ความว่างเปล่าคือความจริง

ระหว่างที่คณะกรรมการสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยชุดปัจจุบันกำลังเตรียมงานสำหรับงานเลี้ยงสังสรรค์ “มิตรน้ำหมึก ผนึกสัมพันธ์” ในตอนเย็นที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ ราชดำเนิน

ประมาณบ่ายสามโมงยี่สิบนาทีของวันเดียวกัน “น้าตู่” ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ นักเขียน นักแปล คอลัมนิสต์มติชนรายวัน มติชนสุดสัปดาห์ และประชาชาติธุรกิจก็จากไปอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลศิริราช

ด้วยโรคมะเร็งหลอดอาหารในวัยใกล้หกสิบปี

“น้าตู่” แม้จะไม่ได้เป็นนักเขียนที่โด่งดังระดับประเทศที่ใครๆ จะต้องรู้จัก แต่เชื่อแน่ว่านักเขียนคนใดที่พิมพ์งานกับสำนักพิมพ์มติชน หรือเป็นแฟนานุแฟนหนังสือพิมพ์ในเครือมติชน คงจะคุ้นชื่อ “ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์” เป็นอย่างดี

Advertisement

เพราะที่ผ่านมาเขาเป็นผู้บุกเบิกงานเขียนแนวไอที ตั้งแต่เครื่องพีซีเข้ามาใหม่ๆ ในประเทศไทย รวมไปถึงงานแปลเชิงการตลาด เศรษฐศาสตร์ และการเงินการธนาคาร

เพราะแบ๊กกราวด์ของ “น้าตู่” เคยทำงานที่สังคมศาสตร์ปริทัศน์มาก่อน สมัย “ส.ศิวรักษ์” เป็นบรรณาธิการ ก่อนที่จะมาเป็นนักข่าวสายการเงินที่หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ กระทั่งเติบโตเป็นหัวหน้าข่าวโต๊ะการเงิน และผู้ช่วยบรรณาธิการบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน

และผู้ช่วยศูนย์ข้อมูลในเครือมติชน จนเมื่อถึงอายุ 55 ปี “น้าตู่” จึงขอเออร์รี่รีไทร์ เพื่อกลับไปอยู่กับครอบครัวที่บ้านบางบัวทอง โดยใช้เวลาส่วนใหญ่เขียนคอลัมน์ต่างๆ ในเครือมติชน

Advertisement

ส่วนเรื่องผลงานรวมเล่ม “น้าตู่” แปลหนังสือออกมาหลายเล่ม อาทิ แกะรอยความคิดพอล ครุกแมน พ่อมดเศรษฐศาสตร์, จอร์จ โซรอส นักบุญคนบาป ราชาตลาดเงิน, แซม วอลตัน เจ้าพ่อวอล-มาร์ต ราชาค้าปลีกโลก และอื่นๆ

ทุกเล่มได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านเป็นอย่างดี

เพราะสิ่งที่ “น้าตู่” เขียน และแปล ล้วนเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าให้ผู้อ่านเห็นว่ากลเกมทางการตลาด และเศรษฐศาสตร์ทางการเงิน การธนาคารของตลาดทุนของโลกสมัยใหม่กำลังคืบคลานเข้ามา

สมัยนั้นไม่ค่อยมีใครรู้จัก “พอล ครุกแมน”

หรือสมัยนั้นไม่ค่อยมีใครได้ยินชื่อ “จอร์จ โซรอส” แต่ “น้าตู่” มักจะเขียนเตือนอยู่บ่อยๆ ทั้งในคอลัมน์ประจำ และบทวิเคราะห์ว่าให้ระวังคนคนนี้ให้ดี เพราะเขากำลังวางแผนโจมตีค่าเงินบาทของประเทศเรา

ตอนนั้นฝ่ายข่าวกองบรรณาธิการประชาชาติประชุมกันอยู่บ่อยครั้งว่า เป็นไปได้หรือน้าตู่

“น้าตู่” พยักหน้า แล้วบอกว่า จริง

ตามสไตล์คนพูดน้อย ถ่อมตน เสมือนนักปรัชญาสายเต๋า ความว่างเปล่าคือความจริง

แต่ดูเหมือนหลายคนแค่ฟังเพื่อทราบ รวมไปถึงแหล่งข่าวสายการเงิน การธนาคารที่มาทานข้าวกับผู้บริหารที่ประชาชาติฯ แล้วมีโอกาสหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกันเป็นช่วงๆ

ก็แทบไม่ค่อยมีใครเอะใจ

สุดท้ายๆ สถานการณ์ทางการเงิน การคลังของประเทศเริ่มวิกฤตลงเรื่อยๆ จนกระทั่งมีการประกาศลดค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540 ในเวลาต่อมา

แล้วชื่อของ “จอร์จ โซรอส” ก็เริ่มคุ้นหูของคนที่อยู่ในแวดวงตลาดทุน

แต่ตอนนั้นก็สายไปเสียแล้ว

จนตอนหลัง “น้าตู่” มีโอกาสลงไปช่วยสำนักพิมพ์มติชนในฐานะบรรณาธิการ สมัยที่ “สรกล อดุลยานนท์” เป็นผู้จัดการสำนักพิมพ์ และมี “ประยงค์ คงเมือง” เป็นผู้ช่วยผู้จัดการ

มีโครงการหนึ่งเกิดขึ้นคือมติชน บุ๊คส์เดย์ ตะลอนทัวร์ ด้วยการนำหนังสือไปจำหน่ายให้กับเหล่าบรรดาหนอนหนังสือตามภาคต่างๆของประเทศไทย

