รัฐอัศวิน ของไทย ได้ลิงแก้แห ยิ่งแก้ยิ่งยุ่ง : คอลัมน์สุวรรณภูมิในอาเซียน

รัฐอัศวิน

บรรยง พงษ์พานิช

ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร จำกัด (มหาชน)

เคยสังเกตไหมครับ ว่าประเทศไทยเรามีรัฐเป็น อัศวิน ไม่ว่าราคาข้าวหรือยางตกต่ำ ราคาน้ำมันสูงขึ้น ค่าแรงไม่พอใช้ หรือระบบการศึกษาไม่มีคุณภาพ ฯลฯ พอประสบปัญหาเข้าแล้ว ประชาชนมักคาดหวังให้รัฐขี่ม้าเข้ามาแก้ไขทางใดทางหนึ่ง จนเป็นเรื่องปกติที่ในช่วงเวลาของการเลือกตั้ง นานาพรรคการเมืองจะพากันสาธยายถึงความสามารถในการเป็นอัศวินของตัวเองในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนได้ทุกเรื่อง เพื่อได้รับการเลือกตั้ง

อย่างไรก็ตาม หนังสือ POLITICAL CATOONOMICS อาจเปลี่ยนความคิดเช่นนั้น เพราะพออ่านหนังสือเล่มนี้แล้วจะเห็นได้ชัดเลยว่า การที่รัฐเข้ามาแก้ไขราคาข้าวสูงขึ้น อาจทำให้ยิ่งมีคนเข้ามาปลูกข้าวทั้งๆ ที่ยังคุมต้นทุนหรือสร้างมูลค่าให้อยู่รอดไม่ได้ การช่วยเหลือราคาน้ำมัน อาจทำให้คนยิ่งไม่มีเหตุผลที่จะลดการใช้อย่างฟุ่มเฟือยและนำไปสู่ความขาดแคลนที่ชวนให้ราคาขึ้นและรัฐต้องช่วยเหลือมากเข้าไปอีก หรือการเรียกร้องให้รัฐเข้ามาแก้เรื่องปัญหาระบบการศึกษา ไปๆ มาๆ อาจกลายเป็นเพียงการเพิ่มงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการซึ่งเป็นเสมือนแรงจูงใจว่ายิ่งทำงานได้มีปัญหาเท่าไหร่ยิ่งได้งบประมาณ

Advertisement

พูดอีกอย่างก็คือ อัศวินที่ประชาชนนึกว่าจะขี่ม้าเข้ามาแก้ปัญหาได้ง่ายๆ นั้น จะตั้งใจไม่ตั้งใจก็แล้วแต่ หลังม้าอาจลากปัญหามาอีกเป็นคันเกวียน ซึ่งบ่อยครั้งอาจเป็นปัญหาที่แย่หรือใหญ่กว่าปัญหาที่อัศวินแก้ไปมากนัก ยังไม่ต้องพูดถึงว่า บ่อยครั้งอัศวินไม่ได้แก้ปัญหาอะไรเลยตั้งแต่แรก

ในห้วงเวลาของการเลือกตั้งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า (ตามที่อัศวินท่านหนึ่งสัญญา) หนังสือ POLITICAL CATOONOMICS จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทำให้เราคิดเสียให้ถี่ถ้วน ว่าหนึ่งเสียงของเราที่จะใช้ในการเลือกตั้งนั้น บางทีอาจไม่ได้ควรให้แก่ผู้ที่เสนอจะทำตัวเป็นอัศวินให้กับปัญหาทุกเรื่อง แต่ให้กับใครก็ตามที่รู้จักวิธีแก้ปัญหาแบบไม่ต้องทุ่มใช้อัศวิน

ลด ละ เลิก รัฐอัศวิน

1.เราต้องร่วมกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้อง

Advertisement

การที่เราจะนำความสงบกลับมาสู่สังคมไทย และพัฒนาคุณภาพความเป็นอยู่ให้คนได้นั้น เราจะต้องคืนสิทธิเสรีภาพ และอำนาจการตัดสินใจในการใช้ชีวิตให้ประชาชน

แต่การที่เราจะคืนอำนาจให้ประชาชน ต้องอาศัยการทำงานของนักการเมืองและข้าราชการที่มีจุดยืนแบบนี้ และที่สำคัญ ประชาชนต้องอยากได้อำนาจคืนก่อน…ประชาชนต้องรับรู้ว่า รัฐ ไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเดียวที่มี และบ่อยครั้งไม่ใช่ทางแก้ปัญหาที่ดีเลยด้วยซ้ำ

