อาศรมมิวสิก : Alpine Symphony การไต่เขาพระสุเมรุทางดุริยางคศิลป์ : โดย บวรพงศ์ ศุภโสภณ

เสน่ห์อันลึกลับของการฟังดนตรีคลาสสิกที่ประหลาดใจอันสำคัญก็คือ ความล้ำลึกที่ทำให้เราได้กลายเป็นผู้แสวงหากันอย่างไม่รู้จักจบสิ้น ในบทเพลงเดียวกันสามารถสร้างความรู้สึกและประสบการณ์ทางความคิดให้เราได้พิจารณาอย่างหลากหลายตามวันเวลาและประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านพ้นไป จนบางครั้งก็รู้สึกเสมือนว่ามันเป็นราวกับกระจกที่สะท้อนพัฒนาการของเราในช่วงวัยต่างๆ ในชีวิตที่ผ่านมา

การได้ไปชมคอนเสิร์ตของวง Thailand Philharmonic Orchestra ในวันศุกร์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ.2561 ณ หอแสดงดนตรีมหิดลสิทธาคารนั้น ผู้เขียนถือว่ามันเป็นหมุดหมายอันสำคัญครั้งหนึ่งของวงการดนตรีในบ้านเรา นั่นคือการนำเอาผลงานระดับดุริยมหากาพย์อย่าง “ซิมโฟนีแห่งเทือกเขาอัลไพน์” (Alpine Symphony) ของ ริชาร์ด ชเตราส์ (Richard Strauss) มาบรรเลงเป็นรอบปฐมทัศน์ในเมืองไทย นี่คือหนึ่งในผลงานที่แสดงความทะเยอทะยานขั้นสูงสุดในทางดุริยางคศิลป์ที่มนุษย์ได้ทุ่มเทพลังสร้างสรรค์มันไว้เป็นอนุสรณ์ทางศิลปะดนตรีอันยิ่งใหญ่

ผู้เขียนเอง (และเชื่อว่ายังมีผู้รักดนตรีอีกหลายต่อหลายคน) ได้เฝ้ารอคอยว่า เมื่อใดจะมีวงออเคสตราในบ้านเราที่จะมีน้ำใจหาญกล้าเพียงพอที่จะอาจเอื้อมหยิบเอาผลงานชิ้นนี้มาบรรเลงให้ฟังกันสดๆ จริงๆ เสียที ขอบอกว่ามันคือการเฝ้าฝันรอคอยอยู่นานนับสิบปีทีเดียว

การนั่งฟังบทเพลง “ซิมโฟนีแห่งเทือกเขาอัลไพน์” นี้ผ่านชุดเครื่องเสียงอยู่กับห้องฟังเพลงในบ้าน ก็เปรียบเสมือนการเฝ้ามองภาพถ่ายภาพใหญ่อันงดงามของเทือกเขาแอลป์ที่แขวนอยู่บนฝาผนัง (ถ้าชุดเครื่องเสียงใหญ่โตเพียงพอก็เสมือนภาพถ่ายขนาดใหญ่) เฝ้ามองมันอยู่นานหลายปีด้วยความใฝ่ฝันอยู่ลึกๆ ว่าเมื่อใดหนอที่เราจะได้มีโอกาสไปเยือน “ของจริง” สักครั้งหนึ่งในชีวิต เฝ้าจินตนาการถึงบรรยากาศทิวทัศน์อันแสนงดงามบนยอดเขาสูงนั้น อากาศอันแสนจะสดชื่นที่จะสูดได้อย่างเต็มปอด อากาศที่เราไม่อาจจะสูดสัมผัสได้บนพื้นที่ราบธรรมดาๆ ที่เราอาศัยอยู่ทุกวัน

Advertisement

นี่คือความใฝ่ฝันของผู้เฝ้ามองภาพถ่ายของเทือกเขาแอลป์บนฝาผนังที่บ้าน และเมื่อโอกาสนั้นมาถึงจริง เมื่อเราได้เดินทางไปเยือนเทือกเขาแอลป์ที่เฝ้าใฝ่ฝัน เราก็จะรู้ว่า “ความจริง” ในบางครั้งมันก็โหดร้ายกว่าที่คิด

