เปิดมุมมองใหม่ของคนไกล ค่ายเยาวชน”จิตร ภูมิศักดิ์” ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองผ่านสถานที่จริง

เรียนรู้ชีวิตมหา'ลัยของจิตร ภูมิศักดิ์ กับ รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์

วันที่ 5 พฤษภาคม วันครบรอบการจากไปครบ 50 ปีของ จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดนักเคลื่อนไหวทางการเมืองคนสำคัญของประเทศไทย

ผู้มีผลงานที่สะท้อนมุมมองความคิด เเละการค้นคว้าทางวิชาการที่แปลกใหม่ น่าสนใจ ซึ่งถูกถ่ายทอดส่งต่อให้คนรุ่นหลังผ่านผลงาน ผ่านปัญญาชน เเละนักวิชาการ จนถึงปัจจุบัน

ล่าสุดกับการส่งต่อความรู้ด้านประวัติศาสตร์การเมือง ให้กับเยาวชน โดยนักวิชาการร่วมกับหน่วยงานหลายภาคส่วน อาทิ นักศึกษาปริญญาเอก สื่อสารการเมือง ม.เกริก รุ่น 13-15, กลุ่ม “จิตร ภูมิศักดิ์” ซึ่งมี ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ เป็นผู้ประสานงาน, กลุ่ม “มิตรภาพ” ซึ่งเป็นเพื่อนพี่น้องร่วมรุ่นธรรมศาสตร์ปี 2524-2526 และกลุ่มอิสระ มรภ.สกลนคร ร่วมสนับสนุนงบประมาณจัดกิจกรรม “ค่ายเยาวชนจิตร ภูมิศักดิ์ : จากวนา สู่นาคร แบบ Walking Tour”

เดิมเมื่อพูดถึงคำว่า “ค่าย” คนมักนึกถึงการนำคนไปอยู่รวมกัน ทำกิจกรรมต่างๆ และมักจะเป็นคนกรุงเทพฯ ไปต่างจังหวัด แต่ครั้งนี้เป็นการพาเด็กต่างจังหวัดเข้ามาในกรุงเทพฯ โดยคัดเลือก ‘นักกิจกรรม’

Advertisement

ตัวเเทนจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร รวม 7 คน มาเรียนรู้เรื่องราวเกี่ยวกับ จิตร ภูมิศักดิ์ ในแง่มุมต่างๆ และศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในสถานที่จริง

รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เล่าถึงอิทธิพลของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ส่งผลต่อเหตุการณ์เดือนตุลาฯ
รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เล่าถึงอิทธิพลของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ส่งผลต่อเหตุการณ์เดือนตุลาฯ

ผศ.ดร.ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ ประธานหลักสูตรรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ผู้ประสานงานโครงการค่ายฯ เล่าว่า กิจกรรมครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อปลุกความใฝ่ฝันของเยาวชนต่างจังหวัด ให้เข้าสู่โลกสมัยใหม่ เรียนรู้อย่างเข้าใจ และเท่าทันชีวิต รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

สำหรับค่ายเยาวชนจิตร ภูมิศักดิ์ แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ค่ายเยาวชนจิตรออนไลน์ เป็นการอบรมผ่านกลุ่มปิดของเฟซบุ๊ก ซึ่ง ธำรงศักดิ์ ได้ไอเดียมาจากวิธีการสอนนักศึกษาระดับปริญญาโทออนไลน์ ให้เยาวชนสามารถเรียนรู้และสนทนาได้จากที่บ้าน

Advertisement

อีกส่วนหนึ่ง คือ ค่ายเยาวชนซึ่งพานักศึกษาปริญญาตรีเดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อสัมผัสประสบการณ์ใหม่ๆ ตั้งแต่การเดินทางโดยเครื่องบิน การไปเยี่ยมเยือนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นสถานศึกษาของจิตร รวมถึงสถานที่สำคัญของกรุงเทพ ฯ อาทิ พระบรมมหาราชวัง เรียนรู้วัฒนธรรมรัตนโกสินทร์ โดยไม่มีการว่าจ้างรถโดยสารรับส่งไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นความตั้งใจของ ธำรงศักดิ์ ที่อยากให้เยาวชนได้สัมผัสการเดินทางในรูปแบบต่างๆ ในกรุงเทพฯ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟใต้ดิน เรือโดยสาร รถประจำทาง แม้กระทั่งโบกแท็กซี่ในช่วงเวลาเร่งด่วน

