จาก ผีน้อยเกาหลี ถึง ต่างด้าวในไทย ‘แรงงานข้ามชาติ’ ไม่ใช่ ‘อาชญากร’ แต่เป็นเหยื่อทุนนิยม

“เกาหลีเอาจริง ลุยปราบผีน้อย รวบส่งกลับไทย คาวงหมูย่าง ทีเดียว 9 คน!”

ข่าวการเข้มงวดปราบแรงงานคนไทยที่ลักลอบไปทำงานในเกาหลีเป็นที่โจษขาน ขณะที่รัฐบาลเกาหลีประกาศเปิดโอกาสให้แรงงานเถื่อนเหล่านั้นเข้ารายงานตัวก่อนวันที่ 31 มีนาคม 2562 เพื่อส่งกลับประเทศโดยไม่ต้องเสียประวัติ

ไม่ใช่แค่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มักได้ยินว่านักท่องเที่ยวทัวร์เกาหลีโดดทัวร์หายไปเป็นแรงงานเถื่อน ในความเป็นจริงมีแรงงานไทยที่ไปทำงานในเกาหลีมานานกว่า 20 ปีแล้ว ซึ่งในจำนวนแรงงานไทยในเกาหลีประมาณ 168,711 คน มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมายเพียง 24,022 คนเท่านั้น

“ตัวเลขของคนไทยในเกาหลี ณ ปัจจุบันมี 1.1 แสนคน ที่ถูกกฎหมายมีแค่ 2.4 หมื่นคนเท่านั้น นั่นคือใน 1 แสนกว่าคนที่ว่ารวมทั้งนักท่องเที่ยวและที่อยู่เกินวีซ่า (overstay) ตอนที่ผมไปเกาหลีปี 2016 ตัวเลขของแรงงานผิดกฎหมายมี 5 หมื่นกว่าคน แสดงว่ามีจำนวนคนที่ทำงานผิดกฎหมายเพิ่มขึ้นมาเท่าตัว”

Advertisement
บนเวทีเสวนา “MIGRANT IS AROUND” ที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร

เป็นข้อเท็จจริงจากปากของ ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ เจ้าของงานวิจัยเรื่อง “แรงงานผีน้อยไทยในเกาหลี” (A Study of Thai ‘Illegal worker’ in South Korea) จากการลงพื้นที่คลุกคลีกับแรงงานไทยในเกาหลีนานกว่า 1 ปี 7 เดือน เก็บตกจากงานเสวนา “MIGRANT IS AROUND” แกะรอยแรงงานผีน้อยเกาหลี สู่คนขายโรตีที่ไทย เราจะอยู่ในบทบาทไหนเมื่อแรงงานหมุนรอบตัวคุณ เนื่องในวันผู้ย้ายถิ่นสากลปี 2561

ดนย์บอกว่า “ไมเกรชั่นในทางทฤษฎีเป็นการเอาตัวรอดของมนุษย์ ซึ่งรูปแบบการเอาตัวรอดเปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างเมื่อก่อนการเอาตัวรอดอาจจะเป็นการหนีภัยธรรมชาติ อุทกภัย ความหนาว แต่ปัจจุบันเป็นโลกทุนนิยม จึงเป็นการเอาตัวรอดในเชิงเศรษฐกิจ”

ทั้งนี้ ถ้ามองย้อนกลับมาที่แรงงานต่างด้าวในไทย จะพบว่าภายใต้การถูกมองว่าเป็น “ส่วนเกิน” ของสังคม เข้ามาแย่งอาชีพต่างๆ นานา เอาเข้าจริงทุกวันนี้แรงงานต่างด้าวล้วนอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย

Advertisement

ความเหลื่อมล้ำ คือแรงผลักสำคัญ

ใครที่คิดว่า “เกาหลี” เป็นเหมืองทองใหม่ของแรงงานไทย เพราะก่อนหน้ามีตั้งแต่อเมริกา อิสราเอล ฟินแลนด์ การ์ตา รัสเซีย ไต้หวัน ฯลฯ ในความเป็นจริงเกาหลีมีคนไทยไปทำงานมานานกว่า 20 ปีแล้ว

ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ (ขวา) และอดิศร เกิดมงคล ตัวแทนเครือข่ายองค์การที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ

“แรงงานไทยในเกาหลีมีมานานแล้ว แต่เพิ่งมาบูมในยุคหลัง เพราะมีคนไทยแต่งงานกับคนเกาหลีในภาคแรงงาน คนกลุ่มนี้จึงเป็นผู้ดึงให้แรงงานไทยไปเป็นแรงงานที่เกาหลี แรงงานไทยที่เกาหลีจะพึ่งพาอาศัยและช่วยเหลือกันดี ส่วนรูปแบบของการไปเป็นแรงงานผิดกฎหมายนั้น มีลักษณะเดียวคือ วีซ่านักท่องเที่ยวและอยู่เกินเป็นโอเวอร์สเตย์ บางคนอยู่นาน 4-5 ปี”

