ส่องประเทศไทยปี 2562 โอกาส-ความท้าทาย ที่มาพร้อม’เลือกตั้ง’

ก้าวสู่วันเปลี่ยนปฏิทินโลก ที่ใครก็ต่างสลัดหน้าเก่าจากปี 2561 เข้าสู่ปี 2562 พร้อมวาดหวังให้ปีใหม่นี้ จะได้พบกับความสุขสมหวังในชีวิต จะทำอะไรก็ราบรื่นสำเร็จ ให้ชีวิตมีแต่เรื่องหมูๆ สอดคล้องเข้ากับนักษัตรประจำปี

กระนั่นหลายคนก็ยังหนาวๆ ร้อนๆ เนื่องจากปีที่ผ่านมาสภาพการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมของประเทศไม่ค่อยราบรื่นสวยงามนัก

จึงไม่แปลกที่หลายคนจะวิพากษ์วิจารณ์ตลอดจนประเมินสถานการณ์ด้านต่างๆ ในปีนี้กันไว้อย่างดุเดือด โดยเฉพาะประเด็นที่จะชี้ชะตากำหนดอนาคตประเทศไปอีก 4 ปี อย่าง “การเลือกตั้ง” ที่ถูกเลื่อนออกไปอีกครั้งจากวันที่ 24 กุมภาพันธ์ เเละกำลังหาวันที่เหมาะสมใหม่

ที่ผ่านมาเเม้รัฐบาลขยับการเลือกตั้งมาเเล้วหลายครั้ง อย่างไรก็ดีการเลื่อนเลือกตั้งครั้งนี้ก็น่าจะเป็นครั้งสุดท้ายเนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า การเลือกตั้งจะต้องจัดขึ้นไม่เกิน 150 วัน นับจากวันที่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้

Advertisement

นั่นหมายความว่า การเลือกจะต้องจัดขึ้นไม่เกินวันที่ 5 พฤษภาคม 2562

แล้วส่งผลอย่างไรกับเมืองไทย? ยังมีภาพรวมด้านต่างๆ ของประเทศไทยปี 2562 จะเป็นอย่างไร?

ถัดจากนี้เป็นมุมมองจากนักนักวิชาการ ที่จะมาวิเคราห์เจาะลึกในทุกประเด็น

Advertisement

ก่อน-หลัง ‘เลือกตั้ง’ ที่ยังไม่ชัดเจน

สิ่งที่ต้องจับตาดูให้ไม่ใช่เฉพาะวันเลือกตั้งเท่านั้น เเต่ต้องมองไปถึงหลังเลือกตั้งจะส่งผลต่อประเทศไทยอย่างไรด้วย

เป็นความเห็นของ รศ.สุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์และอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่มองว่าเรื่องหลักทางการเมืองที่จะเกิดขึ้นในปี 2562 คือเรื่องการเลือกตั้ง ปีนี้ถือเป็นนิมิตหมายอันดีทางการเมือง คือนักการเมืองสามารถไปได้ทุกที่ ซึ่งเมื่อก่อนพรรคการเมืองบางพรรคไปบางจังหวัดไม่ได้ พื้นที่หลายแห่งเป็นพื้นที่สำหรับบางพรรคเท่านั้น

“แต่หนนี้ผมรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง อย่างในพื้นที่ภาคใต้มีพรรคการเมืองไปเปิดตัวหลายพรรค ไม่ได้มีแค่พรรคประชาธิปัตย์อย่างเดียวแล้ว ขณะเดียวกันพรรคประชาธิปัตย์ก็ขึ้นไปเปิดตัวที่ภาคเหนือและภาคอีสานได้อย่างราบรื่นไม่มีปัญหา”

รศ.สุขุมบอกอีกว่า สำหรับการเลือกตั้งส่วนตัวยังไม่รู้เลยว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร เเต่เเนะนำว่าอย่ามองการเมืองระบอบประชาธิปไตยเป็นเรื่องวุ่นวาย สิ่งที่เราต้องระวังไม่ให้เกิดคือความรุนแรง เเละสิ่งที่ต้องจับตาดูคือ เมื่อเลือกตั้งเสร็จแล้วจะมีความชัดเจนขึ้น หรือเป็นการเปิดหน้ากากเพิ่มขึ้น

