อาศรมมิวสิก : จันทร์แรม ต่อลมหายใจอันรวยรินของร็องเง็ง : โดย สุกรี เจริญสุข

มีวงดนตรีรุ่นใหม่ “จันทร์แรม” ได้มาสอบถามเรื่องเพลงพื้นบ้าน โดยเฉพาะเพลงพื้นบ้านภาคใต้ ซึ่งผลงานเพลงพื้นบ้านในภาคอื่นๆ ได้ถูกนำมาใช้ในรูปแบบใหม่กันแพร่หลายมากกว่าเมื่อเทียบกับเพลงพื้นบ้านภาคใต้ อาทิ ผลงานเพลงพื้นบ้านภาคเหนือ มีเพลงของจรัล มโนเพ็ชร ที่ทำเป็นเพลงสมัยนิยมออกมาแล้ว หลังจากนั้นก็จะมีเพลงทำนองเหนือ เสียงดนตรีเหนือ ออกมาเพิ่มเติมอีกหลายชุด จนได้ยินคุ้นหูมากขึ้น สามารถที่จะขายเพลงท้องถิ่นได้ทั้งในคนเหนือและคนจร

ส่วนเพลงพื้นบ้านภาคอีสานนั้น ก็มีเพลงหมอลำ หมอลำซิ่ง หมอแคน หมอพิณ เพลงลูกทุ่งอีสาน เอเชียเซเว่น พาราไดซ์บางกอก ถือว่ายุคนี้เป็นเวลาของดนตรีพื้นบ้านอีสานโด่งดังที่สุด นอกจากเผยแพร่ในประเทศทั่วไทยได้แล้ว วงดนตรีลูกทุ่งหมอลำอีสานยังสามารถยึดพื้นที่เวทีนานาชาติได้ด้วย แม้จะต้องเดินทางไปด้วยตนเองโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐแต่อย่างใด ดนตรีพื้นบ้านอีสานก็ออกไปประกาศความเป็นไทยในเวทียุโรปมามากแล้ว

ในกรณีเพลงพื้นบ้านภาคกลางก็ยังคงดำรงอยู่ในเพลงลูกทุ่ง ลิเก เพลงฉ่อย ลำตัด เสภา ซึ่งโอกาสที่จะฟื้นคืนชีพกลับมา มีได้ทุกเมื่อ แต่ต้องรอคอยเวลาอันเหมาะสม ขณะเดียวกัน ในเวทีการประกวดเพลงต่างๆ ที่มีในโทรทัศน์ บทเพลงและทำนองเพลงที่คณะตลกทั้งหลายนำเสนอ ก็มักจะนำเสนอเพลงพื้นบ้านด้วย แม้จะดูเป็นตลกที่ไร้ราคา แต่ก็ซ่อนไว้ซึ่งเพลงพื้นบ้าน สักวันหนึ่งเมื่อมีโอกาสหรือมีเวทีเปิด เชื่อว่าเพลงพื้นบ้านภาคกลางก็จะกลับมาในรูปแบบใหม่ทันที

จะมีก็แต่เพลงพื้นบ้านภาคใต้ ที่ค่อนข้างจะร่อแร่และรวยรินสุด

Advertisement

นักดนตรีรุ่นใหม่ 3 คน ได้ตั้งวงดนตรีขึ้นมาชื่อ “วงจันทร์แรม” มีนายจักรกฤษ เจริญสุข เล่นวิโอลา นางสาวทยารัตน์ โสภณพงษ์ เล่นเครื่องเคาะ และนายณัฐกฤตย์ เปลี่ยวจิตร์ เล่นกีตาร์คลาสสิก ทั้ง 3 คน ศึกษาเรียนรู้วิชาดนตรีตามแบบฉบับดนตรีคลาสสิกมาเต็มตัว ได้หันกลับมาสนใจดนตรีพื้นบ้านภาคใต้อย่างเอาจริงเอาจังมาก ในระยะ 5-6 เดือนที่ผ่านมา ก็ได้สร้างผลงานโดยนำเพลงพื้นบ้านภาคใต้มาเรียบเรียงใหม่ แล้วเล่นด้วยเครื่องดนตรีที่ตนถนัด ซึ่งก็ได้สร้างสีสันใหม่ให้กับดนตรีพื้นบ้านภาคใต้มากทีเดียว ที่สำคัญก็คือ มีแฟนๆ ติดตามมากขึ้น

ครั้งหนึ่งได้รวบรวมผลงานของครูขาเดร์ แวเด็ง (แวกาเดร์ แวเด็ง) คณะร็องเง็งเด็นดังอัสลี จากปัตตานี เมื่อปี พ.ศ.2535 โดยการสนับสนุนของศูนย์ศิลปะและวัฒนธรรมแสงอรุณ นอกจากนี้ ก็มีเพลงชุด “ดนตรีชาวสยาม” ที่ได้รวบรวมไว้เมื่อปี พ.ศ.2536 ซึ่งก็มีบทเพลงอื่นๆ ของภาคใต้รวมไว้ด้วย รวมทั้งโนราหนังตะลุง สามารถหาฟังจังหวะและทำนองพวกนี้ได้ไม่ยาก เพราะว่ามีนักร้องเพลงลูกทุ่งได้ใช้ทำนองเป็นที่แพร่หลายกันอยู่