เจ้าของงานวิจัย “ผีน้อยไทยในเกาหลี” บอก พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ที่ผ่านมางานที่แรงงานไทยส่วนใหญ่ไปทำจะเป็นงานที่คนเกาหลีไม่อยากทำ เช่น งานในโรงงาน งานภาคเกษตร แต่ปัจจุบันการจ้างงานเปลี่ยนไป คนไทยสามารถทำงานที่ดีขึ้นได้ ถ้าอยู่นานๆ บางคนก็เป็นล่าม รวมทั้งร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหารของเกาหลีก็นิยมจ้างแรงงานผิดกฎหมายทำงาน นั่นคือสังคมของคนไทยที่เกาหลีมีการปรับตัวกลมกลืนไปกับสังคมที่นั่นเพราะการเอาตัวรอด

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงานผิดกฎหมายนั้น ดนย์บอกว่า ส่วนตัวเห็นว่าทุกคนต่างก็มีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นแรงงานถูกกฎหมายหรือไม่ ต่างก็เจอปัญหาที่หนักไม่แพ้กัน ในบางครั้งสถานะของแรงงานผิดกฎหมายยังมีสถานภาพที่ดีกว่าแรงงานถูกกฎหมายด้วยซ้ำ หากได้เจอนายจ้างดีๆ ที่ดูแลเหมือนคนในครอบครัว พาไปกินข้าวในร้านอาหารไทย แต่ถ้าเจอนายจ้างไม่ดี แม้เป็นแรงงานที่ถูกกฎหมาย มีประกันสุขภาพ แต่เมื่อไม่สบายนายจ้างไม่พาไปหาหมอก็ไปไม่ได้ ดังนั้นปัจจัยสำคัญจึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างด้วย

“ผมได้นั่งคุยกับแรงงานถูกกฎหมายในภาคเกษตร ระหว่างที่นั่งคุย ผมได้กลิ่นสารเคมีจากปากของเขา ยังถามว่าทำไมไม่ไปโรงพยาบาล คำตอบที่ได้รับคือ นายจ้างไม่ยอมพาไป จะลาหยุดก็ไม่ได้ เพราะจะถูกหักค่าแรง ทั้งๆ ที่มีประกันสุขภาพ แต่ไม่มีคนพาไป ในทางกลับกัน คนงานที่ผิดกฎหมายกลับมีคนในท้องที่หรือนายจ้างพาไปโรงพยาบาล มันกลายเป็นว่าความอยู่รอดของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างเป็นหลัก ไม่ได้ขึ้นกับสถานะทางกฎหมายแต่อย่างใด

“การมีขึ้นของแรงงานข้ามชาติผมว่ามันเป็นเรื่องธรรมชาติในโลกทุนนิยม ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ คนที่อยู่ในชนชั้นระดับรากหญ้าย่อมมองหาโอกาสที่จะพาตัวเองไปเติมเต็ม มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ต้องพึ่งพาตัวเอง และพบว่าในเกาหลียังมีความต้องการแรงงานค่อนข้างสูง ซึ่งแรงงานที่ผิดกฎหมายไม่ได้มีเพียงคนไทย แต่ยังมีชนชาติอื่น ซึ่งที่มีมากเป็นอันดับ 1 คือ จีน ตามด้วยเวียดนามและไทยในจำนวนไล่เลี่ยกัน ซึ่งคาดว่าเกาหลีน่าจะมีแรงงานผิดกฎหมายประมาณ 2 ล้านคน

“ผมมองว่าการอพยพโยกย้ายแรงงานอย่างผิดกฎหมายเช่นนั้นมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น เพราะมันไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศ กลับเป็นว่าคนที่ไปทำงานต่างประเทศที่ส่งเงินกลับมา และเงินเหล่านี้สุดท้ายจะเข้าทุนนิยมแบบในไทยแบบเดิม ไม่ได้แก้ปัญหาในเชิงโครงสร้าง แต่เป็นการแก้ปัญหาในปัจเจกบุคคล” ดนย์บอก

ต่างด้าวก็มีหัวใจ เสียงสะท้อนจากเงามืด

จาก “ผีน้อย” ในเกาหลีผ่านปากคำเจ้าของงานวิจัย มารู้จักกับอดีตแรงงานต่างด้าวในไทย

“ผีในเมือง” ผลงาน ศรชัย พงษ์ษา จาก เฟซบุ๊ค BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