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่รับรู้และเข้าใจแล้ว นักการเมืองที่จะสนับสนุนแนวคิดนี้จึงจะมีที่ยืน

ถ้าประชาชนส่วนใหญ่ไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ ไม่เชื่อ ก็ป่วยการที่จะมีนักการเมืองที่มีความคิดแบบนี้

2.ต้องช่วยกันปรับเปลี่ยนสังคม และนโยบายภาครัฐ

แบ่งนโยบายออกเป็น 3 ส่วนหลัก ได้แก่ การลดความจำเป็นในการพึ่งพาหน่วยงานรัฐ การควบคุมการขยายตัวของหน่วยงานรัฐ และการลดขนาด/ยุบ/ปรับเปลี่ยนวิธีการหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ

ลดความจำเป็นในการพึ่งพาหน่วยงานรัฐ

ปัจจุบันนี้ หากไม่มีหน่วยงานรัฐเข้ามาดูแล ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องปัจจัย 4 ในการดำรงชีวิต สาธารณสุข การศึกษา หรือการจัดการภัยพิบัติต่างๆ จะมีผู้คนจำนวนมากต้องประสบความลำบาก

ตัวอย่างของสิ่งที่เราจะทำได้ เช่น

(การสร้างความเข้มแข็งให้องค์กรการกุศลกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprises) องค์การไม่แสวงหาผลกำไร (Nonprofit Organizations) ซึ่งจะมาทดแทนหน่วยงานรัฐ เช่น การสนับสนุนการจัดตั้ง และบริจาคเงินให้องค์กรเหล่านี้ การจัดตั้งองค์กรขึ้นมาตรวจสอบองค์กรการกุศลให้มีความโปร่งใสมากขึ้น ปรับเปลี่ยนกฎหมายและกระบวนการจัดตั้งองค์กรการกุศลให้ง่ายขึ้น หรือหากเป็นไปได้—ออกนโยบายให้คนบริจาคเงินให้องค์กรการกุศลแทนการเสียภาษี (ไม่ใช่แค่ลดหย่อนฐานภาษีเงินได้)

(เหตุผลสำคัญที่ผู้มีรายได้น้อยต้องพึ่งพารัฐก็คือ ค่าใช้จ่ายอุปโภคบริโภคสูง ทำให้ไม่เหลือเงินสำหรับใช้จ่ายในด้านอื่นๆ รัฐควรจะต้องทำให้ค่าครองชีพถูกลง นอกเหนือจากการส่งเสริมการแข่งขันเสรีเพื่อให้สินค้าและบริการมีราคาถูกลง หรืออาจจะพิจารณาเลิกเก็บภาษีสินค้าและบริการที่เป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน เช่น ปัจจัย 4 เสื้อผ้า-อาหารราคาถูก เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยมีเงินเก็บมากขึ้น

ควบคุมการขยายตัวของหน่วยงานรัฐ

จะทำอย่างไรให้รัฐ (ซึ่งเราให้อำนาจไปเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของคน) ทำหน้าที่ตามที่ควรด้วยอำนาจที่เราให้ไป แต่ไม่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

ตัวอย่างเช่น

(กำหนดในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในกรอบอำนาจหน้าที่ของรัฐ— (แต่ในเรื่องนี้แม้แต่ในอเมริกายังไม่ประสบความสำเร็จ จากการแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่อยๆ บ่อยครั้งเพื่อเพิ่มอำนาจให้รัฐ ดังนั้น ในเมืองไทยที่รัฐธรรมนูญถูกเขียนใหม่แทบจะทุก 10 ปี น่าจะหวังได้ยาก)

(ควบคุมงบประมาณของรัฐไม่ให้เกินกี่เปอร์เซ็นต์ของ GDP และตั้งเป้าที่จะลดลงเรื่อยๆ ไม่เพิ่มงบประมาณทุกกระทรวง แม้เศรษฐกิจและจำนวนประชากรจะมีการขยายตัวและเงินเฟ้อ ทำให้สัดส่วนการใช้จ่ายภาครัฐต่อ GDP ลดลง)

ลดขนาด/ยุบ/ปรับเปลี่ยนวิธีการหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ

