คอลัมน์ เริงโลกด้วยจิตรื่น : ‘ปีใหม่’ มีอยู่หรือไม่

เวลาของปีเก่า 2561 เดินมาถึงวาระสุดท้ายแล้ว ปีใหม่ 2562 กำลังจะเริ่มต้น

เพราะในความรู้สึกนึกคิดของคนทั่วไป “เปลี่ยนปี” มีความสำคัญ

“ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่” กันที มนุษย์เราสร้างกิจกรรมที่จะต้องทำจนกลายเป็นประเพณี เป็นค่านิยม วัฒนธรรมไปแล้ว

เริ่มจาก “ส่งความสุข” แสดงความระลึกนึกถึงกัน

Advertisement

มีประเพณีส่ง “ของขวัญ” หรือและ “คำอวยพรปีใหม่” ให้กันและกัน ให้ได้รับรู้ในมิตรภาพ

เป็นค่านิยม เป็นวัฒนธรรมสานสัมพันธ์ที่ให้ความรู้สึกกับบุคคล

ส่วนในทางการทำมาหากิน หรือสร้างฐานะ ความสำเร็จในการงาน หน้าที่ จะมีการวางแผนงานที่จะทำในปีต่อไป โดยทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับความคิด

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ในปีกทางหนึ่ง คงมีคนไม่น้อยที่คิดแบบหลุดจากวัฒนธรรมประเพณีค่านิยมทั้งหมด โดยเห็นว่า “วันขึ้นปีใหม่” ก็เป็นเพียงอีกวันหนึ่ง หากไม่อยากให้คุณค่าก็ไม่จำเป็น

หรือบางคนอาจจะหลุดเลยไปมากกว่านั้น โดยผ่านการแบ่งแยกเวลาเป็นวันเป็นเดือนเป็นปี หรือกระทั่งเป็นชั่วโมงนาที มองเห็นแต่ความเปลี่ยนแปลงที่เคลื่อนไปตามเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงจริงๆ ไม่ได้เกิดจากสมมุติ และคิดว่าเปลี่ยนแปลง

นั่นเป็นการมองเห็นการเคลื่อนไปของเวลาที่ต่างกัน

บ่อยครั้งการให้คุณค่าอย่างแตกต่างนี้เอง ที่เป็นต้นทางให้เกิดความขัดแย้ง

หากฝ่ายหนึ่งยึดถือว่าวิธีคิดของตัวเองถูก และวิธีคิดของอีกฝ่ายผิด

ฝ่ายที่ให้คุณค่ากับการเปลี่ยนปีก็จะมองคนที่ไม่เห็นความสำคัญของการเปลี่ยน พ.ศ.มากกว่าการไปเริ่มต้นวันใหม่เหมือนกับวันอื่นๆ ว่าเป็นคนที่ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อย ขาดการวางแผนเพื่ออนาคต

ขณะที่ฝ่ายที่เห็นว่าเวลาไม่ได้เคลื่อนไปไหน มีแต่ปัจจัยที่มาประกอบกันของสิ่งต่างๆ เปลี่ยนไปเป็นปกติ และความเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เกี่ยวอะไรกับเวลาซึ่งเป็นเรื่องที่มนุษย์สมมุติขึ้นมา ก็จะมองว่าพวกที่หลงติดกับคุณค่าของเวลานั้นเป็นพวกหลงสมมุติทำให้มองไม่เห็นสัจธรรมความเป็นจริง

มนุษย์ถกเถียงกันในเรื่องการมีอยู่ หรือไม่มีอยู่ของวัน เดือน ปีมายาวนานแล้ว และไม่มีทีท่าว่าจะหยุดการถกเถียงกันเมื่อไร

ซึ่งหากการถกเถียงนี้ไม่ได้ทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันว่าเป็นเพียงการมองความเป็นไปของชีวิตกันคนละมิติ ก็เป็นการถกเถียงที่ไม่มีประโยชน์อะไร

“เวลา” ที่แบ่งเป็น “วัน เดือน ปี” มีอยู่จริง หรือเป็นแค่สมมุติ

หากใครคนหนึ่งเห็นและเข้าใจทั้ง 2 ทาง คือความเป็นไปของชีวิตเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัยที่เปลี่ยนแปลง

ขณะที่ยาวหรือสั้น หรือที่แบ่งเป็นวันเดือนปี เป็นเวลาตามสมมุติมนุษย์เราสร้างขึ้นมาใช้ประโยชน์ให้เกิดความสะดวกในการสื่อสาร และเป็นเครื่องมือในการจัดการเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตให้สัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งเข้าใจร่วมกันง่ายขึ้น

หากเข้าใจสัจธรรมที่ก้าวพ้นเวลา ขณะเดียวกันก็เข้าใจสมมุติและใช้ระบบเวลาที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิตก็จะเป็นการใช้ชีวิตที่สะดวก และสามารถทำให้อยู่ร่วมกับสังคมได้ง่ายขึ้น

การมีชีวิตอย่างเข้าใจทั้งสัจธรรมและสมมุติ และรู้ว่าควรจะใช้ประโยชน์จากแต่ละกรอบความคิดอย่างไร จึงดีกว่าที่จะไปติดกับกรอบความคิดอย่างใดอย่างหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image