‘ชีวิต ออน ดีมานด์’ คอลัมน์ นอกลู่ในทาง

ยิ่งการทำมาค้าขายออนไลน์เติบโตขึ้นเท่าไร ตลาดบริการรับส่งสินค้ายิ่งโตขึ้นเท่านั้น ดังจะเห็นได้จากการเข้าสู่ธุรกิจของผู้ประกอบการหน้าใหม่เป็นจำนวนมากที่ขยับขยายอาณาจักรธุรกิจไปทั่วอย่างรวดเร็วกว่าใครคงไม่มีใครเกิน “เคอรี่” (Kerry)

ทำเอาพี่ใหญ่ “ไปรษณีย์ไทย” ต้องปรับตัวขนาดใหญ่เช่นกันเพื่อรักษาฐานลูกค้า แต่ก็คงยากที่จะหยุดยั้งการรุกคืบของน้องใหม่มาแรง “เคอรี่” ซึ่งต่อไปน่าจะยิ่งเห็นมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าบีทีเอส จากความร่วมมือระหว่าง “วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย” และ “เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย)”

ที่ทำให้ “เคอรี่” ได้สิทธิในการใช้รถไฟฟ้า BTS ต่อยอดธุรกิจให้บริการจัดส่งพัสดุด่วน รวมถึงการได้สิทธิในการตั้ง “คีออส” หรือจุดให้บริการบนสถานีรถไฟฟ้า BTS สำหรับให้บริการรับส่งสินค้าและพัสดุ

ยังไม่นับบริการ ประเภท “ออนดีมานด์ ดิลิเวอรี” ทั้งหลายที่เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่ผ่านมาจนอาจเรียกได้ว่าเป็นบริการที่ขาดไม่ได้ของสายกินยุคใหม่ นั่นคือ บริการส่งอาหาร หรือ “ฟู้ด ดิลิเวอรี”

Advertisement

ซึ่งหนึ่งในผู้ให้บริการที่โดดเด่นเป็นอย่างยิ่ง แม้จะไม่ใช่ผู้บุกเบิกเป็นรายแรก แต่ได้ทำให้การใช้งานแพร่หลายมาก ได้แก่ “ไลน์ แมน” (LINE MAN)

ไม่น่าเชื่อว่าจากวันแรกจนถึงปัจจุบัน “ไลน์ แมน” เปิดให้บริการมาแล้ว 2 ปีครึ่ง โดยปัจจุบันได้ขยับขยายบริการเพิ่มเติมไปมาก เริ่มจากบริการสั่งอาหารขยับไปยังบริการรับส่งพัสดุ, บริการแมสเซ็นเจอร์,

รับซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ และบริการเรียกแท็กซี่ (ซึ่งอันหลังเพิ่งมีอายุแค่ 6 เดือน)

Advertisement

กลุ่มลูกค้าที่ใช้บริการ “ไลน์ แมน” กว่า 50% มีอายุระหว่าง 24-35 ปี โดยในแต่ละเดือนมีจำนวนผู้ใช้งานเฉลี่ย 1.5 ล้านราย เติบโตอย่างก้าวกระโดดทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้ และปริมาณการใช้งานที่สูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 300%

“ชาญวุฒิ ลือชัยสิทธิ์” ผู้อำนวยการการตลาด และสื่อสารองค์กร LINE ประเทศไทย กล่าวว่ากลุ่มผู้ใช้งานที่อายุ 35 ปีขึ้นไปมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ และไม่ค่อยมีเวลา ส่วนกลุ่มอายุต่ำกว่า 24 ปี จะค่อย ๆ เติบโตตามมา เพราะชินกับการใช้งานสมาร์ทโฟน

หากเรียงลำดับตามความนิยม บริการที่ได้รับการตอบรับสูงสุดยังเป็นบริการดั้งเดิมอย่าง “ฟู้ด ดิลิเวอรี่” ตามด้วยบริการเรียกแท็กซี่, บริการส่งพัสดุ, บริการแมสเซ็นเจอร์ และการสั่งซื้อของจากร้านสะดวกซื้อ ตามลำดับ

เฉพาะบริการ “สั่งอาหาร” (ฟู้ด ดิลิเวอรี) เติบโต 250% เพราะมีพันธมิตรที่เป็นร้านอาหารในเครือข่ายมากถึง 40,000 แห่ง โดย 80% เป็น “สตรีทฟู้ด”

ปัจจุบันระยะเวลาเฉลี่ยในการรับสินค้าที่สั่งแต่ละรายการจะอยู่ที่ 40 นาที โดยอาหารที่มีการสั่งมากที่สุด ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวหมู, ข้าวมันไก่, ข้าวเหนียวหมูทอด และข้าวขาหมู เป็นต้น

อีกเมนูที่มาแรงมากในขณะนี้ คือ “ชานมไข่มุก”

“ส่วนบริการส่งด่วน (แมสเซ็นเจอร์) ในกรุงเทพฯและปริมณฑลจะเรียกใช้งานได้ 24 ชั่วโมง ปัจจุบันเป็นพาร์ตเนอร์กับลาล่ามูฟ มีรถมอเตอร์ไซค์ในเครือข่าย 35,000 คัน ในการให้บริการทั้ง 2 บริการนี้”