ศรชัย พงษ์ษา ศิลปินไทยเชื้อสายมอญ ปัจจุบันเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินจัดวาง ประสบความสำเร็จในระดับสากล เจ้าของนิทรรศการ Montopia ที่กรุงปารีส ล่าสุดเป็นหนึ่ง 35 ศิลปินที่เข้าร่วมสร้างงานศิลปะในงานเทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอกอาร์ต เบียนนาเล่ 2018

“ผีในเมือง” (Alien Capital) คือชื่อผลงานของเขาที่ตั้งอยู่ด้านหน้าทางเข้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร สะท้อนชีวิตของแรงงานพลัดถิ่นในไทย ถ่ายทอดเสี้ยวชีวิตของเขาที่ทุกวันนี้มันยังคงเป็นปมเขื่องติดอยู่ในใจ พูดถึงเมื่อใดภาพอดีตที่ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมยังแจ่มชัดและสร้างความรวดร้าวอยู่มิรู้หาย

“เคยมีนักข่าวถามว่างานชิ้นนี้ตั้งใจชี้ถึงความไม่เท่าเทียมของแรงงานข้ามชาติในกรุงเทพฯหรือเปล่า ความจริงเป็นการนำเสนอความจริงที่พูดถึงสังคมของแรงงานในประเทศไทย เพราะว่าเราคลุกคลีและเติบโตจากแรงงานต่างด้าวมาตั้งแต่เด็ก โฟกัสไปที่แรงงานเด็กที่ไม่มีทางเลือกแล้วต้องพาตัวเองไปอยู่ในสังคมแรงงานก่อนวัยอันควร สอดคล้องกับบริบทที่กรุงเทพฯ เป็นที่ที่มีการหลั่งไหลของแรงงานมากที่สุด จึงจงใจที่จะพูดถึงบุคคลที่อยู่เบื้องหลังรากฐานความเจริญของบ้านเรา”

ศรชัยเกิดที่ไทรโยคน้อย จ.กาญจนบุรี ในหมู่บ้านมอญ โดยมีหมอตำแยเป็นผู้ทำคลอด ทั้งพ่อและแม่ล้วนเป็นมอญอพยพ เขาจึงไม่มีบัตรประชาชน ไม่มีเอกสารเพื่อขอสัญชาติไทย ต้องอยู่ในสถานะคนต่างด้าว แม้จะได้เรียนหนังสือแต่ก็เป็นโรงเรียนสำหรับเด็กต่างด้าว มีสภาพเป็นห้องแถวคนงานที่ จ.สมุทรสงคราม

“มีอยู่ครั้งหนึ่งตอนที่ผมยังเป็นเด็กมัธยม มีตำรวจตระเวนชายแดนมาอบรมเรื่องยาเสพติด และถามหาว่าใครไม่ใช่คนไทย เมื่อผมแสดงตัว เขาจับที่คอและบอกว่าเป็นเพราะบรรพบุรุษของผมที่เอายาบ้าเข้ามาในประเทศไทย สิ่งนี้เป็นปมที่อยู่ในใจผมมาโดยตลอด ด้วยความรู้สึกว่าเด็กทุกคนควรได้รับการปฏิบัติที่เท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม ตั้งแต่นั้นมาทุกคนในโรงเรียนจะล้อว่าเราเป็นเด็กพม่า สกปรก เหล่านี้เป็นพลังที่ผลักดันให้เราขึ้นมาจนถึงจุดนี้

สิ่งของที่จัดวางสื่อถึงความไร้ตัวตน ถูกกดขี่ของแรงงานต่างด้าว จากเฟซบุ๊ก BACC หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

“ผมอยู่กับความคิดนี้มา 20 ปี จนกระทั่งได้เข้าปฏิญานตนว่าเป็นคนไทย ตั้งแต่นั้นชีวิตก็เปลี่ยนไปเลย”

อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้เขาจะสามารถก้าวข้ามมาแล้ว แต่ก็ยังเหลือพี่สาวที่ยังต้องจ่ายเงินให้กับนายหน้าปีละ 2,000-5,000 บาท โดยเชื่อว่าจ่ายครบ 10 ปีจะได้สัญชาติไทย

“เราเคยอยู่ในวงจรนั้นและอยากให้หลุดออกมาได้ จึงใช้ศิลปะเป็นสื่อที่พูดถึงอีกชนชั้นที่ไม่เคยถูกพูดถึงเลย”

ศรชัยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นว่าไม่ว่าใครก็ตามถ้าได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม สามารถสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับตนเอง และก้าวไปเป็นหนึ่งในผู้ผลักดันเศรษฐกิจและสังคมของประเทศนั้นๆ ได้เช่นกัน แม้ว่าเขาจะเป็นอดีตแรงงานพลัดถิ่น

