อาศรมมิวสิค : วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช : โดย สุกรี เจริญสุข

หลังจากได้รับการทาบทามให้ช่วยคิดในช่วงเวลาปีใหม่ ผู้เขียนตั้งใจที่จะทำโครงการและหลักสูตรให้แก่ “วิทยาลัยดนตรี” มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นอย่างมาก เนื่องจากว่านครศรีธรรมราชเป็นบ้านเกิด ตลอดชีวิตของผู้เขียนได้ไปทำประโยชน์ให้พื้นที่อื่นเสียส่วนใหญ่ ไม่เคยได้สร้างประโยชน์อะไรให้แก่บ้านเกิดมากนัก เมื่อมีโอกาสก็อยากจะทำให้เต็มกำลัง
อีกเหตุผลหนึ่งที่เป็นแรงกระตุ้นให้เกิดพลังอยากทำหลักสูตรดนตรีมากก็คือ ในฐานะเป็นศิษย์เก่าของโรงเรียนฝึกหัด (วิทยาลัย) ครูนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ.2512-2513 อยากตอบแทนคุณ รำลึกถึงอาจารย์ “ยี่สุ่น คงนคร” อาจารย์สอนวิชาดนตรีในสมัยนั้น ซึ่งเป็นผู้ที่ประพันธ์เพลงสมัยนิยมไว้หลายเพลง เมื่อได้โอกาสช่วยเหลือในฐานะศิษย์เก่า บรรยากาศอำนวย สิ่งแวดล้อมเกื้อหนุน ที่สำคัญก็คือ มีเวลาทุ่มเท สามารถจะทำในสิ่งที่มีความถนัดและมีความเชี่ยวชาญ โอกาสจึงก่อประโยชน์ได้เต็มที่

อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฆนัท ธาตุทอง มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้เชื้อเชิญให้ช่วยพัฒนาหลักสูตรดนตรีและโครงการจัดตั้งวิทยาลัยดนตรีขึ้น เป้าหมายคือการสร้างมิติใหม่ของความเปลี่ยนแปลงทั้งด้านโครงสร้างและด้านวิชาการ ซึ่งเท่ากับช่วยพัฒนาการศึกษาดนตรีในพื้นที่ภาคใต้ไปในเวลาเดียวกันด้วย การสร้างความเปลี่ยนแปลงการศึกษาเพื่อสถาบันในภาคใต้นั้น เป็นเรื่องที่ยาก เพราะในพื้นที่ภาคใต้ไม่ได้หล่อเลี้ยงสังคมด้วยเสียงดนตรี แต่จะมีความเหลื่อมล้ำ ความขัดแย้ง ความแตกแยก และมีความอิจฉาชิงชังเป็นพื้นฐานที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติของคนใต้

ทัศนคติของคนใต้นั้น ตัวอย่าง “ไม่รบกับนายไม่หายจน” นายก็คือ พวกข้าราชการ เป็นภาพลักษณ์ที่ติดลบกับชาวบ้าน การตีหัวคนอื่นได้ ถือว่า “เจ๋ง” ความสามารถในการลอดรั้ว (มุดรั้ว) ไปดูหนัง ดูโนราได้ ก็ถือว่าสุดยอด เป็นต้น เรื่องทัศนคติของคนใต้ไม่ได้รับการแก้ไขโดยสถาบันการศึกษาเลย ความยากจนลงของทรัพยากร ความเห็นแก่ตัวของคนในท้องถิ่น สืบเนื่องมาจากทัศนคติที่ติดลบทั้งสิ้น ทำให้คนใต้เห็นแก่ตัวและไม่มีเสน่ห์ ซึ่งคนใต้และสถาบันการศึกษาของภาคใต้ต้องเปลี่ยนทัศนคติเพื่อมองโลกในแง่ดี มองโลกในมิติของการคิดสร้างสรรค์

การศึกษาภาคใต้ “น่าสงสาร” เพราะคุณภาพการศึกษาต่ำ โดยที่คนใต้เองก็ไม่รู้ตัว มีแต่นักวิชาการเพื่อตัวเอง แต่ไม่ทำอะไรให้กับสังคม การไม่ยอมรับกัน การอิจฉาริษยากัน การแย่งชิงกันทั้งระบบการศึกษาและระบบราชการ ทำให้การพัฒนาภาคใต้ยากยิ่งขึ้น

Advertisement

อีกประการหนึ่งที่ทำให้ภาคใต้ตกต่ำก็คือ “นักการเมือง” นักการเมืองภาคใต้มาจากคน 2 อาชีพคือ ครูกับทนาย ซึ่งเป็น “นักพูด” ทั้ง 2 อาชีพ พูดมาก พูดจนชนะ พูดจนไม่ฟังใคร แต่ความจริงคนเหล่านี้ทำอะไรไม่ได้เลย ไม่มีฝีมือ เพราะใช้แต่ฝีปากทำงาน หากภาคใต้ได้นักการเมืองที่มาจากอาชีพที่ทำงาน ก็เชื่อได้ว่าภาคใต้จะเจริญมากกว่านี้

