สุณัย ผาสุข เส้นทางหนีร้อน-พึ่งเย็น ‘นักบอลบาห์เรน’ถึง’สาวซาอุ’

“ฉันชื่อ ราฮาฟ โมฮัมเหม็ด มุตลัค อัลคูนัน และนี่คือรูปของฉัน ฉันกลัว ครอบครัวจะฆ่าฉัน” เมสเสจข้อความช่วยเหลือจากหญิงสาวชาวซาอุดีอาระเบีย วัย 18 ปี ส่งถึงผู้คนทั่วโลกบนทวิตเตอร์

เรื่องราวการกดขี่ทำร้ายร่างกายและจิตใจของเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง จากครอบครัวของเธอเอง ถ่ายทอดเป็นข้อความและคลิปวิดีโอที่สร้างความสนใจจากผู้คนทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย

ยิ่งเมื่อราฮาฟพยายามหลบหนีจากครอบครัวของเธอเพื่อลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยควบคุมตัวไว้ เมื่อวันที่ 6 มกราคม และปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศ พร้อมกันนั้นยังมีท่าทีที่จะส่งตัวราฮาฟกลับประเทศซาอุฯ เนื่องจากไม่มีหนังสือเดินทางและวีซ่าเข้าประเทศ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศไทยถูกจับตามองและตั้งคำถาม

Advertisement

กระทั่งสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ เข้ามาร่วมคลี่คลายสถานการณ์และให้สถานะผู้ลี้ภัยกับราฮาฟในที่สุด

กรณีของ “ราฮาฟ” ได้กลายเป็นหนึ่งในเรื่องราวการต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของตัวเอง แต่ที่เหนือกว่านั้นเธอยังกลายเป็นความหวังให้กับผู้ลี้ภัยและผู้ร้องขอความคุ้มครองทั่วโลก

ในความเห็นของ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ มองว่า เหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นกรณีศึกษาและสร้างบรรทัดฐานการให้กับประเทศไทย

Advertisement

พร้อมวิเคราะห์เจาะลึกในทุกประเด็นจากราฮาฟ ถึงผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

มาตรการและหลักสากลในเรื่องนี้เป็นอย่างไร?

โดยหลักการสากลถ้าเขาหลบหนีอันตราย โดยเฉพาะอันตรายต่อชีวิต ไม่ว่าจะเป็นด้วยเหตุผลเรื่องความเชื่อ อุดมการณ์ ศาสนา เชื้อชาติ หรือการเมือง เหล่านี้กระบวนการควรจะมีการตรวจสอบคำขอการคุ้มครองหรือคำขอลี้ภัยของบุคคลนั้น ถ้าเป็นประเทศที่มีกฎหมายภายในว่าด้วยการให้ลี้ภัยก็จะใช้กลไกตามกฎหมายของประเทศนั้นๆ พิจารณา แต่ถ้าเป็นประเทศที่ไม่มีกลไกหรือกฎหมายว่าด้วยการให้ลี้ภัยภายในประเทศอย่างประเทศไทย ก็ควรให้กลไกระหว่างประเทศ คือยูเอ็นเอชซีอาร์เข้ามาทำหน้าที่คัดกรอง พิจารณาประเมินคำร้องขอการคุ้มครองของบุคคลดังกล่าว

กรณีของราฮาฟ ทันทีที่เขาถูกสกัดกั้นไม่ให้เดินทางต่อเขาพูดอย่างชัดเจนหลายครั้ง และเรื่องเหล่านี้ได้มีการบันทึกเป็นวิดีโอคลิปไว้ว่าเขาต้องการขอลี้ภัย ก็เท่ากับว่าเจ้าตัวได้แสดงเจตจำนงว่าต้องการขอความคุ้มครองแล้ว แต่ในตอนต้นเราไม่ฟังเขา ซึ่งท่าทีของไทยก็ผ่อนคลายลงหลังเรื่องอยู่ในความสนใจของคนทั่วโลก ขณะเดียวกันมีองค์กรสิทธิ เช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ ตลอดจนรัฐบาลประเทศต่างๆ และยูเอ็น เข้ามาติดตามและบอกว่าสิ่งที่รัฐบาลไทยทำในช่วงแรกมันไม่สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศ เพราะราฮาฟเขาขอความคุ้มครอง ทำไมไม่มีการพิจารณา กลับจะรวบรัดส่งตัวกลับไปให้ครอบครัว ทั้งที่เขาพูดชัดเจนและเป็นที่รับรู้กันในทางสากลว่า การกดขี่ผู้หญิงในซาอุฯเองก็รุนแรงมาก และกรณีผู้หญิงจากครอบครัวชาวซาอุฯที่ถูกกดขี่แล้วหลบหนี ถ้าไม่สำเร็จกลับไปมีโอกาสเป็นอันตรายสูง