เทือกเขาแอลป์มีความจริงในด้านที่โหดร้ายที่ซ่อนอยู่ในความงดงามภายนอกนั้น ความยากลำบากทารุณและเสี่ยงอันตรายที่เราคาดไม่ถึงในจินตนาการอันงดงามที่เราเฝ้ามองจากเพียงในภาพถ่ายบนฝาผนัง และในอีกแง่มุมหนึ่งในด้านของความงดงาม, ปีตินั้น หากเราได้ไปพบเห็นของจริงเข้าแล้ว มันก็จะเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญในชีวิต (เสมือนกับที่ริชาร์ด ชเตราส์ ได้ใช้ประสบการณ์ในการปีนเทือกเขาแอลป์จริงๆ มาประยุกต์ใช้ในการเขียนผลงานดนตรีชิ้นนี้) ทั้งทิวทัศน์ที่ประจักษ์แก่สายตา, อากาศบริสุทธิ์ที่จมูกและปอดของเราได้รับ

มันคือรางวัลตอบแทนจากความเหนื่อยยากอุตสาหะที่ได้ทุ่มเท, ปีนป่าย เสี่ยงภัยขึ้นไปบนยอดเขาสูงนั้นจริงๆ ณ สภาวะนั้นเองที่เราอาจเรียกได้ว่าเป็น “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ” หรือสภาวะที่พึงรู้ได้เฉพาะตน

Advertisement

ผู้เขียนได้พรรณนาโวหารเปรียบความเป็นมาอย่างยืดยาวมานี้ ก็เพื่อที่จะรายงานให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่าในการบรรเลงบทเพลงซิมโฟนีแห่งเทือกเขาอัลไพน์ โดยวงไทยแลนด์ฟิลฯในครั้งนี้ มีประสบการณ์หลายอย่างที่อาจเปรียบเทียบได้กับการไต่เขา ที่แท้จริงแล้วมันมิได้มีแต่ความงดงามไปเสียทั้งหมด หากแต่มันคือการสะท้อนภาพแห่งความยากลำบากและดิ้นรนทางดุริยางคศิลป์ ที่เราไม่อาจรู้สึกหรือสัมผัสได้ในการรับฟังบทเพลงนี้จากการบันทึกเสียง

วาทยกรหนุ่มชาวเยอรมันนาม “โยฮันเนส คลุมพ์” (Johannes Klumpp) คือผู้นำอันมีน้ำใจอาจหาญที่ได้นำบทเพลงที่สูงด้วยแรงเสียดทานบทนี้มาตีแผ่ให้เราได้สัมผัสประสบการณ์ทางดนตรีร่วมกันเป็นครั้งแรกในเมืองไทย เขาเคยฝากฝีมือในการปรับวงได้อย่างละเมียดละเอียดอ่อนกับวงไทยแลนด์ฟิลฯอันน่าประทับใจมาแล้ว การทำงานดนตรีในบทเพลงนี้ของเขากับวงไทยแลนด์ฟิลฯนั้นเผยให้เห็นวิถีชีวิตดนตรีในความเป็นจริง ซึ่งหลายสิ่งหลายอย่างมิได้สวยสดงดงาม ไร้รอยต่อ, ไร้ที่ติแบบการฟังจากแผ่นเสียง (ที่ผ่านการตัดต่อมาเป็นอย่างดีแล้ว) หากแต่มันเผยให้เห็นถึงศักยภาพ, พลังทางดนตรีขั้นสูงสุดของการใช้เทคนิคการบรรเลงชั้นสูงของเครื่องดนตรีตะวันตก

ใช่แล้วมันคู่ควรแก่คำว่า “ศักยภาพ” (Potential) โดยความหมายของคำอย่างแท้จริง

การบรรเลงของวงไทยแลนด์ฟิลฯมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นอย่างปฏิเสธไม่ได้ แต่การได้ร่วมฟังการบรรเลงจริงจะทำให้เราสัมผัสได้ว่า มันเป็นการผิดพลาดในระดับที่ยอมรับได้ในสถานการณ์จริง

แนวคิดของบทเพลงนี้ ริชาร์ด ชเตราส์ ผูกเรื่องราวทางความคิดในหลากหลายมิติเข้าด้วยกันได้อย่างน่าทึ่ง เขานำเอาประสบการณ์การปีนเทือกเขาแอลป์จากช่วงเริ่มต้นการเดินทางในยามราตรี ณ เชิงเขาแล้วจึงค่อยๆ เดินทางผจญภัยไปตามทางขึ้นเขาพบเห็นสิ่งต่างๆ อย่างน่าตื่นเต้น จวบจนการไต่ขึ้นสู่จุดสูงสุดบนยอดเขาเพื่อพบกับความงดงามและความปีติ ณ จุดนั้น แล้วจึงค่อยๆ เดินทางกลับลงมาสู่ ณ จุดเดิมในยามรัตติกาลของอีกวันหนึ่ง