เรื่องเหล่านี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ถูกมองข้าม

“แม้เดี๋ยวนี้จะบอกว่า ใครๆ ก็บินได้ แต่ความจริงอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป การบินทำให้เกิดความใฝ่ฝัน เป็นการเดินทางในโลกสมัยใหม่ เราต้องการ ปลุกความใฝ่ฝันอันแสนงาม ที่มีต่อตนเอง ครอบครัว ชุมชนสังคม ซึ่งความใฝ่ฝันอันแสนงามนี้ เป็นคำของ จิตร 3 วัน 2 คืนที่เขาอยู่ที่นี่ แม้ไม่มาก แต่เชื่อว่าจะช่วยปลุกอะไรบางอย่างในใจของเขาได้” ธำรงศักดิ์ ทิ้งท้าย

กิจกรรมครั้งนี้ นอกจากจะได้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองผ่านสถานที่จริง ยังมีโอกาสได้รับความรู้จากนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์คนสำคัญหลายท่าน อาทิ ศ.ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สุจิตต์ วงษ์เทศ, รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์, รศ.ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อัครพงษ์ ค้ำคูณ, ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ ผ่านกิจกรรมมากมาย

เรียนรู้ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ กับ อัครพงษ์ ค่ำคูณ
เรียนรู้ประวัติศาสตร์ธรรมศาสตร์ กับ อัครพงษ์ ค่ำคูณ

หนึ่งในนั้นคือกิจกรรม “สนทนาเรื่อง จิตร ภูมิศักดิ์ กับ รศ.ฉลอง สุนทราวาณิชย์”

รศ.ฉลอง พูดถึงความสำคัญของจิตร กับประวัติศาสต์การเมืองไทยว่า มีด้วยกัน 2 ส่วน คือ 1.เรื่องของการเคลื่อนไหวด้านภูมิปัญญา ความคิดทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับบริบททางการเมืองที่มีความเกี่ยวโยง สัมพันธ์กับบริบทโลก ในช่วง “สงครามเย็น”

“ความคิด อุดมคติของ และอุดมการณ์ของ จิตร ก่อตัวขึ้นท่ามกลางบรรยากาศความตึงเครียดจากความขัดแย้งระหว่างแนวคิดแบบทุนนิยมประชาธิปไตยของโลกตะวันตก กับสังคมนิยมของฝ่ายซ้าย ซึ่งมีการเผชิญหน้าอย่างรุนแรงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ฉะนั้นการจะเข้าใจเรื่องของ จิตร ส่วนหนึ่งจะต้องเข้าใจบริบทนี้ด้วย”

เรื่องที่ 2 คือ “สันติภาพ เป็นประเด็นที่เกี่ยวโยงกับความหายนะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสังหารและการทำลายล้าง เรื่องของสันติภาพ จึงเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ของโลกกังวลและคิดถึง ทำให้ภูมิปัญญาไม่ว่าจะผ่านรูปแบบการเคลื่อนไหว หรืองานเขียนทั่วไปของ จิตร มักจะผูกติดเรื่องของสันติภาพ”

อีกมุมหนึ่ง จิตร มีความคาดหวังเกี่ยวกับบทบาทเยาวชน เราจึงเห็นงานที่เกี่ยวกับ “คนหนุ่ม คนสาว” อยู่มากพอสมควร

ดังนั้น การจัดกิจกรรมนำเยาวชนจากที่ไกลๆ มาเรียนรู้ประวัติศาสตร์การเมืองในสถานที่จริง รวมทั้งมีโอกาสพูดคุยกับนักวิชาการ หรือปัญญาชนอาวุโสก็เป็นวิธีที่จะปลูกฝังความรู้ที่สำคัญ