 

คิดว่าเพราะอะไรกรณีราฮาฟได้รับความสนใจจากคนทั่วโลก?

กรณีราฮาฟที่น่าสนใจคือ เธอสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองเป็นหลัก มันเป็นเรื่องราวที่มีความเป็นส่วนตัว แต่ทุกคนสามารถเชื่อมโยงและรู้สึกถึงเด็กผู้หญิงอายุ 18 ที่หนีมาตายเอาดาบหน้า เพราะในซาอุดีอาระเบียมีกฎหมายไม่ให้ผู้หญิงไปไหนมาไหนโดยที่ไม่มีญาติผู้ชายประกบไปด้วย ราฮาฟเลยอาศัยช่วงที่ครอบครัวไปพักผ่อนที่คูเวตปลีกตัวออกมาขึ้นเครื่องบินเพื่อลี้ภัยไปประเทศออสเตรเลีย ซึ่งมีเพื่อนของเธอเป็นผู้หญิงจากซาอุฯ ที่มีปัญหาคล้ายกันและลี้ภัยไปก่อนหน้ารอรับอยู่

แต่พอถูกสกัดจับในประเทศไทย ต้องบอกว่าเธอมีความรู้ในเรื่องกติการะหว่างประเทศพอสมควรว่าต้องทำอย่างไร ดังนั้น นาทีแรกที่ราฮาฟถูกจับ เธอพูดออกมาเสียงดังและมีการอัดคลิปไว้ว่า ขอความคุ้มครองจากการลี้ภัย แล้วบอกว่าถ้าถูกส่งกลับไปที่ครอบครัวจะเป็นอันตรายถึงตาย นั่นเป็นการแสดงเจตจำนงตามกติการะหว่างประเทศว่าขอความคุ้มครอง แล้วหลังจากถูกพาไปที่โรงแรมเขาก็สื่อสารโดยตลอด ผ่านทวิตเตอร์ถึงคนทั่วโลก นี่คือการใช้โลกทั้งโลกเป็นที่พึ่ง ซึ่งการที่เขาขอความช่วยเหลือจากคนทั้งโลก แล้วมันก็มาถึงฮิวแมนไรท์วอทช์ ทำให้สามารถสื่อสารกับเขาได้ผ่านทวิตเตอร์ จนเราได้รับทราบข้อมูลว่ากรณีนี้เป็นกรณีที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน ขณะเดียวกันคนทั่วโลกก็ติดตามเรื่องราวของเธอนาทีต่อนาทีเหมือนเป็นเรียลิตี้ แล้วถ้าดูจำนวนผู้ติดตามก็จะเห็นว่ามันเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะทุกคนเอาใจช่วยไปกับเธอด้วย ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรื่องของเธอมีพลังทั้งกับนานาชาติและในประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย กรณีราฮาฟไม่เหมือนการขอลี้ภัยหลายครั้งก่อนหน้า?