งานนี้คงจะได้รู้กันว่า ใครเป็นใคร ใครอยู่กับใคร เเละใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี

เเต่ก่อนจะไปถึงขั้นนั้น การประกาศการเลื่อนการเลือกตั้งล่าสุด ในมุมของ รศ.สุขุม มองว่าการเลื่อนเลือกตั้งจะทำให้ความเชื่อถือเชื่อมั่นที่มีต่อรัฐบาลลดลง ทำให้การกำหนดวันเลือกตั้งใหม่จะขาดความเชื่อถือไปอีกเยอะ อีกทั้งเรายังไม่รู้ว่าจะเลื่อนไปเป็นเมื่อไหร่กันเเน่ ซึ่งอาจจะกระทบความลงตัวของพรรคการเมือง เช่นอาจจะมีการย้ายพรรคอีก เป็นต้น

“ผมว่ามันต้องมีความชัดเจนสักที วันนี้ทุกพรรคการเมืองมีความพยายามทำให้ประชาชนเข้าใจและสนใจการเมืองอย่างเต็มที่ แต่ กกต.มักจะออกข่าวที่ทำให้เกิดการชะงักงันเสมอ เช่นเรื่องการเลื่อนการเลือกตั้ง การแบ่งเขตเลือกตั้ง เรื่องบัตรเลือกตั้ง คล้ายว่า กกต.ชอบโยนหินถามทาง ซึ่งผมมีความรู้สึกว่าฝ่ายที่มีอำนาจพยายามแสดงให้เห็นตลอดเวลาว่าอำนาจอยู่ในมือเขา คือแทนที่จะทำให้มีความชัดเจนกับทุกฝ่าย กลับแสดงให้เห็นว่าฉันสามารถเลื่อนได้ สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา หรืออยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ให้คนเกิดความสับสน ทำให้คนรู้สึกว่าการเมืองเกิดการสะดุดหยุดชะงัก” รศ.สุขุมทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

เป็นประเด็นร้อนทางการเมืองที่จะทวีความเข้มข้นมากขึ้นในปีนี้

ปีทอง ‘สื่อออนไลน์’ โดดเด่นช่วงเลือกตั้ง

ขณะที่การเลือกตั้งกับสื่อสารนับเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผูกติดกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากทุกครั้งที่มีการขยับขับเคลื่อนการเลือกตั้ง จะถูกจับตามองโดยสังคมผ่านการถ่ายทอดโดยสถาบันสื่อ

รศ.พรทิพย์ สัมปัตตะวนิช อดีตคณบดีคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง สื่อจะมีความสำคัญ สำหรับภาพรวมปี 2562 นี้สื่อออนไลน์จะเป็นสื่อทางเลือกที่โดดเด่น เพราะผู้คนสามารถเสพข่าวที่ตัวเองต้องการอยากรู้ได้อย่างรวดเร็วกว่าสื่ออื่น ซึ่งปกติหากสถานการณ์ทางการเมืองแย่ อึมครึม ไม่สามารถหาความชัดเจนได้ จะทำให้คนพยายามค้นหาและเสพข่าวเยอะขึ้น เพื่อหาความจริง แต่มันก็มีความอันตรายอยู่ เนื่องจากในโลกออนไลน์มันมีข่าวลวงเยอะ ข่าวจริงก็มีเยอะ ดังนั้น ผู้รับสารต้องเลือกความน่าเชื่อถือให้ดี

“สิ่งที่อยากจะฝากไว้คือเวลาเสพข่าวต้องมีการใช้วิจารณญาณกลั่นกรองความน่าเชื่อถือที่เกิดขึ้น เเละดูว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ การที่เราอ่านแล้วเชื่อเลยแชร์เลยเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง เราควรจะตั้งคำถามกับมันก่อน และโอกาสของประชาชนมีอยู่แล้วคือการหาจากหลายแหล่งแล้วค่อยเชื่อ สำหรับคนทำสื่อเอง ต้องบอกว่าขณะนี้เป็นเรื่องของการเปลี่ยนแพลตฟอร์ม เมื่อไหร่ที่สิ่งพิมพ์ขยับขึ้นมาสู่ออนไลน์ต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ไม่สามารถเป็นภาพนิ่งอย่างเดียวได้ มันจะเกิดความเป็นมัลติมีเดียขึ้น ดังนั้น ต่อไปจะไม่มีแล้วที่จะบอกว่าแบรนด์นี้คือหนังสือพิมพ์หรือแบรนด์นี้คือทีวี บนโลกของสื่อออนไลน์”