เรื่องราวทั้งหมดนี้ผูกโยงเข้ากับฉันทลักษณ์การประพันธ์ดนตรีแบบโซนาตามาตรฐาน (Sonata Form) คือการเริ่มต้นนำเสนอแนวทำนองหลัก (Exposition)-การพัฒนาเนื้อหาแนวทำนองนั้น (Development) และการย้อนกลับคืนมาของแนวทำนองหลัก (Recapitulation) เสมือนการไต่เขาจากที่ราบขึ้นสู่ยอดเขาและในที่สุดก็เดินทางกลับลงมาสู่ที่ราบ (ณ จุดเริ่มต้น) ในตอนท้าย

ทั้งหมดนี้ยังผนวกไว้ด้วยแนวคิดในเชิงอภิปรัชญาที่ก้าวหน้าไปถึงขั้นต่อต้านศาสนา แต่ในขณะเดียวกันก็เทิดทูนการบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่งยวดของบุคคล (ปัจเจกบุคคล) เพื่อการล่วงพ้นเข้าสู่สภาวะอภิมนุษย์ ซึ่งหากใครที่ติดตามผลงานดนตรีของริชาร์ด ชเตราส์มาบ้างก็จะจดจำช่วงเริ่มต้น (Introduction) ของบทเพลง “Also Sprach Zarathustra” กันได้เป็นอย่างดี ช่วงตอนของดนตรีที่ได้รับการตัดตอนนำไปใช้ประกอบสารคดี, ภาพยนตร์โฆษณามากมายในทุกยุคสมัย นั่นคือบทเพลงที่สะท้อนแนวคิดต้านศาสนาในแบบเดียวกันที่เขาแต่งขึ้นมาก่อนหน้า 20 ปี

แน่นอนที่สุดนี่ไม่ใช่ผลงานดนตรีที่ยิ่งใหญ่ด้วยขนาดและปริมาณ โดยไร้แก่นสารทางความคิด ตะโกนโหวกเหวกเพื่ออวดเบ่งทางดนตรีอย่างไร้สาระแบบที่เราเรียกกันว่า “ปาหี่” แต่มันอัดแน่นด้วยเนื้อหา, ความหมายแฝงในระดับอภิปรัชญาอย่างแท้จริงดังที่กล่าวมา

การได้ไปชมการบรรเลงจริงของวง ทีพีโอ.ในครั้งนี้ เผยให้เห็นถึงศัพท์คำหนึ่งในภาษาอังกฤษที่กลุ่มนักเล่นเครื่องเสียงนำมาใช้กันอยู่เสมอๆ นั่นก็คือคำว่า “Ambience” ที่ให้ความหมายที่กว้างขวางและลึกซึ้งกว่าเพียงแค่ “บรรยากาศ” หรือ “สภาพแวดล้อม” มันผนวกรวมเข้าด้วยกันซึ่งประสบการณ์, ชีพจรและความรู้สึกทั้งมวลในขณะที่เรากำลังได้ฟังการบรรเลงจากวงออเคสตราขนาดใหญ่จริงๆ ด้วยการแสดง “ศักยภาพ” ของเครื่องดนตรีตะวันตกอย่างต่อเนื่องตลอดบทเพลง

