เดินไปในเงาฝัน : สิ่งสำคัญของชีวิต : โดย สาโรจน์ มณีรัตน์

นั่งอ่านหนังสือเรื่อง “สิ่งสำคัญของชีวิต” ที่มี “นิ้วกลม” เป็นผู้เขียน ทำให้พบวรรคทองหลายคำที่เขาเรียบเรียงมาจากการสัมภาษณ์ มานิต อุดมคุณธรรม เจ้าของอาณาจักรธุรกิจหลายชนิด รวมทั้งโครงการสวอนเลค เขาใหญ่ ที่มี “เขา” และ “เบิร์ด” ธงไชย แมคอินไตย์ เป็นพรีเซ็นเตอร์

โดยเฉพาะกับคำว่า…เมื่อเราไม่ทอดทิ้งความฝัน ความฝันจะไม่ทอดทิ้งเรา
หรือ…เมื่อเราเอาจริงกับมัน มันจะเป็นของจริงสำหรับเรา
และ…เมื่อเรามอบความหมายให้กับงาน งานจะกลายเป็นความหมายของชีวิต
ฯลฯ

ซึ่งวรรคทองหลายคำที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้ ไม่ใช่เกิดขึ้นจากการประดิษฐ์คำเพื่อใช้ในการสัมภาษณ์ หากเป็นวรรคทองที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์จริงตลอดมาที่เขาเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่วัยหนุ่ม กระทั่งผ่านมาถึงช่วงวัยที่ 73 ปี

เป็น 73 ปีที่ “นิ้วกลม” สรุปจากการพูดคุยครั้งนี้ว่าเขาได้รู้จักกับคำว่า…สิ่งสำคัญของชีวิตคืออะไร?

Advertisement

ซึ่งเป็นเรื่องจริง

เพราะคนเราทุกวันนี้มักเดินไปข้างหน้าอย่างเดียว โดยไม่มองย้อนหลังกลับมาดูว่าผ่านมาเราทำอะไรบ้าง

เจออะไรมาบ้าง

หรือลองเดินเข้าไปหาเส้นทางเดิมๆ ที่เคยผ่านมาในแต่ละช่วงวัยดูบ้าง เพราะฉะนั้น คนเหล่านั้นจะมุ่งไปสู่เส้นทางของความฝันแต่เพียงอย่างเดียว

พร้อมกับทุ่มเทแรงกายแรงใจทั้งหมดเพื่อไปให้ถึงปลายฝันดั่งที่ตั้งใจไว้ โดยลืมไปว่าการทุ่มเทแรงกายแรงใจแต่เพียงฝ่ายเดียว อาจทำให้ร่างกายไม่ตอบรับ

เกิดการต่อต้าน

จนที่สุดอาจล้มป่วยโดยง่าย

ซึ่งครั้งหนึ่ง “มานิต” เองก็เป็นเช่นนั้น เพราะเขาถึงจุดที่ป่วยเป็นโรคเส้นเลือดในสมองแตก จนเกือบเป็นอัมพาต เขาจึงคิดขึ้นได้ว่าหากปล่อยชีวิตให้เป็นอย่างนี้ต่อไป เห็นทีคงแย่แน่

เขาจึงหันมาใส่ใจสุขภาพ

ด้วยการเริ่มวิ่ง ก่อนจะปั่นจักรยานในเวลาต่อมา

ตอนนี้เขาไม่เพียงเป็นนักวิ่งมาราธอน เขายังขี่จักรยานในหนทางที่ลำบากมากขึ้นด้วย เขาเริ่มรู้สึกว่าตลอดสองข้างทางที่เขาวิ่ง และปั่นจักรยานต่างเต็มไปด้วยสรรพสิ่งมากมาย

เขาสูดหายใจเต็มปอด

เขามองเห็นสีเขียวๆ ของต้นไม้ ใบไม้อย่างมีความสุข

เขาเห็นพระอาทิตย์ขึ้นและตกที่ล้วนต่างถูกนาฬิกาธรรมชาติควบคุมอย่างไม่เคยบิดพลิ้ว และสำคัญกว่านั้น เขาได้เห็นมิตรภาพของเพื่อน พี่ น้อง และคนรุ่นหลาน เหลนที่ต่างมีน้ำใจในการวิ่งแต่ละครั้ง

เท่านี้ก็มีความสุขแล้ว

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “มานิต” ในช่วงปัจฉิมวัยเขาจึงใช้ชีวิตแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่เพราะเขาปลง แต่เขาเริ่มเข้าใจกฎของธรรมชาติ

ธรรมชาติที่สอนเขาให้รู้จักสงบ

ปล่อยวาง

และรู้จักที่จะอยู่กับมันอย่างเข้าใจ

สิ่งต่างๆ เหล่านี้มองเผินๆ เหมือนใครๆ ก็ทำได้ แต่จริงๆ แล้วทำยากมาก เพราะดั่งที่ทราบมนุษย์ทุกคนต้องทำงาน ต้องอยากได้ใคร่มีในบางสิ่งบางอย่าง ดังนั้น การตั้งรับที่จะเข้าใจเรื่องเหล่านี้ จึงเป็นเรื่องลำบากพอสมควร

เขาจะต้องมีประสบการณ์มากพอ

และมองเห็นว่าทุกสรรพสิ่งที่เกิดขึ้น ล้วนไม่มีความจีรังยั่งยืนเลย

แต่การจะทำเช่นนั้นได้ เราจะต้องถกเถียงกับตัวเองอยู่พอสมควร เพราะชีวิตในความเป็นจริงกับความฝันมีความต่างกัน

บางคนอาจอยู่กับความฝันมากไป

โดยไม่ทำอะไรเลย

ขณะที่บางคนอยู่กับความเป็นจริงจนละเลยความฝันมาหล่อเลี้ยงชีวิต จนทำให้ตัวเองกลายเป็นมนุษย์คอมพิวเตอร์ที่ถูกโปรแกรมควบคุมตามคำสั่ง

โดยมองข้ามรสนิยมในเรื่องต่างๆ

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่ “มานิต” มีความเชื่อว่า…เมื่อเราไม่ทอดทิ้งความฝัน ความฝันจะไม่ทอดทิ้งเรา

ซึ่งผมว่าเป็นเรื่องจริง

เพราะเท่าที่อ่านหนังสือ ฟังจากคำพูดของบุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิต พวกเขามักจะมีความฝันหล่อเลี้ยงตัวเองอยู่เสมอ

เพราะความฝันทำให้เขามีเป้าหมาย

เมื่อมีเป้าหมาย เขาจะหมั่นฝึกปรือตัวเอง เพื่อให้ความฝันเหล่านั้นกลายเป็นความจริง และเมื่อความฝันกลายเป็นความจริงไม่ว่าจะช้าหรือเร็วก็ตาม

เขาจะยิ้มอย่างมีความสุข

ซึ่งเหมือนกับ “มานิต” และมนุษย์ทุกๆ คนบนโลกใบนี้ที่ล้วนต่างเชื่อว่า…ไม่มีอะไรหรอกที่เป็นไปไม่ได้ ทุกสิ่งล้วนเป็นไปได้ทั้งสิ้น ถ้าเราลงมือทำ

ผมเองก็เชื่อเช่นนั้น

แม้จะอ่านหนังสือเล่มนี้ยังไม่จบก็ตาม

แต่ผมมีความเชื่อดุจเดียวกันกับ “มานิต” ว่า…เมื่อเราเอาจริงกับมัน มันจะเป็นของจริงสำหรับเรา

ผมว่าเป็นเรื่องจริงนะ?

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image