัดงานยางพาราบึงกาฬ”

บทพิสูจน์เป้าหมายดังกล่าวค่อยๆ ปรากฏให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการรวมตัวของชาวสวนยางก่อตั้งโรงงานเพื่อแปรรูป การร่วมมือกับนานาชาติ ตลอดจนการเกิดนวัตกรรมต่างๆ ขึ้น ซึ่งในมุมมองของพินิจเชื่อว่าการจัดงานยางพาราตลอดหลายปีที่ผ่านมา สร้างคุณูปการอย่างอเนกอนันต์

Advertisement

“ความพยายามตลอดหลายปีที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรตื่นตัว ตระหนักถึงยุทธศาสตร์โลก รวมถึงยุทธศาสตร์ย่อยและยุทธศาสตร์หลักของประเทศ เช่น การแปรรูปผลิตผลทางการเกษตรจากต้นน้ำมาสู่กลางน้ำ และให้ได้บรรลุถึงปลายน้ำ เกิดโรงงานหมอนยางพาราของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ เกิดถนนยางพาราที่คิดค้นโดยภาคการศึกษา ตลอดจนนวัตกรรมต่างๆ เกิดขึ้นจากงานวันยางพาราทั้งสิ้น” พินิจอธิบายถึงที่มา เป้าหมาย และความสำเร็จของงานวันยางพาราบึงกาฬ

สำหรับปีนี้ “งานวันยางพาราบึงกาฬ 2562” จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “บึงกาฬ ศูนย์กลางยางพารา เศรษฐกิจก้าวหน้า การค้าก้าวไกล” ด้วยความมุ่งหวังสู่การเป็นศูนย์กลางการค้ายางพาราภาคอีสาน และศูนย์กลางการค้ายางพาราของภูมิภาคอาเซียน และเช่นเคยงานครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากพันธมิตรหลากหลายองค์กร พร้อมใจจัดงานขึ้นระหว่างวันที่ 13-19 ธันวาคม 2561 ณ สนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จังหวัดบึงกาฬ

นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ เผยถึงการเตรียมงานของจังหวัดว่า บึงกาฬพร้อมเสมอสำหรับยางพารา ซึ่งงานปีนี้เตรียมนำเสนอทุกขั้นตอนของยางพาราตั้งแต่เริ่มต้น ตามด้วยวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการกรีดยาง การลดการใช้แรง ลดการใช้สารเคมี ตลอดจนลดต้นทุน จากนั้นเป็นเรื่องการเข้าสู่กระบวนการเเปรรูปเพิ่มมูลค่า

นิรัตน์-พงษ์สิทธิถาวร

“เป็นการฉายภาพให้เห็นว่าโลกของยางพาราไปถึงไหนแล้ว ซึ่งทั้งหมดจะได้เห็นที่งานยางพาราบึงกาฬ”

แอบกระซิบถามผู้ว่าฯ ถึงการแนวทางส่งเสริมการใช้ยางในจังหวัดบึงกาฬ ได้รับคำตอบทันทีว่า ยางพาราที่บึงกาฬมีอยู่เยอะ ดังนั้นต้องหาวิธีดูดออกจากตลาด โดยได้เชิญทุกหน่วยงานในจังหวัดที่สร้างทาง สร้างถนนมาคุยกันและปรับแผนคือ หากทำถนนแอสฟัลต์ก็ขอให้เพิ่มยางพาราเข้าไป หรือทำเป็นถนนยางพาราดินซีเมนต์ ที่ใช้ซีเมนต์และน้ำยางพาราผสมกัน

ซึ่งถนนยางพาราที่เกิดขึ้นเป็นแนวคิดของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) โดยเริ่มต้นมาจากการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนางานวิจัยและอุตสาหกรรมสัมพันธ์ เล่าว่า จุดเริ่มต้นถนนยางพาราเกิดจากงานวันยางพาราบึงกาฬเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนนั้นยังเป็นโมเดลและมีการพัฒนาต่อเนื่อง ปัจจุบันถนนยางพาราได้เป็นนโยบายหลักของรัฐบาล ให้ใช้ถนนยางพาราดินซีเมนต์ซึ่งเริ่มต้นจากบึงกาฬกับท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่งทั่วประเทศ

ตัวอย่างถนนยางพารา มจพ.

