‘สตาร์ตอัพ’เริ่มง่าย สำเร็จไม่ง่าย

กระทิง พูนผล (แฟ้มภาพ)

นับว่าประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมกับงาน StartUp Thailand 2016 ที่เพิ่งจบไปหมาดๆ ทั้งในแง่ความร่วมแรงร่วมใจของหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนทั้ง 11 หน่วยงาน แจกแจงกันไม่หมดที่มาช่วยกันจัดงานนี้ขึ้นเป็นครั้งแรก และสามารถระดมพลพรรค “สตาร์ทไทย” มาร่วมโชว์ผลงานได้มากกว่า 180 ราย

ตลอดการจัดงานทั้ง 4 วัน มีจำนวนผู้เข้าชมงานมากกว่า 35,000 คน อาจไม่มากถ้านำไปเทียบกับงานแฟร์ออกร้านขายของ แต่แค่นี้ก็ถือว่ามากแล้วสำหรับงานประมาณนี้

นอกจากรูปแบบธุรกิจ และบริการใหม่ๆ ที่เหล่าบรรดาสตาร์ตอัพขนมาโชว์แล้ว ในเวทีเสวนาหลายหัวข้อยังน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะได้เชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิระดับกูรูในแวดวงธุรกิจ และการลงทุน รวมถึงบรรดา

สตาร์ตอัพ (ไทย) ที่ออกไปโลดแล่นในเวทีโลกมาแล้วมาถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์ และเปิดมุมมองใหม่ๆ ช่วยจุดประกายความคิดให้กับผู้ที่สนใจเข้าสู่ธุรกิจสตาร์ตอัพ

Advertisement

การจัดงานครั้งนี้จึงนับว่าเป็นประโยชน์

“สตาร์ตอัพ” เป็นโลกธุรกิจยุคใหม่ที่ไม่ต้องมีเงินถุงเงินถัง ขอแค่มี “ไอเดีย” โดนใจเหล่านักลงทุน ก็มีโอกาสไปต่อ

ความสำเร็จของเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, ลาซาด้า, อาลีบาลา, แกร็บ, อูเบอร์, แอร์บีเอ็นพี หรือขยับมาใกล้ตัวในบ้านเราเองก็พอมีตัวอย่างให้เห็น เช่น อุ๊คบี, วงใน, บิลด์เอเชีย (รายหลังกำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียลจากเพจเจ๊จู วัสดุก่อสร้าง)

Advertisement

ทั้งหมดช่วยดึงดูดให้ใครต่อใคร โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่อยากเป็นสตาร์ตอัพ เมื่อรวมเข้ากับแรงหนุนส่งจากรัฐบาลในหลายด้าน ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งกองทุนอย่างน้อย 2 แห่ง ที่แต่ละกองทุนมีเงินระดับหมื่นล้านบาทที่พร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ตอัพด้วยแล้ว

หนทางก้าวสู่ธุรกิจของสตาร์ตอัพของไทยจึงดูสดใสยิ่งนัก แต่ไม่ได้หมายความว่า กระโดดเข้ามาทำแล้วจะประสบความสำเร็จ

การก่อร่างสร้างธุรกิจในยุคนี้อาจเริ่มต้นง่ายกว่าเดิม แต่ไม่ว่ายุคไหนๆ กว่าที่จะเดินไปพบกับความสำเร็จ ไม่เคยง่าย ทั้งหนัก และเหนื่อยแน่นอน?และไม่ (เคย) มีอะไรการันตีด้วยว่า หนักแล้วเหนื่อยแล้วจะสบายในที่สุด

เริ่มได้ รุ่งได้ ก็รุ่งริ่งได้เช่นกัน

การส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐเป็นสิ่งที่ดี (งาม) เห็นด้วยอย่างยิ่งว่า เป็นเรื่องที่สมควรทำ แต่น่าคิดว่าจะสนับสนุนอะไร อย่างไรจึงจะถูกจุดตรงใจ และเป็นประโยชน์กับบรรดาสตาร์ตอัพจริงๆ จะได้ไม่เป็นแค่ฟองสบู่หรือผักชีอย่างที่หลายคนกลัว