มันคือการไต่เขาพระสุเมรุของศิลปินดนตรีอย่างยากลำบาก โดยมีผู้ฟังเป็นสักขีพยานเฝ้าชมการบำเพ็ญเพียรของพวกเขาเสียงดนตรีที่สะท้อนถึงความยากลำบากอย่างสาหัสในการบรรเลง บางช่วงบางตอนมีลักษณะทางดนตรีที่เรียกว่า “Contrapuntal” (หลายเสียงหลายแนว) ที่เขียนขึ้นอย่างไม่เอื้ออำนวยต่อกัน อื้ออึง, เซ็งแซ่ แต่ทั้งหมดอยู่ภายในกรอบโครงสร้างทางดนตรีที่แน่ชัด เราสัมผัสได้ชัดเจนที่สุดถึง “แรงเสียดทานทางดนตรี” ที่ริชาร์ด ชเตราส์เขียนไว้และนักดนตรีวงไทยแลนด์ฟิลฯต้องพากันฝ่าฟันปีนป่ายก้าวข้ามกันด้วยความลำบากยากเย็น แรงเสียดทานที่ว่านี้ใครที่เคยฟังบทเพลงซิมโฟนีของ
กุสตาฟ มาห์เลอร์มาก่อนจะเข้าใจได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อมาถึงบทเพลงนี้มันได้ก้าวไปไกลกว่าสิ่งที่มาห์เลอร์เคยสร้างสรรค์เอาไว้

และก็แรงเสียดทานทางดนตรีในบทเพลงนี้อีกนั่นแหละที่ริชาร์ด ชเตราส์จงใจเขียนไว้โดยที่ระบบเครื่องเสียงฟังเพลงสำเร็จรูปไฮไฟ (HiFi Stereo) ใดๆ ก็ไม่สามารถเก็บบรรจุ “Ambience” นี้เอาไว้ได้

จุดสูงสุดทางอารมณ์ (Climax) ของบทเพลงในหลายๆ ตอนจึงเปรียบเสมือนการกรีดร้องอย่างเจ็บ
ปวดของวงออเคสตรา ที่เสมือนการสะท้อนถึงการ
บำเพ็ญเพียรเพื่อบรรลุถึงสภาวะอภิมนุษย์ ที่ต้องผ่านความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน (เรื่องราวการบำเพ็ญเพียรของพระศาสดาในหลายศาสนาที่เราศึกษากันมาก็มักเป็นเช่นนั้น) ในกลุ่มเครื่องลมทองเหลืองสะท้อนถึงสิ่งนี้ได้อย่างเด่นชัด เพราะริชาร์ด ชเตราส์จงใจให้พวกเขาบรรเลงในระดับเสียงที่สูงเกินขีดจำกัดโดยธรรมชาติของเครื่องดนตรี ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าทำให้ต้องใช้พละกำลังกันอย่างมากมายเกินปกติธรรมดา และก็ใช้การบรรเลงในลักษณะเกินขีดจำกัดทางธรรมชาตินี้ในหลายจุดหลายตอน
มันเป็นความจงใจให้เกิดความตึงเครียดในการบรรเลง ความตึงเครียดที่นักดนตรีต้องฝึกฝนเตรียมการอย่างหนักหนาสาหัส และเมื่อพวกเขาทำได้สำเร็จมันก็จะบังเกิดเป็นสัมฤทธิผลทางเสียงที่ตอบแทนพวกเขาและผู้ฟังได้อย่างคุ้มค่าแก่ความอุตสาหะนั้น ซึ่งแน่นอนที่สุดบางช่วง-บางตอนมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้นมันเป็นข้อผิดพลาดที่จะสะท้อนและเป็นบทพิสูจน์ถึงวุฒิภาวะของผู้ชมว่าเขาต้องการเป็นเพียง “ผู้เฝ้าคอยจับผิด” ในรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ หรือเขาได้ก้าวข้ามพ้นจนเข้าสู่การเป็นผู้ชื่นชมศิลปะดนตรีด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์อย่างแท้จริง
มีบทเพลงอีกสองเพลงที่ได้นำมาบรรเลงในคอนเสิร์ตครั้งนี้คือ “ธุมเกตุ” ผลงานของนักประพันธ์ดนตรีชาวไทยคือ “วิวรรธน์ สุทธิแย้ม” อันเป็นบทเพลงที่มีศักยภาพในตัวที่น่าภาคภูมิใจมาก ในความเป็นผลงานของนักแต่งเพลงชาวไทยรุ่นใหม่ และบทเพลงเปียโนคอนแชร์โต หมายเลข 1 ของเบโธเฟน ที่บรรเลงโดย ศาสตราจารย์ รอลฟ์-ดีเทอร์ อาเรนส์ (Rolf-Dieter Arens) ในครึ่งแรกซึ่งได้แสดงแนวคิดทางการตีความเฉพาะตัวไว้อย่างชัดเจน
ผู้เขียนขอยอมรับในความบกพร่องที่มิได้เขียนบอกเล่าถึงรายละเอียดไว้ ณ ที่นี้ ด้วยเหตุผลที่ว่าประเด็นใหญ่ใจความในเรื่องการบรรเลงรอบปฐมทัศน์ในเมืองไทยในบทเพลงซิมโฟนีแห่งเทือกเขาอัลไพน์นั้นมีประเด็นข้อคิดและความน่าสดุดียกย่องในน้ำใจอันกล้าหาญ ที่ทางวงไทยแลนด์ฟิลฯได้นำมาตีแผ่เป็นประสบการณ์จริงต่อผู้ชมในครั้งนี้
เชื่อแน่เหลือเกินว่าในขั้นเตรียมการฝึกซ้อมนั้นจะต้องนำมาซึ่งทั้งความเหนื่อยยากและความตึงเครียดกดดันในอารมณ์อยู่ไม่น้อย

ในวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มหัดฟังดนตรีคลาสสิกใหม่ๆ ซิมโฟนีแห่งเทือกเขาอัลไพน์ อาจเป็นงานชิ้นโปรดของหลายๆ คน ด้วยความรู้สึกแบบสะใจในพลังเสียงและพลังทางดนตรีอันล้นปรี่น่าสนุกและน่าตื่นเต้น ยิ่งไปกว่านั้นอาจใช้เป็นแผ่นทดลองสมรรถนะเครื่องเสียงชุดโปรดได้ในระดับอ้างอิง ครั้นเมื่อผ่านวันเวลามายาวนานมากขึ้น, ผ่านประสบการณ์ทางดนตรีมาอย่างมากมายหลากหลายยิ่งขึ้น เราเริ่มค้นพบว่าเสียงดนตรีอันกระหึ่มกึกก้องนั้นบางคราก็ไม่ได้ให้อะไรแก่เราไปมากกว่าความคึกคะนองสะใจในอารมณ์ (แบบที่เราฟังบทเพลงนี้จากแผ่นเสียงที่บ้าน) เราจึงอาจมีแนวโน้มรสนิยมหันมาชื่นชอบในดนตรีที่สงบเรียบง่ายแต่ทว่ามีเนื้อหาที่ชวนประทับใจในความล้ำลึกมากกว่า แต่การได้มีโอกาสมาฟังผลงานดนตรีในระดับอนุสรณ์แห่งดุริยางคศิลป์อย่าง “Alpine Symphony” ในช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ปัจฉิมวัย (หรือเข้าสู่แล้วก็ตามที)
ฟังโดยการได้อ่านและศึกษาถึงแนวคิดของผลงานก่อนการมาฟังจริง เราก็ได้มุมมองประสบการณ์ทางดนตรีไปในอีกขั้นหนึ่ง มันไม่ใช่เป็นเพียงบทเพลงแบบปาหี่, โหวกเหวกไร้สาระแบบที่เราอาจเคยปรามาสไว้ในช่วงกลางๆ ของชีวิตการฟังดนตรี หากแต่มันคือการรังสรรค์ดนตรีด้วยการเอาประสบการณ์ทางศิลปะผนวกกับแนวคิดปรัชญา (เลยไปจนถึงอภิปรัชญา) จากชีวิตจริงที่กลั่นกรองมาอย่างยาวนานต่อเนื่องของเขามารวบรวมตีแผ่ไว้ในผลงานชิ้นนี้
ผู้เขียนเปลี่ยนมุมมองโดยส่วนตัวและนับถือ ริชาร์ด ชเตราส์มากขึ้นอีกเป็นทวีคูณ บทเพลง 2 ส่วนสุดท้ายที่บรรเลงด้วยเสียงแผ่วเบาและสงบ คือ “Final Sound” (เสียงร่ำลา) และ “Night” (รัตติกาล) กลายเป็นส่วนที่น่าตราตรึงใจเป็นที่สุดหลังจากเหน็ดเหนื่อยกับการไต่เขาพระสุเมรุมาอย่างหนักหนาสาหัส
ขอเรียนท่านผู้อ่านว่าเสียงแห่งสองส่วนสุดท้ายนี้ ในการฟังการบรรเลงจริงๆ นั้นให้ความรู้สึกเต็มอิ่ม, สงบและปีติผุดผ่องภายในกับเราอย่างน่าประหลาด
มันคือเสียงที่ราวกับจะนำพาเราก้าวล่วงพ้นไปจากโลกนี้อย่างแท้จริง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image