ที่ผ่านมามันเป็นการสื่อสารเรื่องราวผ่านชั้นที่ 2 และชั้นที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารผ่านสื่อ หรือการสื่อสารผ่านมุมมองของรัฐ ซึ่งเป็นคนที่รับหน้าผู้ลี้ภัยที่เข้ามา แต่ครั้งนี้เป็นการสื่อสารทางตรง คือได้รับฟังจากตัวของราฮาฟ ทั้งทวิตเตอร์และคลิปซึ่งมีพลังมาก ทำให้เกิดความรู้สึกเอาใจช่วยเหมือนเป็นคนในครอบครัว ที่ทุกคนช่วยลุ้นและสนับสนุน ให้สามารถฝ่าวิกฤตไปได้ ตรงนี้ทำให้กรณีของราฮาฟต่างจากกรณีอื่นในอดีตอย่างที่เราไม่เคยเห็นกับผู้ลี้ภัยคนอื่นเลย

จะเป็นกรณีตัวอย่างสำหรับไทยได้หรือไม่?

กรณีราฮาฟเหมือนเป็นจุดเปลี่ยน จากก่อนหน้านี้รัฐบาล คสช.ถูกวิพากษ์วิจารณ์มาตลอดว่าร่วมมือกับประเทศที่กดขี่ข่มเหงประชาชน ไล่ล่าบุคคลที่เป็นผู้ลี้ภัยส่งกลับไปเผชิญอันตราย ไม่ว่าจะเป็นกรณีส่งชาว

อุยกูร์กลับจีน ส่งฝ่ายค้านกัมพูชากลับประเทศ หรือกรณีฮาคีม อัล อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรนถูกกักตัวเพื่อส่งกลับบาห์เรนเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งไทยถูกตำหนิอย่างมาก จนมาถึงกรณีของราฮาฟ เหมือนจะเป็นรูปแบบที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำอีก

ดังนั้น จากกรณีของราฮาฟก็หวังว่าพอมีลักษณะที่ผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาการลี้ภัยถูกไล่ล่าจับกุมตัว ไทยจะพิจารณาทั้งสองส่วนคือ ส่วนที่เป็นกฎหมายและต้องถ่วงดุลด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองผู้แสวงหาการลี้ภัย คือไม่ส่งเขาไปตาย ซึ่งประเทศไทยมีพันธะทั้งในทางจารีตประเพณีและตามอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการซ้อมทรมานเป็นหลักค้ำประกันอยู่ ไทยต้องพิจารณาทั้ง 2 ด้าน

นอกจากนี้กรณีราฮาฟจะเป็นบทเรียนให้ทางการไทยได้เรียนรู้ว่า เราเป็นประเทศที่ไม่มีกฎหมายและกลไกภายในประเทศ เพราะฉะนั้นเราไม่มีกลไกที่จะประเมินว่าสิ่งที่เขาขอลี้ภัย มันมีเหตุผลสมควรได้รับการคุ้มครองหรือไม่ ดังนั้น ไทยต้องร่วมมือกับกลไกระหว่างประเทศ ซึ่ง พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ผบช.สตม. ได้ให้สัมภาษณ์หลายครั้งในประเด็นนี้ว่า นับจากนี้ ตม.และเจ้าหน้าที่ไทยหน่วยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องคงต้องร่วมมือกับยูเอ็นเอชซีอาร์มากขึ้น อันนี้ก็ดูจะเป็นสัญญาณบวก เพราะที่ผ่านมากว่ายูเอ็นเอสซีอาร์หรือองค์กรสิทธิจะรู้เรื่องบางทีถูกส่งตัวไปแล้ว แต่นับจากนี้ต่อไปเราหวังว่าทันทีที่ถูกคุมตัวแล้วขอการคุ้มครอง จะมีการติดต่อยูเอ็นเอชซีอาร์ หรือองค์กรสิทธิทันที

ทั้งหมดนี้หวังว่าจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในการปฏิบัติต่อผู้แสวงหาการลี้ภัย ไม่ใช่เป็นอย่างที่ผ่านมาในอดีตที่รวบรัดส่งตัวกลับ โดยที่ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเขาจะเป็นอันตรายหรือไม่ ซึ่งพฤติกรรมที่ผ่านมาไทยถูกประณามและทำให้ภาพลักษณ์ของไทยเสียหายมาก

กรณีราฮาฟทำให้ภาพลักษณ์ไทยด้านสิทธิมนุษยชนและเรื่องผู้ลี้ภัยดีขึ้น?