“ยังเป็นการสร้างพื้นที่ความทรงจำที่หลากหลายขึ้น เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับโอกาสในพื้นที่สาธารณะอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มของคนที่สนใจประวัติศาสตร์อย่างจริงจัง เพราะในระบบการศึกษา รวมถึงในสื่อที่ครอบงำความคิดคนส่วนใหญ่ จะมีการสร้างความทรงจำของสังคมแบบเดียว มักจะให้ความชอบธรรมกับรัฏฐาธิปัตย์ และกลุ่มคนที่มีอำนาจในสังคมการเมือง” รศ.ฉลองอธิบาย

อีกหนึ่งกิจกรรมของค่ายที่อาจดูไม่เหมือนค่ายเยาวชนทั่วไป ก็คือการพานักศึกษาไปพูดคุยกับบุคคลที่มีความเกี่ยวข้องกับงานของจิตร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังเช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ คอลัมนิสต์ด้านประวัติศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้นำผลงานของจิตรมาใช้มากที่สุดคนหนึ่ง ผ่านงานเขียนคอลัมน์สยามประเทศไทย ในหนังสือพิมพ์ “มติชนรายวัน” ยังไม่นับรวมถึงงานในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมซึ่งเขาเป็นผู้ก่อตั้ง

“ไม่มีหนังสือเล่มนี้ ก็ไม่มีนิตยสารศิลปวัฒนธรรม”

สุจิตต์ หมายถึง “ความเป็นมาของคำสยาม ไทย, ลาว และขอม และลักษณะทางสังคมของชื่อชนชาติ” ผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตของจิตร ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในชีวิตของสุจิตต์ เขาถึงกับวางมือจากการเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์รายวัน แล้วหวนคืนยุทธจักรประวัติศาสตร์โบราณคดีตามสาขาที่เรียบจบมา ด้วยการออกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม เมื่อ พ.ศ.2522 หลังได้อ่านผลงานดังกล่าว ซึ่งเขามองว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เรียกจิตรว่า “นักปราชญ์” ได้อย่างเต็มปาก

“ในขณะที่นักวิชาการคนอื่นๆ ในช่วงนั้นส่วนใหญ่ลอกฝรั่งแล้วมาเรียบเรียงเป็นงานตัวเอง แต่จิตรเอาหลักฐานพื้นเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาใช้ เป็นแนวคิดใหม่จริงๆ น่าเสียดายที่ตอนนั้น คนดูถูกจิตร ส่วนหนึ่งเพราะเป็นนักต่อสู้ เข้าป่า เลยไม่อ่านงานของเขา เพราะคิดว่าคงไม่มีอะไร ที่ไหนได้ ยิ่งใหญ่มาก หลังจากสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพแล้ว ก็มีจิตร นี่แหละที่ถือเป็นนักปราชญ์” สุจิตต์กล่าว

ร่วมทานอาหารเย็น และพูดคุยกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ
ร่วมทานอาหารเย็น และพูดคุยกับ สุจิตต์ วงษ์เทศ

ด้านเยาวชนที่มาร่วมกิจกรรมทุกคนรู้จัก “จิตร ภูมิศักดิ์” อยู่บ้าง

ทัศธร มุลเมืองแสน หนึ่งในเยาวชน บอกว่า “ผมรู้จักจิตร จากเพลง จิตร ภูมิศักดิ์ ของ หงา คาราวาน สมัยมัธยมปลาย”

ทัศธร เล่าต่อว่า ตอนนั้นยังไม่รู้ประวัติมากนัก มารู้เรื่องราวของ จิตร อีกครั้งตอนเข้ามหาวิทยาลัย ในวิชาประวัติศาสตร์การเมือง ที่ให้ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองในพื้นที่ จ.สกลนคร ซึ่ง จิตร เสียชีวิตที่ทุ่งนากลางป่าละเมาะ บ้านหนองกุง ต.คำบ่อ อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ.2509 หลังจากนั้นก็ได้ตามอ่านผลงานเรื่อยมา