ผลงานอีกชิ้นหนึ่งที่สำคัญและหายาก เป็นการบันทึกรวบรวมเพลงดีเกฮูลู คณะยูโซะ บ่อทอง เมื่อปี พ.ศ.2550 ทั้ง 3 ชุด (รองเง็ง ดนตรีชาวสยาม และดีเกฮูลู) เป็นหลักฐานให้คนรุ่นหลังได้นำไปศึกษาต่อได้

Advertisement

ความจริงแล้ว รองเง็งนั้นเป็นบทเพลงทั้งชาวบนบกและของชาวเล ทั้งทางฝั่งอันดามันและทางฝั่งอ่าวไทย ดนตรีและเพลงไม่ได้แตกต่างกันแต่อย่างใด ตั้งแต่ทำนองเพลง เครื่องดนตรี ชื่อเพลง วิธีการเล่น วัตถุประสงค์การใช้เพลง ใช้ทั้งในพิธีกรรมและเพื่อความเพลิดเพลินเหมือนกัน เพียงแต่กาลเวลา การจดจำของชาวบ้าน ทำให้เพี้ยนไป เครื่องดนตรีที่หลงเหลืออยู่ก็ร่อยหรอลงเต็มที

ชาวเลนั้นเป็นพวกเร่ร่อน เป็นพวกยิปซีทะเล อาศัยอยู่ในเรือ หากินอยู่กับท้องทะเล นานๆ จะขึ้นฝั่ง จึงตัดขาดออกจากวัฒนธรรมบนฝั่งอย่างสิ้นเชิง สิ่งที่สืบทอดมาจากบรรพชนก็ยังรักษาอยู่เฉพาะชาวเรือ เพียงแต่เมื่อต้องขึ้นฝั่ง เพราะความจำเป็นของชีวิต หาปลายากขึ้น รัฐบังคับให้อยู่กับที่ จึงต้องอยู่บนบก ทำให้การจะรักษาและสืบทอดมรดกของเผ่าพันธุ์ไว้ทำได้ยาก ส่วนกลุ่มบนบกนั้นก็ถูกกลืนไปเกือบหมดสิ้น

เมื่อ 40-50 ปีก่อน ทำนองเพลงภาคใต้ต้องอาศัยศิลปินใหญ่จากภาคกลาง สัญจรล่องลงไป ซึ่งจะเขียนเพลงที่เป็นเรื่องราวของภาคใต้และใช้ทำนองดนตรีภาคใต้ อาทิ เพลงล่องใต้ ของพยงค์ มุกดา เพลงเสน่ห์ยะลา ของสุนทราภรณ์ เพลงบุหงาปัตตานี บุหงาตันหยง บุหลันลันตู โดยครูสง่า อารัมภีร หรือเพลงบินหลา ของวิสา คัญทัพ เป็นต้น ทำนองเพลงเหล่านี้ มีกลิ่นความเป็นดนตรีของภาคใต้ หลักๆ ก็เอาทำนองเพลงรองเง็งมาใส่เนื้อร้องใหม่

วงดนตรีคนรุ่นใหม่ “จันทร์แรม” สมาชิกประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ ได้ผ่านการศึกษาและฝึกฝีมือด้านทักษะดนตรีมาอย่างดี เมื่อหันมาสนใจเพลงพื้นบ้านก็เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะการที่ศึกษาและนำอดีตมารับใช้ปัจจุบันได้นั้น ต้องอาศัยฝีมือ ความรู้ และทักษะทางดนตรีเป็นหลัก

นายจักรกฤษ เจริญสุข เป็นนักดนตรีเล่นวิโอลา เรียนดนตรีปฏิบัติวิโอลา กระทั่งจบปริญญาเอกผ่านการศึกษาดนตรีคลาสสิกทั้งในยุโรปและอเมริกา นางสาวทยารัตน์ โสภณพงษ์ เป็นนักเล่นเครื่องเคาะ เรียนและเล่นดนตรีคลาสสิก จบการศึกษาดนตรีระดับปริญญาโท เป็นนักดนตรีอาชีพ ส่วนนายณัฐกฤตย์ เปลี่ยวจิตร์ นั้น เรียนและเล่นกีตาร์คลาสสิก ผ่านการประกวดมาหลายเวที เมื่อเรียนจบปริญญาตรีดนตรีแล้ว ก็ออกไปทำมาหากิน เล่นกีตาร์ทุกรูปแบบในร้านอาหาร