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันมาสนับสนุนสตาร์ตอัพแล้วก็ไม่ควรลืมบรรดาเอสเอ็มอี และธุรกิจดั้งเดิมทั้งหลาย เพราะความสำเร็จของสตาร์ตอัพในหลายกรณีส่งผลกระทบกับธุรกิจดั้งเดิมไม่มากก็น้อย จะทำอย่างไรถึงให้อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี

“กระทิง พูนผล” ผู้จัดการกองทุน 500 TukTuks พูดถึงสิ่งที่ภาครัฐควรทำว่า “ทำในสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องสำคัญ และยาก เช่น การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบต่างๆ

“อย่างกองทุน 500 TukTuks ลงทุนในบริษัทสตาร์ตอัพแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ พอต้องการจะระดมทุนเพิ่มจากนักลงทุนต่างชาติกลับทำไม่ได้ ต้องย้ายบริษัทไปสิงคโปร์เพื่อให้ลงทุนได้ เพราะเมืองไทยไม่มีกฎหมายรองรับตราสารหนี้บางประเภทที่แปลงเป็นตราสารทุนในรอบถัดไปได้ ทำให้กลายเป็นว่า ทุกวันนี้ เราสร้างสตาร์ตอัพดีๆ ไปอยู่สิงคโปร์หมด”

“กระทิง” ย้ำว่า “สตาร์ตอัพ” ไม่ใช่ “เอสเอ็มอี” จึงไม่ควรนำกรอบความคิดที่ (เคย) ใช้กับเอสเอ็มอีมาใช้กับสตาร์ตอัพ เช่น เรื่องมาตรการด้านภาษี เพราะสตาร์ตอัพส่วนใหญ่ 2-3 ปีแรก ไม่มีกำไรอยู่แล้ว บริษัทอย่างกูเกิล เฟซบุ๊ก หรือแม้แต่อเมซอน ก็ไม่มีกำไรนานถึง 7 ปี ด้วยว่า ต้องนำกำไรที่ได้มาไปลงทุนสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

เช่นกันกับการจัดตั้งกองทุน ถ้าไม่มีองค์ความรู้ การเลือกว่าสตาร์ตอัพรายใดที่ควรได้เงินลงทุนเป็นเรื่องลำบากมาก อาจเหมือนกับการตรวจการบ้านเด็กในวิชาที่คุณไม่รู้ “กระทิง” มองว่า ควรให้วีซีที่มีความชำนาญเป็นคนเลือก ถ้าวีซีลงทุนด้วย 1 ล้านเหรียญ รัฐบาลก็อาจลงทุนเพิ่มให้ 5-6 ล้านเหรียญ เมื่อสตาร์ตอัพระดมทุนรอบถัดไปได้ รัฐบาลค่อยขายหุ้นให้วีซีคืน แต่ขายที่ราคาทุน

“การให้ startup voucher ก็เหมือนกัน รัฐบาลไม่ควรให้เงินง่ายๆ เพราะสตาร์ตอัพไม่ควรอยู่ได้ด้วยเงินง่ายๆ การทำสตาร์ตอัพควรจะเป็นเรื่องยาก กระดูกจะได้แข็งแรง”

“ความยาก” ทำให้เด็กรุ่นใหม่ได้เรียนรู้

“เพราะรัฐบาลไม่สามารถซัพพอร์ตได้ตลอด และพอได้เงินง่ายก็จะเหมือนเขาได้เงินที่ไม่ควรได้ อาจจะเอาไปใช้จ่ายอย่างสุรุ่ยสุร่าย รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินถึงหมื่นล้านในการช่วย สเตจของสตาร์ตอัพไทยในปัจจุบันแค่ 2 พันล้านก็พอแล้ว”

ประมาณว่า ไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี หรือสตาร์ตอัพอะไรที่ได้มาง่ายอาจไม่ดี ??

ต้องลำบาก ต้องเหนื่อย ต้องพิสูจน์ฝีมือจะได้เป็นนักธุรกิจพันธุ์ (สตาร์ตอัพ) ใหม่ที่แข็งแกร่ง มีเรี่ยวมีแรงพอที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคตให้เป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ได้จริงๆ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image