พูดได้ครับ กรณีของผู้ลี้ภัยก็พูดได้ว่าเป็นบรรทัดฐานใหม่ แต่จะบอกว่าเป็นพัฒนาการในทางที่ดีในระยะยาวหรือไม่ก็ต้องดูว่าเคสต่อๆ ไป มีทางออกที่สวยจบแบบราฮาฟหรือไม่ ซึ่งกรณีที่จะพิสูจน์กันเฉพาะหน้าเลยก็คือ กรณีของฮาคีม ที่ตอนนี้ถูกขังในเรือนจำรอขึ้นศาลเพื่อจะมีคำสั่งเนรเทศ

เราก็หวังว่าเมื่อไทยปรับพฤติกรรมหาทางออกที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกรณีของราฮาฟได้ ก็จะนำทางออกที่มีมนุษยธรรมนี้ไปใช้กับกรณีของฮาคีม และกรณีอื่นต่อไป ซึ่งหากเราเห็นการเปลี่ยนแปลงท่าทีต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ก็คงพูดได้ว่านี่คือโฉมหน้าใหม่ของไทยในเรื่องนโยบายต่อผู้แสวงหาการลี้ภัย

ทำอย่างไรถึงจะเห็นผลในระยะยาวได้?

ความจริงไทยดูแลผู้ลี้ภัยมาหลายทศวรรษ แต่เป็นการดูแลด้วยจุดยืนด้านมนุษยธรรมของรัฐบาล ดังนั้น หลักที่จะรับประกันในระยะยาวได้คือ ไทยต้องเข้าเป็นภาคีของอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เพราะเมื่อเป็นภาคีแล้วจะมีพันธะว่าต้องทำกฎหมายภายในประเทศที่สอดรับกับมาตรฐานของอนุสัญญา เพราะฉะนั้นก็จะเป็นหลักประกันระยะยาวได้ ไม่อย่างนั้นเราก็จะเจอปัญหาว่าถ้าได้รัฐบาลดี หรือได้เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติที่ดีก็จะมีนโยบายที่ดี แต่ถ้าเป็นรัฐบาลที่ไม่แคร์ เจ้าหน้าที่ที่ไม่ดีก็จะได้การปฏิบัติกับผู้ลี้ภัยที่ไม่ดีด้วย

ซึ่งในเชิงนโยบายผมว่าไม่ยาก แต่จุดที่ยากคือการทำความเข้าใจกับสังคมไทย เพราะที่ผ่านมาการรับรู้ของสังคมไทยมองไปในเชิงที่ว่าผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาการลี้ภัย ถ้าไม่ใช่เป็นภาระก็หนักไปกว่านั้นคือเป็นภัยคุกคามความมั่นคง เช่น โรฮีนจา เป็นต้น

จุดนี้จึงต้องทำความเข้าใจว่าการดูแลผู้ลี้ภัยเป็นภาระร่วมกันของนานาชาติ ไม่มีใครเขาปล่อยให้ประเทศใดประเทศหนึ่งรับภาระไปตามลำพัง ถ้าพูดกันตามความจริงการดูแลผู้ลี้ภัยเป็นการดูแลที่ประเทศไทยให้สถานที่ แต่งบประมาณและความช่วยเหลือต่างๆ มาจากนานาชาติทั้งสิ้น ไม่ได้มาจากเงินภาษีของคนไทยเลย และที่สำคัญคือการตั้งอยู่ของค่ายผู้ลี้ภัยยังนำไปสู่การจ้างงานในบริเวณใกล้เคียง การซื้อเสบียงอาหารจากพื้นที่ใกล้เคียงยังสร้างงานสร้างรายได้ด้วย เพียงแต่ข้อเท็จจริงตรงนี้ถูกบิดเบือนมาเป็นระยะเวลานานว่าผู้ลี้ภัยกินเงินภาษีของประเทศไทย ซึ่งความจริงแล้วไม่ใช่ และที่สำคัญคือเขาไม่ได้อยู่ถาวร เพราะผู้ลี้ภัยเขามีเป้าหมายที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศที่ 3 ดังนั้นเขาเข้ามาอยู่จนกว่าจะได้รับการอนุมัติไปประเทศที่ 3 หรือเมื่อสถานการณ์ในบ้านเขาดีขึ้นเขาก็เดินทางกลับ

