ปัง ปัง ปัง! สมรภูมิ”คัลเจอร์ 2019″ แม่น้ำ ผู้คน มรดก (มนุษย) ชาติ

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ พายเรือเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยา ในขณะที่กลุ่มค้านทางเลียบยื่นศาลปกครองจี้ยุติโครงการ พร้อมขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเมื่อปลายปี 61

ถ้าเป็นการเชียร์กีฬา รับรองว่า “ปัง” ระดับนั่งไม่ติดเก้าอี้ สำหรับเวที สังคม วัฒนธรรม 2562 ที่มีประเด็นยิ่งใหญ่อลังการให้ลุ้นกันตัวโก่งตลอดทั้งปี ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการระดับรัฐและโปรเจ็กต์เอกชนที่ส่อเค้าสร้างความสั่นสะเทือนหลายริกเตอร์ เสี่ยงเกิดสึนามิขนาดย่อมก็ว่าได้ เพราะล้วนเป็นสถานการณ์ที่สัมพันธ์อย่างแยกไม่ออก กับชีวิตคน ชุมชน สายน้ำ ฝั่งคลอง ไปจนถึงลำกระโดงในเรือกสวน อีกทั้งมรดกของชาติ และมนุษยชาติ

ต่อไปนี้คือส่วนหนึ่งของประเด็นฮอตหนักที่ไม่อาจหยุดพักในการเกาะติดเกมอันสุดเข้มข้นในปีกุนที่เพิ่งเริ่มต้นไปได้ไม่กี่วัน

กลุ่มค้านยื่นศาลปกครอง

ยุติโปรเจ็กต์ยักษ์”ทางเลียบเจ้าพระยา”

ถูกคัดค้านมานานนับปีจากประชาชนคนไทยแทบทุกภาคส่วน สำหรับ “โครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา” ที่หลายฝ่ายห่วงว่าไม่เพียงส่งผลกระทบสิ่งแวดล้อม แต่ยังทำลายวิถีชีวิตชุมชนเก่าแก่ริมฝั่งน้ำ

ล่าสุดในช่วงปลายปี 2561 กลับมาร้อนแรงอีกรอบเมื่อ “บิ๊กป้อม” ออกโรงจี้ปรับภูมิทัศน์พื้นที่ริมฝั่งน้ำเพื่อเตรียมพร้อมการก่อสร้างทางเลียบ ทั้งที่ก่อนหน้านี้มีสัญญาณคล้ายจะกดปุ่มไฟเหลือง ไม่ออกลีลาเดินหน้ามานานหลายเดือน

Advertisement

ร้อนถึงกลุ่มค้านที่ไม่ใช่แค่จัดงานอีเวนต์เก๋ๆ รวมพลคนรักแม่น้ำ หากแต่ก้าวกระโดดไปอีกขั้นด้วยการผนึกกำลังยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน พร้อมเอกสารปึกใหญ่มากกว่า 3,000 หน้า เพื่อให้ยุติโครงการดังกล่าว พร้อมขอคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว โดยเครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ, มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน, เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม และเครือข่ายชุมชนริมน้ำ

ก่อนหน้านั้นไม่นาน ยังจัดเสวนา “แม่น้ำเจ้าพระยาที่รัก (มารักก่อนที่จะสาย)” ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ซึ่ง ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมือง คว้าไมค์ลั่นหน้าเวทีว่า จะไม่ยอมให้โครงการนี้สร้าง “รอยแผลเป็นของประเทศ” ยืนยันไม่ได้ฟ้องเพื่อเอาชนะ แต่ทำเพื่อความถูกต้อง

ในขณะที่ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวชัดถ้อยชัดคำว่า โครงการนี้ถ้าอยู่ในยุคประชาธิปไตย คงไม่สามารถสร้างได้ ผู้มีสติปัญญาในบ้านเมืองก็ค้านกันหมด ทั้งด้านสถาปัตย์ ผังเมือง สิ่งแวดล้อม

