อาศรมมิวสิก : เมื่อก้าวข้ามแผ่นเสียง เทป และซีดี สู่ความว่างเปล่าในอากาศ : สุกรี เจริญสุข

ความตื่นเต้นที่มนุษย์สามารถบันทึกเสียงเพลงได้เมื่อปี พ.ศ.2420 โดยโทมัส อัลวา เอดิสัน (Thomas Alva Edison) ชาวอเมริกัน ประดิษฐ์เครื่องบันทึกเสียงเพลง (Mary’s Little Lamb) ได้สำเร็จ อีก 10 ปีต่อมา จึงพัฒนาเป็นเครื่องเล่นกระบอกเสียงสำเร็จ โดยทำเป็นกระบอกแท่งดีบุกและทำเป็นกระบอกกระดาษเคลือบขี้ผึ้ง

มีนักธุรกิจชาวอังกฤษชื่อ จูเลียส บล็อก (Julius Block) ทำธุรกิจอยู่ในรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ที่หลงใหลชื่นชอบดนตรีมาก ได้เดินทางไปพบเอดิสันที่สหรัฐอเมริกา เพื่อขอซื้อเครื่องเล่นกระบอกเสียงของเอดิสัน โดยนำไปบันทึกเสียงการแสดงดนตรีในรัสเซีย เยอรมนี และสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างปี พ.ศ.2432-2470 หลักฐานที่พบเป็นเพลงที่ได้บันทึกการแสดงเปียโนกับนักร้อง ที่เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก พบหลักฐานสำคัญคือ ในปี พ.ศ.2433 เขาได้บันทึกเสียงบทเพลงสรรเสริญพระบารมี ผลงานของปโยตร์ สชูโรฟสกี (Pyotr Schurovsky)

ในปี พ.ศ.2443 คาร์ล สตุมฟ์ (Carl Stumpf) เป็นนักดนตรีวิทยา นักปรัชญา และนักจิตวิทยา ชาวเยอรมัน ได้บันทึกเสียงดนตรีไทยที่บรรเลงโดยวงปี่พาทย์คณะละครนายบุศย์มหินทร์ (บุศย์ เพ็ญกุล) ที่กรุงเบอร์ลิน ซึ่งเป็นความก้าวหน้าที่สำคัญทางเทคโนโลยีที่มีเรื่องดนตรีไทยและเพลงสำคัญของชาติไทยไปเกี่ยวข้อง

เมื่อเริ่มการบันทึกเสียงเกิดขึ้น วงการดนตรีก็เปลี่ยนโฉมครั้งสำคัญ เพราะการเล่นสดเพื่อขายตั๋ว ยังสามารถที่จะขายดนตรีแห้งได้ด้วย คือการบันทึกเสียงลงแผ่นเสียง สามารถที่จะฟังซ้ำได้ มีวิธีการตลาดใหม่ นักดนตรี นักร้อง นักแต่งเพลงทำงานน้อยลง แต่สามารถที่จะขายงานซ้ำๆ ได้

Advertisement

ก่อนหน้านั้น นักดนตรี นักแต่งเพลง ไม่สามารถที่จะทำอะไรซ้ำๆ ได้ หากจะทำซ้ำก็ต้องเริ่มทำงานใหม่ตั้งแต่ต้น ถ้าอยากจะฟังดนตรีก็ต้องไปฟังการแสดงสด นักดนตรีและผู้ประพันธ์เพลงก็ต้องทำงานใหม่และสด เพื่อสนองความต้องการของผู้ฟัง การฟังเพลงจึงเป็นการลงทุนที่สูง ไม่ว่าจะเป็น เงิน บารมี อำนาจ ชื่อเสียงเกียรติยศ ซึ่งเป็นเรื่องที่คนธรรมดาทำไม่ได้ ดนตรีจึงเป็นงานศิลปะที่อยู่กับคนชั้นสูง

ในปี พ.ศ.2479 บริษัทในเยอรมนีได้เปิดตัวเครื่องเล่นเทปแมกเนติก ใช้เทปเสียงเคลือบด้วยสารแม่เหล็กเป็นม้วนกลม (ขนาดใหญ่) บันทึกการแสดงของวงลอนดอนฟิลฮาร์โมนิก (London Philharmonic Orchestra) ทำให้วงการเพลงเปลี่ยนแปลงอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อมีการบันทึกเสียงเกิดขึ้น การเปิดเพลงซ้ำๆ ก็สามารถที่จะทำได้ในราคาที่ถูกลง โดยซื้อเครื่องเล่นจานเสียง ซื้อแผ่นเสียง ยิ่งยุคที่มีสถานีวิทยุเริ่มเมื่อปี พ.ศ.2462 ก็สามารถที่จะเปิดแผ่นเสียงบทเพลงในสถานีวิทยุและใครๆ ก็สามารถที่จะซื้อเครื่องรับวิทยุเพื่อฟังเพลงได้ ทำให้มีจำนวนผู้ฟังเพิ่มมากขึ้น ไม่จำเป็นที่จะต้องไปดูการแสดงดนตรีสดอีกต่อไป ดนตรีแห้งที่บันทึกไว้ในแผ่นเสียง จึงมีบทบาทที่นำไปขยายต่อทางธุรกิจได้