ดังนั้น ถ้าเราทำความเข้าใจกับสังคมอย่างตรงไปตรงมาก็อาจจะทำให้ทัศนคติของสังคมเปลี่ยนไป อย่างกรณีราฮาฟ ก็หวังว่าจะช่วยทำให้สังคมมีความเข้าใจผู้ลี้ภัยมากขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาความเห็นอกเห็นใจผู้ลี้ภัยอื่นๆ ในอนาคต แต่การจะทำให้ทัศนคติในสังคมเปลี่ยน กระบวนการนี้ก็คงไม่ได้เกิดในช่วงข้ามคืน ต้องใช้เวลา แต่หวังว่านับแต่นี้ไปสังคมไทยจะมีความสนใจอย่างต่อเนื่องจากกรณีราฮาฟ รวมถึงการนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อทำความเข้าใจกับ

ผู้ลี้ภัย ซึ่งรอบนี้น่าสนใจมาก ที่สื่ออนุรักษนิยมอย่างมากก็เห็นอกเห็นใจราฮาฟ ทำให้รู้สึกว่านี่คือนิมิตหมายใหม่ที่ทำให้ใจชื้น ก็หวังว่าทัศนคติอย่างนี้จะยั่งยืนต่อไป

แต่ด้วยลักษณะของสังคมไทย กระแสต่างๆ มักผ่านไปอย่างรวดเร็ว กรณีนี้จะเป็นแค่ไฟไหม้ฟางหรือไม่?

ที่พูดมาทั้งหมดคือมีความหวังไม่ให้เป็นเพียงไฟไหม้ฟาง ต้องสานต่อในการปรับพฤติกรรมและทัศนคติเรื่องความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันที่ตกทุกข์ได้ยาก และยิ่งสังคมไทย เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สังคมไทยเป็นสังคมที่ถึงขนาดมีคำพูดที่ว่า ช่วยคนหนีร้อนมาพึ่งเย็นมาเป็นหลายร้อยปี แสดงว่าสังคมไทยไม่ได้แปลกแยกจากการช่วยเหลือคนตกทุกข์ได้ยาก เราก็ต้องทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีมาตรฐานต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องที่เป็นกรณีเลือกปฏิบัติ เช่น คนกลุ่มนี้เห็นอกเห็นใจ แต่กลุ่มนี้ช่างมันไล่ไปเลย ถ้าเราเห็นอกเห็นใจก็ต้องทำกับทุกฝ่าย นี่คือหัวใจที่สำคัญที่สุด

อย่างเรื่องโรฮีนจา ทุกครั้งที่ผมพูดก็จะโดนโจมตี โดนด่าแรงๆ เลย อย่างบอกว่าเห็นใจนักก็เอากลับไปดูแลที่บ้านสิ นี่ก็เป็นตัวอย่างของความเข้าใจผิดว่าการดูแลผู้ลี้ภัยเป็นการควักกระเป๋ารัฐ เบียดบังภาษีที่ควรจะดูแลคนไทย ทั้งที่เขาแค่มาขอให้ยืนได้ แต่การดูแลต่างๆ มาจากยูเอ็น เอ็นจีโอระหว่างประเทศทั้งสิ้น แล้วการขึ้นทะเบียนเป็นกิจจะลักษณะยังช่วยคลายความกังวลเรื่องความมั่นคงด้วย เพราะจะได้รู้ว่าใครเป็นใคร อยู่ที่ไหน คนที่เข้ามาเขามีเหตุ

อันควรที่จะเข้ามาไหม ส่วนคนที่เข้ามาโดยที่ไม่มีเหตุอันควร รัฐบาลก็มีความชอบธรรมในการที่จะดำเนินการผลักดันออกไป ซึ่งการลงทะเบียนการทำทุกอย่างให้เป็นระบบมันเป็นประโยชน์ต่อประเทศมากกว่าใช้วิธีที่คนต้องหลบๆ ซ่อนๆ หรือใช้วิธีการใต้ดินด้วยซ้ำ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image