พร้อมกันนั้นก็เชิญนักเขียนในเครือของมติชนลงไปพบปะพูดคุยร่วมกับนักเขียนตามจังหวัดเหล่านั้น เพื่อให้ผู้อ่านมีโอกาสพูดคุยกับนักเขียนที่ตัวเองชื่นชอบ

“น้าตู่” ในฐานะบรรณาธิการจึงต้องลงไปด้วยทุกครั้ง ซึ่งบางครั้ง บางจังหวัด หาก “น้าตู่” เจอคนถูกใจ เจอเรื่องที่แลกเปลี่ยนกันอย่างสนุกสนาน เขาจะนั่งพูดคุยกันอยู่นานสองนาน

เหมือนอย่างครั้งหนึ่ง และอีกหลายๆ ครั้งในเวลาต่อมา ที่ “น้าตู่” นั่งพูดคุยกับ “มนตรี ศรียงค์” กวีบะหมี่เป็ด (สมัยยังไม่ได้รางวัลกวีซีไรต์) ที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา

“มนตรี” เลือกร้านเบียร์ที่อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านเขาเป็นที่คุยกันต่อ หลังจากไปดื่มที่อื่นมาก่อนแล้ว เพราะเขารู้ตัวดีว่าทุกครั้งที่พูดคุยกับ “น้าตู่” มักจะมีความรู้เรื่องใหม่ๆ ให้ได้ยินอยู่เสมอ อีกอย่างเขารู้ดีว่ายามปกติ “น้าตู่” ไม่ค่อยพูด

แต่ถ้ามีน้ำสีอำพันสักหน่อย ถามอะไร ก็จะได้คำตอบที่พรั่งพรู จนเกิดรอยหยักในสมอง ที่สำคัญ เขาจะได้เดินข้ามฝั่งไปยังบ้านง่ายหน่อย เพราะต้องนวดแป้งทำบะหมี่ตอนประมาณตีสาม

โดยมีผมนั่งฟัง และเสริมเป็นระยะๆ

มิตรภาพของคนสองวัยงอกงามขึ้นเรื่อยๆ จนวันหนึ่งที่ “มนตรี” ได้รับการประกาศเกียรติให้ได้รับรางวัลซีไรต์ และมีโอกาสขึ้นมารับรางวัลที่มหานครกรุงเทพ “น้าตู่” จึงนัด “มนตรี” ฉลองเล็กๆ เพียงไม่กี่คนแถวถนนประชาชื่น

แล้วจากนั้นเขาก็เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊กกันตลอดมา

จนถึงวันที่ “น้าตู่” จากไปอย่างสงบ ผมจึงส่งข่าวให้ “มนตรี” ทราบ ผมรู้ในถ้อยคำที่ “มนตรี” บอกเล่าเพียงไม่กี่คำในกล่องข้อความว่าเขารู้สึกเสียใจเพียงใดที่ “น้าตู่” จากไปในก่อนวัยอันควร

และไม่เฉพาะแต่ “มนตรี” เท่านั้นที่ชมชอบ “น้าตู่” หากนักเขียนหลายคนที่รู้จักเขาทั้งในฐานะบรรณาธิการสำนักพิมพ์มติชน คอลัมนิสต์ หรือเพื่อนพ้องน้องพี่ในแวดวงวรรณกรรม นักข่าว หรืออื่นๆ ก็รู้สึกชมชอบเขาเช่นกัน

แม้ตลอดชีวิตของเขาจะไม่ค่อยได้มีโอกาสไปร่วมงานวันนักเขียนในวันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีก็ตาม แต่ด้วยความชอบในงานเขียน ชอบอ่านงานวรรณกรรม และหนังสือต่างๆ เขาจึงมักสอบถามข่าวคราวจากคนรู้จักในแวดวงนักเขียนอยู่เสมอว่าตอนนี้มีนักเขียนคนไหนน่าสนใจบ้าง คนนี้เป็นใครทำไมถึงเขียนงานดีจัง และอื่นๆ เพื่อเขาจะได้ติดตาม และหาหนังสือมาอ่าน

จนมาถึงช่วงต้นปีཷ ผ่านมา “น้าตู่” เริ่มเจ็บคอเรื้อรัง จากนั้นจึงเริ่มมีอาการสำลักอาหาร กระทั่งเดือนมีนาคมเริ่มมีปัญหาการกลืนอาหาร และเสียงแหบในเวลาต่อมา

“น้าตู่” จึงเข้าทำการตรวจ และรักษาที่โรงพยาบาลศิริราช จนทราบว่าตัวเองเป็นมะเร็งหลอดอาหาร แต่ด้วยสภาพร่างกายอ่อนแอมาก กอปรกับยังกลืนอาหารลำบาก แพทย์จึงใส่สายยางให้อาหาร เพื่อเตรียมร่างกายก่อนที่จะเริ่มกระบวนการรักษา

แต่ “น้าตู่” มีอาการแทรกซ้อนหลายอย่าง และยังไม่ทันที่จะเริ่มกระบวนการทางการแพทย์ ประมาณบ่ายสามโมงยี่สิบเขาก็จะจากไปอย่างสงบ

ก่อนหน้านี้มีการสวดพระอภิธรรมทุกคืน

แต่ในวันนี้ประมาณ 16.30 น. จะมีพิธีฌาปนกิจ ณ วัดบุญนาครักขิตาราม (วัดต่ำ) อ.เมือง จ.นครนายก ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านเกิดของ “น้าตู่”

ผมจึงถือโอกาสนี้ขอวางดอกไม้จันทน์บนจิตกาธานให้ “น้าตู่” ไปสู่สุคติในสัมปรายภพด้วยเทอญ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image