ชุบชีวิตโบราณสถานค่ายตากสิน บทเรียนจากอดีต ร.ศ.112

กองบัญชาการทหารฝรั่งเศส หนึ่งในอาคารที่บูรณะโดยมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมซึ่งนอกจากคืนชีวิตให้โบราณสถานในค่ายตากสิน ยังเป็นองค์กรที่มีส่วนสำคัญในการปกป้องกำแพงพระราชวังเดิม ที่กรุงเทพฯ ไม่ให้ถูกทำลาย

แสงแดดเจิดจ้าในฤดูร้อนที่จังหวัดจันทบุรี ในพุทธศักราช 2559 เปี่ยมไปด้วยบรรยากาศสดใส ผลไม้ในสวนแสนอุดมสมบูรณ์ ชาวประมงที่ปากน้ำแหลมสิงห์ง่วนอยู่กับการซ่อมอุปกรณ์หาปลา และจับกลุ่มพูดคุยอย่างสนุกสนาน ตัวเมืองมีรถราวิ่งขวักไขว่ ไม่เคยเงียบเหงา ราวกับว่าผู้คนที่นี่ไม่เคยตกอยู่ภายใต้ความรู้สึกเจ็บปวดใดๆ

แต่หากพลิกปฏิทินย้อนเวลากลับไปในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อ พ.ศ.2436 ท้องฟ้าของเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกแห่งนี้ คล้ายถูกปกคลุมด้วยเมฆหมอก เมื่อฝรั่งเศสยึดเมืองจันทบุรีไว้เป็นประกัน เพื่อให้สยามยกดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้เป็นข้อแลกเปลี่ยน เนื่องจากบริเวณนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ทั้งยังร่ำรวยด้วยทรัพยากรธรรมชาติ

หลังการสู้รบยุติ สยามเสียสิทธิเหนือนดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมถึงค่าปรับจำนวนมาก
หลังการสู้รบยุติ สยามเสียสิทธิเหนือนดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง รวมถึงค่าปรับจำนวนมาก

ฝรั่งเศส ตั้งค่ายทหารขึ้นที่ปากน้ำแหลมสิงห์ และ “บ้านลุ่ม” ครั้นเมื่อถอนทหารออกไปใน พ.ศ.2447 ได้ทิ้งไว้ซึ่งประวัติศาสตร์ที่ถูกเรียกขานกันต่อมาว่า “วิกฤตการณ์ ร.ศ.112” นอกจากนี้ยังหลงเหลือร่องรอยหลักฐานคือกลุ่มอาคารถึง 7 หลัง ซึ่งเคยเป็นศูนย์บัญชาการทหารฝรั่งเศส คลังเก็บกระสุนดินดำ พัสดุ ที่พัก และที่คุมขัง เป็นต้น โดยถูกใช้งานสืบต่อมาทุกยุคสมัย กระทั่งทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา ทั้งเป็นโรงเรียนประชาบาล บ้านพักข้าราชการฝ่ายปกครอง ที่ตั้งกองทหารม้า เป็นต้น ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 1 กองพลนาวิกโยธิน หน่วยบัญชาการนาวิกโยธิน กองทัพเรือ หรือที่รู้จักกันในนาม “ค่ายตากสิน” อ.เมือง จ.จันทบุรี

กาลเวลาที่ผ่านพ้นไป ทำให้อาคารเหล่านั้นกลายเป็นโบราณสถานทรงคุณค่า มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิมจึงร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการสำรวจเพื่อวางแผนการบูรณะตั้งแต่ พ.ศ.2545 พบปัญหาความชื้นที่แทรกซึมลงไปในผนังอิฐแกร่ง ปูนฉาบหลุดลอกจนมองเห็นพื้นผิวภายใน หลังคารั่วซึม โครงสร้างทรุดตัว กรอบประตูผุพังและถูกเปลี่ยนสภาพ แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเค้าลางของความงดงามตามอย่างศิลปะตะวันตก

Advertisement
สภาพอาคารก่อนบูรณะ มีปัญหาโครงสร้าง ความชื้น และการหลุดร่อนของวัสดุ
สภาพอาคารก่อนบูรณะ มีปัญหาโครงสร้าง ความชื้น และการหลุดร่อนของวัสดุ

การชุบชีวิตอาคารเหล่านี้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งจึงเริ่มต้นขึ้น

พล.ร.อ.ประเจตน์ ศิริเดช ประธานกรรมการมูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม กล่าวว่า การอนุรักษ์โบราณสถานเริ่มตั้งแต่ พ.ศ.2551 เนื่องจากอยู่ในสภาพทรุดโทรมมาก เดิมอาคารที่ฝรั่งเศสสร้างขึ้นเป็นค่ายทหาร เมื่อครั้งที่เข้ายึดครองเมืองจันทบุรีในช่วง ร.ศ.112 (พ.ศ.2436) หลังฝรั่งเศสถอนทหารออกจากจันทบุรีใน พ.ศ.2447 อาคารเหล่านี้ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่อง จึงนับเป็นสถานที่ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อประวัติศาสตร์ชาติไทย จึงดำเนินการหาทุน ปรึกษาสถาปนิกและกรมศิลปากร จนได้รูปแบบของการบูรณะ โดยเน้นที่การเสริมความแข็งแรง และคงรูปแบบเดิมไว้ อีกทั้งจัดนิทรรศการในอาคารต่างๆ จนแล้วเสร็จ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเป็นประธานเปิดอาคารโบราณสถาน และเยี่ยมชมนิทรรศการ เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา

Advertisement

นิทรรศการค่ายตากสิน

45 ล้านบาท คืองบประมาณที่ใช้ดำเนินการดังกล่าว โดยได้มาจากการจัดกิจกรรมหารายได้ ทั้งรับเงินบริจาค จำหน่ายของที่ระลึก รวมถึงการสนับสนุนจากเอกอัครทูตฝรั่งเศส ประจำประเทศไทย นาย Laurent Bill ซึ่งช่วยประสานกับคณะกรรมการสมาคมชาวฝรั่งเศส-ไทยเพื่อสาธารณประโยชน์ ตลอดจนตัวแทนของภาคเอกชนชาวฝรั่งเศสในไทย

ทิ้งแนวคิดการออกล่าอาณานิคมไว้เบื้องหลัง จับมือสมานฉันท์เป็นมิตรประเทศ

สถาปัตยกรรมฝรั่งเศสในค่ายตากสินทั้ง 7 หลัง จึงกลับมางดงาม ภายใต้หน้าที่อันตรงกันข้ามกับวัตถุประสงค์แรกสร้างเมื่อกว่า 100 ปีก่อน เพราะในวันนี้ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ผ่านนิทรรศการซึ่งบอกเล่าเรื่องราวในห้วงเวลาที่เกิดวิกฤตการณ์ ร.ศ.112 พระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5 ผู้มีพระปรีชาญาณจนสยามรอดพ้นจากการตกเป็นเมืองขึ้นของประเทศมหาอำนาจ

รัชกาลที่ 5 ในหนังสือพิมพ์ฝรั่งเศส

เรื่องราวการรบพุ่งอันทั้งน่าตื่นเต้นและแสนเศร้ากับการเข่นฆ่าแย่งชิงในอดีต เรือรบจำลอง ยุทธศาสตร์ต่างๆ ถูกนำมาจัดแสดงให้ชมอย่างเข้าใจง่าย จดหมายและเอกสารโบราณ ภาพถ่ายเก่า รูปเหตุการณ์ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศ ชวนให้จินตนาการย้อนไปถึงช่วงเวลาแห่งมรสุม

อาคารที่คุมขังทหาร ซึ่งแม้มีลูกกรงเหล็กแน่นหนา ทว่ายังอ่อนหวานด้วยลวดลายไม้ฉลุบนกรอบประตูวงโค้ง เช่นเดียวกับตึกสีชมพูอ่อนหวานใต้ร่มไม้ใหญ่ ราวกับหลุดออกมาจากเทพนิยายหรือเรื่องสั้นสุดโรแมนติก ที่เหลือเชื่อว่าเคยถูกใช้เป็นคลังกระสุนดินดำ

ที่คุมขังทหาร
ที่คุมขังทหาร

สถาปัตยกรรมแผนผังสี่เหลี่ยมผืนผ้าทาสีเหลืองนวลตา ซึ่งจินตนาการแทบไม่ออกว่าเคยเป็นกองบัญชาการทหารฝรั่งเศส เล่าถึงความสัมพันธ์ไทย-ฝรั่งเศสตั้งแต่ยุคกรุงศรีอยุธยา ไม่ว่าดีหรือร้าย ก็กลายเป็นประวัติศาสตร์ เป็นบทเรียนให้ก้าวไปข้างหน้า หาใช่รื้อฟื้นเพื่อตอกย้ำความขัดแย้งในอดีต บางส่วนของผนังยังจงใจเหลือพื้นผิวผนังเดิมก่อนการบูรณะไว้ให้เชื่อมร้อยกาลเวลาที่ซ้อนทับ

นี่คือหีบความทรงจำที่ถูกเปิดขึ้นมาอีกครั้ง คือซากอิฐที่ถูกชุบชีวิต คืออดีตที่ต้องเรียนรู้เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างสวยงามและมั่นคง

 

คลังกระสุนดินดำ อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมงดงามที่เพิ่งบูรณะแล้วเสร็จ
คลังกระสุนดินดำ อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมงดงามที่เพิ่งบูรณะแล้วเสร็จ

 

ร่องรอยความทรงจำ ร.ศ.112 ในค่ายตากสิน

1.กองรักษาการณ์ทหารฝรั่งเศส จัดแสดงพระราชประวัติและพระราชกรณียกิจของรัชกาลที่ 5

2.ที่พักทหารฝรั่งเศส ใช้เป็นห้องสมุดสำหรับการสืบค้นข้อมูล

3.คลังพัสดุ จัดแสดงประวัติเมืองจันทบุรีและการบูรณะโบราณสถานในค่ายตากสิน

กองรักษาการณ์ทหารฝรั่งเศส
กองรักษาการณ์ทหารฝรั่งเศส

4.กองบัญชาการทหารฝรั่งเศส นำเสนอความสัมพันธ์ระหว่างไทยและฝรั่งเศส ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาถึงสมัยรัชกาลที่ 8

5.ที่คุมขังทหาร

6.คลังกระสุนดินดำ นำเสนอเรื่องการรบที่เกาะช้าง

7.คลังกระสุนดินดำ (อีกหลัง) จัดแสดงนิทรรศการความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฝรั่งเศสในปัจจุบัน

เยี่ยมชมได้ทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ (ฟรี) ตั้งแต่ 08.30-16.30 น. สอบถามเพิ่มเติม โทร 0-3931-2202

 

พระราชดำรัสรัชกาลที่ 5

นิทรรศการค่ายตากสิน

นิทรรศการค่ายตากสิน

นิทรรศการค่ายตากสิน

นิทรรศการค่ายตากสิน

ค่ายตากสิน

ค่ายตากสิน

โบราณสถานค่ายตากสิน

โบราณสถานค่ายตากสิน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image