Advertisement

ในปี พ.ศ.2493 บริษัทโซนี่ของญี่ปุ่นเปิดตัวเทปบันทึกเสียง ในปี พ.ศ.2497 ญี่ปุ่นผลิตวิทยุพกพาได้สำเร็จ นวัตกรรมการบันทึกเสียงซึ่งสามารถเปลี่ยนโลกในการฟังดนตรี มาจากบริษัทฟิลิปส์ เนเธอร์แลนด์ ได้เปิดตัวเทปคาสเซต ในปี พ.ศ.2506

พ.ศ.2523 บริษัทโซนีได้ผลิตสเตอริโอคาสเซตเทปแบบพกพา สำหรับเดินฟังเพลงได้ (Walkman) ต่อมาบริษัทฟิลิปส์ได้พัฒนาเทคโนโลยีชนิดใหม่ขึ้นเรียกว่า คอมแพกต์ดิสก์ (Compact Disc, CD) ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงการฟังดนตรีของชาวโลกอีกครั้งหนึ่ง และในปี พ.ศ.2540 ได้มีการผลิตแผ่นภาพและเสียง (DVD) ทำให้การฟังดนตรีที่บ้านเหมือนกับการไปฟังเพลงที่โรงแสดงเลยทีเดียว

จากอนาล็อก (จับต้องได้) สู่ยุคดิจิทัล (จับต้องไม่ได้/MP-3) ซึ่งเริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2531 มีการพัฒนาการบันทึกเสียงแบบดิจิทัลลงในวิดีโอและแผ่นเพลงซีดี ในปี พ.ศ.2548 การส่งสัญญาณของเทคโนโลยีชนิดใหม่เกิดขึ้นเป็นระบบดิจิทัล (YouTube) พัฒนาการทางเทคโนโลยีกระทั่งปัจจุบัน โรงงานแผ่นเสียง โรงงานผลิตเทป โรงงานผลิตซีดี/ดีวีดี จบลงอย่างสิ้นเชิง

รวมทั้งค่ายเพลง เจ้าของนักร้อง ไม่สามารถที่จะขายผลผลิตที่มีอยู่ในบริษัทได้อีกต่อไป

วันนี้ค่ายเพลงหมดบทบาทในการควบคุมศิลปินเพลงอีกต่อไป ศิลปินเพลงไม่สามารถที่จะสร้างผลงานแบบทำซ้ำมาขายได้ราคาอีกต่อไป ศิลปินทำได้เองทุกอย่างที่บ้าน เพียงใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนตัว ตั้งแต่การสร้างผลงาน ส่งตัวอย่างให้แก่ผู้ฟัง นำเสนอการแสดงให้คนดูทั่วโลกได้เลย การผลิตผลงานก็ทำได้ง่ายขึ้น ใช้งบประมาณน้อยลง ใครๆ ก็สามารถที่จะนำเสนอผลงานของตัวเองได้

บริษัทลิขสิทธิ์เพลงก็หมดความหมาย ไม่มีใครซื้อเพลง เพราะว่าศิลปินหน้าใหม่ได้สร้างผลงานใหม่เป็นของตัวเอง แม้เพลงจะไม่ดัง ไม่มีราคา ขายเป็นเงินไม่ได้ แต่ก็สามารถทำเพลงได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องรอคอยใคร ไม่ต้องมีเงินเพราะต้นทุนต่ำ ไม่ต้องสังกัดค่าย ไม่ต้องโฆษณา ไม่มีหน้าร้าน หากทำเพลงออกมา แล้วโดนใจมิตรรักแฟนเพลง ก็สามารถที่จะมีชื่อเสียงได้เพียงชั่วข้ามคืน

ศิลปินเพลงจะอยู่อย่างไรต่อไป เมื่อไม่สามารถที่จะกรอกหูผู้ฟังผ่านสถานีวิทยุอีกต่อไป หมดยุค “คิวละพัน วันละเพลง” เพื่อจ้างให้เปิดเพลงกรอกหูผู้ฟัง ไม่สามารถที่จะผลิตผลงานเพื่อขายซ้ำๆ ได้อีกแล้ว ต่อไปนี้เป็นยุคของการ “ขายสด” กลับไปสู่ยุคโบราณก่อนปี พ.ศ.2420 ศิลปินก็ต้องมีฝีมือดีและรับงานเพื่อนำเสนอการแสดงสด ขายบัตร หรือรับจ้างไปแสดง