สำหรับบริการเรียก “แท็กซี่” แม้จะเพิ่งเปิดให้บริการมาได้เพียง 6 เดือน แต่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว โดยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 330% เนื่องจากมีค่าเรียกรถเพียง 20 บาท และคิดค่าบริการตาม “มิเตอร์”

ปัจจุบันมีรถแท็กซี่ในเครือข่ายมากกว่า 90,000 คัน

ส่วนบริการ “ส่งพัสดุ” เป็นพาร์ตเนอร์กับ “นินจาแวน” โดยในช่วงเทศกาลช้อปปิ้งออนไลน์ 11/11 และ 12/12 มีการใช้งานเติบโตถึง 4 เท่า เนื่องจากคิดราคาใกล้เคียงกับการส่งสินค้าเอง อีกทั้งยังขยายเวลาในการรับพัสดุถึง 4 ทุ่ม ขณะที่คู่แข่งรายอื่นเปิดรับถึง 1 ทุ่ม มีระยะเวลาในการส่งโดยเฉลี่ย 29 นาที ระยะทางเฉลี่ย 14 กม.

นอกจากบริการต่างๆ ที่มีให้บริการอยู่แล้ว ที่ผ่านมา “ไลน์ แมน” เคยได้รับคำสั่งอื่นๆ จากลูกค้าหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ให้ไปรับเช็ค, วางบิล, ทำพาสปอร์ต, ลงทะเบียนเรียน, จองร้านอาหาร, จองโต๊ะในผับ และซื้อบัตรคอนเสิร์ต เป็นต้น

สะท้อนให้เห็นถึงไลฟ์สไตล์ของคนยุคดิจิทัลในปัจุบันได้เป็นอย่างดี

“ตลาดแข่งกันเยอะ เชื่อว่าทุกรายมีต้นทุนด้านขนส่งไม่ต่างกันจึงขึ้นอยู่กับว่าใครจะยอมหั่นราคา แต่เชื่อว่าคนที่เข้ามาใช้บริการ เพราะอยากใช้มากกว่า ไม่ใช่เพราะโปรโมชั่น อีกทั้งในปัจจุบันระยะเวลาเฉลี่ยในการเรียกใช้บริการ LINE MAN เร็วที่สุดในตลาด คืออยู่ที่ 12.3 วินาที ลดลงจากเดิม 13.9 วินาที ถือเป็นจุดแข็งของเรา”

และเพื่อรองรับความต้องการของผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจึงจะขยายเครือข่ายการให้บริการเพิ่มเติม เช่น ในบริการเรียกรถแท็กซี่จะเพิ่มประเภทรถแท็กซี่ขนาดใหญ่ขึ้นรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มากขึ้น และขนาดกระเป๋าที่ใหญ่ขึ้น รวมถึงขยายพื้นที่บริการไปในต่างจังหวัดด้วย เริ่มจากบริการเรียกแท็กซี่ และฟู้ด ดิลิเวอรี ตามหัวเมืองใหญ่ต่างๆ

นอกจากนี้ยังจะขยายการชำระค่าบริการผ่านระบบ E-Payment ให้ครอบคลุมในทุกบริการ จากเดิมจะใช้ได้เฉพาะบริการสั่งอาหาร และแท็กซี่ รวมถึงหาพันธมิตรร้านสะดวกซื้อเพิ่มเติม และเป็นไปได้ที่จะขยายไปยัง “โมเดิร์นเทรด”

“ในกลุ่มร้านสะดวกซื้อ เรามีพาร์ตเนอร์รายเดียว คือเซเว่นอีเลฟเว่น ซึ่งเริ่มส่งสินค้าเองแล้ว แต่คิดว่าไม่ได้มาแข่งกับเราโดยตรง เพราะไลน์ แมน เน้นส่งระยะไกลกว่า และถ้าดูในภาพรวมแล้วหลายๆ บริการของเราไม่ได้มาก่อนคู่แข่ง แต่ความแตกต่างอยู่ตรงที่สามารถแก้เพนพอยต์ของลูกค้าได้”

ดังนั้น สิ่งที่สำคัญกว่าจึงอยู่ที่ว่า ใครจะสามารถเข้าใจลูกค้า และนำเสนอบริการที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่ากัน

เทียบกับผู้ให้บริการรายอื่นแล้ว ปฏิเสธไม่ได้ว่าการมีฐานลูกค้าที่ใช้บริการแอพพลิเคชั่นแชต “ไลน์” (LINE) อยู่ในมือกว่า 44 ล้านราย เป็นอีกหนึ่งจุดแข็งสำคัญที่ทำให้ “ไลน์ แมน” ได้เปรียบคู่แข่ง

ในมุมของผู้บริโภค การแข่งขันนำมาซึ่งสิ่งที่ดีกว่าเสมอ โดยเฉพาะเมื่อยักษ์ใหญ่ระดับ “ดิจิทัล แพลตฟอร์ม” ทั้งหลายแข่งกันตอบโจทย์ชีวิตออนดีมานด์ และช่วงชิงความเป็น “ซุปเปอร์แอพพ์” ในใจลูกค้าดิจิทัล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image