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมสื่อในปีนี้ยังไม่ค่อยดีนัก รศ.พรทิพย์บอกว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจสื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงมาก เนื่องจากเทคโนโลยีทำให้ตัวสื่อเองและธุรกิจสื่อได้รับผลกระทบ อย่างทีวีมีจำนวนช่องที่มากเกินความต้องการ ซึ่งอนาคตอาจจะได้เห็นทีวีเหลืออยู่เพียงไม่กี่ช่องเท่านั้น แต่ก็มองว่าสื่อยังไงก็ยังคงอยู่ เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการคอนเทนต์ไม่ว่าจะเป็นเรื่องข่าวหรือความบันเทิง เพียงแต่สื่อเองต้องปรับตัวขนานใหญ่ เช่น การขยับเข้าสู่แพลตฟอร์มออนไลน์ให้มากขึ้น

รศ.พรทิพย์ประเมินอีกว่า ปีนี้น่าจะเห็นชัดขึ้นในเรื่องการบริโภคเนื้อหาผ่านทางออนไลน์ เเละเม็ดเงินที่จะไปลงในสื่อออนไลน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากตลาดออนไลน์เป็นตลาดขนาดใหญ่ ไม่เพียงคนรุ่นใหม่ขยับไปที่ออนไลน์ ยังมีกลุ่มคนที่เป็นคนสูงอายุ มีการเข้าหาโซเชียลมากขึ้น อย่างเฟซบุ๊กวันนี้มีความชัดเจนว่าคนที่เล่นเฟซบุ๊กมีคนสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังเลือกตั้ง ‘เศรษฐกิจไทย’ ยังอยู่ในขาลง

เรื่องปากท้องของประชาชน เเละภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศนับเป็นโจทย์ใหญ่ของ “รัฐบาล” ทุก “รัฐบาล”

สำหรับปีนี้หลายคนฝากความหวังไว้ว่า “การเลือกตั้ง” จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยดีขึ้น เกิดการค้าการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

เเต่ในมุมมองของ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง มองว่า เรื่องการเลือกตั้งกับทางเศรษฐกิจ จะมีผลในด้านจิตวิทยามากกว่าตัวเลข การเลือกตั้งอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกที่ดีขึ้น สำหรับคนทั่วไปและชาวต่างชาติ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อตัวเลขทางเศรษฐกิจ เนื่องจากวันนี้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกลดลง พูดง่ายๆ คือการเลือกตั้งไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องส่งออก เรื่องท่องเที่ยว

“สำหรับเรื่องการลงทุนต้องยอมรับว่านักลงทุนมองกันในระยะยาว เพราะฉะนั้นเขาไม่ได้มองว่าจะมีการเลือกตั้งหรือไม่มี แต่สิ่งที่เขาต้องการคือเสถียรภาพของนโยบาย ซึ่งเราไม่ค่อยเปลี่ยนแปลงแนวนโยบายเหมือนต่างประเทศ เนื่องจากพรรคการเมืองของเรามีลักษณะที่รวมกันเป็นพรรคยุทธวิธี พูดง่ายๆ คือเป็นพรรคที่ไม่มีอุดมการณ์ที่ถาวร เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทแต่ละช่วง เพราะฉะนั้นในกรณีนี้พูดง่ายๆ คือการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งไม่ได้เปลี่ยนแปลงแนวนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจ”

รศ.ดร.สมชายอธิบายต่อว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงมีผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ยังอยู่ในช่วงขาลง มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจลดลง รวมถึงการค้าโลกก็มีเเนวโน้มลดลงจากปีที่แล้ว