Advertisement

“โครงการใหญ่ๆ ที่ดำเนินการโดยภาครัฐ ต้องสอบถามความเห็นของประชาชน แม้อ้างว่าทำแล้ว แต่ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีกระบวนการดังกล่าวจริงหรือไม่ แม้รัฐอยากทำโครงการนี้ แต่เชื่อว่าเกิดไม่ได้ ถ้าประชาชนไม่ยอม โดยบทเรียนในอดีตบ่งชี้ว่าเผด็จการต่อให้อำนาจมากแค่ไหน แต่ถ้าประชาชนลุกฮือมาประท้วง ไม่เคยมีใครรอด”

พร้อมทิ้งท้ายพ่วงประเด็น “คลองแสนแสบ” ที่ “บิ๊กตู่” เล็งทุ่มงบฟื้นฟู โดยเชื่อว่า “เสียเงินเปล่า” หากคนไทยยังทิ้งขยะลงน้ำกันโครมๆ

ไม่พูดมาก เจ็บคอ! รองอธิการฯธรรมศาสตร์ ท่านนี้ลุยจัดเอง “พายเรือเพื่อเจ้าพระยา” เก็บขยะจากปากน้ำโพถึงอ่าวไทย หวังปลูกจิตสำนึก

อย่างไรก็ตาม กลุ่มค้านคงต้องลุ้นหนักมากตั้งแต่ต้นปีนี้ว่าศาลจะมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่ เนื่องจากภาครัฐมีแผนเริ่มการก่อสร้างเฟสแรก 14 กิโลเมตร ในครึ่งแรกของปีนี้โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2563 วงเงิน 8,362 ล้านบาท ท่ามกลางเสียงค้านที่ไม่เคยเบาลงแต่อย่างใด

ส่อเค้าบานปลายกลายเป็นอภิมหาโครงการในประวัติศาสตร์กรุงรัตนโกสินทร์ที่มีการยื้อยุดฉุดรั้งจากภาคประชาชนมากที่สุดโปรเจ็กต์หนึ่ง

ทายาท”กรมพระยานริศฯ”เตรียมสู้ศึกเสาเข็มเขย่า”บ้านปลายเนิน”

ม.ล.จิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ของกรมพระยานริศฯ ห่วงการสร้างคอนโดฯ กระทบมรดกชาติที่ “บ้านปลายเนิน”

เป็นกระแสในโลกโซเชียลในช่วงท้ายๆ ของปี 2561 เมื่อคนไทยเฉียดหมื่นร่วมลงชื่อในเว็บไซต์ change.org เพื่อคัดค้านการสร้างคอนโดมีเนียม 36 ชั้นใกล้บ้านปลายเนิน ย่านคลองเตย ที่ประทับสุดท้ายของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่ของกรุงสยาม พระโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

กระทั่ง 1 พฤศจิกายน ม.ร.ว.จักรรถ จิตรพงศ์ ทายาทกรมพระยานริศฯ เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ร.ต.ต.เกรียงศักดิ์ โลหะชาละ ประธานสภา กทม. คัดค้านแผนการก่อสร้าง เพราะห่วง “มรดกชาติ” ได้รับผลกระทบทั้งจากแรงสั่นสะเทือน รวมถึงการถมที่ดินโดยรอบ ซึ่งอาจทำให้พื้นที่รอบข้างกลายเป็นที่ต่ำจึงห่วงว่าพื้นที่ประวัติศาสตร์จะโดนน้ำท่วมในภายหลัง ยังไม่รวมมลพิษทางเสียง ฝุ่น ควันที่จะตามมา

ต่อมาเมื่อ 19 ธันวาคม หม่อมราชวงศ์กัลยา ติงศภัทิย์ ทายาทราชสกุลจิตรพงศ์ กล่าวในงาน “ศาสตร์ ศิลป์ สืบสาน ณ บ้านปลายเนิน” ว่า “กังวลมาก” เพราะทราบมติของคณะกรรมการ คชก. (คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม) ว่า “อีไอเอ” (การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม) ผ่านแล้ว

