ประสานักดูนก : หลงกรุง

ฤดูกาลอพยพผ่านของนกอพยพงวดเข้าสู่ปลายฤดูกันแล้ว แม้ว่านกอพยพจะยังคงผ่านประเทศไทยเพื่อเดินทางขึ้นเหนือไปถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ในเขตอบอุ่น จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม เดือนนี้จึงเป็นเดือนแห่งการเดินทาง ของทั้งนักดูนกและนกอพยพ

หลังจากเดินทางกันขาขวิด ไล่ตามนกอพยพผ่านตามเกาะชายทะเลบ้าง นกป่าประจำถิ่นบนดอยสูงบ้าง นกเทพอีกชนิดก็ปรากฏกายกลางกรุงเทพฯ นี่เอง อย่างที่คนเขียนเคยเล่าให้ฟังหลายคราว่า นกอพยพ อะไรก็เป็นไปได้ ประสา Migration magic จากถิ่นอาศัยจำเพาะประเภทหนึ่ง อาจพบนกในสถานที่ประหลาดแปลกไปจากเดิมที่คาดหวังว่าจะพบนกชนิดนั้นๆ

ปักษาตัวเอกหลงกรุงสัปดาห์นี้เป็น “นกอัญชันป่าขาเทา” หรือ Slaty-legged Crake จากชื่อไทยก็คงเดากันได้ว่านกทำรังวางไข่ในป่าดิบ ตามหลักการตั้งชื่อ “ภูมินาม” บวกกับ “รูปพรรณนาม” บ่งบอกลักษณะเด่นของขานก

นกอัญชันในบ้านเรา 11 ชนิด ถ้าจะแบ่งให้จำง่าย ตามความยาวของจะงอยปาก เป็น 2 กลุ่ม พวกปากสั้นจะเรียกว่า crake เช่น นกกวัก นกหนูแดง และพวกปากยาว เรียกว่า rail ตามวลีเด็ดที่ว่า thin as rail หรือราวจับแคบๆ ซึ่งนกอัญชันจะมีรูปร่างแคบทางด้านข้าง ช่วยให้มุดลอดกอวัชพืชตามชายน้ำอย่างสะดวกสบาย

Advertisement

“ในประเทศไทย นกอัญชันปากสั้น หรือ crake พบ 9 ชนิด รวมทั้งเจ้าขาเทาหลงกรุง ที่กำลังอพยพผ่านภาคกลางเดินทางมุ่งหน้าขึ้นเหนือไปทำรังวางไข่ในภาคใต้ของประเทศจีน” ส่วนนกอัญชันปากยาว บ้านเรามี 2 ชนิด คือ นกอัญอกสีไพลและนกอัญชันอกสีเทา เราจะรู้ได้อย่างไรว่านกอัญชันที่กำลังส่องนั้นปากสั้นหรือยาว ก็ให้วัดด้วยจินตนาการจากปลายจะงอยปากจนถึงโคนปาก ถ้ายาวกว่าโคนปากถึงท้ายทอยหรือส่วนหัวของนก ก็ให้ถือว่านกอัญชันตัวนั้นปากยาว จัดเป็นพวก rail

เจ้าขาเทาหลงกรุงนี้ โผล่มาใน”สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ เขตจตุจักร” เดินท่อมๆ มองหาหนอนแมลงกินไปเรื่อย นับเป็นข่าวใหญ่ในวงการเพราะเรียกได้ว่ามาประเคนให้คนดูนก ถ่ายภาพนกถึงที่ถึงกลางกรุงกันเลยทีเดียว ถ้าต้องไปค้นหาในป่านับว่าเป็นนกหายากชนิดหนึ่ง เดิมมีรายงานพบนกออกมาจากป่า ลงเล่นน้ำช่วงหัวค่ำตามบ่อน้ำรอบป่าแก่งกระจาน ดังนั้นโอกาสเช่นนี้ใช่ว่าจะหาได้ง่ายๆ ถ้าไม่ใช่ช่วงอพยพผ่าน

ในบรรดานกอัญชันปากสั้นขนาดเล็กที่คล้ายเจ้าขาเทาหลงกรุงนี้ มีนกอัญชันป่าขาแดงอีกชนิด ที่เหมือนกันอย่างกับแกะแม้ตัวเล็กกว่า 5-6 ซม. ต่างที่ขาสีแดงสด และไม่เดินทางผ่านภาคกลาง เพราะจะเดินทางตามเทือกเขาภาคตะวันตก

Advertisement

ส่วนเจ้าขาเทาหลงกรุงที่เป็นนกตัวเต็มวัย คงกำลังเดินทางผ่านเมืองกรุงในเวลากลางคืน ซึ่งเป็นรูปแบบการอพยพของนกอัญชันที่เลือกอพยพกลางคืนเพื่อหลบเร้นจากนกนักล่า แล้วอาจเหนื่อยอ่อน หลงแสงสีเมืองกรุงแวะพักผ่อน หาอาหารเติมพลังงานก่อนเดินทางต่อ โชคดีที่สวนสาธารณะในเมืองเช่นนี้มีอาหารเอื้อต่อนกมากมาย เมื่อเติมเต็มจนแข็งกล้าก็คงจะเดินทางต่อไปตามวิถีของตน

“ส่วนนักดูนกเมืองกรุงก็ปลื้มเปรมกันไปตามประสาถ้าหาเวลาแวะเข้าสวนในกรุงไปทักทายนกหลงกรุงตัวนี้”

ข้อมูลเพิ่มเติม ที่ http://www.birdsofthailand.org/bird/slaty-legged-crake

คลิปวิดีโอที่ www.facebook.com/AsaBirder

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image