ชนชั้นแรงงาน คือแกนกลางสังคมโลก

เมื่อพูดถึงแรงงานอพยพในไทย เรามักเห็นภาพของแรงงานพม่า ตามมาด้วยความอคติทั้งหลาย แต่ถ้ามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ภาพของจับกังชาวจีน ซึ่งปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผู้ผลักดันเศรษฐกิจทุนนิยมของเมืองไทย

อ.แล ดิลกวิทยารัตน์ และศรชัย พงษ์ษา

แล ดิลกวิทยารัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ย้อนถึงแรงงานไทยเมื่อครั้งที่ “จับกัง” เป็นคำที่ใช้เรียก “คนจีน” ยุคเสื่อผืนหมอนใบว่า

สิ่งที่เราเรียกว่าอารยธรรมก็คือการดัดแปลงธรรมชาติให้สอดรับกับความสะดวกสบาย คือ ถางป่าเป็นเมือง ถามว่าใครเป็นคนทำถ้าไม่ใช่ผู้ใช้แรงงาน คนที่ถากถางป่าเป็นเมืองก็คือ ชนชั้นแรงงาน คือทาส คือไพร่

สังคมไทยนอกจากคนเหล่านี้ที่สำคัญที่สุดคือ เราใช้แรงงานอพยพ เราเปิดประเทศเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เราเริ่มส่งออกข้าว ไม้สัก ดีบุก ฯลฯ เราต้องการกรรมกร แต่เราไม่มีกรรมกร เพราะทั้งไพร่และทาสติดอยู่ภายใต้ระบบบังคับที่เรียกว่าระบบศักดินา ดังนั้นสิ่งที่เราได้ เราได้แรงงานอพยพ โดยหลักแล้วจากเมืองจีน ผมคิดว่า 99% ของผู้ประกอบการหรือนายทุนไทยไม่ใช่คนอื่น กรรมกรอพยพจากที่อื่นทั้งสิ้น คือกลุ่มคนที่สร้างเศรษฐกิจเงินตราในเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้า พ่อค้าส่งออก นายธนาคาร ฯลฯ

วันนี้เศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้นมากลายเป็นเศรษฐกิจทุนนิยม กลายเป็นเศรษฐกิจส่งออก คนที่มีส่วนในการผลักดันที่สำคัญก็คือ คนอพยพเหล่านี้ทั้งสิ้น ถือว่าเป็นผู้ให้กำเนิดเศรษฐกิจทุนนิยมทั้งสิ้น

ถ้าถามว่าคนเหล่านี้มีส่วนในการสร้างสังคม ชาติ วัฒนธรรมอย่างไร ผมคิดว่าสังคมทุกสังคม สิ่งที่เราเรียกว่าวัฒนธรรมของชาติมันคือวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน เพลงที่เราเรียกว่าเพลงไทยแท้ๆ คือเพลงลูกทุ่ง ไม่ใช่เพลงตับเพลงเถา การแสดงก็คือยี่เก ไม่ใช่โขน บทกลอนพวกฉันท์กาพย์ทั้งหลาย จริงๆ เรานิยมกลอนสุนทรภู่ซึ่งอ่านง่าย เราไม่นิยมอ่านลิลิต ซึ่งเป็นของชนชั้นสูงทั้งสิ้น แล้วในวันนี้อะไรที่เป็นวัฒนธรรมของชาติ อะไรที่เป็นวิถีของชาติ มันก็คือวัฒนธรรมของผู้ใช้แรงงาน เพลงฉ่อย เพลงเกี่ยวข้าว อะไรต่างๆ เป็นเรื่องของชนชั้นแรงงานทั้งสิ้น และสิ่งเหล่านี้เราถือว่าเป็นมรดกของชาติ

ฉะนั้น ชนชั้นแรงงานเป็นแกนกลางของสังคมโลก เป็นแกนกลางของสังคมทุกประเทศ และเป็นแกนกลางสังคมไทย

อาจารย์แลบอกอีกว่า “คุณูปการของคนอพยพมีมาก แต่ด้วยเหตุที่เป็นคนอพยพ จึงเป็น ‘คนอื่น’ ไม่ใช่พวกเรา อย่างเรื่องการรักษาพยาบาลยังบอกว่าแรงงานต่างด้าวไปแย่งที่ในโรงพยาบาล เหล่านี้เป็นการเอาความเป็นต่างด้าวไปจับ ทั้งๆ ที่เขาจ่ายประกันสังคมเหมือนกัน”

การสร้างทัศนคติมองว่าแรงงานเป็นคนเหมือนกันจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะทุกคนมีส่วนร่วมสร้างสรรค์ในสังคมและกระจายความเป็นธรรม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image