สำหรับการบันทึกลงสื่อ (On Line) เป็นเพียงรูปแบบการโฆษณาผลงานได้เท่านั้น หากหวังว่าจะหาเลี้ยงชีพด้วยการได้เงินจากยูทูบ (YouTube) ก็คงเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ไปอีกนาน ซึ่งยุคต่อไปนี้ ศิลปินก็จะไม่มีผู้จัดการ ศิลปินก็จะไม่ต้องจ้างบริษัทโฆษณา ไม่ต้องเข้าไปสังกัดค่าย ไม่ต้องจ่ายค่าหัวคิวเพลง แต่ต้องเข้าห้องบันทึกเสียง ซึ่งห้องบันทึกเสียงก็พลอยล้มลงตามเทปและซีดีไปด้วย

ศิลปินเพลงจะเตรียมตัวเพื่ออยู่ในโลกดิจิทัลต่อไปอย่างไร แน่นอนที่สุด เมื่อธุรกิจและผลประโยชน์ขึ้นอยู่กับการแสดงสด จึงต้องอาศัยฝีมือเท่านั้น ความสามารถของศิลปินขึ้นมาอยู่ในลำดับแรกของวิถีชีวิต ความสามารถของศิลปิน ไม่ว่าจะเป็น การร้อง การเล่น และการแสดง จึงเป็นสินค้าที่จะขายได้

การที่จะนำผลงานไปทำซ้ำ ทำได้แค่การโฆษณาประชาสัมพันธ์เท่านั้น

ศิลปินในยุคต่อไปนี้ก็ต้องมุ่งสร้างผลงานใหม่ของตัวเอง จะแสดงผลงานซ้ำๆ ไม่ได้อีกต่อไป เพราะผลงานที่ทำซ้ำ กลายเป็นของฟรีอยู่ในยูทูบเสียแล้ว ผลงานชิ้นใหม่จึงเป็นความคาดหวังและการซื้อบัตรเข้าชมของมิตรรักแฟนเพลง ศิลปินก็จะต้องสร้างความแตกต่างที่ก้าวไปข้างหน้าตลอดเวลา การโหยหาอดีตว่าการแสดงฉลองครบรอบ 20 ปี 30 ปี 40 ปี ก็ทำได้เฉพาะศิลปินที่ไม่มีอนาคตเท่านั้น เพราะการโหยหาอดีตเป็นการแสดงของศิลปินที่เคยมีอดีตที่ยิ่งใหญ่ แต่ก็ได้หมดอนาคตลงไปแล้ว

ศิลปินที่ยิ่งใหญ่และยังมีอนาคตก็ต้องเร่งสร้างผลงาน เพราะการแสดงสดในแต่ละครั้ง จะต้องสร้างผลงานชิ้นใหม่ เพื่อที่จะอวดให้มิตรรักแฟนเพลงรับรู้ได้ว่า ทุกครั้งที่แสดงก็จะมีเพลงใหม่ มีผลงานใหม่ มีสินค้าใหม่มอบแก่ผู้ชม จะหากินอยู่กับของเก่าไม่ได้อีกต่อไป เพราะอนาคตนั้นมีแต่ความว่างเปล่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปก็คือ มีการจัดมหกรรมการแสดงดนตรีเพิ่มมากขึ้น ยิ่งมีวง 10-20 วง ก็จะเป็นที่พึงพอใจ เป็นที่ปรารถนาของมิตรรักแฟนเพลง เพราะยังไม่มีศิลปินคนใดคนหนึ่ง “โดน” พอที่จะตรึงผู้ชมได้ตลอดรายการแสดง ผู้จัดงานก็ต้องหาความหลากหลาย “สิ่งละอันพันละน้อย” มาประกอบให้เป็นงานที่ยิ่งใหญ่

จากเส้นทางอันยาวไกลของธุรกิจการฟังเพลง มีการเปลี่ยนอุปกรณ์ที่หลากหลาย จากการแสดงสดไปสู่ดนตรีแห้ง วันนี้ธุรกิจดนตรีแห้งขายไม่ได้อีกแล้ว ดนตรีก็ต้องกลับไปสู่การแสดงสดอีกครั้งหนึ่ง

ในความเป็นจริงแล้ว ดนตรีสดไม่เคยตาย ยกเว้นศิลปินที่ไม่เก่ง อาจจะขึ้นไปฆ่าตัวตายบนเวทีแสดงสด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image