“ถนนยางพาราดินซีเมนต์ 1 กิโลเมตร ใช้น้ำยางสด 12 ตัน หากมีการใช้ยางกับท้องถิ่น 7,000 กว่าเเห่ง จะทำให้ยางพาราในท้องตลาดหายไปจำนวนมาก ซึ่งรายละเอียดรวมถึงการต่อยอดในส่วนของถนนยางพาราดินซีเมนต์จะมีการประชาสัมพันธ์ที่บูธของ มจพ.และเวทีเสวนาในงานวันยางพาราบึงกาฬด้วย”

นอกจากนี้ มจพ.ยังมีนวัตกรรมใหม่ๆ อีกมากมายรอเกษตรกรชาวสวนยางในงานวันยางพาราบึงกาฬ เช่น นวัตกรรมเพื่อเเก้ปัญหากลิ่นเหม็นในโรงงานยางพารา ที่จะนำเสนอที่งานนี้เป็นครั้งเเรก

ขณะที่ นิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ในฐานะที่ปรึกษาชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางพาราจังหวัดบึงกาฬ ให้ความชื่นชมแนวทางการแปรรูปตลอดจนการใช้ยางในพื้นที่

“ต้องขอบคุณรัฐบาลและผู้ว่าฯที่เดินมาถูกทาง เพราะวันนี้การเเก้ปัญหายางพาราต้องมุ่งสู่การเพิ่มมูลค่าด้วยการเเปรรูป วันนี้บึงกาฬเป็นจังหวัดเดียวที่เเก้ปัญหายางพาราอย่างเป็นรูปธรรม ไม่เพียงมีถนนยางพารา ยังมีโรงงานหมอนยางพาราที่วันนี้ส่งออกไปถึงประเทศจีน และสิ่งที่ผมภูมิใจคือ รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป ให้ชื่อยี่ห้อหมอนที่ขายในประเทศจีนว่า ?บึงกาฬ? นอกจากนี้ยังมีโรงงานยางแผ่นซึ่งเราเตรียมต่อยอดนำยางเเผ่นรมควันมาทำสนามกีฬา โดยในงานวันยางพาราบึงกาฬจะมีการแข่งขันบึงกาฬฟุตซอลคัพ 2019 บนสนามที่ทำจากยางพาราด้วย”

นิพนธ์ยังบอกอีกว่า การจัดงานวันยางพาราบึงกาฬเป็นความหวังของคนบึงกาฬ เพราะเป็นตัวหนึ่งที่ฉุดให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของเราชาวสวนยาง อย่างที่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวไว้ว่า เป็นบึงกาฬโมเดล

ทั้งหมดเป็นผลพวงที่นายก อบจ.มองว่าเกิดขึ้นได้จากการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬ

อีกหนึ่งพันธมิตรที่มาร่วมงานเป็นประจำทุกปี พร้อมขนนวัตกรรมใหม่มาโชว์อยู่เสมอ ครั้งนี้ส่ง กฤษดา สังข์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย มาเป็นตัวแทน

กฤษดายืนยันว่า การนำยางมาใช้เป็นวิถีทางที่ยั่งยืน วันนี้เรามาถูกทางในการส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม การยางแห่งประเทศไทยโดยผู้ว่าการก็สนับสนุนเรื่องนวัตกรรมเเละส่งเสริมความเข้มเเข็งของเกษตรกรชาวสวนยาง

พร้อมเเย้มว่า ปีนี้การยางแห่งประเทศไทยเตรียมโชว์นวัตกรรมในงานวันยางพาราอีกเพียบ

สำหรับงานครั้งนี้ได้ยกระดับยิ่งใหญ่กว่าครั้งที่ผ่านมา เพื่อตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ “สนับสนุน” ให้เกิดการผลิต การแปรรูป และการวิจัยอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยางในจังหวัด “ผลักดัน” การค้าขายและการลงทุนของอุตสาหกรรมยางพาราและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง “ส่งเสริม” การท่องเที่ยวในจังหวัดเพื่อสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างแหล่งรายได้เสริมให้กับชาวบึงกาฬ