นักดนตรีทั้ง 3 คน มีความคุ้นเคยเพราะอยู่ในแวดวงเดียวกัน คือดนตรีคลาสสิก เมื่อหันมาสนใจดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ก็เป็นจุดหักเหที่น่าสนใจยิ่ง เพราะว่าทุกคนมีฝีมือพื้นฐานที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่นำบทเพลงมาเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะกับเครื่องดนตรีที่ตนถนัด ก็สามารถทำเพลงออกมาแปลกและแตกต่างไปจากเพลงพื้นบ้านทั่วไป

บทเพลงที่วง “จันทร์แรม” ได้เลือกสร้างผลงานไปแล้ว ส่วนใหญ่เลือกบทเพลงร็องเง็งที่เป็นฝีมือของครูขาเดร์ แวเด็ง (แวกาเดร์ แวเด็ง) อาทิ เพลงลากูดูวอ เลนัง บุหงารำไป ปราคำเปา เป็นต้น สามารถหาฟังได้จากยูทูบ ซึ่งนักดนตรีสมัยใหม่นี้ ไม่ได้ทำเพลงเป็นชุดๆ เหมือนแต่ก่อนอีกต่อไป เพราะวิธีการนำเสนอต่อสาธารณะเป็นการทำทีละเพลง แล้วปล่อยออกมาทีละเพลงด้วย

การปล่อยเพลงในพื้นที่สาธารณะนั้นเป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังสูงสุด เพราะสามารถเลือกฟังได้ฟรีโดยไม่ต้องซื้อเพลงฟัง นักร้องนักดนตรีไม่ได้ผลประโยชน์จากการสร้างผลงานวิธีนี้ จนกว่าจะมีผลงานมากพอแล้ว (10-20 เพลง) จึงจะได้แสดงบนเวที เมื่อเพลงยังมีน้อย โอกาสที่จะแสดงบนเวทีก็น้อยด้วย เพราะไม่มีเวทีที่จะนำเสนอ นอกจากเวทีพื้นที่สื่อในอากาศเท่านั้น

นักดนตรีอาชีพที่จะได้ค่าตัวต่อไปนี้ ต้องมีฝีมือสูงพอ มีผลงานเพียงพอที่จะแสดงสดบนเวทีได้ ไม่ว่าจะเป็นเวทีเล็กหรือเวทีใหญ่ การแสดงสดเท่านั้นที่จะสร้างอาชีพดนตรีได้ ไม่สามารถนำผลงานไปขายซ้ำแบบเทป แผ่นเสียง หรือซีดีได้อีกต่อไป

การนำบทเพลงพื้นบ้านมาต่อลมหายใจใหม่ แบบที่วง “จันทร์แรม” นำเสนอนั้น อาจจะมีพื้นที่ในประเทศไทยหรือในประเทศที่มีกำลังซื้อน้อย ได้รับเพียงคำขอบคุณ ได้ช่อดอกไม้ ได้เสียงปรบมือเท่านั้น ด้วยเหตุปัจจัยหลายอย่าง แต่สำหรับเวทีในประเทศที่เจริญแล้ว วงดนตรีแบบจันทร์แรมก็จะมีเวทีและพื้นที่อีกมาก โดยเฉพาะในประเทศแถบยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ซึ่งจะเป็นเวทีและเปิดพื้นที่การแสดงด้วยความหลากหลาย

วิธีการของวง “จันทร์แรม” นั้น เป็นการจัดการด้วยตัวเองหมด ไม่ต้องอาศัยนายช่างที่ไหน ไม่ต้องมีวิศวกรเสียง ไม่ต้องจ้างเรียบเรียงเสียงประสานเพลง ไม่ต้องเช่าห้องบันทึกเสียง ไม่ต้องลงทุนโฆษณา ไม่ต้องผลิตเทปหรือแผ่นเสียง ไม่ต้องมีสำนักงาน ทุกอย่างนักดนตรีทำได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งมืออาชีพคนอื่น ซึ่งเป็นการตัดต้นทุน ตัดค่าใช้จ่ายออกจากการสร้างงาน เป็นวิธีที่กลับไปสู่ระบบชาวบ้านดั้งเดิม กล่าวคือ ทำเองได้หมด เพียงแต่มีบริบทของสังคมที่แตกต่างกันเท่านั้น

วง “จันทร์แรม” ได้ก้าวข้ามเพลงพื้นบ้านโดยนำเพลงพื้นบ้านมารับใช้สังคมในรูปแบบใหม่ โดยใช้ฝีมือ อาศัยการจัดการที่ทำเองได้หมด และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มารองรับ ซึ่งอาจจะเป็นต้นแบบของวงดนตรีคนรุ่นใหม่อีกหลายวง ฝีมือเท่านั้นที่จะอยู่ได้ ขณะเดียวกันก็ต้องอาศัยตลาดโลกมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image