“เพราะฉะนั้นผลกระทบที่เกิดขึ้นคือภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าปีที่ผ่านมาคาดว่าจาก 4.2 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 3.5-3.6 เปอร์เซ็นต์ โดยเรื่องของการส่งออกและการท่องเที่ยวมีการขยายตัวลดลง ส่วนตัวที่พอจะขยายตัวได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาล ว่าจะกระตุ้นเรื่องของการลงทุนโดยเฉพาะการโครงๆ เช่น อีอีซี หรือไม่ ส่วนด้านการบริโภคก็ไม่ค่อยดีนัก เพราะราคาพืชผลการเกษตร เช่น ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ยังไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก สิ่งเหล่าทำให้กำลังซื้อของรากหญ้า ถูกกระทบจากหนี้ครัวเรือนที่สูงติดต่อกันมาหลายปี”

เป็นมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ที่ยืนยันว่า “การเลือกตั้ง” อาจไม่ช่วยให้ “เศรษฐกิจ” ดีขึ้น อีกทั้งเเรงกดดันที่มาจากความคาดหวังของประชาชนจะเป็นปัญหาและเป็นโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอีกด้วย

โอกาสด้านต่างประเทศ

เเม้เเนวโน้มของประเทศไทยในหลายด้านดูเหมือนค่อนข้างจะวิกฤต เเต่ด้านการต่างประเทศปี 2562 ในมุมมองของ ผศ.ดร.วิบูลพงศ์ พูนประสิทธิ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และที่ปรึกษาสมาคมอเมริกาศึกษาในประเทศไทย กลับมองว่าเป็นความท้าทายเเละเป็นโอกาสครั้งสำคัญของประเทศ

“ปีนี้เราจะเป็นเจ้าภาพอาเซียน ดังนั้น ช่วงนี้ประเทศไทยสามารถใช้ความสัมพันธ์ตรงนี้สร้างประโยชน์ให้ประเทศและภูมิภาคได้โดยตรงจากการเป็นผู้นำอาเซียน โดยอาจจะเสนอนโยบายบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์ต่ออาเซียนได้โดยตรง เช่น เรื่องความมั่นคงของภูมิภาค ซึ่งวันนี้มีเรื่องความขัดแย้งระหว่างมหาอำนาจอย่างสหรัฐกับประเทศจีนในเรื่องทะเลจีนใต้ กับสมาชิกอาเซียนบางประเทศ ซึ่งเราโชคดีที่ไม่ได้อยู่ในความขัดแย้งตรงนี้ ทำให้เราสามารถอยู่ในบทบาทผู้ไกล่เกลี่ยได้มากขึ้น”

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์บอกอีกว่า ส่วนเรื่องกรณีพิพาทระหว่างสหรัฐกับเกาหลีเหนือก็มีปัญหาที่กระทบกับเราเหมือนกัน เนื่องจากประเทศไทยอยู่ไม่ห่างจากเกาหลีเหนือมากนัก อีกทั้งเกาหลีเหนือยังมีความสัมพันธ์อันดีกับประเทศจีน ซึ่งประเทศไทยเราก็มีความจำเป็นที่จะต้องคบค้ากับจีน ขณะเดียวกันถือเป็นยุทธวิธีที่ดีของเราที่ไม่ทิ้งอเมริกา ซึ่งหากเราไม่มีอเมริกามาถ่วงดุลเราจะต่อรองกับจีนได้ค่อนข้างยาก เพราะเราเป็นประเทศเล็กเมื่อเทียบกับจีน แต่พอมาถึงจุดหนึ่งอาจจะมีการบังคับมาค่อนข้างแรงว่าไทยจะต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่งตรงนี้จะเป็นจุดที่ไทยค่อนข้างจะลำบาก ซึ่งหากอยู่ในขณะที่ไทยเป็นประธานอาเซียนเราอาจจะใช้โอกาสนี้ในการอาศัยมติในอาเซียน เช่น การโหวตว่าเราจะไปทางไหน

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากในปีนี้คือ “การเลือกตั้ง” ของประเทศไทย

ผศ.ดร.วิบูลพงศ์วิเคราะห์ว่า การเลือกตั้งไม่เป็นผล แต่ผลจากการเลือกตั้งจะเป็นผลต่อความสัมพันธ์ได้ เช่น ถ้าผลการเลือกตั้งออกมาแล้วมีการไม่ยอมรับ มีการฟ้องร้อง เกิดการจลาจล ถ้าเป็นแบบนี้แน่นอนว่าจะมีผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจอาจเเย่ลง เป็นต้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image