“บริเวณนี้เป็นพื้นที่ซึ่งมีอาคารเก่า ถือเป็นโบราณสถานของชาติ หากได้รับผลกระทบ จะเป็นการสูญเสียอย่างมหาศาลของชาติไทยกำลังหาผู้ทรงคุณวุฒิหลายด้านให้คำแนะนำว่าควรจะทำอย่างไร ก็เริ่มมีคนเข้ามาช่วย กำลังอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล คำแนะนำมีหลากหลาย ขอเรียนว่าให้เราได้ใช้เวลาอีกสักพักในการเลือกและตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรบ้าง ที่ผ่านมาได้คุยกับกรมศิลปากรซึ่งให้คำแนะนำและช่วยเหลืออย่างมาก โดยให้ข้อมูลว่าตำหนักปลายเนินคือโบราณสถาน ไม่สำคัญว่าจะจดทะเบียนหรือไม่”

หม่อมหลวงจิตตวดี จิตรพงศ์ ทายาทรุ่นที่ 4 ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ถ้ามีการตอกเสาจริงๆ มีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อ “ตำหนักตึก” ที่อยู่ห่างออกไปแค่ 17 เมตร หากเป็นเช่นนั้นต้องขนของออกจากตำหนัก การขนย้ายของซึ่งเป็นโบราณวัตถุ สิ่งที่เราจะสูญเสียไปคือประวัติศาสตร์ ตำแหน่งการวางสิ่งของเดิมอยู่อย่างไร ต้องใช้เวลาในการจดบันทึก ถ่ายภาพ งานอนุรักษ์เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่จดไว้ประวัติศาสตร์ส่วนนี้จะสูญเสียไป

นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ต้องติดตามต่อไปในปีนี้ ว่าความเป็นพื้นที่ประวัติศาสตร์จะคัดง้างเสาเข็มคอนโดฯ ได้หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามสำคัญในคำ “มรดกชาติ” โดยสังคมส่วนหนึ่งตั้งคำถามว่าหากเป็นมรดกของคนไทย เหตุใดไม่เปิดเป็น “สาธารณะ”

จ่อเคลื่อนไหวใหญ่ (?)

หลังทวงคืน”มรดกชาติ”ไม่คืบ

“กลุ่มสำนึก 300 องค์” ทำกราฟิกกระตุ้นความจำหลังการทวงคืนโบราณวัตถุไทยจากต่างแดนแทบไม่คืบ เกิดกระแสข่าวเล็งขยับครั้งใหญ่ในปีนี้

ดูอาการแล้วแผ่วปลายคล้ายจะสิ้นแรงลงไปทุกขณะ สำหรับการทวงคืนโบราณวัตถุไทยจากต่างแดนซึ่งเกิดกระแสตั้งแต่ ปี 2559 ผลักดันสุดแรงโดย “กลุ่มสำนึก 300 องค์” ซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการหลากหลายที่มีใจหวงแหนมรดกทางวัฒนธรรม ก่อน “บิ๊กตู่” จะออกมาหนุน ชงให้กรมศิลปากรตั้ง “คณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ” 133 ชิ้น ในเดือนธันวาคม 2560

นานๆ ทีจัดประชุม และระบุว่าเร่งประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศแล้ว โดยมีแนวโน้มได้คืนโบราณวัตถุสำคัญคืน 2 ชิ้น ได้แก่ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว

ทว่า จนถึงวันนี้ ยังเงียบฉี่ ไร้วี่แวว

ตลอดปี 2561 ดูเหมือนแทบไม่มีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่กลุ่มทวงคืนก็ไม่ได้ท้อแท้ ยังคงเดินหน้าเผยแพร่ข้อมูลต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจ “สำนึก 300 องค์” ทั้งยังติดต่อกับนักหนังสือพิมพ์ชาวอเมริกันผู้เชี่ยวชาญในการขอคืนโบราณวัตถุจากประเทศต่างๆ แก่เจ้าของวัฒนธรรมเพื่อหารือแนวทางอย่างสม่ำเสมอ

จริงหรือหลอกไม่ยืนยัน แต่แว่วว่าปีนี้อาจมีการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ หลังคลื่นลมสงบเงียบเชียบเนิ่นนานจนเกิดอาการกระสับกระส่าย ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปในศักราชนี้

เกาะปากหลุมจากเหนือจรดใต้

การค้นพบใหม่ที่ท้องถิ่น (ต้อง) “เอาด้วย”