“โครงการนี้ทำให้รู้จัก จิตร มากขึ้นกว่าเดิม คิดว่าเป็นโอกาสที่ดีครับ เพราะสาขาวิชารัฐศาสตร์ที่เปิดสอนในมหาลัยนอกศูนย์กลาง นอกกรุงเทพฯ หลายวิชาที่สอนมีการพูดถึงประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ และสถานที่สำคัญที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง แต่เราไม่มีตัวอย่างให้เห็น อย่างที่ จ.สกลนคร ไม่มีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ไม่มีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์”

“กิจกรรรมนี้ช่วยให้นักศึกษาจากต่างจังหวัดอย่างผม ได้สัมผัสถึงบรรยากาศของสถานที่ที่มีความสำคัญในประวัติศาสตร์การเมือง มีโอกาสเข้ามาฟังบุคลลร่วมเหตุการณ์ และอาจารย์ที่มีชื่อเสียงด้านการวิพากษ์วิจารณ์สังคมหลายท่านให้ความรู้ เป็นการเติมเต็มสิ่งที่นักศึกษาในต่างจังหวัดไม่มี” ทัศธร บอก

จากซ้าย ทัศธร มุลเมืองแสน และ ณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา
จากซ้าย ทัศธร มุลเมืองแสน และ ณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา

สอดคล้องกับ ณรงค์ฤทธิ์ ขวาวงษา อีกหนึ่งในตัวแทนเยาวชนที่รู้จัก จิตร ผ่านวรรณกรรม

“ตอนเข้ามหาวิทยาลัยได้อ่าน วรรณกรรม เรื่อง “แม่” ที่ จิตร แปลมากจาก แมกซิม กอร์กี้ แล้วชอบมาก เลยพยายามหาข้อมูลของ จิตร บ้างเพียงแต่ข้อมูลที่ได้ก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไร ในความคิดผมคือ จิตร เป็นคนหลากหลายมุมมอง นอกจากจะเป็นนักคิดนักเคลื่อนไหว อีกมุมหนึ่ง จิตร เป็นคนธรรมดาที่ไม่ต้องการให้ใครจุดธูปไหว้”

เป็นส่วนหนึ่งในความคิดของ ณรงค์ฤทธิ์ ที่มีต่อจิตร ภูมิศักดิ์

หลังการร่วมกิจกรรมนี้ ณรงค์ฤทธิ์ บอกว่า ยิ่งทำให้ได้รู้จัก จิตร มากขึ้นได้เห็นมุมมอง และฉากหลังของ จิตร อีกเยอะมาก รวมถึงได้รู้ข้อมูล เรื่องราว สถานการณ์ ที่ จิตร เคยอยู่และเคยเป็น ในสถานที่จริง ไม่ได้ผ่านตัวหนังสืออย่างเดียว

“การได้มาศึกษาในสถานที่จริงมันต่างจากที่ที่เราเคยอยู่ เราเป็นเด็กชายขอบอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ พอสมควร การศึกษาเรื่องประวัติศาสตร์ก็ได้เฉพาะในพื้นที่ผมอยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีก อยากให้เด็กต่างจังหวัดอีกหลายคนได้มาศึกษาแบบผม อยากให้ได้มากันทั้งคณะมากางเต็นท์นอนที่สนามหลวงก็ยังได้ เพราะครั้งนี้คัดแค่ตัวแทน 8 คน แต่มีอีกหลายคนที่เขาอยากมาครับ” ณรงค์ฤทธิ์ ทิ้งท้าย

เป็นงานครบรอบการจากไป 50 ปี ของ จิตร ภูมิศักดิ์ ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้และโอกาส จากรุ่น สู่รุ่น

อ.ชาญวิทย์ มอบหนังสือ ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500 ให้แก่อาจารย์ และเยาวชนผู้เข้าร่วมค่าย
อ.ชาญวิทย์ มอบหนังสือ ประวัติการเมืองไทยสยาม พ.ศ.2475-2500 ให้แก่อาจารย์ และเยาวชนผู้เข้าร่วมค่าย
ศึกษาประวัติศาสตร์และเยี่ยมชมสถานที่จริงกับ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
ศึกษาประวัติศาสตร์และเยี่ยมชมสถานที่จริงกับ ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

 

จิตร ภูมิศักดิ์
จิตร ภูมิศักดิ์

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image