ในงานมีการจัดแบ่งโซนนิทรรศการและกิจกรรมออกเป็น 12 โซน อาทิ โซนบึงกาฬรวมใจเทิดไท้องค์ราชา, โซนบึงกาฬเมืองก้าวหน้า, โซนบึงกาฬลานเด็กเล่น, โซนเปิดโลกยางพารา, โซนเวทีปราชญ์ชาวบ้าน ที่รวบรวมหัวข้อเสวนาเพื่อสร้างความรู้ด้านการผลิต การแปรรูป และการวิจัยอุตสาหกรรมยางพารา จากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงปราชญ์แผ่นดิน เป็นต้น

มีดกรีดยางนกเงือก

ปีนี้ยังเพิ่มความพิเศษสุดกับการเปิดโซน China Pavilion เป็นความร่วมมือจากบริษัทและอุตสาหกรรมการค้ายางพาราจากสาธารณรัฐประชาชนจีน จัดแสดงนิทรรศการและนวัตกรรมยางพารา

เฉิน หู้เซิง (โทนี่ เฉิน) ผู้อำนวยการฝ่ายประเทศไทย บริษัท รับเบอร์วัลเล่ย์ กรุ๊ป จำกัด ประเทศจีน และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยวิศวกรรมยางแห่งชาติประเทศจีน ประจำประเทศไทย เผยว่า ปีนี้มาพร้อมโซนพิเศษที่เน้นเรื่องเครื่องกรีดยางอัตโนมัติ ซึ่ง 2-3 ปีที่ผ่านมาก็มี แต่ปีนี้จะเป็นแบบพกง่ายสะดวก เป็นแบบระบบมือถือ สามารถเพิ่มศักยภาพการกรีดยางให้เร็วและไวขึ้น

เป็นไฮไลต์เด่นในงานโดยผู้ค้ายางจากเมืองยูนนาน นครคุนหมิง เตรียมนำเสนอนวัตกรรมเครื่องกรีดยางรุ่นใหม่ ทำงานด้วยระบบมอเตอร์ โดยอาศัยแรงคนกรีดยางตามปกติ แต่กรีดยางได้เร็วกว่าเดิม แถมได้หน้ายางเรียบ ช่วยยืดอายุการกรีดต้นยางได้ยาวนานขึ้น โดยแรงงานที่ใช้มีดกรีดยางทั่วไปจะกรีดยางได้ 700-800 ต้น/คน/วัน แต่นวัตกรรมชิ้นนี้จะทำให้กรีดยางได้มากกว่าเดิม เฉลี่ย 1,000 ต้น/คน/วัน

สำหรับไฮไลต์สำคัญในภาคบันเทิงของงานปีนี้ คือการแข่งขัน “ไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ 2019” ชิงเงินรางวัลรวมกว่า 500,000 บาท โดยได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีระดับประเทศ ได้แก่ ครูสลา คุณวุฒิ, ครูเทียม ชุติเดช ทองอยู่, และครูเรืองยศ พิมพ์ทอง มาเป็นคณะกรรมการตัดสิน

กมลดิษฐ สมุทรโคจร รองกรรมการผู้จัดการบริษัท คาราบาว กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้สนับสนุนการแข่งขันครั้งนี้ระบุว่า ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่เข้ามาสนับสนุนไทยแลนด์ลูกทุ่งคอนเทสต์ สำหรับงานวันยางพาราบึงกาฬเป็นงานที่ยิ่งใหญ่เเละขอชื่นชมในวิสัยทัศน์ของผู้จัดงาน ในการนำสินค้าเกษตรกรไทยมาเพิ่มมูลค่า

ซึ่งในงานครั้งที่ผ่านมา กมลดิษฐเผยว่า มีหลายคนตั้งคำถามว่าวงคาราบาวจะมาร่วมงานหรือไม่ ครั้งนี้ไม่รอให้ถาม แต่ประกาศชัดว่าจะพาแอ๊ด คาราบาว และพี่น้องคาราบาวมาแบบเต็มวง ไม่เพียงเท่านี้ยังเสริมความพิเศษด้วยกิจกรรมคืนกำไรให้คนบึงกาฬ โดยแจกคูปองให้ร่วมลุ้นโชคไปพร้อมกันทุกวัน

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่จะปรากฏในงานวันยางพาราบึงกาฬ แต่ยังมีกิจกรรมให้ร่วมสนุกอีกมากมาย

แล้วพบกันที่จังหวัดบึงกาฬ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image