พบจักรสำริด 1,300 ปี ที่เขาศรีวิชัย ฮือฮามากตั้งแต่ต้นปีที่แล้วนักโบราณคดียังลุยงานต่อเนื่องอีกในปีนี้

คึกคักหนักมาก ตั้งแต่ต้นปี 2561 สำหรับการขุดค้นทางโบราณคดีของกรมศิลปากรซึ่งส่งผลให้เกิดการค้นพบใหม่ชวนให้วิเคราะห์ตีความอย่างกว้างขวางในสังคมไทย เริ่มตั้งแต่ “จักรสัมฤทธิ์” ที่พบในไทยเป็นครั้งแรกบนเขาศรีวิชัย อำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอายุราว 1,300 ปี ต่อมา ศ.ดร.เชษฐ์ ติงสัญชลี อาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ฟันธงว่าเป็นของที่ผลิตเองในท้องถิ่น สะท้อนแนวคิดและเปิดช่องให้ศึกษาเพิ่มเติมถึงพัฒนาการในองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีสมัยโบราณในช่วงเวลาดังกล่าว

รอลุ้นผลศึกษาเพิ่มในปีนี้ หลังพบวงอิฐปริศนาที่เขาศรีวิชัย สุราษฎร์ธานี
สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่แอ๊กทีฟมาก หลังพบแหล่งถลุงเหล็กโบราณล้านนาหลายแห่ง ได้จัดกิจกรรมร่วมกับท้องถิ่นที่ตื่นตัวเด้งรับอย่างภาคภูมิ โดยจะมีการศึกษาต่อเนื่องในปี 62

ครั้นช่วงปลายปีเดียวกัน ภาณุวัฒน์ เอื้อสามาลย์ นักโบราณคดีชำนาญการประจำสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ยังพบหลักฐานเพิ่มเติมให้ขบคิดอย่างหนัก นั่นคือ วงอิฐปริศนาที่มีร่องรอยการถูกไฟเผา คาดว่าเกี่ยวข้องกับ “พิธีกรรม” บางอย่าง ทำเองกูรูด้านศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ร่วมด้วยช่วยคอมเมนต์อย่างมีสีสัน กลายเป็นประเด็นที่สังคมมีส่วนร่วมด้วยความเต็มใจ

สำหรับในปีนี้ การดำเนินงานทางโบราณคดีที่เขาศรีวิชัยยังคงดำเนินต่อไป ชวนให้ร่วมลุ้นการค้นพบหรือตีความใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เช่นเดียวกับแหล่งโบราณคดีทางภาคเหนือซึ่งคึกคักไม่แพ้กัน โดยนักโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ได้ขุดค้นแหล่งถลุงเหล็กโบราณขนาดใหญ่ในจังหวัดลำพูน อาทิ อำเภอบ้านโฮ่งและอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน โดยเชื่อว่าจะเป็นกุญแจไขปรากฏการณ์วัฒนธรรมล้านนา

ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ การได้รับความร่วมมือดีเยี่ยมแบบไม่จัดตั้งจากท้องถิ่น ผุดกิจกรรมทดลองถลุงเหล็กแบบโบราณที่มีทั้งปลัดอำเภอ นายอำเภอ กำนันตำบล ปราชญ์ชาวบ้านและนักเรียนเข้าร่วมงาน นับเป็นการรวบตึงอดีต และปัจจุบันเข้าหากันพร้อมมองสู่อนาคตซึ่งภาครัฐหนุนหนักแนวคิด “เที่ยวเมืองรอง”

ชาวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน หลายภาคส่วนทดลองถลุงเหล็กแบบคนโบราณ สะท้อนการมีส่วนร่วมกับงานกรมศิลป์ในมุมประวัติศาสตร์ท้องถิ่น

ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นนี้เอง จะเป็นวัตถุดิบสำคัญที่สร้างเรื่องราวบอกเล่า “คนนอก” และเสริมความภาคภูมิใจให้ “คนใน”

เหล่านี้คือภาพรวมของสถานการณ์ Culture ปีนี้ที่กินความหมายกว้างไกลยิ่งกว่าวัฒนธรรมล้ำค่า หากแต่รวมถึงชีวิตคนในทุกมิติ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image