คำถามสำคัญที่น่าจะเกิดขึ้นในใจผู้อ่านก็คือ หากรัฐบาลทำหน้าที่ทุกอย่างได้ย่ำแย่ขนาดนี้ ทำไมรัฐบาลจึงยังควรทำหน้าที่เหล่านี้อีก? หรือเราควรจะให้ตลาดเป็นผู้จัดการทั้งหมด? เราควรเป็นอนาธิปไตย (Anarchism) คือไม่มีรัฐบาลเลยหรือไม่? (อนาธิปไตยมักถูกแปลไปผิดๆ ว่าเป็นความยุ่งเหยิง จริงๆ แล้ว อนาธิปไตย แปลว่า การไม่มีรัฐ อนาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ที่น่ายกย่อง เป็นการอยู่โดยสันติและเคารพสิทธิของผู้อื่น)

คำตอบก็คือ จนถึงปัจจุบันนี้เรายังไม่มีสังคมอนาธิปไตยที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ที่จะยืนยงได้ยาวนาน แม้จะเป็นสังคมที่สงบสุขและรุ่งเรือง แต่ก็อยู่ไม่ยั่งยืน เนื่องจากมักถูกรุกรานจากชนชาติอื่น…

ดังนั้น เราน่าจะลองคิดเพียงแค่ลดขนาดรัฐบาลดูก่อน เพราะนอกจากความไม่ยั่งยืนแล้ว ก็เป็นไปได้ยากที่จะมีคนจำนวนมากเข้าใจและตอบรับ อนาธิปไตย

แนวทางที่น่าจะทำได้ เช่น

(ลดภาษีเงินได้และภาษีเงินออม เพื่อสนับสนุนการทำางาน และการออมของประชาชน แต่เพิ่มภาษีการบริโภคแทน—วิธีการนี้นอกจากจะเป็นการลดขนาดของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นการให้รางวัลคนที่สร้างรายได้และการออมเงินซึ่งนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลผลิตในระบบเศรษฐกิจ และลดแรงจูงใจในการบริโภค ส่งเสริมให้คนประหยัด อดออม

(นำงบประมาณที่เคยใช้กับหน่วยงานรัฐมาเปลี่ยนเป็นการอุดหนุน (Subsidy) ให้คนจน เช่น คูปองอาหาร คูปองการศึกษา คูปองรักษาพยาบาล หรือจ่ายเงินภาษีให้ผู้ทำงานแต่มีรายได้น้อย (Negative Income Tax) ซึ่งเป็นการช่วยเหลือประชาชนโดยให้การแข่งขันในตลาดเสรีทำงานร่วมด้วย

(ทยอยแปรรูปองค์กรของรัฐเป็นเอกชน/มูลนิธิ โดยต้องสร้างให้เกิดการแข่งขัน ไม่ใช่แปรรูปแล้วยังคงอำนาจผูกขาดไว้กับองค์กรนั้น

(ทยอยลดขนาดของราชการ ยุบหน่วยงานที่ไม่มีความจำเป็นลง

ทั้งหมดนี้นอกจากจะเป็นการคืนอำนาจให้ประชาชนในส่วนที่มีการดำเนินการโดยตรงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความเข้มแข็งของการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของชีวิตและทรัพย์สิน เพราะเมื่อรัฐไม่จำเป็นต้องทำหน้าที่ที่ไม่จำเป็นแล้ว ทั้งนักการเมืองและประชาชนก็สามารถมาให้ความสำคัญ และความสนใจในงานหลักๆ ของรัฐด้านอื่นที่จำเป็นได้มากขึ้น

งานทั้งหมดนี้เป็นเรื่องยากเหมือนเข็นครกใหญ่ขึ้นภูเขา และมีความเสี่ยงที่ครกจะหล่นลงมาทับตัวคนเข็น แต่หากไม่เข็นขึ้น ครกก็จะยิ่งไหลตกลงไปอีกอย่างรวดเร็ว เพราะเราไม่ได้อยู่เชิงเขา

สุดปลายทางของอุดมคติคงเกิดขึ้นได้ในจินตนาการเท่านั้น แต่เราก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หากเราไปจบสักที่ใดที่หนึ่งในทิศทางนี้ ก็ยังดีกว่าอยู่กับที่หรือไปในอีกทิศทาง


“หนังสือเล่มนี้ท้าทายความคิดของคนไทยมาก…ผมอยากให้คนที่ไม่เชื่อกลไกราคา ลองอ่านหนังสือเล่มนี้…”

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร

อดีตคณบดี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตประธานมูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI)


“แม้แต่ผู้ที่ไม่มีความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ก็สามารถอ่าน POLITICAL CATOONOMICS เข้าใจได้โดยง่าย”

ดร. วีรพงษ์ รามางกูร

อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง, อดีตประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image