กลับมาที่วิทยาลัยดนตรี เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2562 ได้นำเสนอแก่สภามหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช และได้รับอนุมัติให้จัดตั้งวิทยาลัยดนตรีขึ้น เนื่องจากการปฏิวัติเทคโนโลยีครั้งสำคัญในปัจจุบัน ทำให้การเข้าถึงแหล่งความรู้ของคนทำได้ง่ายขึ้น เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไปอย่างสิ้นเชิง ในการค้นหาความรู้ การพัฒนาความสามารถ และการมองเห็นศักยภาพความเป็นเลิศของมนุษย์ทำได้ง่าย มหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นแหล่งของความรู้อีกต่อไป หมดอายุในการใช้หนังสือ หมดเวลาของการค้นหาตำราในห้องสมุด เพราะความรู้ได้เข้าไปอยู่ในเครื่องมือสื่อสาร คอมพิวเตอร์ ชีวิตมนุษย์ไปอยู่ในมือถือหมดแล้ว

เมื่อวิถีชีวิตของคนเปลี่ยนไป ความจำเป็นและกระบวนการเรียนรู้ก็เปลี่ยนไปด้วย หลายอาชีพไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป ขณะเดียวกันก็มีอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่ ทำให้มหาวิทยาลัยแบบเก่าเผชิญกับความตายที่อยู่ใกล้ตัวมาก มหาวิทยาลัยเผชิญกับความล้าหลัง เผชิญกับความสิ้นไร้ไม้ตอก เพราะไม่มีนักศึกษาที่จะเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยอีกต่อไป เพราะอาจารย์แบบเก่า เครื่องมือเก่า หนังสือเก่า ห้องเรียนเก่า ได้กลายเป็นยาสามัญประจำบ้านที่หมดอายุไปแล้ว

มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่มหาวิทยาลัยจะต้องปรับเปลี่ยนบทบาทโดยไม่มีทางเลือก แม้ว่าจะเป็นหลักสูตรที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต แต่ปัจจุบันไม่มีความจำเป็นและไม่มีความต้องการอีกต่อไป ในขณะเดียวกัน หลักสูตรที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ของ “มหาวิทยาลัยราชภัฏ” ไม่มีคนสมัครเข้ามาเรียน อาทิ ศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นองค์ความรู้หลักของมหาวิทยาลัยราชภัฏทั่วประเทศ

โครงการจัดตั้งวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นโครงการใหม่ เพื่อจะปรับโครงสร้างจากคณะวิชาให้เป็น “วิทยาลัยดนตรี” เพื่อรับผิดชอบจัดการศึกษา “ดนตรีโดยเฉพาะ” โดยอาศัยต้นแบบจากสถาบันดนตรีในยุโรปเป็นฐาน (Conservatory of Music) ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนโครงสร้างของหลักสูตร เป็นการเปลี่ยนวิธีการเรียน เปลี่ยนคนเข้าเรียน เปลี่ยนอาจารย์ผู้สอน เปลี่ยนเป้าหมายของการเรียน จัดการไปในเวลาเดียวกัน เปลี่ยนจากการสร้างคนไปหางาน เป็นมิติของการสร้างคนเพื่อออกไปสร้างงานในสังคมแทน คนที่เข้าเรียนจึงไม่ต้องกลัวที่จะตกงาน

ในการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการอุดมศึกษา แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ เปลี่ยนแปลงเพื่อหาทางออก เปลี่ยนแปลงเพื่อความอยู่รอด แต่ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อหาจุดลงตัวของการอุดมศึกษาของไทย ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เป็นเพียงการเริ่มต้นการค้นหาทิศทางเท่านั้น หากประสบความสำเร็จขึ้น ก็จะเป็นทางออกทางเลือกใหม่ให้แก่วิชาชีพอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยไทยต่อไป

วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จะเปิดสอนวิชาเอกดนตรี 3 สาขาด้วยกัน คือ ดนตรีสมัยนิยม ธุรกิจดนตรี และเทคโนโลยีดนตรี เด็กที่มีความสามารถทางดนตรีในภาคใต้ก็สามารถที่จะไปเรียนที่วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ได้โดยไม่ต้องขึ้นไปเรียนที่กรุงเทพฯ อีกต่อไป ความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสถาบันการศึกษาให้แข็งแรงนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับภาคใต้

มีความเชื่อและมีความหวังว่า วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช จะเป็นสถาบันที่เป็นแหล่งผลิตนักดนตรีที่มีฝีมือขึ้นในภาคใต้ ซึ่งจะเป็นสถาบันที่ช่วยเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนใต้ไปในทางที่สร้างสรรค์ เพราะความคิดสร้างสรรค์เป็นโอกาสทองของภาคใต้ เพื่อจะใช้การศึกษาเปลี่ยนแปลงสังคมและชุมชนภาคใต้ต่อไป อย่าลืมว่าที่ผ่านมา ภาคใต้อาศัยกินบุญเก่า วันนี้บุญเก่าหมดแล้ว จำเป็นที่จะต้องสร้างบุญขึ้นมาใหม่ที่เป็นศักยภาพความเป็นคนใต้ เพื่อจะเปลี่ยนให้คนใต้มีรสนิยม มีน้ำใจ และคนใต้ก็จะเป็นคนที่มีเสน่ห์ ไม่เห็นแก่ตัว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image