แดดเดียว : ได้เวลาต้อง‘ฟัง’

ผ่านปีใหม่ 2562 มาหลายวัน แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีวันเลือกตั้งเป็นของตัวเอง

เดิมทีเดียว รัฐบาลออกข่าวทำนองว่า วันที่ 2 มกราคม 2562 จะมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จากนั้น กกต.จะกำหนดวันเลือกตั้ง ฯลฯ

ในข่าวยังบอกว่า ที่จะประกาศวันที่ 2 มกราคม ก็เพื่อให้ชาวไทยได้ฉลองปีใหม่กันให้เรียบร้อย เพราะถ้าประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จะมีผลในเรื่องค่าใช้จ่ายเลือกตั้ง

รัฐบาลประกาศไว้คลุมๆ แต่เข้าใจได้ว่า ถ้ามีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้ง จะเกิดการควบคุมการเคลื่อนไหวของผู้สมัคร และพรรคการเมือง จะไปใช้จ่ายเงินทองซี้ซั้วไม่ได้ อาจกลายเป็นผลทางการเมือง ซึ่งจะต้องนำไปรวมเป็นค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งที่ กกต.จะตั้งกรอบวงเงินไว้

Advertisement

บรรดาพี่น้องประชาชนชาวไทยฟังแล้วเบาใจ ฝ่าการจราจร ขับรถออกต่างจังหวัด ไปเคาต์ดาวน์อยู่ตามยอดดอย สัมผัสทะเลหมอก ไหว้พระ 7-9 วัด อะไรที่ว่าทำแล้วเฮงแล้วรวย ก็ไปทำมาหมด

ก่อนจะเดินทางฝ่าการจราจรติดขัด กลับมากรุงเทพฯ ผ่านวันที่ 2 มกราฯยังเงียบ และเงียบ สุดท้ายผ่านมาถึงวันที่ 9-10 มกราคมแล้ว พระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก็ยังไม่ประกาศ

กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที นักข่าวทำเนียบโร่ไปถามรัฐบาลว่าจะเลือกตั้งวันไหน รัฐบาลบอกว่า คนมีหน้าที่กำหนดวันเลือกตั้งคือ กกต. ไปถาม กกต.โน่น

Advertisement

นักข่าวไม่รอช้า เฮโลไปถาม กกต.ได้รับคำตอบว่า ต้องรอให้รัฐบาลประกาศพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งก่อน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องดำเนินการก่อน กกต.ถึงจะประชุมกำหนดวันได้ ฯลฯ

กลายเป็นปรากฏการณ์ที่โบ้ยกันไปมาอย่างหน้าตาเฉย

ลักษณะอย่างนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยยุคดิจิทัล เพราะในอดีต ประเทศไทยผ่านเรื่องเหล่านี้มาอย่างโชกโชน

บรรพบุรุษของเรา เรียกอาการแบบนี้ง่ายๆ ว่า “โยน” ถ้าสมัยก่อน เขาจะเรียกเต็มๆ ว่า “โยนกลอง” อันนี้พี่รู้ พี่เรียนมาเหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ ณ ต้นเดือนมกราคม 2562 การเลือกตั้งอันสุดแสนคลาสสิกของประเทศไทย ก็เดินทางมาถึงอีกจุดหนึ่ง และเป็นจุดที่จะต้อง “ลุ้น” กันต่อไป เหมือนกับที่ได้ลุ้นอะไรต่อมิอะไรกันมา 5 ปี

เราเลื่อนเลือกตั้งกันมากี่ครั้งกันแน่ มีคนเก่งคณิตศาสตร์ และขยันค้นคว้า ยอมสละเวลาไปเก็บรายละเอียด แล้วมาป่าวประกาศว่า เลือกตั้งไทยแลนด์ของเรา เลื่อนมา 5 ครั้งแล้ว นับจาก พ.ค.2557 อันเป็นช่วงต้นของการรัฐประหาร

แต่ก็มีคนท้วงว่าจะเลื่อนมา 5 ครั้ง หรือ 4 ครั้งนั้นไม่ทราบ เพราะไม่ได้จำ แต่อย่ามารวมว่ามีการเลื่อน 24 ก.พ.2562 เพราะ 24 ก.พ. เป็นแค่วันที่ตั้งเป็นตุ๊กตาเอาไว้เท่านั้น ยังไม่มีการกำหนดเป็นทางการว่าจะเลือกตั้งในวันดังกล่าว

นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้น และจะต้องจดบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ หรือตำนาน ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษากันต่อไป

มองไปข้างหน้า แล้วจากนี้ไปอะไรจะเกิดขึ้น

เชื่อว่าจะช้า-เร็ว การเลือกตั้งต้องเกิดขึ้น เพราะประเทศไทยยังต้องกิน ต้องใช้ ต้องพัฒนาประเทศแข่งกับชาติอื่น ต้องอยู่บนโลกนี้ต่อไป ไม่ว่าจะมีแผนยุทธศาสตร์ 20 ปีหรือไม่

ดังนั้น ไม่มีหนทางเลือกอื่น มีแต่จะต้องนำตัวเองไปอยู่ในระบบเดียวกับมิตรประเทศ ซึ่งไม่ได้มีแค่จีน แต่ยังมีประเทศตะวันตกอีกจำนวนมาก เมื่ออยู่ในระบบเดียวกัน การเจรจาค้าขาย ช่วยเหลือกันระหว่างประเทศ จะทำได้อย่างราบรื่น

ไม่อย่างนั้นไม่มีใครคบ และจะมีข่าวออกมาตลอดว่า ประเทศ…..ขอสนับสนุนให้ประเทศไทยกลับสู่การเมืองปกติ ฯลฯ

เป็นแรงกดดันที่มองไม่เห็น แต่มีผลทางปฏิบัติ

กระแสข่าวลือต่างๆ ในระยะนี้ อย่างลือว่าจะไม่มีเลือกตั้ง จึงเป็นผลจากการปล่อยข่าวของกลุ่มบุคคล

มีทั้งกลุ่มคนที่ไม่อยากเลือกตั้ง เพราะไอดอลในสายตัวเอง เลือกตั้งไม่เก่ง ชาวบ้านไม่เอา เลือกกี่ทีก็ผูกปีแพ้

มีทั้งกลุ่มคนไม่อยากเลือกตั้ง แต่ชอบ “ลากตั้ง” มากกว่า เพราะตลอดเวลาของสภาแต่งตั้ง ได้เสวยสุขอย่างอิ่มหมีพีมัน ทั้งเงินเดือน เบี้ยเลี้ยง สวัสดิการต่างๆ

พร้อมกับพยายามเปิดมุขใหม่ เช่น การตั้งรัฐบาลแบบ “นอกตำรา” อย่างเช่น รัฐบาลแห่งชาติ

โดยอ้างเหตุว่าการเลือกตั้งส่อเค้าความวุ่นวาย นักการเมืองหาเสียงดุเดือดไม่สร้างสรรค์ ทุ่มทุน จนคนดีไม่กล้าเข้ามา ความขัดแย้งในสังคมเริ่มรุนแรงอีกแล้ว ฯลฯ

ทั้งหมดนี้ ฟังดูอาจรู้สึกย่ำแย่ อาจรู้สึกว่าทำไมคนไทยต้องมาทะเลาะแก่งแย่งกัน

แต่ในความเป็นจริง นี่คือการเมืองปกติ ที่ทุกคนมีสิทธิ พูด แสดงออกในสิ่งตัวเองเชื่อ ตราบที่ไม่ผิดกฎหมาย

หลังจากปิดปากเงียบกันมา 4 เกือบ 5 ปี ถึงเวลาที่ประชาชนคนไทยจะต้องพูดกันออกมาดังๆ

ไม่ใช่เพราะใครอนุญาตให้พูด แต่เป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนคนไทย

ส่วนคนที่เอาแต่พูดกรอกหูชาวบ้านฝ่ายเดียวมา 4-5 ปี ถึงเวลาต้อง “ฟัง” บ้างแล้ว

ต้องฟังอย่างจริงจัง ด้วยความมีอารมณ์ขัน และเคารพในเสียงที่จะดังอื้ออึง

ถ้าไม่ฟัง ก็จะไม่รู้ความต้องการของชาวบ้าน และจะทำให้การ “ไปต่อ” เป็นเรื่องยากมากขึ้นเรื่อยๆ

นี่ถ้ารีบฟังเมื่อ 3-4 ปีก่อน อาจไม่ยากเท่านี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image